ฝ้าเต็มไปด้วยรอยน้ำรั่วซึม กระเบื้องยาแนวสีไม่น่ามอง วอลเปเปอร์ พื้น เสื่อมโทรมไปตามสภาพการใช้งาน ภาพของคอนโดเก่าอายุหลายสิบปี ที่มาพร้อมบิวต์อินที่ไม่ร่วมสมัย ถูกทุบทิ้งจนเหลือแต่โครงสร้างหลัก เศษกระเบื้อง ปูน กองพะเนิน กลายมาเป็นภาพ Before ก่อนจะเป็นภาพ After ที่เหมือนเนรมิตห้องขึ้นมาใหม่ ราวกับหลุดออกมาจากนิตยสาร เหล่านี้ครองใจคนที่กำลังตามหาคอนโดอยู่ไม่น้อย แล้วทำไมกันนะ ทั้งที่คอนโดก็มีหลากหลายระดับให้เลือก แต่คนรุ่นใหม่กลับเลือกเดินย้อนไปหาคอนโดเก่า?
คอนเทนต์รีโนเวทบ้าน คอนโด มีมาให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่สำหรับในช่วงนี้ ดูเหมือนว่าคอนโดเก่าหลักหลายสิบปี ที่มีพื้นที่กว้างขวาง จะถูกจับมาแปลงโฉมให้เราได้เห็นในคอนเทนต์บนโลกออนไลน์บ่อยเสียหน่อย โดยเฉพาะการจับคอนโดเก่ามาแปลงโฉมเป็นสไตล์ Mid-Century Modern แม้จะมีเส้นสายลวดลายน้อยนัก แต่ก็ทดแทนด้วยพื้นผิววัสดุจับคู่อย่างท้าทาย เช่น พื้นผิวไม้กับโลหะ คู่สีที่ล้อกันอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งเจ้าเทรนด์นี้มักจะมาพร้อมกับการรีโนเวทบ้านเก่า คอนโดเก่า เน้นทุบแล้วก่อร่างสร้างใหม่ มากกว่าตกแต่งพื้นที่เดิมที่มีอยู่
ทั้งที่การรีโนเวทคอนโดก็สามารถทำได้ทุกที่ แต่ทำไมคอนโดเก่าจึงกลับมาเป็นตัวเลือกของเหล่าคนรุ่นใหม่ ในวันที่มีคอนโดหลากดีไซน์ หลายระดับ สวยแบบสำเร็จรูปที่ปรับนิดปรับหน่อย ใส่เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวก็สวยไม่แพ้กันให้เลือกสรรเต็มท้องตลาดไปหมด
เก่าไปใหม่มา แต่ทำไมคอนโดเก่ากลับมาได้อีกครั้ง
อยากจะเพิ่ม จะลด จะทุบ จะสร้าง ในโครงการสมัยใหม่ ค่อนข้างเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ขนาดมาตรฐานประมาณ 20-30 ตารางเมตร ที่อัดแน่นทุกห้องมาไว้ในแปลนนี้เรียบร้อย จะปรับเปลี่ยนไปมันก็เปลี่ยนได้ไม่มากนัก ทำได้อย่างมากคือการจัดสรรพื้นที่ด้วยบิวต์อินในแปลนเดิม ในเชิงพื้นที่ คอนโดเก่าจึงได้เปรียบในข้อนี้ ด้วยพื้นที่กว้างขวางกว่า ตั้งแต่ภายในห้องจนถึงนอกระเบียง ทำให้การจัดสรรพื้นที่เป็นได้ดั่งใจนึกมากกว่า
ข้อจำกัดเชิงพื้นที่ยังไม่พอ ยังมีเรื่องของวัสดุเข้ามาด้วย ชาวคอนโดใหม่มักบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ผนังมันช่างบางเหลือใจ ใครถูกหวย ใครทะเลาะกับใคร ก็ได้ยินกันทั่ว จึงไม่มั่นใจในวัสดุของโครงการใหม่เท่าไหร่ สเปคจะทนทานได้เหมือนคอนโกเก่าได้ยังไง
ราวกับว่าผู้คนย้อนกลับไปมองหาสิ่งเก่าๆ ที่อยู่มานาน ด้วยหวังใจว่าความแข็งแรงที่ค้ำยันให้มันมาถึงขวบปีนี้ได้ จะอยู่ยั้งไปด้วยกันในอนาคตอีกแสนนานไม่น้อยไปกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา คอนโดเก่าที่มีอายุที่ผ่านมาการันตีความแข็งแรง จึงกลายมาเป็นตัวเลือกของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่อยากจะมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง แต่ไม่อยากถูกกำหนดด้วยห้องชุดที่หน้าตาเหมือนกันเรียงรายระฟ้า
ความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก ไปจนถึงภายใน พื้นที่ใช้สอยแสนคุ้มค่ากับราคาต่อตารางเมตร เทียบกันหมัดต่อหมัด คอนโดเก่าก็แทบจะชนะน็อกตั้งแต่ยกแรก แต่ที่เราเชื่อกันแบบนั้น มันจริงทั้งหมดหรือเปล่านะ?
