ถ้าเหนื่อยก็พัก หมดไฟก็เติมกำลังใจ แต่ถ้าหัวหน้าผู้แสนดีกำลังจะย้ายไปทำงานที่อื่น…ปัญหานี้มันต้องแก้ยังไงล่ะเนี่ย!
สำหรับใครก็ตามที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ทำใจร่มๆ ก่อน เรามาช่วยกันหาทางรับมือกันดีกว่า ขั้นแรกลองทำความเข้าใจตัวเองก่อนว่า การลาออกของหัวหน้าคนนี้ทำให้เรามีความรู้สึกยังไงบ้าง…
โอเค สิ่งที่ตกผลึกได้คือ จริงๆ แล้ว ใจหนึ่งเราก็ยินดีกับก้าวต่อไปของหัวหน้า แต่อีกใจเราก็กลัวว่าหัวหน้าคนใหม่จะไม่ดีกับเราเหมือนคนนี้ ก็พวกเราผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมาตั้งเยอะ เรียกว่าทำงานจนเข้าขารู้ใจ แค่เธอยักคิ้ว เราก็รู้แล้วว่าต้องแก้ตรงไหน แค่เขาเอ่ยว่า “กินข้าวกัน” เราก็รู้ทันทีว่า ร้านอะไรที่จะต้องฝากท้องในมื้อเที่ยงวันนี้ หรือกระทั่งปัญหาสารพัดที่พบเจอ เรากับหัวหน้าก็ปรึกษากันได้ทุกเรื่อง
เพราะฉะนั้น ถ้าหัวหน้าลาออก ชีวิตประจำวันของเราก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำไปทำมาก็คิดจริงๆ นะว่า หรือเราลาออกตามหัวหน้าไปด้วยดี…
หายใจเข้าลึกๆ อย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงขั้นนั้น ลองหาทางรับมือสถานการณ์ปัจจุบันกันก่อนดีกว่า แล้วถ้าสุดท้ายไม่ไหวจริงๆ จะลาออกตามหัวหน้าก็ยังไม่สาย แต่ระหว่างนี้มาลองปรับใช้ ‘4 ขั้นตอนการรับมือเมื่อหัวหน้าที่เรารักลาออก’ กันเถอะ
1) ให้เวลากับตัวเอง
เศร้าได้เลย นอยด์ก็ได้ หรือถ้าลึกๆ เราจะแอบโกรธหัวหน้าก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะกระทบต่อการทำงานของเราไม่มากก็น้อย เราอยากให้ทุกคนปล่อยใจ ลองให้เวลากับตัวเองเพื่อให้ความคิดและความรู้สึกค่อยๆ ตกตะกอน อย่าเพิ่งบุ่มบ่ามเอาความน้อยใจไปลงกับหัวหน้า หรืออย่ายอมให้อารมณ์ครอบงำจนทำอะไรแบบไม่ทันคิด
สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนตระหนักไว้ก็คือ หัวหน้าที่เราสนิทสนมแค่เปลี่ยนที่ทำงานเท่านั้น เราและเขาไม่ได้ตายจากกันไปไหน ยังอยู่ในชีวิตของกันและกันได้ แค่ไม่ได้เจอกันบ่อยเท่าเดิมแค่นั้นเอง ยังติดต่อ โทรหา บ่นเรื่องต่างๆ นานา รวมถึงนัดกันข้าวได้เหมือมเดิม
ลองมองในแง่ดีสิ นี่อาจจะเป็นก้าวต่อไปและโอกาสครั้งใหม่ที่ดีมากๆ ทั้งสำหรับเราและหัวหน้าก็ได้ ให้เวลากับตัวเองดู ไม่แน่ความรู้สึกเศร้าอาจจะไม่อยู่กับเรานานขนาดนั้น
2) ลองมองในมุมหัวหน้า
ระหว่างที่ความอัดอั้นภายในใจของเราแทบจะระเบิดออกมา อย่าลืมว่า สำหรับหัวหน้าแล้ว นี่ก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเช่นกัน แน่นอนว่าการที่คนสำคัญอย่างเขาหรือเธอจำต้องลาจากทีมย่อมทำให้สมาชิกอย่างเราหวาดระแวงและรู้สึกใจหาย แต่หากลองนำสายตาไปมองจากมุมที่หัวหน้ายืนอยู่ เราอาจได้รู้ว่า จริงๆ มันยากสำหรับเขามากกว่าเราเสียอีก
ลองถอยออกมามองภาพกว้างแล้วคิดแบบง่ายๆ การที่หัวหน้าลาจากไปจะทำให้สมาชิกในทีมเปลี่ยนไปหนึ่งคน จริงอยู่ว่าหนึ่งคนนั้นมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมของกลุ่ม แต่สำหรับหัวหน้าแล้ว เขาต้องเปลี่ยนบรรยากาศและลูกทีมทั้งหมดที่ตัวเองทำงานด้วยมาเป็นระยะเวลานาน
