ทุกทีที่เอาร่มมา ฝนก็ไม่เคยตกหนิ…
ปกติก็มาตรงเวลาตลอด แต่วันที่เรามีสัมภาษณ์งาน รถไฟฟ้าดันขัดข้องซะงั้น
ปกติผ่านร้านนี้ทุกวันก็ไม่เห็นเคยปิด แต่พอเราชวนญาติมิตรไปลองเท่านั้นแหละ ปิดเฉย
ปกติอาจารย์คนนี้แทบจะไม่เช็คชื่อเด็กเลย แต่วันเดียวที่เราโดดเรียน เรากลับถูกติ๊กขาด…
เคยมีประสบการณ์แบบนี้กันมั้ย…ถ้าเคย นี่คือบทความที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!
เมื่อต้องประสบพบเจอเหตุการณ์ข้างต้น หลายคนอาจคิดไปแล้วว่ามันคือความซวยที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด แต่ช้าก่อน! จริงๆ แล้วเรื่องโชคร้ายที่เราเจอ มันอาจไม่ได้เกิดจากพระเจ้ากลั่นแกล้ง แค่เป็นหนึ่งในความเป็นได้ที่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่เราเลือกที่จะมองข้าม หรือมองเห็นแต่ไม่ยอมใส่ใจ
เรารู้ว่ารถไฟฟ้ามีโอกาสมาสาย แต่เราก็ปลอบใจตัวเองว่าไม่หรอก ก็มันมาตรงเวลาทุกวันนี่นา
เราทราบดีว่าร้านอาหารมีวันหยุด แต่ก็ไม่ได้หาข้อมูลก่อนว่าเป็นวันไหน
เรามั่นใจว่าอาจารย์ ‘มักจะ’ ไม่เช็คชื่อ แต่ ‘มักจะ’ ก็หมายความว่ามันยังมีเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้ที่อาจารย์จะยังเช็คชื่ออยู่
ซึ่งตัวอย่างทั้งหมดเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า Murphy’s Law นั่นเอง
Murphy’s Law หรือ กฎของเมอร์ฟี่ เป็นเหมือนสำนวนที่มีความหมายว่า ‘สิ่งใดที่สามารถผิดพลาดได้ มันจะผิดพลาดเสมอ’ หรือในภาษาอังกฤษคือ ‘Anything that can go wrong will go wrong’ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็มีความพยายามในการตามหาที่มาของกฎประหลาดๆ ข้อนี้ จนพบว่ากฎของเมอร์ฟี่น่าจะมาจาก เอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี่ (Edward Murphy) วิศวกรผู้เคยประจำการอยู่ที่กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา (United States Air Force: USAF)
ย้อนกลับไปในปี 1949 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้นคือยุคทองซึ่งเทคโนโลยีทางการบินถูกให้ความสำคัญมากกว่ายุคไหนๆ และภายในกองทัพอากาศสหรัฐก็ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับแรงจี (G-Force) เพื่อค้นหาความทนทานที่ผิวหนังของมนุษย์มีต่อแรงโน้มถ่วงของโลก อันเป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของพาหนะบนฟากฟ้าได้อย่างก้าวกระโดด
ก็ดี ด้วยความท้าทายของการทดลองก็ทำให้เอ็ดเวิร์ดและลูกทีมต้องพบกับความผิดพลาดหลายต่อหลายครั้ง ส่วนที่ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาก็ดันมีปัญหา และตอนนั้นเอง เอ็ดเวิร์ดได้ถอยออกมามองแล้ววิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้ว ความผิดปกติในทุกจุดที่เกิดขึ้นก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่โชคชะตาฟ้าดินกลั่นแกล้งหรือเป็นความซวยเพราะพระเจ้าลงโทษแต่อย่างใด
ท้ายที่สุด เอ็ดเวิร์ดและผองเพื่อนก็ทดลองเรื่องแรงจีได้สำเร็จลุล่วง และสามารถนำผลการทดลองไปต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมทางการบินมากมาย และในงานแถลงข่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น ก็เป็นตัวของเอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี่นี่เองที่เอ่ยออกมาว่า หนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จคือประโยคที่เขาเคยบอกกับเพื่อนร่วมงานอย่าง ‘Anything that can go wrong will go wrong.’ เพราะคำพูดนี้คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนพยายามเก็บรายละเอียดและอุดช่องโหว่ทั้งหมดให้ได้มากที่สุด ซึ่งสื่อมวลชนที่มาทำข่าวในวันนั้นก็ได้นำข้อความไปเผยแพร่ต่อจนประโยคของเมอร์ฟี่ได้รับความนิยม ถึงขั้นถูกยกให้เป็น ‘กฎ’ จวบจนทุกวันนี้
Murphy’s Law แตกลูกหลานออกมาเป็นหลายแง่คิด ทั้งยังมีการประยุกต์ใช้ในแวดวงต่างๆ มากมาย
- ด้านการทหาร