เราลองมาฟังคำตอบจาก นักออกแบบสถาปัตยกรรม (Architectural Designer) ดูว่าเขาคิดเห็นยังไงกับเรื่องคอนโดเก่าและคอนโดใหม่นี้ เอาแบบเทียบกันหมัดต่อหมัด เรื่องที่ชวนสงสัย เรื่องที่อาจเข้าใจผิด มาดูกันว่าสิ่งที่เราเข้าใจมาตลอดนั้นถูกต้องหรือเปล่า
คอนโดเก่าแข็งแรงกว่าคอนโดใหม่จริงหรือเปล่า?
หากถามว่าคอนโดเก่าแข็งแรงจริงไหม ก็ต้องตอบว่าจริงนี่แหละ เพราะมันอยู่ตระหง่านค้ำฟ้ามานานหลายสิบปี คอนโดบางที่อายุมากกว่าเราเสียอีก แต่หากเพิ่มคำถามไปอีกสักนิด มันแข็งแรงกว่าคอนโดใหม่หรือเปล่า? คำตอบนี้อาจจะหักปากกาเซียนเสียหน่อย
“ผมคิดว่าในแง่ของโครงสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างคอนโดในอดีตหรือว่าปัจจุบันใช้หลักการคำนวณเดียวกันความแข็งแรงเท่ากัน แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือระบบการก่อสร้าง”
เอาล่ะ คำตอบที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ นี่อาจเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความแข็งแรงโดยรวม ไม่ว่าจะสร้างวันนี้ สร้างวันไหน ยังไงมันก็ต้องถูกสร้างมาให้แข็งแรงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เราเปิดประสบการณ์ว่าโครงสร้างคอนโดใหม่มันมีอะไรบางอย่างต่างกับคอนโดเก่าอยู่นะ มันคือระบบการก่อสร้างในคำตอบนั่นเอง
ย้อนกลับไปในยุคสร้างปีระมิด ตอนนั้นมนุษย์เราก็ใช้ระบบการก่อสร้างแบบหนึ่ง ผ่านมาถึงยุคต่อๆ มา กว่าจะถึงปัจจุบัน เราผ่านระบบการก่อสร้างที่พัฒนาให้เข้ากับวิทยาการและสภาพสังคมในตอนนั้น เช่นเดียวกับวิทยาการอื่นๆ ที่จะก้าวไปข้างหน้าตามยุคสมัยเสมอ ในปัจจุบัน เราก็มีระบบการก่อสร้างที่ต่างออกไปดังนี้
“ปัจจุบันการก่อสร้างคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ใช้ระบบผนังสำเร็จรูป เพื่อประหยัดเวลาการก่อสร้างและสามารถควบคุมคุณภาพของการก่อสร้างได้ง่ายกว่า ซึ่งทำให้ผนังภายนอกคอนโดมิเนียมมีรอยต่อซึ่งต้องยาแนวหรือว่าประสานรอยต่อของผนัง ซิลิโคนกันน้ำซึ่งมีอายุการใช้งานและการเสื่อมสภาพ ต่างจากระบบในอดีตที่ มักใช้ระบบผนังก่ออิฐทั้งหมดซึ่งทำให้รอยต่อต่างๆ ภายนอกอาคารมีน้อยกว่าคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน จึงทำให้ปัญหาการรั่วซึมของน้ำจากภายนอกสู่ภายในอาคาร มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าแม้ว่าจะก่อสร้างมานานแล้วครับ”
“ทั้งนี้ ระบบก่อสร้างในปัจจุบันก็มีการพัฒนาไปไกลมากเพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่คอนโดมิเนียมในอดีตจะแข็งแรงทนทานมากกว่าคอนโดในปัจจุบัน”
คำตอบในเรื่องของระบบการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องถึงความทนทาน อยู่ยั้งยืนยงของเหล่าคอนโดอายุเท่าช่วงชีวิตคนได้คำตอบมาแล้ว เมื่อความแข็งแรงของภายนอกหมดห่วงไป กลับมามองที่ภายใน เหมือนคอนโดใหม่ก็ยังคงเจอปัญหาอยู่ดี ปัญหาสร้างความกวนใจอย่างผนังบาง ได้ยินเสียงห้องข้างๆ แบบ Full HD ข้อจำกัดของบิวต์อิน เฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ก็ยังเป็นข้อกังขาอยู่ดีนำไปสู่คำถามที่ว่า
คอนโดใหม่เลือกใช้วัสดุที่สเปกลดลงจากคอนโดเก่าหรือเปล่า?