ดังนั้น แม้จะหนักหนาสำหรับเราอยู่บ้าง แต่การให้กำลังใจหัวหน้าซึ่งเราชื่นชมและยอมรับคนนี้ก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ และอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะอวยพรให้เขาโชคดีกับประสบการณ์ครั้งใหม่หรือจะขอให้เขามีลูกทีมที่น่ารักและตั้งใจทำงานเหมือนอย่างเราก็ได้ (ถ้าเรามั่นใจว่าตัวเองตั้งใจทำงานน่ะนะ)
3) ทำความรู้จักและให้เวลาหัวหน้าคนใหม่
“หลังจากหัวหน้าคนเก่าลาออก ฉันอยากให้ทุกคนให้โอกาสกับผู้ที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาหรือเธอควรมีเวลาและพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำในแบบของตัวเอง”
บาร์บารา โอมอลลีย์ (Barbara O’Malley) อาจารย์ด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration: MBA) แห่งมหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกาอธิบาย
เพราะทุกคนต่างก็สมควรได้รับโอกาส ลองนึกย้อนกลับไปในวันแรกที่พบกับหัวหน้าคนเก่าดูสิ วันนั้นเรากับเขาก็คงไม่ได้เข้ากันได้ในทันที แต่อาศัยวันเวลาและภาระงานในการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสนิทใจกับว่าที่หัวหน้าตั้งแต่คราวแรกที่เจอหน้า เพราะฉะนั้นก็ลองให้เวลาเขาหน่อย อย่าเพิ่งมีอคติต่อกันเร็วจนเกินไป ใครจะรู้ เขาอาจกลายเป็นเพื่อนสนิทในที่ทำงานคนต่อไปของเราก็ได้
เพิ่มเติมสำหรับขั้นตอนที่ 3 นี้ หากหัวหน้าคนใหม่เป็นเพื่อนร่วมทีมที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง การปรับจูนภายในกลุ่มก็น่าจะไม่ยากเท่าที่คิด อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจตำแหน่งและการจัดการเล็กน้อย ทว่าคงไม่ยากเกินความพยายาม
อย่างไรก็ดี หากหัวหน้าคือใครสักคนที่ย้ายเข้ามา เราก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องให้เวลาเขามากเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงต้องแสดงภาวะผู้นำเพื่อควบคุมการทำงานให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่เขายังต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานใหม่ด้วย ซึ่งในระหว่างนั้นเอง อะไรที่เราพอช่วยแนะนำได้ ก็น่าจะลองช่วยเหลือกันดู เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างกันอีกทางหนึ่ง
4) ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
เป็นเรื่องธรรมดาที่หัวหน้าใหม่จะมีเรื่องที่ด้อยกว่าคนเก่า แต่ก็คงเป็นเรื่องจริงที่เขาจะต้องมีสักเรื่องซึ่งเก่งกว่าคนเดิม ทางที่ดีคือเราไม่ควรจะเปรียบเทียบคุณสมบัติของสองหัวหน้ามากเกินจนเกิดเป็นความหมกมุ่นหรือลำเอียง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แทนที่จะจ้องจับผิด เราก็ควรมองหาแง่ดีที่หัวหน้าคนใหม่แสดงให้เห็น และพร้อมกันนั้นก็ลองเรียนรู้ที่อยู่กับข้อเสียของเขาด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรเกิดขึ้น
“เฮ่ย แต่เขาเพิ่งย้ายมานะ ใครมันจะไปกล้าพูดตรงๆ กันเล่า!”
