“โอ๊ย ปากกาเพิ่งวางไว้เมื่อกี้หายไปไหนแล้ว ขี้ลืมจริงๆ เลยเรา”
“วันนี้ยังไม่ได้กินกาแฟเลย ไปซื้อมากินดีกว่า”
“พรุ่งนี้พรีเซนต์งานแล้ว ทำได้แน่!”
เคยไหมที่ต้องแอบพึมพัมอยู่คนเดียว ต่อบทกับใครก็ไม่เก่งเท่ากับต่อบทกับตัวเอง คุยกับน้องหมา น้องแมว ได้เป็นฉากๆ เจอเรื่องยากๆ เมื่อไหร่เป็นอันต้องขอกลับไปปรึกษาทีมที่มีแต่เรากับตัวเองอีกคนในใจ “ทำแบบนั้นดีไหมนะ แล้วถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง” ยิ่งคิดยิ่งสับสน ว่าแล้วก็ยีหัวตัวเองอยู่เงียบๆ จนคนอื่นแอบมองด้วยความสงสัยว่า นั่น กำลังคุยกับแม่ซื้ออยู่ใช่ไหมนะ
ความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก หากลองไปถามใครต่อใคร เชื่อว่าก็คงมีหลายคนที่เคยประสบการณ์นี้เหมือนกัน แถมยังเข้าอกเข้าใจความรู้สึกนี้อย่างดีเสียอีก แต่รู้ไหมว่า ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยได้ยินเสียงพูดในใจ หรือ ‘inner monologue’ เลย
แล้วคนที่มีและไม่มีเสียงในใจ จะมีวิธีคิดต่างกันยังไงบ้างนะ แล้วเราเป็นคนที่มีวิธีคิดแบบไหน วันนี้ The MATTER ชวนมารู้จักสิ่งนี้กัน
แบบไหนที่เรียกว่าเสียงในหัว
‘inner monologue’ หรือ ‘internal monologue’ หมายถึงเสียงพูดในหัว ที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ความคิด ซึ่งเป็นกลไกการคิดของสมองที่ทำให้เราเหมือน ‘ได้ยิน’ เสียงตัวเองแม้ไม่ได้พูดออกมาจริงๆ หลายครั้งที่คนเรามักใช้เสียงในใจนี้เพื่อตัดสิ่งรบกวนภายนอกออกไป เพื่อทำให้เราจัดระเบียบความคิดได้ดีขึ้น
ความจริงเสียงในหัวมีอยู่หลายแบบ โดยทั่วไปมักอยู่ในรูปแบบ ‘คำพูด’ เช่น เวลาที่นึกไว้ในใจว่าวันนี้เราจะทำอะไรบ้าง หรือจะเป็นตอนคุยกับคนเดียวได้เป็นฉากๆ ซ้อมบทพูดก่อนออกไปพรีเซ็นต์งาน ก่อนยกหูโทรศัพท์หาใครสักคน ก่อนสั่งกาแฟชื่อยากๆ นอกจากนี้อาจมาในรูปแบบของเพลงที่ติดอยู่ในหัว ประโยคที่ชอบที่เคยฟังจากในหนัง หรือพอดแคสต์ และหากคุณอ่านบทความนี้โดยได้ยินเสียงในหัว ปิ๊งป่อง! คุณคือคนที่มี ‘inner monologue’ ล่ะ
แต่เสียงพูดในใจใช่ว่าจะมีกันทุกคน
ถึงแม้หลายคนจะเคยประสบปัญหาทะเลาะกับตัวเองอยู่ทุกวัน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้ยินเสียงในหัวเหมือนกันหมด สำหรับใครไม่เคยมีเสียงในหัวหรือไม่เคยพูดคนเดียว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมนุษย์เรามีกระบวนการคิดหลายวิธี
จากงานวิจัยโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างของ รัสเซลล์ เฮิร์ลเบิร์ต (Russell Hurlburt) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเนวาดา ให้ผู้เข้าร่วมเขียนอธิบายประสบการณ์ของตัวเอง พบว่าประมาณ 30-50% ของกลุ่มตัวอย่างมีประสบการณ์ได้ยินเสียงตัวเองในหัว ส่วนอีก 50-70% ที่เหลือไม่เคยได้ยินเสียงในหัวเลย