“วัสดุทดแทน ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างแค่เพียงผนังภายนอก ในปัจจุบัน แม้แต่ผนังภายใน เฟอร์นิเจอร์บิวต์อินต่างๆ ก็ถูกสร้างด้วยวัสดุทดแทนสมัยใหม่ทั้งนั้น หลายอย่างแข็งแรงขึ้นว่าวัสดุในอดีตนะครับ ไม่ได้แข็งแรงน้อยลงตามที่เข้าใจ ผมขอไล่จากส่วนหลักๆ ให้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ
พื้น – จากเดิมที่ก่อสร้างด้วยหิน ก็ถูกทดแทนด้วยกระเบื้อง ไปถึงวัสดุที่เป็นยางแล้วพิมพ์ลายเลียนแบบหิน จากไม้จริง ก็ถูกทดแทนด้วยไม้อัดและปิดผิวด้วยแผ่นไม้เลียนแบบไม้จริง
ผนัง – จากเดิมที่เป็นระบบก่อสร้างด้วยการก่ออิฐ ปัจจุบันถูกทดแทนด้วยผนังหล่อสำเร็จจากโรงงานหรือผนังยิปซั่มบอร์ดสำเร็จรูป
เฟอร์นิเจอร์ – จากเดิมที่ใช้ไม้จริงหรือหินจริงก็ถูกทดแทนด้วยหินสังเคราะห์ หรือไม้อัดปิดผิว”
โดยรวมแล้ว วัสดุทดแทนมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอื่นนั่นแหละ มีทั้งส่วนที่ใช้แล้วแข็งแรงมากขึ้น หรือส่วนที่ใช้แล้วแข็งแรงน้อยลง แต่แลกมากับข้อดีอื่นๆ แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบต้องเลือกสรรมาใช้แล้วล่ะ
หลายคนเริ่มเท้าเอววีน หันไปมองตัวต้นเรื่องอย่างวัสดุทดแทนที่ทำให้เกิดปัญหากวนใจ หากใช้วัสดุทดแทนแล้วเกิดปัญหายิบย่อยแบบนี้ เราจะใช้วัสดุทดแทนไปทำไมกันนะ?
“ถ้าพูดถึงข้อดีของวัสดุทดแทนตามที่กล่าวมาข้างต้น จริงๆ แล้วมีข้อดีอยู่หลายอย่าง เช่น ผู้พัฒนาโครงการสามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างได้ง่ายและสะดวกกว่า เพราะของทุกชิ้นผลิตผ่านระบบอุตสาหกรรมจากโรงงาน ทำให้คุณภาพของของทุกชิ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างที่ทำการก่อสร้างเป็นหลัก
รวมถึงระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ผลิตของชิ้นนั้นนั้นในอาคารต่างก็มีการรับรองคุณภาพของการผลิตหรือการใช้งานชัดเจน ส่งผลต่อความมั่นใจของเจ้าของ ผู้พัฒนาโครงการ ในการสั่งผลิตหรือสั่งซื้อมากกว่าระบบในอดีตที่อาศัยฝีมือช่างเป็นหลัก และเรื่องของความสวยงามด้วยครับ วัสดุทดแทนในสมัยนี้มีสีและลวดลายให้เลือกมากกว่าในอดีตมาก ทำให้ข้อจำกัดของการออกแบบลดลงด้วย”
ถึงตรงนี้เราคงพอจะเห็นภาพประมาณหนึ่งแล้วว่า นอกจากเรื่องของความแข็งแรง ทนทาน อาจจะยังไม่ครอบคลุมการใช้งานมากพอ เมื่อมีปัจจัยอื่นอย่างความสวยงาม กำลังผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ต้นทุน และอื่นๆ ทำให้เกิดวัสดุทดแทนมากมายขึ้นมา เพื่อเป็นตัวเลือกที่ตรงใจให้กับเหล่าต้นทางอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้น
ปัญหาเชิงโครงสร้างจบไป ใช่ว่าทุกอย่างจะกระจ่างใจมลไปหมด หลายคนยังคงสงสัยในปัญหาเชิงพื้นที่ ทั้งพื้นที่ใช้สอยโดยรวม คอนโดเก่าแสนกว้างใหญ่ มีพื้นที่ให้เดินแบบไหล่ไม่ชนกัน พร้อมทั้งระเบียงกว้าง ออกไปยืนตากอากาศรับลมได้สบาย ต่างจากคอนโดใหม่ที่แม้จะมาพร้อมแปลนห้องเผินๆ เหมือนใส่ฟังก์ชั่นมาครบครัน แต่พอไปใช้ชีวิตจริงๆ นั้น ระเบียงที่มีเอาไว้ตากผ้าก็ยังแคบเกิน
เมื่อคอนโดเก่าใหญ่ได้ ทำไมคอนโดใหม่เล็กจัง?
