เมื่อเราคบใครสักคนไปได้นานๆ คำถามเกี่ยวกับความรักมักเกิดขึ้น
“นี่เราคุ้นเคยกันเกินไปรึเปล่าเนี่ย?” เราอาจคิดแบบนั้นตอนมองไปยังแฟนของเราระหว่างนั่งอยู่บนโถส้วม ที่สะท้อนอยู่บนกระจกระหว่างเราแปรงฟัน
“เราไม่ได้เดตกันนานแล้วเหมือนกันนะเนี่ย ส่วนมากก็แค่เรียกว่าไปกินข้าวกัน” ความคิดแบบนั้นอาจโผล่ขึ้นมา เมื่อเรามองหน้าคนที่สะลึมสะลือ ซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามกันที่เคาน์เตอร์ครัว
“ตอนนั้นมันดีมากเลยนะ” ความทรงจำเก่าเสนอตัวเข้ามา เมื่อเรานั่งดูรูปคู่เก่าๆ แล้วมองเทียบไปยังแผ่นหลังของอีกคนหนึ่งในรูป ที่ตอนนี้กำลังนั่งทำงานอย่างเงียบเชียบอยู่ที่โต๊ะส่วนตัว
ความสัมพันธ์ระยะยาว (Long-Term Relationship) มักพาให้เราคิดถึงอะไรประมาณนี้อยู่บ่อยครั้ง เราเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของคู่ตัวเองกับคนอื่น เราเปรียบเทียบแม้แต่คู่ตัวเองในปัจจุบันและอดีต โดยสิ่งที่เรามักพบในห้วงความคิดยุ่งเหยิงเหล่านั้นคือ ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเหมือนเมื่อก่อน เวลาที่เรามีให้กันไม่มากเหมือนก่อน จุดโฟกัสของเราทั้งคู่อาจไม่ได้อยู่ที่กันและกันเช่นตอนแรกคบ เมื่อเวลาผ่านไป ความรักย่อมเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปมากเสียจนบางทีเราก็มีคำถามว่า นี่ยังเรียกว่ารักอยู่ใช่ไหม?
เมื่อเรารักใครมาอย่างยาวนาน เรายังมีที่ว่างให้ความโรแมนติกอยู่ในรักนั้นๆ หรือไม่? เมื่อเราอยู่ด้วยกัน เราต่างคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? เราอาจพอจะรู้หนทางสู่คำตอบได้บ้าง หากลองเริ่มทำความเข้าใจธรรมชาติของความสัมพันธ์ระยะยาว
ความสัมพันธ์ระยะยาว รักโรแมนติก และความหมกมุ่น
ความสัมพันธ์ระยะสั้น หรือความสัมพันธ์ระยะยาว แบบไหนดูโรแมนติกกว่ากัน? คำตอบของเราแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อเรามองไปยังวิธีที่คนในความสัมพันธ์ชั่วครู่คราวปฏิบัติต่อกัน เปรียบเทียบกับคู่แต่งงานที่คบกันมายาวนาน ความสัมพันธ์ 2 แบบนั้นแตกต่างกันมากกว่าแค่เชิงระยะเวลา แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกที่คู่รักมีต่อกันด้วย ความรักในความสัมพันธ์ระยะสั้นดูจะร้อนแรงและโรแมนติก คู่รักแคร์ทุกการกระทำของตัวเอง แคร์ทุกวันครบรอบสำคัญ แคร์ทุกการกระทบกระทั่ง ทว่าเมื่อเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวแล้ว บางครั้งมันช่างดูราบเรียบเหลือเกิน นั่นแปลความได้ว่า มันเป็นความสัมพันธ์ที่โรแมนติกน้อยลงหรือไม่? หรือว่ามันซับซ้อนไปกว่านั้น?
มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้พบได้ในงานวิจัย Does a Long-Term Relationship Kill Romantic Love? โดยบิอันกา อาเซวีโด (Bianca Acevedo) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Stoney Brook ที่ต้องการจะชำแหละความเชื่อของโลกตะวันตกว่า รักโรแมนติกคือส่วนที่สำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ และคำถามที่ว่าการคบกันอย่างเนิ่นนานทำให้ส่วนสำคัญนั้นตายไปจากความสัมพันธ์จริงหรือเปล่า ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือมุมมองต่อคำว่า ‘โรแมนติก’ ของงานวิจัยนี้
อาจฟังดูแหม่งๆ เมื่อเราต้องพูดถึงความรักและความรู้สึกด้วยน้ำเสียงที่มีหลักมีเกณฑ์มากเกินไป แต่ว่าในกรณีนี้ การพยายามแยกย่อยองค์ประกอบที่ก่อร่างความโรแมนติก กลับให้ประโยชน์ต่อเราในวิธีที่เรามองความรักได้ โดยผู้วิจัยเล่าว่า 3 สิ่งที่ประกอบร่างความรักโรแมนติกขึ้น คือ
- ความเข้มข้นในความรู้สึก (Intensity)
- การมีส่วนร่วมระหว่างกัน (Engagement)
- ความสนใจในเชิงเพศสัมพันธ์ (Sexual Interest)
จากการเก็บข้อมูลพบว่าทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ปรากฏอยู่ทั้งความสัมพันธ์ระยะสั้นและความสัมพันธ์ระยะยาว ในระดับที่เทียบเท่ากัน และมันยังเป็นตัวชี้วัดค่าของความพึงพอใจในความสัมพันธ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างความสัมพันธ์ 2 แบบนี้คือ ความหมกมุ่น (Obsession) ต่างหาก
ผู้วิจัยอธิบายเกี่ยวกับความหมกมุ่นไว้ว่า มันคือความคิดที่รบกวนใจ (Intrusive Thinking) ความรู้สึกไม่มั่นคง และการมีอารมณ์แปรปรวน เช่น “ฉันรู้สึกว่าควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้เลย คิดถึงแต่คู่รักของฉัน” หรือ “ฉันทำงานไม่ได้เลย เพราะมัวแต่คิดถึงแฟน” โดยผู้วิจัยพบว่า ความคิดรูปแบบดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของความสัมพันธ์ และมักหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
กล่าวโดยรวบยอดคือ สิ่งที่จะหายไปจากความสัมพันธ์ระยะยาว ไม่ใช่ความโรแมนติก แต่เป็นความรู้สึกร้อนใจในรักต่างหาก มากไปกว่านั้นผู้วิจัยยังบอกอีกด้วยว่า ความรู้สึกร้อนใจดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อความรู้สึกเติมเต็มในความสัมพันธ์ และคุณภาพของการแต่งงาน
เมื่อเอาเลนส์ทางด้านวิชาการออก แล้วลองนึกภาพว่าเป็นตัวเรา เราอาจรู้สึกร้อนใจอยากอยู่กับคนรักตลอดเวลา แน่นอนว่าความรู้สึกดังกล่าวต้องยิ่งใหญ่และเด่นชัดมากๆ พร้อมกับการที่ได้คนรักมาตอบรับความต้องการนั้นๆ เป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้น หัวใจสูบฉีดราวกับขึ้นรถไฟเหาะ แต่เมื่อเราได้คบกับเขาไปสักระยะหนึ่ง การไม่ต้องใจเต้นเพราะความร้อนใจนั้นๆ อีกต่อไป คงแทบจะคล้ายกับความรู้สึกของอาการอยากยา ในห้วงเวลานั้นเราอาจนึกไปแล้วว่า นี่คือความรู้สึกของการหมดรัก ทว่าจากผลสรุปของงานวิจัยนี้กลับชี้ให้เราเห็นอีกมุมมองว่า แม้ความรู้สึกหมกมุ่นนั้นจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของความสัมพันธ์ และเราเพียงแลกมันไปกับความสัมพันธ์ที่สงบลงเท่านั้น
