จะเป็นไปได้ไหม หากเราตกหลุมรักใครมากกว่า 1 คน
ในโลกความสัมพันธ์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่หนึ่งเดียว แน่นอนว่าสิ่งนี้นั้น ‘เป็นไปได้’ และมีชื่อเรียกความสัมพันธ์นี้ด้วยว่า ‘Polyamory’ ทว่าความรู้สึกพึงใจในคนมากกว่าหนึ่งคนย่อมเจอกับคำถาม การตั้งสถานการณ์สมมติเพื่อตอบความสงสัย และรวมไปถึงการถูก ‘เหยียด’ และความคิดเห็นเชิงลบ
ความเห็นเชิงลบดังกล่าวนี้มีตั้งแต่การเหยียดพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ตรงกับมาตรฐานทางสังคม (slut shaming) ตั้งคำถามถึงการนอกใจในความสัมพันธ์ รวมไปถึงเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีพฤติกรรมมีคู่ตัวเดียว ซึ่งเราอาจเรียกความกลัวที่ก่อให้เกิดความเห็นเชิงลบนี้ได้ว่า ‘Polyphobia’
ก่อนอื่น เราอาจต้องแนะนำให้รู้จักกับ Polyamory ก่อนว่า เป็นความสัมพันธ์ที่คนหนึ่งมีความรู้สึกรักมากกว่า 1 คน ซึ่งเกิดขึ้นโดยมี ‘ความยินยอม’ (consent) อันเกิดจากการสื่อสารของทุกฝ่ายในความสัมพันธ์ จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Consensual Non-monoamory (CNM) และความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ ‘เป็นคนละเรื่องกับการนอกใจ’ ที่เกิดขึ้นในกรณีความสัมพันธ์แบบมีคู่คนเดียว (monogamous relationship) และไม่อาจเป็นข้ออ้างให้เกิดการนอกใจ หรือการมี ‘โลก 2 ใบ’ ได้ เพราะทุกอย่างในความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นในโลกใบเดียวกันทั้งหมด
ทั้งนี้ทั้งนั้น Polyamory แตกต่างจากความสัมพันธ์แบบเปิด (Open Relationship) ตรงที่ความสัมพันธ์รูปแบบหลังเปิดโอกาสให้คนในความสัมพันธ์สามารถมีความสัมพันธ์ทางกายกับคนอื่นได้ แต่จะมีความผูกพันทางใจกับคู่ของตัวเอง ในขณะที่ Polyamory เป็นความสัมพันธ์ที่โฟกัสไปที่ความผูกพันทั้งทางกายและใจต่อคนในความสัมพันธ์ แต่ Polyamory ก็มีสเปกตรัมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น Triad (ความสัมพันธ์แบบคู่รัก 3 คน) หรือ Quad (ความสัมพันธ์แบบ 4 คน โดยทั้ง 4 อาจไม่จำเป็นต้องคบกันก็ได้) และแตกต่างจากความสัมพันธ์ในศาสนาอิสลามที่อนุญาตให้ชายมีภรรยาได้มากกว่า 1 คนตรงที่ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับคนมากกว่า 1 คนจะเป็นเพศใดก็ได้ ตราบเท่าที่มีความยินยอมและการสื่อสารที่ชัดเจนในความสัมพันธ์
Polyphobia เป็นความกลัวที่คนในความสัมพันธ์มีคู่คนเดียวคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ เพราะในความสัมพันธ์อาจประกอบไปด้วยการบาดหมางผิดใจ ความต้องการที่ไม่แมตช์กัน รวมไปถึงความเชื่อใจที่อาจพังทลายลงได้ เริ่มตั้งแต่ความกังวลเรื่องความหึงหวง การจัดสรรเวลาที่ไม่เท่ากัน รวมไปถึงเรื่องรสนิยมทางเพศด้วย เหตุนี้เอง หลายคนที่ออกมาเปิดตัวว่าเป็น Polyamory จึงต้องเผชิญหน้ากับเสียงวิจารณ์มากมาย ทั้งจากคนรอบตัว และคนอื่นที่มองเข้ามา
งานวิจัยของเอลิซาเบธ เชฟฟ์ (Elisabeth Sheff) และคอรี่ แฮมเมอร์ส (Corie Hammers) เปิดเผยว่าการเป็น Polyamory ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ชนชั้นทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งระดับการศึกษา ดังนั้นความเป็น ‘ชายขอบ’ ของ Polyamory จึงสะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเป็นชายขอบในสเปกตรัมความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างชัดเจน
การเป็นชายขอบนี้เองที่นอกจากจะทำให้ถูก ‘เหยียด’ และเกิดความหวาดกลัว ยังก่อให้เกิดการสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบตัว หน้าที่การงาน หรือแม้กระทั่งสถานะทางกฎหมายด้วย กรณีสำคัญที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ‘สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร’ ที่มีแนวโน้มว่าบุคคลผู้อยู่ในความสัมพันธ์แบบ Polyamory จะแพ้คดีหากเกิดการฟ้องร้อง ดังนั้นหนึ่งในสาเหตุของ Polyphobia จึงอาจเกิดจากข้อจำกัดทางกฎหมายและเรื่องทางศีลธรรมร่วมด้วย ในขณะที่กรอบแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวพยายามสร้างอุดมคติว่ามนุษย์จะสามารถมีความสุขกับชีวิตคู่ได้ก็ต่อเมื่อมีคู่เพียงคนเดียว แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีคนมากมายที่มีความสุขและความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อมีความสัมพันธ์กับคนมากกว่า 1 คนด้วย
