“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า!”
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้มาตั้งแต่เป็นเด็ก บ้างก็บอกว่าความโกรธทำให้เราขาดสติ บ้างก็เตือนว่าการโมโหกระตุ้นให้เราทำในสิ่งที่จะต้องเสียใจภายหลัง และบางคนถึงกับพูดกระทั่งว่า อารมณ์ฉุนเฉียวคือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
โอเค เราไม่ปฏิเสธข้อเสียที่หลายคนว่ามา แต่หากจะพูดว่าความโกรธไม่มีข้อดีอยู่เลยก็อาจจจะเกินจริงไปสักหน่อย เพราะหากเราสามารถจัดการความโกรธและเกรี้ยวกราดของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ตรงจุด สิ่งนี้ก็อาจกลายเป็นพลังงานชั้นดีที่ช่วยให้เราก้าวผ่านอุปสรรค เอาชนะความกลัว ตลอดจนประสบความสำเร็จในแบบที่ใจหวังก็เป็นได้
หนี่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ อย่างเหรียญทองแรกของทีมชาติไทยในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อ เทนนิส—พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ พบกับกัวะ ฉิง นักกีฬาจากประเทศเจ้าภาพ
การแข่งขันของทั้งคู่ดำเนินไปอยู่สูสี โดยในยกแรกเทนนิสเอาชนะไปด้วยคะแนน 7-6 ก่อนที่ในยกที่ 2 จะพ่ายไปฉิวเฉียดที่ 1-2 จึงต้องตัดสินกันในยกสุดท้าย
จุดเริ่มต้นความเดือดดาลมาจากการที่จู่ๆ คะแนนของนักกีฬาชาติเจ้าภาพก็พุ่งทะยานจาก 6-0 เป็น 23-0ทั้งที่แทบจะไม่ได้สัมผัสตัวนักกีฬาไทยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งหากช่องว่างของคะแนนเป็นแบบนี้ต่อไปก็คงเป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมไทยจะพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้ชนะได้
อย่างไรก็ดี วินาทีนั้นเอง หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมเทควันโดทีมชาติไทยอย่างโค้ชเช—ชัชชัย เช ได้ขอประท้วงความผิดปกติของผลคะแนนที่เกิดขึ้นด้วยท่าทีดุดันจริงจัง ถึงขั้นที่คณะกรรมการต้องหารือกันนานกว่า 14 นาที ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้แทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในการแข่งขันเทควันโด
หลังการตรวจสอบอย่างละเอียด ในที่สุด คะแนนของการแข่งขันก็กลับมาอยู่ที่ 6-0 อีกครั้ง ก่อนที่เทนนิสจะรวมสมาธิและแรงใจ พร้อมเปลี่ยนความโกรธที่มีต่อความผิดพลาดของคะแนนเป็นแรงผลักดันจนรัว 12 แต้ม พลิกกลับมาชนะนักกีฬาจากจีนที่ 12-9 คว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ
“ตอนแรกหนูพูดในใจว่ามันเป็นเอเชียนเกมส์ที่เลวร้ายที่สุดแล้วที่เจอเจ้าภาพทำแบบนี้ แต่สุดท้ายอยากทำให้เต็มที่ก่อน และก็ชนะได้สำเร็จ ไม่คิดว่าจะทำได้เหมือนกัน”
จากบทสัมภาษณ์ของนักเทควันโดสะท้อนว่า เธอได้นำความโกรธแค้นที่มีต่อชาติเจ้าภาพมาเปลี่ยนเป็นพลังในการต่อสู้ ซึ่งจากภาพการถ่ายทอดสด มันไม่ใช่ความโมโหที่บ้าคลั่งจนขาดสติ ทว่าเป็นความโกรธที่อยู่ในรูปของพลังงานและความมุ่งมั่นในการเอาชนะไม่ต่างจากตอนที่โค้ชเชใช้ความโกรธเป็นชนวนในการขอประท้วงผู้ตัดสิน การกระทำที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญของทั้งคู่ชวนให้เราในฐานะคนดูตั้งคำถามว่า เทคนิคการเปลี่ยนโทสะเป็นพลังงานที่มีประโยชน์คืออะไรกันแน่
เทคนิคควบคุมความโกรธ
เฮนรี อีแวนส์ (Henry Evans) และ คอล์ม ฟอสเตอร์ (Colm Foster) เจ้าของหนังสือ Step Up: Lead in Six Moments That Matter เคยทำวิจัยเกี่ยวกับความโกรธของมนุษย์ โดยผลจากงานวิจัยชี้ว่า หากเราตระหนักรู้และสามารถควบคุมตัวเองได้ ความโกรธก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่มีประโยชน์ในการไล่ตามความปรารถนาในชีวิต