ความสัมพันธ์อาจเปลี่ยนเราเป็นใครอีกคน
เมื่อรู้แล้วว่าการมีความสัมพันธ์ระยะยาว โดยมากคือการมีความรักที่สงบและเป็นรักที่เติมเต็ม แทบจะเหมือนกับการบอกว่า นี่คือการลงเอยอย่างที่ใครหลายคนหวัง เราอาจจะเคยเห็นคนเรียกคู่รักที่คบกันมาอย่างยาวนานว่า “Goals” ซึ่งอาจแปลได้ว่า การมีคู่แบบนี้แหละคือเป้าหมายสุดท้ายของการมีความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระยะยาวที่ดูไม่ท็อกซิก เมื่อมองจากมุมไกลๆ มันเป็นความสัมพันธ์ที่น่าอิจฉาและสมบูรณ์แบบ เหมือนคู่รักหนึ่งคู่ที่ได้เจอตอนจบแบบในนิทาน “แล้วพวกเขาก็รักกันตลอดไป…” ของตัวเอง เป็นคนที่พร้อมจะรักเราในแบบที่เราเป็นได้โดยไม่มีเงื่อนไข แต่การได้ลองใช้ชีวิตในความสัมพันธ์แบบนี้จริงๆ อาจจะทำให้เรารู้ว่า แม้ภาพภายนอกจะสวยงาม ทว่ารายละเอียดภายในนั้นกลับยุ่งเหยิงกว่านั้น
แม้ว่ามนุษย์จะรายล้อมด้วยสังคมและผู้คนตลอดชีวิต เราแต่ละคนต่างมีห้วงเวลาและพื้นที่ที่เราอยู่คนเดียว ที่ว่างที่เราเป็นตัวเอง อย่างน้อยเราต่างมีพื้นที่นั้นอยู่ในสมองของเราเอง เราต่างซ่อนพฤติกรรมไม่ดีนักอย่างลับๆ ไม่ให้ใครได้เห็นเอาไว้ เราอาจมีบางสิ่งที่เราคิดอยู่ในหัว ซึ่งจะทำให้เราถูกประนามเป็นแน่หากพูดมันออกไป มุมมองโลกของเราเป็นของเรา และไม่เคยตรงกับคนอื่นๆ อย่างเต็มร้อยอยู่แล้ว ความคิดว่าถ้าอยู่มาวันหนึ่ง จะต้องมีใครสักคนเดินเข้ามาอยู่ใกล้เรามากกว่าใคร และเดินเข้ามารับรู้ในสิ่งเหล่านั้น คงเป็นความคิดที่น่ากลัวมากๆ สำหรับเราหลายคน
การนำคน 2 คนมาอยู่ด้วยกัน และต้องแชร์แง่มุมของตัวเองที่คนอื่นๆ ไม่เคยเห็นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อยู่มาวันหนึ่งจากเราที่ไม่ต้องปรับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อใคร ก็ต้องปรับแปลงมันเพราะมีคนใหม่เข้ามา มิหนำซ้ำยังต้องยอมรับสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาเองก็ไม่เคยบอกใคร บางสิ่งอาจทำให้เรามองเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเราทั้งคู่อาจจะไม่ได้ปริปากบอกกัน แต่เป็นเพราะความชิดใกล้ของเรา ที่ทำให้ความลับเหล่านั้นรั่วไหลออกไปอย่างหลีกไม่ได้
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของตัวเขาแล้ว ตัวเราเองก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เราอาจจะเคยดูหนังรอมคอมฯ สักเรื่องแล้วบ่นขิงข่าเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ใช้อารมณ์โดยไร้เหตุผลของตัวละคร บอกอย่างละเอียดว่าถ้าเป็นเราจะทำยังไง แต่รู้ตัวอีกทีเมื่อเราได้รักใครมาสักพัก ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองกลับหายไปในพริบตา เราอาจไร้เหตุผลเช่นเดียวกับตัวละครที่เราเคยบ่นเอาไว้ ทั้งยังสร้างบาดแผลให้กับอีกคนโดยไม่ได้ตั้งใจในบางครั้ง
ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่มาควบคู่กับมนุษย์ เช่นนั้นแล้วการนำมนุษย์ 2 คนมาอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกว่าคนไหนๆ จะคืออะไร? ถ้าไม่ใช่ ‘การปรับตัว’ ไปชั่วชีวิต การที่เราต้องรับรู้ว่าเราและคนที่เรารักเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที บางส่วนของเราทั้งคู่อาจกระทบกระทั่งกัน เราต่างต้องปรับหนามแหลมในตัวเราไม่ให้ทิ่มแทงกันมากเกินไปเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญคือการยอมรับในความไม่สมบูรณ์บางจุด ซึ่งเราต่างไม่อาจเอาออกไปจากตัวเราได้ แต่จุดนั้นๆ จะต้องไม่ก้าวเกินเลยความพอดีจนทำให้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่กดขี่หรือเป็นพิษ
เราต่างต้องการที่จะเป็นที่ยอมรับของใครสักคน สุดท้ายทั้งจุดดีและจุดด้อยที่ตัวเรามี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อร่างเป็นตัวตนของเราใช่หรือไม่?
คุ้มแค่ไหนที่จะอยู่?
ไม่ใช่ว่าความสัมพันธ์ทุกแบบจะมีไว้สำหรับทุกคน และไม่มีความชอบแบบใดที่ผิด เราบางคนอาจมองว่า การนำคนอีกคนเข้ามาในชีวิตขนาดนั้นเป็นเรื่องปวดหัวเกินไป ถ้าเขาเรียกร้องอะไรจากเรามากเกินไปล่ะ? ถ้าเราต้องเปลี่ยนแปลงเกินความสบายใจของเราล่ะ? หรือแม้แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับจุดที่เราไม่อยากเปลี่ยนล่ะ? ความรักและความสัมพันธ์ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวขนาดนั้น และการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางความต้องการ (แบบพอดี) อาจไม่ใช่เรื่องผิดแปลกเลย
ในอีกมุมหนึ่งเราอาจเป็นคนที่มองว่า คนเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดชั่วชีวิตของเรา ในทุกการเปลี่ยนแปลงนั้น เราย่อมสูญเสียผู้คนอยู่เสมอ เราอาจเสียเพื่อน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเดินไปยังที่ใหม่ๆ ในชีวิต เราเสียคนสนิทจากการเปลี่ยนวิธีคิด เราเปลี่ยนสังคม เราย้ายที่อยู่ เราย้ายงาน เราทะเลาะกับพ่อแม่ ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงนั้นในแง่หนึ่งคือความโดดเดี่ยว เป็นความโดดเดี่ยวที่เราหลีกหนีไม่ได้ เช่นนั้นแล้วจะดีขนาดไหน หากมีคนที่ยอมรับกับทุกความเปลี่ยนแปลงของเราได้?
บ่อยครั้งการมีความสัมพันธ์ระยะยาว คือการมองเหนือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเรา บางครั้งมันคือการที่คน 2 คนเลือกที่จะรักกัน โดยเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวตนของกันและกัน เราทั้งคู่อาจจะเปลี่ยนไปมากจนแทบไม่เหลือชิ้นเดิมของเราอยู่ในตัวแล้ว แต่จนแล้วจนรอด นั่นก็ยังเป็นตัวตนของเราอยู่ดี
และสำหรับหลายๆ คน นั่นคือสิ่งที่ดีมากพอ จนยอมปวดหัวไปกับความสัมพันธ์ระยะยาว
อ้างอิงจาก