เคยรู้สึกหรือเปล่าว่าอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่น่าโมโห?
วันหนึ่งเราอาจจะเลื่อนไทม์ไลน์ของเราอยู่ดีๆ ก็เห็นนั่นนี่มาให้โมโหอีกแล้ว อาจจะมาในรูปแบบของวิดีโอพฤติกรรมรบกวนผู้คนของเซเลบ วิดีโอทำอาหารที่สิ้นเปลือง วิดีโอ DIY ที่ใช้ไม่ได้จริง หรือดราม่าที่ 135 ของเช้านี้ ฯลฯ คอนเทนต์เหล่านี้โผล่ขึ้นมาให้เราเห็นแทบจะตลอดเวลา ซึ่งเราหลายๆ คนบอกตัวเองและคนรอบข้างเสมอว่า เราไม่ได้ชอบดราม่า แต่ทำไมมันช่างดึงดูดใจให้เราเข้าไปรู้เรื่องอยู่ตลอดๆ?
รู้ตัวอีกทีเส้นทางเดินในโลกออนไลน์ที่เรารู้จัก จากที่เราเคยเลือกเดินไปแต่พื้นที่ที่ให้ความสุขแก่เราได้ ทุกเส้นทางตอนนี้กลับพาไปสู่เนื้อหาที่ก่อความรู้สึกโกรธให้เราในบางรูปแบบอยู่เสมอ และแม้ว่าในหัวของเราจะคิดเสมอว่า เป็นไปได้เราก็คงจะไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอารมณ์ในแง่ลบ ไม่อยากทำให้ตัวเองรู้สึกโกรธ แต่บางอย่างในใจกลับกระชากสายตาของเราให้มอง ให้รู้สึกโมโห ให้ต้องตอบโต้กับเรื่องราวเหล่านั้น
วันนี้เราเลยพาทุกคนมารู้จักกับคอนเทนต์ยั่วโมโหที่มีชื่อเรียกว่า ‘Rage Bait’ และวิธีทำงานที่มีผลต่อใจของเรากัน
เป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่เราจะบอกว่า ถ้าไม่ชอบอะไรก็ไม่ต้องหันไปมองมัน แต่เมื่อพูดถึงคอนเทนต์ Rage Bait แล้วมันกลับยกมุมที่น่าสนใจของจิตใจมนุษย์ขึ้นมาให้เราเห็น นั่นคือความเสพติดต่อความโมโห และลางสังหรณ์ของความถูกผิดที่นำมาสู่ความโกรธนั้น ก็ผูกติดอยู่ภายในจิตใจของเรา
แน่นอนว่าความถูกผิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ในฐานะมนุษย์ หากลองมองย้อนกลับไปช่วงหนึ่งที่มีเทรนด์การกินโรตีดิบ หรือเทรนด์การเดินไปที่ตู้เย็นร้านสะดวกซื้อ เปิดถ้วยไอศกรีมแล้วเลียมันก่อนจะวางกลับเข้าชั้นเหมือนเดิม ตอนนั้นเราคงรู้สึกประมาณว่า “ถ้าคนทำตามจะเป็นยังไง?” “ทำแบบนี้ชาวบ้านเขาก็เดือดร้อนหรือเปล่า?” “แล้วทำไมสังคมเราถึงมีคนทำเรื่องแบบนี้ตามอยู่เรื่อยๆ โลกแตกได้ยัง?”
เราแต่ละคนมีลางสังหรณ์ความถูกผิด และสามัญสำนึกอยู่ในระดับหนึ่ง หลักฐานพบได้ในงานวิจัย Our Brains are Wired for Morality: Evolution, Development, and Neuroscience โดยฌอง ดีซิตี้ (Jean Decety) ศาสตราจารย์จากคณะจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่เล่าว่านอกจากปัจจัยทางสังคม และวัฒนธรรมที่คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาแล้ว ศีลธรรมของมนุษย์ยังผุดกำเนิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการของเราอีกด้วย โดยหน้าที่ของศีลธรรมในแง่มุมการอยู่รอด ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้
“สิ่งที่ก่อร่างศีลธรรม เช่น การรู้สึกได้ถึงความยุติธรรม การเห็นอกเห็นใจ และการตัดสินการกระทำของผู้อื่นว่าเป็นโทษหรือเป็นคุณ สามารถถูกสังเกตเห็นได้ตั้งแต่วัยทารก ก่อนที่สภาพแวดล้อมทางสังคมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อเด็กคนนั้นได้”
นั่นเองคือสาเหตุที่เราต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบอกว่า ใครสักคนกำลังทำอะไรผิดอยู่ เราในฐานะสัตว์สังคมมีสัญชาตญาณในการตรวจจับว่าอะไรคือถูก อะไรคือผิดเมื่อเราเห็นมัน (ความถูกผิดนั้นๆ ส่วนหนึ่งมาจากการปลูกฝังโดยสังคม) และปฏิเสธได้ยากว่า เมื่อเราชี้หน้าไปหาคนคนหนึ่งด้วยความโมโห มันก็แอบๆ ฟินอยู่ในใจเราเหมือนกัน เพราะเราต่างชอบเป็นคนถูก และลึกๆ เมื่อเราเป็นคนที่ถูก เราก็จะรู้สึกเหนือกว่าคนที่ผิดอยู่เล็กน้อย ฉะนั้นเราเลยจะขอลงไปเล่นด้วยสักหน่อยดีกว่า ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนั้น คือสิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ Rage Bait ใช้ประโยชน์จากมัน
คอนเทนต์ Rage Bait หรือ Rage-Baiting คือคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมา เพื่อดึงความโกรธของคนเราออกมาด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ และรูปแบบที่เราคุ้นตามากที่สุด คงหนีไม่พ้นคอนเทนต์การสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน คอนเทนต์ทำอาหารแบบใช้วัตถุดิบสิ้นเปลือง และหน้าตาออกมาดูกินไม่ได้ หรือคอนเทนต์ประเภท Life-Hack ที่เอาไปใช้งานจริงไม่ได้เลย โดยความโกรธของเราต่อคอนเทนต์รูปแบบนี้ มักมาจากระยะห่างของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เราเข้าใจความรู้สึกเมื่อมีใครสักคนมารบกวนเราในพื้นที่สาธารณะ เราเข้าใจว่าการใช้วัตถุดิบทำอาหารอย่างสิ้นเปลืองนั้นแย่ยังไง แต่แล้วการทำทุกอย่างในคอนเทนต์รูปแบบนั้นเป็นไปเพื่อความสนใจอย่างนั้นเหรอ?