ผลงานของเฮนรีและคอล์มได้แนะนำวิธีการควบคุมความโกรธเอาไว้ 2 ประการ ได้แก่
- ปรับหางเสือความโกรธ– ลองพยายามเปลี่ยนความโกรธ จากโกรธที่ตัวบุคคล ไปโกรธไปที่กระทำนั้นๆ แทน เช่น ถ้าเพื่อนมาสาย เราก็ควรโกรธที่การมาสาย และเลือกตักเตือนเฉพาะเรื่องที่เพื่อนทำผิดจริงๆ แทนที่จะพาลไปพูดถึงปัญหาอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้อง เพราะนอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจจะทำให้ผิดใจกันในเรื่องอื่นๆ ด้วย
- โกรธแล้วระบาย– สิ่งที่เป็นเหมือนจุดอ่อนของคนเอเชียในหลายครั้ง คือเรามักหลีกเลี่ยงที่จะพูดตรงๆ ทันทีที่เกิดปัญหา แต่เลือกที่จะสะสมความโกรธเหล่านั้นเอาไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทนไม่ไหว อารมณ์ที่อัดแน่นก็จะปะทุออกมาจนยากต่อการควบคุม และถ้าให้ว่ากันตามความเป็นจริง ในระหว่างทางที่เราเลือกจะเก็บความโกรธไว้คนเดียว ความรู้สึกของเราก็มักจะว้าวุ่นจนผลลัพธ์ในการทำงานออกมาแย่กว่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น หากเริ่มรู้สึกโกรธก็ควรระบายออกมาทีละนิดในทันที เพราะปริมาณอารมณ์ที่ยังไม่มากย่อมควบคุมได้ง่ายกว่าตอนโกรธจัดเป็นไหนๆ
โกรธเป็น ประโยชน์ปัง!
นอกจากนี้ งานวิจัยของเฮนรีและคอล์มยังเผยถึง ‘คุณค่าของความโกรธ’ ในกรณีที่เราสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้เอาไว้ 2 ข้อ นั่นคือ
1) เปลี่ยนความโกรธสู่การจดจ่อ (Anger Creates Focus)
เมื่อเรารู้สึกโกรธบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรับหางเสือไปโกรธยังการกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคลได้แล้วนั้น สมาธิของเราจะจดจ่ออยู่กับเรื่องที่โกรธได้ดีกว่าปกติ นำไปสู่การมองเห็นปัญหาที่ชัดขึ้น แหลมคมขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างตรงเป้า ไม่หลงประเด็น เหมือนเช่นการที่เทนนิส—พาณิภัคหันเหความโกรธที่มีต่อการนับแต้มเป็นสมาธิในการแข่งขันกีฬาในช่วงนาทีสุดท้าย
อีกหนึ่งตัวอย่างซึ่งย้ำประโยชน์ของความโกรธข้อนี้ คือ เทคนิคไดร์เป่าผม (Hairdryer Treatment) ที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) ใช้พาทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดประสบความสำเร็จได้ยาวนาน 2 ทศวรรษ โดยเฟอร์กูสันเป็นโค้ชที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยบเป็นอย่างมาก ทำให้เมื่อลูกทีมแสดงความผิดพลาดหรือเล่นฟุตบอลได้ไม่เต็มศักยภาพในช่วงครึ่งเวลาแรก เขาก็จะตะคอกเสียงสุดปอด (ตะคอกแรงถึงขั้นที่ผมของนักเตะปลิว จนนักข่าวตั้งชื่อเล่นให้กับสิ่งนี้ว่า ‘ไดร์เป่าผม’) เพื่อเตือนสติให้นักเตะคนนั้นรู้ว่า ปกติตัวเองทำได้ดีแค่ไหน และนักเตะยอมให้ผู้เล่นอีกฝ่ายครองเกมเหนือกว่าแบบนี้ได้อย่างไร เป็นการสร้างความโกรธและแรงจูงใจที่มักช่วยให้ฟอร์มการเล่นของนักเตะดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา จากที่ครึ่งเวลาแรกเต็มไปด้วยความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ครึ่งหลังกลับมีสมาธิและวินัยอย่างกับเป็นคนละคน
2) เปลี่ยนความโกรธสสู่ความมั่นใจ (Anger Generates Confidence)
