ฝนตกทีไร เศร้าใจแบบไม่มีเหตุผลทุกที ทำไมโลกถึงได้ใจร้ายแบบนี้นะ ถ้ามีอาการแบบนี้ เราอาจจะกำลังเจอกับ ‘Monsoon Blues’ หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าจากมรสุม’ อยู่ก็ได้
เศร้า เซื่องซึม ง่วงนอนทั้งที่นอนเพียงพอแล้ว ไม่อยากไปทำงาน เลือกชุดไหนออกมาใส่ก็รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ถ้ารู้สึกแบบนี้ทุกครั้งที่ฝนตก นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเราต้องตรวจสอบใจตัวเองกันหน่อยแล้ว
ท้องฟ้าที่เปลี่ยนไป มีผลกับใจคน
“ท้องฟ้าที่เปลี่ยนไป มีผลกับใจคน” เป็นคำกล่าวในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Weathering with You (2019) ที่เล่าถึงเหตุการณ์ฝนตกมากผิดปกติในโตเกียว ซึ่งกลุ่มตัวละครหลักมีพลังที่จะเปลี่ยนสภาพอากาศจากพายุฝนฟ้าคะนองให้กลายเป็นอากาศแจ่มใสได้
คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย เพราะเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘Winter Blues’ หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าในฤดูหนาว’ กันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเพราะอากาศหนาวจัด หิมะตกจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ แถมพระอาทิตย์ยังลับฟ้าตั้งแต่สี่โมงเย็นอีก อาการนี้มักจะเกิดกับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหนาว
แต่เมืองร้อนอย่างเราๆ ก็มีสิ่งที่เรียกว่า Monsoon Blues ‘ภาวะซึมเศร้าจากมรสุม’ ที่มีฤดูฝนหรือช่วงมรสุมยาวนาน ทำให้ฝนตกติดต่อกันจนไม่เป็นทำอะไร ผ้าไม่แห้ง ไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่น บางประเทศก็ยังมีระบบการระบายน้ำที่ไม่แข็งแกร่งพอจะต่อกรกับพายุ ทำให้น้ำท่วมขังไปอีก
ไม่ว่าจะเป็น Winter Blues หรือ Monsoon Blues ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ Seasonal Affective Disorder หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าตามการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล’ ซึ่งเป็นภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่ถ้าจมอยู่กับมันนาน ก็คงจะไม่ดี
มรสุมและฝนตกหนักสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เพราะระดับวิตามินดีที่เคยได้จากแสงแดดลดลง ส่งผลให้ระดับของเซโรโทนินลดลงตามด้วย ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนแปลงอารมณ์ พฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการนอน และการย่อยอาหารของเราได้
หลายคนอาจรู้สึกอยากกินอะไรแป้งๆ หรือทอดๆ เวลาที่ฝนตกหนัก ที่จริงแล้วก็เป็นเพราะระดับเซโรโทนินที่ลดลงนี่แหละ ทำให้เรารู้สึกต้องการคาร์โบไฮเดรตขึ้นมา และเมื่อได้กินเข้าไปก็จะรู้สึกดีขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่อย่างที่ทุกคนรู้ว่า การกินของทอดมากเกินไปก็ส่งผลเสียในระยะยาว
ท้องฟ้าที่ขมุกขมัวด้วยเมฆจนแสงแดดส่องไม่ถึงตัวเรายังทำให้ต่อมไพเนียลหลั่งเมลาโทนิน ทำให้เรารู้สึกง่วงงุน และยังมีความรวนที่เกิดขึ้นในระบบนาฬิกาชีวภาพที่ควบคุมการหลับและการตื่นของเราอีกด้วย
จัดการตัวเองอย่างไรในวันฟ้าครึ้ม
ถ้ารู้สึกว่ามีอาการซึมเศร้าในช่วงเวลาเดิมติดต่อกันอย่างน้อยสองปี โดยที่ช่วงเวลาอื่นไม่มีอาการซึมเศร้าเลย เราอาจมีภาวะซึมเศร้าตามการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลอยู่
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็กน้อยก็สามารถช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้ชั่วคราว ถ้ารู้สึกว่าวันนี้ตื่นมาแล้วไม่สดใสเลย อากาศหม่นหมองเหมือนใจเราไม่มีผิด สิ่งที่ง่ายที่สุดคือลองหยิบเสื้อผ้าสีสันสดใสที่สุดที่มีในตู้เสื้อผ้าขึ้นมาใส่ การใส่เสื้อผ้าสีสดใสในวันที่หม่นหมองก็สามารถช่วยดึงความรู้สึกขึ้นมาได้บ้าง