นั่นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า นอกจากการได้ยินเสียงในใจแล้วมนุษย์ก็มีกระบวนการคิดแบบอื่นๆ ด้วย เช่น การนึกภาพในใจ การคิดแบบไม่มีคำพูดหรือรูปร่าง ความรู้สึก และประสาทสัมผัส บางคนอาจใช้วิธีคิดนี้ครบทุกแบบ หรือ 2-3 แบบควบคู่กันไป สำหรับคนที่ไม่ได้ยินเสียงในใจก็อาจใช้วิธีอื่นๆ แทน
ตัวอย่างเช่น เวลาที่ต้องคิดหรือแก้ปัญหาคนที่ไม่มีเสียงในหัวจะมองเห็นมากกว่าได้ยิน เช่น เวลาต้องซ่อมของ ก็จะเห็นไขควงในความคิด แทนที่การได้ยินเสียงในหัวว่า ‘อยากได้ไขควง’
นอกจากนี้พอเป็นเรื่องอารมณ์ คนที่ไม่ได้ยินในหัวส่วนใหญ่ไม่ได้อธิบายความรู้สึกเหล่านั้นด้วยคำ เช่น ‘โกรธ’ หรือ ‘เครียด’ แต่ถูกอธิบายว่าเป็นเหมือนอารมณ์เป็นคลื่นที่ซัดเข้าหาตัวมากกว่า หรือเวลานึกถึงความทรงจำ มักออกมาในรูปแบบของภาพ ซึ่งบางครั้งอาจมีเสียงได้ด้วย เพียงแต่ไม่ใช่คำพูดเท่านั้น ด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้คนที่ไม่มี inner monologue สามารถมองเห็นภาพในหัวชัดเจนและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
แล้ววิธีการคิดแบบมีเสียง และไม่มีเสียงช่วยอะไรเราได้บ้างนะ?
ไม่ว่าจะได้ยินเสียงหรือไม่ได้ยินเสียงในหัวก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เพียงแค่เรามีกระบวนการคิดที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนบางครั้งก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป
ฝั่งคนที่มี inner monologue ได้คุยกับเสียงในหัวตัวเอง สิ่งนี้ก็ช่วยพัฒนากระบวนการคิดเราตั้งแต่เด็ก อย่างที่เรามักเห็นเด็กเล็กชอบคุยกับตัวเองบ่อยๆ หรือคุยกับเพื่อนในจินตนาการ ซึ่งเป็นวิธีการรับภาษาและพัฒนาทักษะนี้ตั้งแต่เด็ก
เมื่อโตขึ้นการคุยคนเดียวช่วยทำให้หลายคนจดจำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น การพูดเพื่อทวนสิ่งที่จะทำ หรืออ่านหนังสือออกเสียง นอกจากนี้เสียงในหัวยังช่วยให้เราสามารถวางแผนและแก้ปัญหาได้ดีขึ้นด้วย แถมยังช่วยสะท้อนตัวตนของตัวเองและจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น อย่างที่หลายคนมักใช้โต้ตอบกับตัวเองบ่อยๆ ด้วยคำถาม เช่น ‘เราทำได้ดีแล้วหรือยัง’ ‘มีอะไรที่เราทำได้บ้างอีกไหม’ เพื่อคิดและทบทวนกับตัวเองในแต่ละวัน
ขณะเดียวกันคนที่ไม่มีเสียงในหัว ก็สามารถใช้วิธีการคิดแบบอื่นๆ เพื่อซัปพอร์ตความรู้สึกของตัวเองได้เช่นกัน เพราะบางครั้งการรับรู้ผ่านวิธีอื่นๆ อย่างการนึกภาพ ความรู้สึก หรือการสัมผัสก็ช่วยทำให้เราจดจ่อกับความรู้สึก ณ ตรงนั้นได้ดียิ่งขึ้น แถมในบางครั้งยังช่วยลดความฟุ้งซ่าน ทำให้เราไม่หลุดโฟกัส และสามารถทุ่มเทกับงานหรือการแก้ปัญหาตรงหน้าได้ละเอียดขึ้น
ท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะมีเสียงในหัวเป็นเพื่อนหรือไม่ก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอะไรเลย เพราะแต่ละคนต่างก็มีวิธีคิดเป็นของตัวเอง แค่เราสามารถจัดการความคิด และตัดสินใจได้อย่างที่ใจต้องการเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
อ้างอิงจาก