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุดคือ มีผู้ใช้ TikTok คนหนึ่งที่ได้มัดรวมตัวอย่างคอนเทนต์รูปแบบก่อนหน้าทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกัน ผ่านคลิปวิดีโอทำอาหารในห้องน้ำโรงแรมและเครื่องบิน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมองไปยังเสียงตอบรับของวิดีโอเหล่านี้จะเห็นได้ทันทีว่า มีทั้งคนที่แสดงออกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นน่ารังเกียจ และเสียงที่บอกว่าคอนเทนต์ของเขาน่าสนใจ รวมถึงชื่นชมเรื่องความ ‘สร้างสรรค์’
รูปแบบของเสียงตอบรับดังกล่าวทำให้เราเข้าใจขึ้นมาอีกขั้นว่า ทำไมคอนเทนต์เหล่านี้จึงได้เรียกสายตาได้มากขนาดนี้ ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด แต่คนทั้ง 2 ฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมต่อการตอบโต้ทั้งคู่ ลักษณะดังกล่าวนี้จึงนำไปสู่การใช้ Rage Bait ในรูปแบบอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือคอนเทนต์ทางการเมือง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังการมาถึงของโซเชียลมีเดีย การสื่อสารผ่านหลักการและข้อเท็จจริงได้ถูกลดคุณค่าลงไปอย่างมาก ทั้งยังโฟกัสไปยังอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้นำทางความคิด หรือนักการเมืองคนหนึ่งจะก่อให้แก่มวลชนของพวกเขาได้แทน
งานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว What Makes Us Click? Demonstrating Incentives for Angry Discourse with Digital-Age Field Experiments โดยทิโมธี ไรอัน (Timothy Ryan) ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (แต่ ณ เวลาที่ผลิตงานวิจัยดังกล่าวเคยอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนมาก่อน) พบหลักฐานว่า ผู้นำทางความคิดในกลุ่มการเมืองต่างๆ สามารถใช้ความรู้สึกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารทางการเมืองของพวกเขา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มการกระทำทางพฤติกรรม อันเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นได้
“หลายๆ งานวิจัยชี้ให้เราเห็นว่า ความวิตกกังวลนำไปสู่การให้ความสนใจ และการหาข้อมูลเพิ่มเติม ในงานวิจัยนี้ผมตั้งคำถามว่า ทำไมผู้นำทางการเมืองหลายๆ ราย จึงเลือกปลุกความรู้สึกโกรธที่ไม่ใช่ความวิตกกังวล” ทั้งนี้ผู้เขียนยังพบว่า ในการทดลองภาคสนาม หากสร้างความโกรธอย่างเดียวให้ใครสักคน ความโกรธจะนำไปสู่การเฟ้นหาข้อมูลทางการเมืองที่สูงมากๆ
เช่นนั้นแล้ว บ่อยครั้งจึงแทบจะไม่จำเป็นเลยที่เราต้องคงเส้นคงวาต่อความเชื่อทางการเมืองของเรา เพราะหากเราสร้างความโกรธได้มากพอ เราก็อาจจะได้ทั้งความสนใจของคนที่ซัปพอร์ตเราและคนที่เกลียดเรา ซึ่งทั้งหมดก็เข้าทางกับโลกที่ถูกครองโดยอัลกอริทึมของเรา ว่าไหม?
มองไปยังหน้าโซเชียลมีเดีย กระแสหลักของเราที่ถูกครองโดยอัลกอริทึมและไม่มีใครเข้าใจ คอนเทนต์ที่โผล่หน้ามาให้เราเห็นบ่อยที่สุดจะเป็นอะไรไปได้ นอกจากคอนเทนต์เกี่ยวกับความรู้สึกโกรธ? แม้การทำงานของมันจะฉลาดในหลายๆ แง่ แต่ในที่สุดไม่ว่ามันจะมีปฏิสัมพันธ์แบบไหน การมีส่วนร่วม (Engagement) ก็ยังเป็นราชา เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ผ่านตาเรามากที่สุดก็คือ คอนเทนต์ยั่วโมโหสักรูปแบบเนี่ยแหละ
การที่เรายังติดอยู่ในโลกออนไลน์ที่มีระบบแบบนี้ ก็อาจไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้สร้างคอนเทนต์รูปแบบดังกล่าวจะต้องปรับตัว เพื่อสร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์มากขึ้น ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือการเริ่มปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ให้กับผู้คนมากขึ้น
เพื่อว่าในวันหนึ่ง เราจะหันหน้าหนี แล้วหลุดออกมาจากวงจรของความโมโหนี้ได้เสียที
อ้างอิงจาก