ก็ใช่อยู่หรอก แต่ถ้าคนที่เราไม่เห็นด้วยคือหัวหน้าคนเก่า เราก็คงกล้าบอกเขาไปแล้วจริงมั้ยล่ะ ฉะนั้น อย่าไปกังวลล่วงหน้า มันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะสื่อสารซึ่งสิ่งที่คิดจากใจจริง แต่การพูดตรงๆ ก็ไม่เท่ากับการบอกอย่างไม่รักษาน้ำใจหรือตำหนิโดยไร้ความเห็นอกเห็นใจ เราแสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์ หรือถกเถียงได้ ทว่าควรหลีกเลี่ยงอารมณ์และอคติที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ลองใช้เหตุผลคุยกัน ค่อยๆ ปรับความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ ไม่นานทุกอย่างก็น่าจะราบรื่นมากขึ้น
แล้วทำไงดี ถ้าเราต้องเป็นหัวหน้าซะเอง!
นอกจากคนจากที่อื่นย้ายเข้ามาและเพื่อนสักคนได้เลื่อนขั้น อีกทางที่เป็นไปได้เช่นกัน และน่าจะส่งผลโดยตรงต่อความกดดันในสมองมากที่สุด คือการลาออกของหัวหน้าบีบให้เราต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของทีมแทน
เครียด ประหม่า น่าอึดอัด…
อาจจะทำได้นะ แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากทำ ไม่อยากเป็นผู้นำขนาดนั้น มันกลัวไปหมดทุกอย่าง…
ณ จุดนี้ เราอยากชวนให้ทุกคนลองทบทวนดูดีๆ ถ้าเราไม่ต้องการตำแหน่งนี้จริงๆ สิ่งที่ควรทำคือพูดออกมาให้หัวหน้าที่อยู่สูงขึ้นไปได้รับรู้ แต่ถ้าลึกๆ คืออยาก แต่แค่กังวลหรือเกรงกลัว เราก็อยากเชียร์ให้ทุกคนสู้ให้สุดตัวแล้วลองดูสักตั้ง เพราะไม่ว่าใครก็ย่อมต้องเติบโตในสักวัน ในเมื่อหัวหน้าเก่าเลือกเส้นทางนั้นแล้ว นี่ก็คงถึงคราวของเราที่จะต้องเติบโตตามไป และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ เราก็เชื่อเหลือเกินว่าทุกคนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ในที่สุด
ก่อนจากกัน เราอยากบอกทุกคนว่า มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่เพื่อนร่วมงานสักคนจะอยู่กับเราไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตการทำงาน มีพบพานก็ต้องมีจากลา และครั้งนี้ก็ถึงคราวที่หัวหน้าของเราต้องจากไป สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสัจธรรมอีกอย่างหนึ่งของโลกการทำงานที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยง
และในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังจะต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าคนใหม่ อย่าลืมว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็ยังทักอดีตเจ้านายไปได้เช่นเดิม และถ้าหากตำแหน่งหัวหน้าคนล่าสุดไม่ใช่ใครอื่น ทว่าตกเป็นของคนในภาพสะท้อนที่เราเห็นทางกระจก ก็จงฉีกยิ้มให้กว้างๆ ให้กับเขา หายใจเข้าลึกๆ แล้วกระซิบบอกคนตรงหน้าว่า
แกทำได้ ขอแค่แกมั่นใจ!
อ้างอิงจาก