“ราคาที่ดินในปัจจุบันสูงกว่าราคาในอดีตมาก รวมถึงการแข่งขันระหว่างผู้พัฒนาโครงการก็สูงเช่นกัน ฉะนั้น การจะทำให้ราคาขายต่อห้องสามารถแข่งขันในตลาดได้ หรือคุ้มกับราคาที่ดินที่ซื้อมา ก็ต้องอาศัยการจัดการพื้นที่ภายในโครงการ รวมถึงพื้นที่ภายในห้องพัก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
“พื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนเกิน อย่างเช่นระเบียงที่กว้างเกินไป หรือแม้กระทั่ง ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ที่ขนาดใหญ่เกินไป จึงถูกมองว่าเป็นพื้นที่ ที่ไม่ได้ถูกจัดการและออกแบบอย่างเหมาะสม
การตัดพื้นที่เหล่านั้นออกเพื่อให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถตั้งราคาขายที่เหมาะสมและเข้าถึงคนหมู่มากได้จึงเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบห้องพักในสมัยนี้ครับ”
หากมองในมุมผู้ลงทุนก็พอจะเข้าใจได้ ถึงเหตุผลที่ทำให้ห้องคอนโดโครงการใหม่ๆ มันช่างพอดีตัว ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ราคามันพอดีกับกระเป๋าของเราด้วย แต่สิ่งนี้เอง เป็นหมัดเด็ดที่ทำให้คอนโดเก่าที่มีราคาต่อตารางเมตรถูกกว่า กลายมาเป็นตัวเลือกมาแรงในตอนนี้เช่นกัน
คอนโดเก่าหรือคอนโดใหม่ ถามใจตัวเองยังไงดี?
จากการพูดคุยมาตั้งแต่รากเหง้า โครงสร้าง วัสดุ พื้น ผนัง ไปยันเฟอร์นิเจอร์ ทั้งคอนโดเก่าและใหม่ต่างมีจุดแข็งเป็นของตัวเองทั้งนั้น ตอบกว้างๆ ก็คงให้เลือกเอาตามไลฟ์สไตล์ของเรา เพราะเรื่องของความแข็งแรงนั้นอยู่บนมาตรฐานความปลอดภัยเดียวกัน
แต่อีกสิ่งที่ต้องพิจารณา เป็นเรื่องของตกแต่งภายใน ต่อให้เราซื้อคอนโดเก่ามารีโนเวทใหม่ อยากจะกั้นเป็นสัดส่วนแบบนั้นแบบนี้ วัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุทดแทนเหมือนคอนโดใหม่นั่นแหละ นอกจากว่าเราจะเป็นชาววินเทจวินใจ ตามหาแต่เฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองมาใช้เท่านั้น อันนั้นก็พอจะเข้าใจได้ว่ามีข้อดีกว่า
ทีนี้ หากจะเฉือน มันก็มาเฉือนกันที่เรื่องเนื้อที่ใช้สอย เลยวนกลับไปที่ไลฟ์สไตล์ของเราว่าเราชอบใช้ชีวิตแบบไหน ก็เลือกพื้นที่ให้เหมาะกับเรา เราต่างอยากมีพื้นที่ในฝัน พื้นที่ที่ใส่ความชอบของเราลงไปในทุกรายละเอียด พื้น ผนัง เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ไปจนของตกแต่งชิ้นจ้อย หากจะลงเงินก้อนใหญ่ทั้งที ก็ลองชั่งน้ำหนักหลายๆ ด้านดูก่อน
นอกจากเรื่องที่เราได้แนะนำแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย อย่าง พื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง ความใส่ใจของนิติ ทำเล ขนส่งสาธารณะ พื้นที่พัฒนารอบข้าง ไปยันเรื่องปากท้องอย่างแหล่งของกิน เพื่อให้เราได้สิ่งที่ตรงใจที่สุด