เมื่อโมโห ร่างกายของเราจะหลั่งอะดรีนาลีนออกมามากกว่าปกติ ช่วยให้เรากล้าที่จะทำในสิ่งที่ปกติเคยกลัว เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และพร้อมต่อสู้กับอุปสรรคที่ถาโถมอย่างไม่ละความพยายาม
ภาพความสำเร็จของการเปลี่ยนความโกรธสู่ความมั่นใจต้องย้อนกลับไปในปี 2005 นัดชิงชนะเลิศของการแข่งขันฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ระหว่างลิเวอร์พูล จากอังกฤษ พบเอซี มิลาน ทีมดังจากอิตาลี
เกมในค่ำคืนนั้นเป็นทางฝั่งของมิลานที่ทำได้เหนือกว่าในช่วงครึ่งแรก โดยขึ้นนำถึง 3 ประตูต่อ 0 เรียกว่าแทบจะปิดเกมและรับถ้วยไปแล้วครึ่งใบ ส่วนฝั่งลิเวอร์พูลเอง เมื่อเห็นว่าโดนนำ 3 ประตู นักเตะในทีมก็เริ่มหมดใจที่จะต่อสู้ บางคนแทบจะไม่อยากกลับไปลงแข่งต่อในครึ่งเวลาหลัง
แต่แล้วสิ่งที่เปลี่ยนเรื่องราวทั้งหมดไปตลอดกาลก็คือความโกรธ เพราะระหว่างการพักครึ่ง ทีมจากอิตาลีเลือกที่จะร้องเพลงฉลองแชมป์ล่วงหน้าในห้องแต่งตัว ซึ่งพวกเขาก็ขับร้องดังลั่นจนเสียงดังไปถึงห้องแต่งตัวของนักเตะลิเวอร์พูล การกระทำนี้ไม่ต่างจากการเย้ยหยันว่าเอซี มิลานเป็นฝ่ายชนะ และทีมหงส์แดงแพ้หมดรูปแล้วตั้งแต่ครึ่งแรก เป็นการจุดประกายให้ความเดือดดาลและดุดันค่อยๆ ปะทุขึ้นในใจของนักเตะที่โดนนำอยู่ 3-0
วินาทีนั้นเอง สตีเวน เจอร์ราด (Steven Gerrard) กัปตันทีม ได้บอกให้ทีมงานทั้งหมดออกไปจากห้อง เพื่อที่เขาจะได้พูดปลุกใจเพื่อนๆ นักเตะเพียงลำพัง และถ้อยคำที่เขาพูดซึ่งจุดให้ไฟแห่งโทสะของทุกคนลุกโชนก็คือ
“ลิเวอร์พูลเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของฉัน ฉันไม่อยากเป็นตัวตลกในหน้าประวัติศาสตร์ของแชมเปียนส์ลีก”
คำว่า ‘ตัวตลก’ และเสียงเพลงฉลองแชมป์จากห้องข้างๆ สร้างความโกรธเคืองและทำให้นักเตะลิเวอร์พูลทุกคนกลับมาอยากเอาชนะ แถมยังมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้ง และในเวลาเพียง 15 นาทีต่อมา ทีมก็สามารถสร้างปาฏิหาริย์โดยการไล่ตามตีเสมอเอซี มิลานได้ 3 ประตูต่อ 3 แบบช็อกโลก ก่อนที่สุดท้ายจะพลิกกลับมาชนะได้ในการดวลจุดโทษ กลายเป็นทีมที่ได้ร้องเพลงฉลองแชมป์ตัวจริง และขึ้นแท่นเป็นตำนานที่แฟนบอลยุคหลังยังพูดถึงมาจนทุกวันนี้
จึงเห็นได้ว่า ความโกรธในปริมาณที่เหมาะสมพอดีก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นหัวใจแห่งชัยชนะได้เมื่อคุณเป็นนักกีฬา ทว่านอกเหนือจากนี้ คนที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการก็โกรธแค้นโชคชะตาจนตัดสินใจลุกสู้ เพราะอยากพลิกชีวิตจากจุดที่เป็นอยู่เดิม เช่น สุดยอดผู้กำกับอย่างสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่เคยโดนบุลลี่เพียงเพราะเขาเป็นชาวยิว พิธีกรชื่อดัง โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ที่เคยโกรธเพราะถูกปลดจากตำแหน่งด้วยคำพูดที่ว่า “คุณไม่เหมาะสมกับหน้าจอโทรทัศน์” หรือนักธุรกิจที่ทั้งโลกให้การยอมรับอย่างแจ็ค หม่า (Jack Ma) ก็เคยโมโหที่ตัวเองมีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องซ้ำชั้นตอนเรียนอนุบาล ทั้งยังเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน
สุดท้ายแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของมนุษย์ มันอาจส่งผลเสียได้ แต่ก็อย่าลืมว่ามีผลดีมากมายจากความรู้สึกนี้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเรียนรู้และจัดการกับมันอย่างไร
จะควบคุมไม่ได้จนก้าวร้าว ขาดสติ หรือจะปรับหางเสือและระบายออกทีละนิดเพื่อให้ชีวิตมีแรงผลักดันสู่เป้าหมายที่ต้องการ
อ้างอิงจาก