หลังจากที่ทำงานใหม่นัดวันเริ่มงานเสร็จสับเรียบร้อย เมลล์ก็ดันแจ้งเตือนขึ้นมาว่า “ยินดีด้วยค่า คุณผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ เราขอนัดคุณสัมภาษณ์ในวันที่…”
เป็นอย่างนี้ทุกที! เวลาสมัครงานไปพร้อมกันหลายที่ทีไร บทจะเงียบไม่มีใครตอบ ก็ไร้ซึ่งแจ้งเตือนใดๆ จากอีเมลล์ ทว่าพอได้งานปุ๊บ อีเมลแจ้งเตือนกันมาเป็นสิบ บ้างก็ขอนัดสัมภาษณ์ บ้างก็อยากคุยรายละเอียดเพิ่มเติม แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ
เมื่อสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำเอาหนักใจแทบทุกที ถ้าถามว่าชอบงานที่เพิ่งได้ไหม ก็คงตอบว่า ชอบอยู่ไม่น้อย ส่วนอีกงานที่เพิ่งนัดสัมภาษณ์ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เราเลยอยากลองไปสัมภาษณ์กับเขาดู เผื่อจะได้ข้อเสนอดีกว่างานแรก แล้วมันพอจะมีวิธีเจรจากับทั้งสองฝ่ายได้บ้างไหม เพื่อให้เรามีเวลา สำหรับการพิจารณาเลือกงานมากขึ้น?
เลือกไม่ได้ ก็ขอคุยกันให้เข้าใจเลยละกัน
เพราะชอบทั้งสองบริษัทนี้แหละ เลยอยากไปสัมภาษณ์กันให้รู้ไปเลยว่า ที่ไหนจะถูกใจเรามากกว่ากัน?
เชื่อว่าคงเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากไม่น้อย เมื่อต้องตัดสินใจก้าวไปสู่เส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเป็นอนาคตในหน้าที่การงานของตัวเราเอง หากตัดสินใจพลาดไปแล้ว จะย้อนกลับมาเลือกใหม่ก็คงไม่ง่าย
ใจหนึ่งก็อยากเลือกบริษัทแรกเลยให้จบๆ ไปเลย จะได้ไม่กังวลเรื่องงานอีก แต่ก็รู้สึกเสียดายเล็กน้อย หากจะทิ้งโอกาสอีกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น หากบริษัทดังกล่าวเป็นงานที่คอยมานานด้วยแล้ว ก็คงเสียใจแย่ถ้าตัดสินใจอะไรพลาดไป อย่างไรก็ตาม จะปฏิเสธงานแรกไปเสียดื้อๆ เพราะอยากลองสัมภาษณ์อีกงาน แล้วสมมติว่า ไม่ได้งานขึ้นมา จะกลายเป็นการคว้าน้ำเหลวไปโดยปริยาย
เพราะการตัดสินใจเรื่องการงานและอนาคตเป็นสิ่งท้าทายเสมอมา เจนนี่ ฟอสส์ (Jenny Foss) นักวางกลยุทธ์การหางานและนักจัดหางานมืออาชีพ จึงได้นำเสนอวิธีการอันน่าสนใจ ซึ่งช่วยให้เราจัดการกับสถานการณ์ในลักษณะนี้ได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ เราได้จำลองสถานการณ์ เพื่อช่วยให้ทุกคนได้เห็นภาพวิธีการของเจนนี่ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยสมมติว่า เพิ่งได้รับข่าวดีจากบริษัท A โดยพวกเขาขอคำตอบยืนยันการร่วมงานไม่เกิน 48 ชม. หลังจากนี้ ทันใดนั้น บริษัท B ก็ได้ส่งเมลมาเพื่อขอนัดสัมภาษณ์ แล้วเราจะเจรจากับทั้งสองฝ่ายอย่างไร เพื่อให้ยังได้สัมภาษณ์กับบริษัท B แต่ก็ไม่เสียโอกาสจากบริษัท A ด้วย
- ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ
เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนจะลงมือตัดสินใจทำอะไร เจนนี่ได้แนะนำให้ตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า บริษัท B ที่นัดสัมภาษณ์ นัดมาแล้วจริงๆ และควรมีรายละเอียดระบุวัน เวลา รวมถึงสถานที่ เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจก่อนจะดำเนินการอะไรต่อ