หากโฟกัสกันถึงระบบกฎหมาย แน่นอนว่าการจดทะเบียนสมรสซ้อน มีผลทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่หากเรามองไปถึงระดับโลก ก็มีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของ Polyamory ซึ่งไม่ใช่การสมรส เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่ ซอเมอร์วิลล์, เคมบริดจ์ และอาร์ลิงตัน ในรัฐบอสตัน มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้มีความสัมพันธ์รูปแบบนี้ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในสเปกตรัมของการอยู่ร่วมกันที่ไม่ใช่การสมรส (Domestic Partnership)
โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนที่ที่ว่าการเมือง มีข้อกำหนด 4 ข้อ คือ ไม่ใช่ญาติร่วมสายเลือด ดำเนินความสัมพันธ์ด้วยความยินยอม สามารถทำนิติกรรมและสัญญา และอยู่อาศัยในลักษณะครอบครัว ซึ่งผู้ที่จดทะเบียนจะได้รับสิทธิในการเข้าเยี่ยมกรณีรักษาพยาบาลและการจำคุก รวมถึงได้สิทธิในการเป็นผู้ปกครองของบุตรได้ แต่ยังคงไม่มีสิทธิในการฟ้องร้อง หรืออนุญาตให้รักษาพยาบาลแทนกันได้
Polyamory เป็นความสัมพันธ์ที่ท้าทายระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างชัดเจน พร้อมกับท้าทายระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่หากชายมีภรรยาหลายคน อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกัน หากผู้หญิง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศมีความสัมพันธ์แบบเดียวกัน อาจนำไปสู่การเหยียด ประณาม เช่นการ slut shaming หรือการถูกมองว่าเป็นคนมักมาก หรือชักจูงปั่นหัวเพื่อหลอกลวงคนอื่น การตั้งขอบเขตในความสัมพันธ์ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ แค่ไหนคือการละเมิดเส้นแบ่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการมีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกอย่างชัดเจน
สำหรับสังคมไทย ก็มีระบบศีลธรรมเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัย ไปจนถึงดูถูกและหวาดกลัว เนื่องจากค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวที่ถูกสถาปนาโดยชนชั้นนำพร้อมๆ กับการเข้ามาของชาติตะวันตก และระบบการศึกษาของชาติตะวันตก อิทธิพลแนวคิดแบบวิกตอเรียนจึงแทรกเข้ามาอยู่ในชีวิตของคนไทยมากขึ้น เริ่มต้นจากการสมรสของชนชั้นสูงที่ทยอยมีคู่ครองคนเดียว (หรืออย่างน้อยที่สุดคือ มีคู่สมรสที่ออกหน้าออกตา และได้รับการยอมรับคนเดียว) และพัฒนามาจนถึงจุดที่ค่านิยม ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ได้กลายเป็นค่านิยมหลักของสังคมในที่สุด
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์แบบ Polyamory ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความยินยอม’ตราบใดที่ความสัมพันธ์นั้นมีความยินยอมพร้อมใจ การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา และการสร้างขอบเขตระหว่างกันที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้ หรือทำไม่ได้ และความสัมพันธ์รูปแบบนี้ไม่อาจเป็นข้ออ้างในการนอกใจได้แต่อย่างใด หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดความตกลงที่ทำไว้ก็สามารถ ‘ถอนความยินยอม’ จากความสัมพันธ์ได้ทันที
และแม้ประเด็นทางศีลธรรมและข้อกฎหมายจะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนาน สิ่งสำคัญเมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากมาตรฐานของสังคมคือการไม่ตัดสินความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ตราบเท่าที่ (พวก) เขาสบายใจในจุดที่ยืนอยู่ และสร้างความเข้าใจเพื่อลดอคติระหว่างกันในสังคม
อ้างอิงจาก
elisabethsheff.file.wordpress.com