Murphy’s Law ทำให้เกิดคำกล่าวอย่าง ‘If your advance is going well, you are walking into an ambush.’ หรือก็คือ ‘ถ้าการเดินทัพของคุณกำลังไปได้ดี ไม่แน่ว่าคุณอาจกำลังเดินเข้าไปสู่การถูกซุ่มโจมตี’ คำกล่าวนี้ช่วยให้เหล่าทหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท เพราะในจุดที่เราเชื่อว่าปลอดภัยที่สุดก็อาจมีผู้ก่อการร้ายจ้องโจมตีได้เช่นกัน หรือถ้ามองให้ใกล้ตัวกว่านั้น สมัยเรียนมัธยมก็มักมีคำพูดติดตลกในวิชาคณิตศาสตร์ว่า ‘ถ้าเราแก้โจทย์แล้วรู้สึกว่ามันง่าย นั่นแปลว่าเราทำผิด’ แม้ในมุมหนึ่งคำพูดนี้อาจเป็นเพียงมุกหยอกล้อสนุกๆ แต่ถ้าคิดกันจริงๆ สิ่งนี้ก็ช่วยให้นักเรียนมีความรอบคอบมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็จะได้คิดทบทวนอีกสักหนึ่งรอบก่อนส่งกระดาษคำตอบ
- ด้านงานออกแบบ
Murphy’s Law คือกฎที่ย้ำเตือนถึงความสำคัญของทางหนีไฟ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่บอกกับเราว่าทำไมตึกระฟ้าทั่วโลก โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสถานที่ต่างๆ จึงควรซ้อมหนีไฟอย่างจริงจังเป็นประจำทุกปี เพราะถึงแม้อัคคีภัยจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายและไม่มีใครอยากให้เกิด แต่การมีความพร้อมในการอพยพย่อมดีกว่าการที่ไฟไหมแล้วทุกคนในอาคารไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
นอกจากนี้ การออกแบบทางหนีไฟให้ใช้การได้จริง เข้าถึงง่าย และถูกต้องตามข้อกฎหมายก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากว่ามันสามารถช่วยชีวิตคนได้ แม้จะแค่คนเดียว ก็ถือเป็นความสำเร็จซึ่งถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น
- ด้านงานวิศวกรรม
กฎของเมอร์ฟี่นำมาสู่ประโยคในงานวิศวกรรมอย่าง ‘You can never tell which way the train went by looking at the track.’ ที่แปลว่า ‘เราคงบอกไม่ได้ว่ารถไฟวิ่งไปทางไหนจากการมองไปที่รางรถไฟ’ แนวคิดนี้ช่วยให้คนที่ทำงานด้านการออกแบบและแก้ปัญหารู้ว่า เราควรมองปัญหาให้ถูกจุด หากอยากรู้ทิศทางของรถไฟ การจ้องไปที่ราง นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ด้วย ดังนั้น เราจึงควรถอยออกมา แล้วมองอย่างละเอียดว่าปัญหาที่ต้องการแก้คืออะไร และควรแก้ไขอย่างไร เพราะวิธีที่เราใช้อาจจะผิดมาตั้งแต่ต้น
- ด้านธุรกิจ
อีกหนึ่งแวดวงที่ดูจะปรับใช้ Murphy’s Law ได้อย่างเห็นผลที่สุดคือแวดวงธุรกิจ โดยผู้นำองค์กรควรใช้วิธีคิดนี้เตือนใจตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้สามารถรับมือกับบรรดาเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ส่วนมากมักจะมีแผนปฏิบัติการ (Protocol) ที่สามารถหยิบมาใช้เป็นคู่มือได้ทันทีในวันที่องค์กรเผชิญปัญหา ทุกคนจะได้เข้าใจตรงกันว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ขั้นตอนเป็นอย่างไร เพื่อให้อย่างน้อยที่สุด ความไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงเรื่องวิตกกังวล (Paranoia) แต่ไม่ถึงขั้นทำให้บริษัทหยุดชะงักจนกลายเป็นอัมพาต (Patalysis)
“เฮ้อ ทำไมเราถึงซวยแบบนี้นะ”
เชื่อว่าหลังได้รู้จักกับกฎของเมอร์ฟีย์ ทุกคนก็น่าจะเข้าใจเบื้องหลัง ‘ความโชคร้าย’ ที่ตัวเองพบเจอได้ดียิ่งขึ้น เริ่มเห็นสาเหตุว่าทำไมเสื้อสีขาวของเรามักจะเลอะอาหาร (ถ้าวางแผนล่วงหน้า เราควรจะใส่เสื้อสีเข้ม) เริ่มรู้ว่าเราสามารถแก้ปัญหาหมูกรอบหมดได้โดยการโทรไปสอบถามทางร้านก่อน หรืออย่างน้อยก็อาจจะหันมาตรวจเช็คพยากรณ์อากาศก่อนออกไปทำงานตอนเช้า
จริงอยู่ที่เรื่องบางเรื่อง แม้เราจะเตรียมรับมือดีแค่ไหนก็ไม่สามารถป้องกันผลลัพธ์อันเลวร้ายของมันได้ทั้งหมด และก็จริงที่ว่าบางสิ่งบางอย่าง เราคงไม่มีทางเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น การที่เราโดนขี้นกตกใส่ หรือสะดุดบันไดจนหกล้ม แต่จนแล้วจนรอด การคิดอย่างรอบคอบและหาทางป้องกันก็คงดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย เพราะถึงเราจะ Predict (คาดเดา) ไม่ได้ แต่เราสามารถ Prepare (เตรียมตัว) ได้หากใส่ใจมากพอ
ท้ายที่สุด กฎของเมอร์ฟี่คงตั้งใจจะเตือนสติพวกเราว่า ความผิดพลาดและเรื่องไม่คาดฝันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เราจึงควรเตรียมตัวรับมือให้ดีที่สุดและอย่าวางใจว่าทุกสิ่งจะเป็นไปดั่งที่ใจหวัง
เพราะขนาดเราลืมนำร่มติดไปทำงานเพียงหนึ่งวัน ก็ยังตรงกับวันที่ฝนตกได้ทั้งที่ไม่ตกมาแล้วหลายสัปดาห์
อ้างอิงจาก