ลาพักร้อนที่ว่าคิดแล้วคิดอีก ลาออกยิ่งต้องนอนคิดกันหลายตลบ นอกจากจะต้องถามความต้องการลึกๆ ในใจของเราเองแล้ว เงื่อนไขต่างๆ ในตอนลาออกที่เคยได้ยินมา ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้เราเดินเชิ่ดออกไปได้ง่ายๆ ชวนทุกคนมาสำรวจพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อตอบข้อสงสัยที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ในตอนลาออกกัน
ตัวบทที่เราจะใช้อ้างอิงในการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ตอนลาออก จะเป็น มาตรา 17 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยมีใจความดังนี้
“มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”
ลาออกต้องบอกล่วงหน้ากี่วัน?
ก่อนอื่น ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า ลูกจ้างที่ถูกกล่าวถึง มี 2 แบบด้วยกัน คือ ลูกจ้างสัญญาจ้าง ที่สัญญาจ้างได้กำหนดเวลาทำงานเริ่มต้นและสิ้นสุดไว้ชัดเจน อาจเป็นรายวัน 6 เดือน หรือ 1 ปี และ พนักงานประจำ ซึ่งก็คือลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างเหมือนกัน แต่ว่าในสัญญาจ้าง ไม่ได้ระบุไว้ว่างต้องทำงานถึงเมื่อไหร่
หากเป็นลูกจ้างที่เป็นสัญญาจ้าง ที่มีระบุไว้ว่าต้องทำงานถึงเมื่อไหร่ การออกก่อนสัญญา จึงอาจเกิดความเสียหายต่อองค์กร จึงต้องแจ้งล่วงหน้าตามระเบียบบริษัทที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง
หากเป็นพนักงานประจำ ควรแจ้งล่วงหน้าก่อนลาออก อย่างน้อย 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรหรือนายจ้าง
แล้วทำไมต้องบอกล่วงหน้าด้วยนะ? ถ้าไม่บอกแล้วองค์กรเสียหายคือยังไง?
เราอาจจะต้องเผื่อเวลาให้องค์กรหาพนักงานใหม่สักระยะหนึ่ง (ซึ่งส่วนมากอยู่ภายใน 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง หรือ 1 เดือนนั่นแหละ) ยิ่งตำแหน่งเฉพาะทางหรือตำแหน่งระดับสูง ยิ่งใช้เวลาหาพนักงานใหม่เข้ามายาก หากขาดตรงนี้ไป อาจทำให้บริษัทเกิดความเสียหายจากการลาออกของเรา รวมทั้งระยะเวลาถ่ายโอนงานไปยังพนักงานคนใหม่ด้วย
ถามว่าลาออกไม่บอกล่วงหน้าได้ไหม ได้ แต่หากบริษัทเกิดความเสียหายจากการลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าของเรา ทำให้นายจ้างมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาทำงาน หากลาออกก่อนนั่นเท่ากับว่าผิดสัญญาจ้าง นางจ้างมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ดังนั้น หากลาออกควรแจ้งบริษัทภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาในภายหลัง
ลาออกไม่แจ้งล่วงหน้า จะได้ค่าจ้างไหม?
ไม่ว่าเราจะลาออกโดยแจ้งล่วงหน้ากี่วัน ไม่ถึงตามระเบียบบริษัท หรือไม่แจ้งล่วงหน้าเลย นายจ้างก็ยังต้องจ่ายค่าจ้างตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ จนถึงวันที่เราทำงานวันสุดท้าย ไม่มีสิทธิหักเงินเราจากการลาออกครั้งนี้ หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามกำหนด ก็ถือว่านายจ้างมีความผิด
ในทางกลับกัน หากการลาออกกะทันหันของเรา สร้างความเสียหายแก่องค์กรหรือนายจ้าง เราก็มีสิทธิถูกฟ้องร้องเช่นกัน (แยกกันไปคนละกรณี) โดยนายจ้างต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการลาออกกะทันหันของเรานั้น สร้างความเสียหายแก่องค์กรอย่างไรบ้าง
หัวหน้าไม่ให้ลาออกได้ไหม?
หลายคนเจอปัญหา หัวหน้าปัดใบลาออกทิ้ง ไม่ยอมให้ลาออก หรือทิ้งไว้ไม่เซ็นอนุมัติ หากย้อนกลับไปที่ มาตรา 17 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จะเห็นได้ว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเหมือนกัน การลาออกไม่จำเป็นต้องให้หัวหน้าอนุมัติ เพียงแค่เราแสดงเจตนา ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง ดังนั้น หัวหน้าจึงไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้เราลาออก หรือไม่อนุมัติใบลาออก
ลาออกแล้วห้ามไปทำบริษัทคู่แข่งได้หรือเปล่า?
บริษัทบางแห่งมักจะมีเงื่อนไขนี้ในสัญญาจ้าง โดยเฉพาะกับตำแหน่งที่ทำงานอยู่กับความลับทางการค้า หรือความลับของบริษัท เมื่อพ้นสภาพพนักงานไป ห้ามไม่ให้ไปทำงานบริษัทคู่แข่ง หรือประกอบกิจการประเภทเดียวกัน เงื่อนไขนี้ดูเหมือนเอาเปรียบพนักงานพอสมควร ถือเป็นสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า
ต้องบอกก่อนว่า บริษัทสามารถทำสิ่งนี้ได้ ไม่ผิด แต่ต้องไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของลูกจ้างเลยทีเดียว สัญญาจ้างบางที่ มักระบุว่า เมื่อพ้นสภาพพนักงานไปแล้ว ห้ามประกอบกิจการประเภทเดียวกัน หรือไปอยู่บริษัทคู่แข่ง สิ่งนี้ทำได้ แต่ต้องไม่จำกัดจนเกินไป เช่น การห้ามไปตลอดชีวิต และเมื่อเกิดการฟ้องร้อง ศาลมีอำนาจปรับลดข้อตกลงให้เป็นธรรมแก่คู่กรณีได้
แม้การลาออกโดยไม่ทำตามระเบียบของบริษัทจะทำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องในกรณีเกิดความเสียหายต่อองค์กรในภายหลังได้ ก่อนจะเดินจากกันไป จัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามระเบียบของบริษัท เท่านี้ก็ไม่ต้องมาปวดหัวกับการฟ้องร้องในภายหลังแล้ว
อ้างอิงจาก