ในอีกทางหนึ่ง เราควรขอให้ บริษัท A แจ้งรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรมาทางอีเมลอีกทีด้วยเช่นกัน แม้เขาจะโทรมายืนกรานขนาดไหนว่า ได้ทำงานกับพวกเขาแน่นอน แต่อาจทำให้วางใจได้มากกว่า หากพวกเขาแจ้งรายละเอียดต่างๆ ผ่านอีเมล เพื่อจะได้ไม่กังวล สำหรับเข้าสู่การเจรจาขั้นถัดไป
- บอกไปตามตรงและขอเวลาเพิ่มสักนิด
พอถึงเวลาต้องเลือกจริงๆ เราอาจตัดสินใจไม่ถูกว่าควรทำอย่างไรต่อไปดี เจนนี่จึงได้แนะนำให้บอกกับบริษัท A ไปตามตรงว่า กำลังได้รับข้อเสนอเพิ่มเติมหรือมีนัดสัมภาษณ์จากอีกบริษัทหนึ่งด้วย เพื่อเป็นเหตุผลในการขอขยายเวลาสำหรับการตัดสินใจให้เยอะขึ้นอีกสักหน่อย ทั้งนี้วิธีดังกล่าวไม่ได้ผิดแต่อย่างใด โดยเธอมองว่า เป็นมืออาชีพกว่าการเงียบหายไปเฉยๆ
ทั้งนี้ควรส่งอีเมลแจ้งให้เขาทราบ ถึงจุดประสงค์ของเรา โดยเจนนี่มีแนวทางเนื้อหาอีเมล ใจความประมาณว่า “ฉันรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับโอกาสที่ได้รับ และยินดีอย่างยิ่งกับความเป็นไปได้ ซึ่งจะได้ร่วมงานกับบริษัท A ฉันเข้าใจว่า ทางบริษัทต้องการคำตอบภายในวันที่…นี้ อย่างไรก็ตาม ฉันมีนัดพูดคุยกับอีกบริษัทในสุดสัปดาห์นี้เช่นกัน ทั้งนี้ ฉันมีความประสงค์ให้กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน จึงอยากเรียนสอบถามว่า ทางบริษัท A พอจะสามารถขอขยายเวลาอีกประมาณ 1-3 วัน ได้หรือไม่ เพื่อให้ฉันมั่นใจในการตัดสินใจ”
ในกรณีที่บริษัท A ไม่ยินยอมและต้องการคำตอบภายในเวลาเดิม นั่นอาจนำองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ เงินเดือน ตำแหน่งที่ตั้งของบริษัท เนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อชั่งน้ำหนักว่า เราเอนเอียงไปฝั่งใดมากกว่า
- แจ้งอีกบริษัทให้รับรู้ด้วยเช่นกัน
เอาล่ะ หากได้รับเวลาสำหรับการพิจารณาเพิ่มเรียบร้อย ก็ใช่ว่าจะค่อยเป็นค่อยไปได้เสียที่ไหน เจนนี่เสนอให้คุยกับบริษัท B ด้วยเช่นกันว่า เราเพิ่งได้รับข้อเสนอจากอีกบริษัทมา อย่างไรก็ดี อาจต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ดูเหมือนกำลังเอาข้อเสนอทั้งสองแห่งมาแข่งขันกันอยู่
โดยเจนนี่ได้แนะนำว่า เราในฐานะผู้สมัครอาจรอจนถึงช่วงสุดท้ายของกระบวนการสัมภาษณ์ เพื่อดูว่าเขามีท่าทีอย่างไร มีความสนใจต่อตัวเรามากน้อยแค่ไหน แล้วจึงค่อยเจรจากับอีกฝ่าย ซึ่งจะช่วยให้การต่อรองแข็งแรงมากขึ้น
ตัวอย่างบทพูดที่เจนนี่แนะนำ สำหรับการเจรจาต่อรอง เช่น “ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับโอกาสที่บริษัท B มอบให้ ฉันมั่นใจอย่างยิ่งว่าสามารถสร้างผลประกอบการได้ตามคาดหวังได้อย่างแน่นอน แต่ฉันอาจต้องแจ้งให้ทางคุณรับทราบว่า ฉันได้รับข้อเสนองานจากอีกแห่งมาด้วย แม้ว่า ณ ตอนนี้ บริษัท B จะเป็นตัวเลือกแรกของฉัน ทว่าก็มีข้อเสนอบางอย่างของอีกแห่ง ที่น่าสนใจมากเช่นกัน หนำซ้ำพวกเขายังต้องการคำตอบจากฉันใน 2-3 วันนี้ จึงอยากสอบถามว่า พอเป็นไปได้หรือไม่ หากฉันอยากทราบผลของการสัมภาษณ์เร็วขึ้นสักนิด”
