แม้จำนวนอาคารพักอาศัยระฟ้าที่ผุดขึ้นแน่นขนัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจนเต็มพื้นที่ จนทำให้กำลังซื้อที่เคยคึกคักชะลอตัวตั้งแต่สองปีที่แล้ว และยังมาซ้ำด้วยการระบาดของ COVID-19 อีกรอบ แน่นอนว่ายอดขายของอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียมอาจจะไม่สดใสนักในปีนี้ แต่ทว่าก็ยังมีหลายเทรนด์คอนโดที่น่าจับตาเกิดขึ้นมาสั่นกระเป๋าเงินของคนที่มองหาที่อยู่อาศัยถาวร
The MATTER ขอพาไปเปิดวงการสังหาริมทรัพย์ ดูกันว่าคอนเซ็ปต์คอนโดแบบไหนที่ถูกออกแบบเพื่อตอบรับกับวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบันกันบ้าง
คอนโดสำหรับการเกษียณอายุ (Retirement Condo)
แน่ล่ะว่าเป็นรูปแบบที่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็มีนักพัฒนาหลายเจ้าที่โดดมาร่วมวงลงทุนกับคอนโดประเภทนี้ คอนเซ็ปต์ของที่พักอาศัยสำหรับการเกษียณอายุได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว และกราฟการเติบโตก็พุ่งชันพอๆ กับจำนวนคนที่เลือกจะเป็นโสด ดังนั้นคนที่วางแผนเกษียณอายุแบบที่อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตกับลูกหลาน การมองคอนโดห้องไม่เล็กไม่ใหญ่สักห้อง ก็ค่อนข้างตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายและการดูแลรักษา
สิ่งหลักๆ ที่คอนโดประเภทนี้ควรจะมีคือ ส่วนกลางที่สภาพแวดล้อมดีพอที่จะให้คนสูงอายุได้ออกมาทำกิจกรรมนอกห้อง มีทางลาดและราวจับติดตั้ง มีลิฟต์ที่กว้างขวางสำหรับผู้ใช้รถเข็น มีแสงสว่างที่เพียงพอ และแน่นอนว่าดีไซน์ห้องพักต้องตอบรับกับการขยับร่างกายของผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของประตูและห้องน้ำ
ว่าก็ว่า คอนโดประเภทนี้ถูกออกแบบเพื่อเป็นบ้านพักของผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันก็มีหลายโครงการที่ถูกโปรโมทออกมา ไม่ว่าจะเป็นระดับไฮด์เอนอย่าง ‘Aspen’ หรือโครงการที่ย่อมเยาว์ลงมาอย่าง ‘โครงการรามา-ธนารักษ์’ ที่กรมธนารักษ์ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีสร้างขึ้นมา
โดยส่วนใหญ่แล้ว โครงการคอนโดสำหรับการเกษียณนั้น มักจะเป็นสิทธิเช่าไม่ขายขาด แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากคนที่มองไกลถึงอนาคตเข้ามาจับจองอยู่ในอัตราที่สูง เพราะในประเทศที่ไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการเต็มตัวอย่างประเทศไทย การวางแผนเกษียณเพื่อบั้นปลายชีวิตที่มีความสุข จึงเป็นอะไรที่หลายคนเริ่มโฟกัสในยุคนี้
คอนโดอัจฉริยะ (Smart Condo)
ถือเป็นอีกหนึ่งคอนเซปต์ที่ถ้าคอนโดไหนมี ก็มีโอกาสกลายเป็นตัวเลือกที่เข้าเส้นชัยในใจของลูกบ้านได้ง่ายขึ้น ในยุคที่เทคโนโลยีพิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น และมนุษย์เองก็รักความสะดวกสบายนั้น
หลายคอนโดชูคอนเซ็ปต์สมาร์ทคอนโดเป็นจุดขาย ด้วยการนำ AI เข้าติดตั้งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นระบบสั่งการด้วยเสียง (Personal Assistant) สมาร์ทเซ็นเซอร์ที่ช่วยในการเปิดปิดอุปกรณ์จากการเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัย
ล้ำไปถึงกระจกอัจฉริยะ (Smart Mirror) ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระจก แต่เป็นแท็บเล็ตให้เจ้าของห้องได้เช็กสภาพอากาศ ตลาดหุ้น เช็กค่าน้ำค่าไฟ ขณะที่คุณตื่นมาทำธุระส่วนตัวในเช้าแต่ละวัน รวมไปถึงระบบจัดการส่วนกลาง เช่น ระบบการลงทะเบียนของแขกที่มาเยือนโดยไม่ต้องแลกบัตร และตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะที่ลูกบ้านรับของได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง
เรื่องของเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ผู้พัฒนาต้องฟาดฟันกันไปอีกนานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเหล่าบรรดาคอนโดอัจฉริยะก็ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีจากดิจิทัลซิติเซ็น ที่ยอมลงทุนจ่ายเงินเพิ่มขึ้นและกับความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีจะสามารถมอบให้ได้
คอนโดสำหรับคน(ตั้งใจจะ)โสดยาว (Lifelong Single Condo)