จูเลีย แซมตัน จิตแพทย์ที่ Manhattan Neuropsychiatric แนะนำการรับมือกับภาวะซึมเศร้าจากมรสุมเอาไว้ว่า การออกไปเดินเล่นข้างนอกก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้อากาศจะขมุกขมัวจนไม่เห็นแสงอาทิตย์ แต่รังสียูวีสามารถทะลุเมฆลงมาได้ และมันจะช่วยปรับนาฬิกาชีวภาพของเราให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น และเธอยังแนะนำว่านี่อาจเป็นฤกษ์ดีของการเริ่มออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งเอ็นโดรฟินที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้
แต่ถ้าการออกกำลังกายไม่ใช่เส้นทางของเรา ก็มีคำแนะนำจากหนังสือ ถ้าเหนื่อยก็แค่ขยับ โดย นายแพทย์โคะบะยะชิ ฮิโระยุกิ บอกเอาไว้ว่า ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้า ให้ใช้วิธีพักผ่อนเชิงรุก ซึ่งก็คือการขยับตัวบ้าง ไม่ว่าจะลุกขึ้นมายืดเหยียดกล้ามเนื้อทั่วตัว หรือการจัดระเบียบโต๊ะทำงานก็สามารถทำให้จิตใจของเราสงบลงได้
แต่ถ้าทำอย่างไรจิตใจก็ไม่สงบเสียที นายแพทย์โคะบะยะชิก็ให้ลองผ่อนคลายด้วยการหายใจแบบ 1:2 ซึ่งเป็นวิธีค่อยๆ หายใจให้ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกทำงานมากขึ้น และช่วยปรับสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติได้ และวิธีการหายใจแบบ 1:2 ก็ไม่ยากเลย
- หายใจเข้าทางจมูก 3-4 วินาที
- ห่อปาก แล้วค่อยๆ หายใจออกทางปาก 6-8 วินาที
- ทำซ้ำจนกว่าจะครบ 3 นาที
เวลาหายใจออก ให้หายใจออกอย่างเชื่องช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอย่าลืมว่าตอนหายใจเข้าท้องจะต้องป่อง ส่วนตอนหายใจออกท้องจะต้องค่อยๆ ยุบตามการหายใจของเราด้วย
อย่างไรก็ตาม หากความซึมเศร้าจากมรสุมเริ่มรบกวนจิตใจมากขึ้น การพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาจะดีที่สุด ซึ่งวิธีรักษาก็จะแตกต่างกันไปตามอาการของแต่ละคน อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก เมื่อรู้ตัวแล้วต้องไม่ปล่อยเอาไว้นานจนบานปลาย
แต่อย่างน้อยเวลาที่ฟ้ามืดครึ้ม งานเราจะเสร็จเร็วขึ้นนะ
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตวิทยาพบว่าอากาศที่มืดครึ้มทำให้คนใช้เวลากับงานมากขึ้น ด้วยการทดลองกับพนักงานของธนาคารโตเกียวเป็นเวลาสองปี ผลคือเมื่ออากาศข้างนอกขมุกขมัว พนักงานจะทำงานเสร็จเร็วขึ้นกว่าปกติ
ในขณะที่อากาศข้างนอกแจ่มใส พวกเขาก็จะทำงานเสร็จช้าลง เพราะอากาศที่สดใสข้างนอกหน้าต่างจะทำให้พนักงานเสียสมาธิไปกับการมองนอกหน้าต่างและคิดถึงเรื่องอื่นมากขึ้น
ผลการทดลองก็สอดคล้องกับชีวิตจริงที่เมื่ออากาศมืดครึ้ม แม้ว่าฝนจะยังไม่ตก เราจะไม่อยากออกไปไหน และโฟกัสกับงานที่กำลังทำอยู่ (โดยที่ไม่รู้ตัว) ดังนั้น ถ้ามีงานอะไรที่ดองเอาไว้เพราะไม่อยากทำสักที นี่เป็นเวลาที่ดีในการทุบไหดองแล้วหยิบเอางานนั้นขึ้นมาทำให้เสร็จ ถ้าวันพรุ่งนี้อากาศแจ่มใส จะได้เลิกงานเร็วขึ้นไง
ประเทศอินเดียก็เป็นหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับพายุมรสุมและฝนตกหนักเป็นเวลาหลายเดือนในช่วงกลางปี มิหนำซ้ำระบบการระบายน้ำก็ไม่สามารถไว้ใจได้เลย ฝนตกหนักทีไร เมืองเป็นต้องน้ำท่วมคล้ายกับบ้านเรานี่แหละ
ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีในอินเดียหลายบริษัทออกนโยบายว่าพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ในวันที่ฝนตกหนัก ซึ่งนโยบายนี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 แล้ว และทำให้พนักงานรู้สึกดีขึ้นที่ไม่ต้องฝ่าฝน ลุยน้ำท่วม ขึ้นรถสาธารณะเพื่อออกไปทำงาน ไม่มีใครอยากนั่งทำงานในสภาพรองเท้าเปียกอย่างแน่นอน
และคงจะดีกว่านี้ถ้าระบบการระบายน้ำและระบบคมนาคมมีประสิทธิภาพมากพอ จะได้ไม่ต้องมีใครรู้สึกเศร้าที่ต้องทำงานในวันฝนตกอีก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong