“คุณเก็บความลับได้ไหม หากผมนั้นมีอะไรจะบอก~”
เสียงเพลงแว่วดังขึ้นในหูฟัง ชวนให้คิดไปถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ทุกครั้งเวลาเราเอง หรือใครหลายคนมีความลับ และเลือกที่จะบอกเล่ามันออกมาให้คนไว้ใจได้ฟัง ก็มักจะต้องต่อด้วยประโยคลงท้ายหลังเรื่องเล่านั้นเสมอว่า “เรื่องนี้อย่าบอกใครนะ” แต่วันต่อมาเรื่องที่เคยรู้กันแค่ 2 คนกลับกลายเป็นมีคนที่ 3 4 5 รู้ด้วยซะงั้น
สรุปแล้วประโยค “เออๆ ไม่บอกใครหรอก เดี๋ยวเหยียบไว้เลย” ของเพื่อนนั้นอาจจะเป็นการตกปากรับคำได้ไม่เต็มปากซะทีเดียว เพราะเหยียบไว้ในที่นี้อาจไม่ใช่การเหยียบให้มิด แต่มันคือการเหยียบความลับของเราให้กระจายไปเลยซะมากกว่า!
หรือว่า “อย่าบอกใครนะ” จะเป็นประโยคอาถรรพ์? อะไรทำให้ความลับของเราต้องมีอันเป็นเรื่องสาธารณะไปทุกที
‘ลับ’ ที่จะพูดถึงในที่นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า “ที่อยู่ในที่พ้นตา, ที่อยู่ในที่ซึ่งแลไม่เห็น, เช่น ที่ลับ ประตูลับ หายลับ, ที่ปกปิดหรือควรปกปิด เช่น ความลับ หนังสือลับ ห้องลับ, มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังอยู่ เช่น ของอยู่ลับฝา พระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขา.”
ดังนั้น ‘ความลับ’ จึงหมายถึงที่ปกปิดหรือควรปกปิด แม้หลายครั้งจะเป็นเรื่องที่ตัวเราละอายใจเกินกว่าจะบอกให้ใครรับรู้ เป็นเรื่องที่หวาดกลัวต่อการถูกตัดสินจากคนอื่นในสังคม ต้องเก็บรักษาไว้เพื่อปกป้องใครอีกคน หรือกระทั่งทำให้สถานการณ์ตรงหน้าเลวร้ายลง แต่รู้ไหมว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพใจ และอาจกระทบไปถึงสุขภาพกาย รวมถึงการใช้ชีวิตนับจากนี้ด้วย
การมีเรื่องต้องปกปิดและเก็บซ่อนไว้กับตัวเราเองเพียงคนเดียว อาจสัมพันธ์กับความตึงเครียดบางอย่าง เพราะเราจำต้องแบกรับความรู้สึกหนักอึ้งไว้บนบ่าแบบไม่มีใครช่วยเหลือ โดยมิเชล สเลเปียน (Michael Slepian) ศาสตราจารย์จาก Columbia Business School และผู้เขียนหนังสือ The Secret Life of Secrets กล่าวว่า “…เมื่อผู้คนคิดถึงความลับของตัวเอง จริงๆ แล้วพวกเขาจะรู้สึกราวกับต้องแบกรับภาระที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตัวพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ซ่อนความลับไว้ในขณะนั้นก็ตาม”
ทั้งนี้ยังมีข้อสันนิษฐานว่า ความลับอาจส่งผลทางลบต่อสุขภาพกายและใจมากกว่าที่คิด ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าด้วย จากการศึกษาของสเลเปียนเองพบว่า “คนเรามักจะนึกถึงความลับเวลาที่ต้องอยู่กับความคิดของตัวเองตามลำพังมากกว่าตอนอยู่กับคนอื่นๆ…”
คนส่วนใหญ่มักมีความลับที่ต้องเก็บไว้โดยเฉลี่ย 13 เรื่อง เป็นความลับที่ไม่เคยบอกใคร 5 เรื่อง และความลับอีก 8 เรื่องที่จะเล่าให้คนอื่นฟังอย่างน้อยหนึ่งคน เพราะความละลายใจ หมกมุ่น ย้ำคิดย้ำทำ ความวิตกต่างๆ รวมไปถึงความรู้สึกโดดเดี่ยวด้วยปราศจากคนเข้าใจนั่นเองที่ทำให้เราต้องหาทางออก ซึ่งนั่นก็คือการระบายออกไปให้ใครฟัง ใครคนนั้นที่เราไว้ใจ และเชื่อว่าเขาพร้อมที่เข้าใจเราได้ ซึ่งสำหรับบางคน วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้ความอัดอั้นและปัญหาในใจทุเลาลงได้เช่นกัน
ทว่าหลายครั้ง ดูท่าจะเป็นเรื่องที่เราทั้งต้องเผื่อใจและทำใจไปโดยปริยาย หากเรื่องที่อยากปกปิดถูกเอื้อนเอ่ยออกไปแล้ว ยากแท้หยั่งถึงเหลือเกินว่ามันจะจบอยู่ที่แค่ตัวเราซึ่งเป็นผู้พูด จบลงแค่ที่อีกฝ่ายที่เป็นผู้ฟัง หรือจะจบลงอยู่แค่ในวงแคบ เพราะขนาดสำนวนไทยของเราเองยังคอยเตือนให้ระมัดระวังว่า “กำแพงมีหู ประตูมีช่อง” แล้วอะไรทำให้เราความลับไม่เป็นความลับอีกต่อไป? ทั้งๆ ที่เราก็เน้นย้ำไปอย่างดิบดีแล้วว่า เรื่องนี้อย่าไปบอกใครนะ!
เหตุผลแรกอาจเพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ธรรมชาติของใครหลายคนคือการพูดคุย หรือภาษาชาวบ้านก็คือขี้เมาท์ เราพูดคุยกันถึงเรื่องของตัวเอง แลกเปลี่ยนความคิด แลกเปลี่ยนความกังวล รวมถึงแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาที่แต่ละคนพบเจอ แต่บางคนก็เมาท์ออกรสชาติเกินไปหน่อย จนถึงขนาดพูดกันไปถึงเรื่องของคนอื่นด้วย มนุษย์เราชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว หลายครั้งเราจึงทำไปเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญกับปัญหานี้เพียงคนเดียว ก่อนจะไปจบลงที่การพูดถึงใครสักคนเพื่อส่งเสริมความมั่นใจลึกๆ ให้ตัวเอง
ขณะเดียวกัน นอกจากการยกคนอื่นมาเปรียบเทียบให้ตัวเราดีขึ้นได้ด้วยแล้ว และยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ใครอีกคนต้องปกปิด เรามักจะมองมันในแง่ลบว่าถ้าเป็นเรื่องดีก็ควรจะพูดได้อย่างเปิดเผยสิ เพราะจริงๆ แล้วภายใต้เรื่องที่ต้องปกปิด มักมีความหวาดกลัวต่อการถูกตัดสินซ่อนอยู่ ดังนั้น การหยิบยกสิ่งนี้มาพูดคุยในวงสนทนาเลยยิ่งทำให้ใครอีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองได้เปรียบกว่าใครอีกคน
เหตุผลต่อมาสืบจากที่เราบอกไปข้างต้นอย่าง การมีความลับนั้นสัมพันธ์กับความเครียด ในทางวิทยาศาสตร์เองก็บอกว่า มันเหมือนเราต้องแบกรับภาระบางอย่างจริงๆ เพราะฉะนั้นพอเราบอกเล่าความลับออกไปให้อีกฝ่ายฟัง ก็เปรียบเหมือนการส่งต่อความเครียดไปให้อีกฝ่ายช่วยแบกรับเหมือนกัน
นั่นจึงไม่แปลกเลยเมื่อการต้องเก็บความลับ ไม่ต่างอะไรกับการต้องแบกรับภาระที่ส่งผลต่อสุขภาพใจและชีวิตความเป็นอยู่ ใครอีกคนจึงจำต้องหาทางระบายความเครียดเหล่านี้ด้วยวิธีเช่นเดียวกับเรา นั่นก็คือเล่าออกไปให้ใครอีกสักคนฟัง อย่างน้อยมีคนรับฟัง มีคนรู้สึกและเข้าใจเหมือนกัน หรืออย่างมากคือสามารถหาทางออก รวมถึงวิธีรับมือกับเรื่องที่ต้องปกปิดเหล่านั้นได้
ประกอบกับอาซิม ซาห์ (Asim Shah) ศาสตราจารย์และรองประธานบริหารของ Menninger Department of Psychiatry and Behavioral Sciences จากเบอร์ลิน ยังอธิบายไว้ว่า ที่คนบางคนไม่สามารถเก็บความลับของผู้อื่นไว้กับตัวเองได้อาจเป็นเพราะความรู้สึกผิด ที่ถ้าเราไม่แบ่งปันเรื่องราวกับเพื่อน คนรัก หรือแชร์สิ่งที่พบเจอกับคนในครอบครัว ก็กลัวตัวเองกำลังจะสูญเสียความไว้วางใจจากใครบางคนไป
เหตุนี้เลยทำให้เราบางคนถึงกับยอมเปิดเผยความลับที่มีให้แก่ใครบางรู้ เพื่อซื้อความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงมิตรภาพด้วยนั่นเอง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ความคิดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำซะทีเดียว เพราะเราสามารถมีมิตรภาพที่ดี หรือการสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดด้วยวิธีอื่นอีกมากมาย
แน่นอนว่าการบอกความลับให้ใครอีกคนรู้ นอกจากการอยากระบายเรื่องที่คับคาใจ บางครั้งก็เป็น ‘ความเชื่อใจ’ คือเราเชื่อใจในตัวใครอีกคนถึงบอกเล่าความลับออกไป ในขณะที่ใครอีกฝ่ายก็ได้รับทั้งความลับและความเชื่อใจไว้อย่างเต็มอก
ทว่าเมื่อวันหนึ่งความลับที่ถูกบอกต่อไป หลายครั้งความเชื่อใจที่มีก็อาจถูกทำลายลง (แม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) นั่นจึงไม่แปลกเลยที่เราจะรู้สึกทั้งผิดหวังและเสียใจ แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดถ้าเรามีวิธีจัดการกับภาระเหล่านี้ได้หลากหลายขึ้น
นักจิตวิทยาคลินิก มาร์เซีย เรย์โนลด์ส (Marcia Reynolds) ได้แชร์เทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้จิตใจของเราไม่จมจ่อมอยู่กับความลับของตัวเอง เช่น
- การเขียนความลับลงในสมุดโน้ตส่วนตัว – นอกจากจะเป็นหนึ่งในวิธีการระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจแล้ว การเขียนยังช่วยให้เราได้สำรวจและทบทวนตัวเองด้วย
- การหาอะไรอย่างอื่นทำ – เช่น การเล่นดนตรี นอกจากจะช่วยสร้างสมาธิแล้ว ยังทำให้จิตใจของเราไม่ฟุ้งซ่าน และไม่ต้องจดจ่ออยู่กับเรื่องที่วิตกกังวล
- การบอกความลับกับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง – อย่างน้อยคือผู้ฟังน่าจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องที่เราต้องปกปิดได้
แค่เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด หรือที่เราเรียกมันว่าความลับ ก็ล้วนสร้างความไม่สบายใจให้กับทั้งตัวเราเองและคนที่รับรู้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก่อนจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ทำให้เราต้องลงท้ายบทสนทนาว่า “อย่าบอกใครนะ” จึงจำเป็นต้องสำรวจบริบทอื่นๆ รอบข้างด้วย
นั่นคือนอกจากสำรวจความพร้อม หรือภาวะความเครียดของตัวเองแล้ว เรายังอาจต้องสำรวจเพื่อนของเราด้วยว่า เขาพร้อมจะรับรู้ หรือรับมือกับความลับที่เราจะเล่าออกไปมากน้อยแค่ไหน เรื่องที่เรากำลังจะบอกเล่าออกไปจะส่งผลร้ายต่อ หรือสร้างอันตรายต่อตัวใครหรือเปล่า เพราะทั้งหมดนี้ก็เพื่อความสบายใจ ทั้งกับตัวเรา ตัวเขา และเพื่อความไว้เนื้อเชื่อใจที่ไม่หายไปของใครบางคน
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณล่ะยังเก็บความลับได้ไหม ถ้าเรามีอะไรจะบอก?
อ้างอิงจาก