แม้ว่าการทำการตลาดของคอนโดมิเนียมจะไม่หวือหวาเพราะเน้นจับต้องฟังก์ชั่นที่ใช้ได้จริง และตอบรับผู้อาศัยหลากหลาย แต่รูปแบบคอนโดสำหรับคนโสดที่แค่ฟังหลายคนก็หูผึ่ง ก็เป็นอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์ที่เห็นในต่างประเทศมากขึ้น เพราะแน่นอนว่ามันเจาะใจวัยกลางคนที่โสดมายาวนาน เลิกคาดหวังการมีคู่ชีวิต และโฟกัสกับปัจจุบัน
คอนโดของคนโสดมีความแตกต่างอะไรจากคอนโดเกษียณอายุบ้าง (กรณีถ้าโสดโดดเดี่ยวเหมือนกัน) แน่นอนว่าหนึ่งคือตัวเลขอายุผู้พักอาศัย และอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่ควรจะมีความคล่องตัวมากกว่า และสะดวกต่อการเดินทาง
สิ่งที่เป็นตัวเลือกจำเป็นสำหรับคอนโดคนโสดมีอะไรบ้าง อันดับแรกคือเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงโสด ถัดมาที่ลืมไม่ได้เลยคือเรื่องเซอร์วิสซ่อมแซมที่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากในบ้านที่อยู่กันหลายคน แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็เหนื่อยน่าดู
ปัจจุบันในไทยยังไม่มีคอนโดประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาก็มีการเปิดตัว ‘บ้าน’ สำหรับคนโสด โดยเป็นยูนิตบางส่วนในโครงการเครือ SC Asset ที่ชูคำขายว่า One size dosen’t fit all ดังนั้นทางผู้พัฒนาจึงออกแบบบ้านที่จำนวนห้องนอนลดลง พื้นที่กิจกรรมใหญ่ขึ้น อยู่คนเดียวได้เชิ่ดๆ ไม่จำเป็นต้องมีคู่หรือครอบครัว
คอนโดต่ำล้าน (Affordable Condo)
อย่างที่บอกไปภาวะ (เกือบจะ) ฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม ทำให้ความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อไปมากโข ขณะที่กำลังซื้อของคนที่ลดลง ผู้พัฒนาจึงหันมาจับคอนโดระดับกลาง (Mid Market) มากขึ้น และที่บูมขึ้นเห็นได้ชัดคือ คอนโดราคาเบาๆ ย่านชานเมือง ที่ราคาต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท ซึ่งทางเน็กซัส พร็อพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง ได้เผยข้อมูลออกมาว่าเมื่อปี พ.ศ.2563 มีคอนโดที่ราคาถูกกว่าล้านมากถึง 3,600 หน่วย คิดเป็น 18% ของอุปทานใหม่ในปีดังกล่าว
นอกจากราคาที่จับต้องได้ (ซึ่งเป็นประเด็นหลักของใครหลายคน) การที่บริเวณชานเมืองที่รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เข้าถึง ทำให้ตัวเลือกนอกเมืองไม่ได้ทรหดเกินไปสำหรับการปักหลักถาวรเหมือนในอดีต โดยพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากในการขึ้นคอนโดคือ บริเวณสุขุมวิทตอนปลาย
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นกำไรของผู้บริโภค แต่ราคาต่ำล้านที่ว่า ก็สะท้อนภาวะของแวดวงอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียมได้ดีประมาณหนึ่งว่า มันอยู่ในภาวะที่ไม่ใช่ขาขึ้นเท่าไหร่นัก
ประกอบกับข้อมูลจากทางเน็กซัส ก็ชี้ว่า ขาลงของตลาดคอนโดฯ ในสองสามปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากโรคระบาดที่คน work from home กันมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่คอนโดไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอีกต่อไป ก็ทำให้ราคาขายของคอนโดในภาพรวมปี พ.ศ.2563 ปรับตัวลดลงในครึ่งปีแรกถึง 16% (แน่ล่ะว่าถ้าใครมีเงินสด เงินเย็น พร้อมทุ่มซื้อคงยิ้มเผล่)
ยังไม่รวมความพยายามในการหั่นสต็อกยูนิตขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดให้หมุนเวียนในกระแสของผู้พัฒนาหลายเจ้า เราเลยได้เห็นโปรโมชั่นอยู่ฟรี xx เดือน ไม่ต้องผ่อน ซึ่งล่าสุดตัวเลขก็วิ่งไปถึง 36 เดือน หรือสามปีเข้าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อความเป็นเมืองถูกพัฒนามากขึ้น มนุษย์ในเมืองหลวงคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทยอยเข้าสู่ที่พักอาศัยแบบกล่องบนตึกสูงแนวติ่ง ดังนั้นหากมองไปในอนาคตคงเชื่อได้อยู่ว่า ธุรกิจคอนโดมิเนียมก็ยังคงเติบโตต่อไป
อย่างในปีนี้และปีหน้าก็จะมีคอนโดทยอยเสร็จอีกกว่า 30,000 ยูนิต ซึ่งก็น่าจะตามมาด้วยการปรับกลยุทธ์ขายของหลายเจ้า หนึ่งในนั้นคงเป็นการหั่นราคาขายอีกระลอก ลงหากเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดยังไม่ดีดตัวฟื้นกลับมา
อ้างอิงข้อมูลจาก