- คำขอบคุณสำคัญเสมอ
แน่นอนว่า เมื่อได้งานบริษัทใดก็ตาม คงต้องกล่าวขอบคุณบริษัทที่เลือกเราอยู่แล้ว ทั้งนี้ การตัดสินใจ ย่อมมีผู้ถูกเลือกให้ผิดหวังจากการปฏิเสธของเราเป็นธรรมดา ถึงอย่างนั้น ก็ต้องไม่ลืมขอบคุณสำหรับโอกาสที่พวกเขามอบให้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขาเป็นบริษัทที่ยอมมอบเวลาสำหรับการพิจารณาเพิ่มให้แก่เรา
สำหรับใครก็ตาม ซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ชวนปวดหัวนี้ อาจลองนำวิธีเหล่านี้ของ เจนนี่ ฟอสส์ ไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามแต่ละคนได้ เพื่อให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้น พร้อมยังได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเองด้วยนั่นเอง
แล้วควรพิจารณาจากอะไรบ้าง?
เมื่อถึงเวลาต้องเลือก เราก็ต้องเลือก จะไม่เลือกอะไรเลย เห็นทีคงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีงาน แล้วจะมีเงินมาจากไหน แต่ถ้าจะต้องเลือก ควรเลือกจากอะไรดีล่ะ?
พอถึงเวลาที่ต้องเลือกจริงๆ ว่า จะรับข้อเสนอจากบริษัทไหนดีนั้น คงจำเป็นต้องใช้เวลาสำหรับการพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนประมาณหนึ่ง ทว่าก็คงไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด เพราะมันอาจมีเรื่องของเวลามาเป็นตัวเร่ง ซึ่งอาจทำให้ผิดพลาดสำหรับการพิจารณารายละเอียดสำคัญบางส่วนไปได้
ด้วยเหตุนี้เอง Robert Half Inc. บริษัทที่ปรึกษาทรัพยากรบุคคลระดับนานาชาติ จึงได้แนะนำองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับช่วยในการพิจารณาเลือกงาน ขณะได้รับข้อเสนอจากหลายแห่งพร้อมกัน ดังนี้
- เงินเดือนและสวัสดิการ
เงินเดือนถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ซึ่งควรพิจารณาเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันแสนเร่งรุดให้เราต้องเลือกงานใดงานหนึ่ง เพราะเหตุผลในการทำงานของคนส่วนใหญ่ ก็เพื่อแลกกับเงินกันแทบทั้งนั้น ดังนั้น ค่าตอบแทนที่จะได้รับ จึงต้องสอดคล้องไปกับเนื้องานหรือหน้าที่รับผิดชอบด้วยเช่นกัน
อีกทั้ง ต้องไม่ลืมพิจารณาในเรื่องของสวัสดิการของแต่ละบริษัทด้วยว่า พวกเขามีสวัสดิการ ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของเรามากน้อยแค่ไหน หากบริษัทใดมีสวัสดิการอันไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่นัก ก็อาจนำบริษัทดังกล่าวไปไว้ในตัวเลือกสุดท้ายหรือตัดออกไปจากตัวเลือกของเราได้เลย ตัวอย่างสวัสดิการที่ควรมี เช่น วันลาที่ยังได้รับค่าตอบแทน, เงินทำงานล่วงเวลา, ประกันสุขภาพ, โบนัส ฯลฯ
- วัฒนธรรมองค์กรก็มีส่วนสำคัญ
ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเข้าไปทำงานที่ใดแล้ว ย่อมหมายความว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น อาจลองตรวจสอบให้ดีถึงวัฒนธรรมภายในบริษัทต่างๆ และพิจารณาดูว่า วัฒนธรรมองค์กรดังกล่าว เหมาะสมกับตัวเรามากน้อยแค่ไหน เพราะการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและเข้ากับเราได้นั้น สามารถส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ในส่วนขั้นตอนการศึกษาวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทใดก็ตามนั้น สามารถทำได้จากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ค้นคว้าข้อมูลบริษัท ผ่านช่องทางของบริษัทและช่องทางสาธารณะบนอินเทอร์เน็ต, สอบถามพนักงานของบริษัทดังกล่าวทั้งอดีตหรือปัจจุบัน เพื่อรับรู้ข้อมูลจากมุมมองของพนักงาน หรือสอบถามโดยตรงขณะสัมภาษณ์ รวมถึงสังเกตจากคำตอบของผู้มาสัมภาษณ์ ก็ทำได้ด้วยเช่นกัน
- พื้นที่สำหรับเติบโตในองค์กร
เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากทำงานแบบย้ำอยู่กับที่ไปเรื่อยๆ หรอก ไม่ว่าใครต่างก็อยากได้รับความก้าวหน้าในชีวิต เพราะฉะนั้นแล้ว ต้องไม่ลืมพิจารณาเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพภายในองค์กรด้วยเช่นกัน เพื่อเราจะสามารถวางแผนในอนาคตของตัวเองได้ แถมยังได้รับรู้อีกว่าเราจะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนในองค์กรนี้
ยิ่งถ้าใครกำลังมองหาเส้นทางอันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในอาชีพการงานของตัวเองด้วยแล้ว ข้อนี้ถือเป็นอีกหนึ่งข้อซึ่งไม่ควรมองข้าม โดยอาจสอบถามได้เลยขณะอยู่ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ ถึงความท้าทายในงานที่จะได้เจอ หรือนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร เป็นต้น
- ชื่อเสียงของบริษัทก็สำคัญไม่แพ้กัน
แม้ข้อเสนอเกี่ยวกับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการจะดีแค่ไหน ทว่าหากบริษัทดังกล่าวกำลังถูกพูดถึงในทางลบหรือมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ก็อาจทำให้เราคิดหนักไม่น้อย ดังนั้น ชื่อเสียงของบริษัทก็ควรนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วยเช่นกัน
ชื่อเสียงของบริษัท อาจไม่ใช่แค่ความนิยมขององค์กร แต่ยังรวมไปถึง ผลประกอบการในช่วงก่อนหน้าของบริษัท กลยุทธ์หรือแนวทางในการทำงานของพวกเขาต่อสาธารณะ รวมถึงความสำเร็จและรางวัลต่างๆ ที่ผ่านมาของบริษัท เหตุผลว่าทำไม เราต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ของบริษัทนั้น เนื่องจากพวกมันล้วนมีผลต่อการทำงานของเราในอนาคต
องค์ประกอบเหล่านี้ ถือเป็นส่วนสำคัญไม่น้อย สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกงานอันเหมาะสมแก่ตัวเรา เมื่อข้อเสนองานหลายแห่งดันเข้ามาพร้อมกัน องค์ประกอบข้างต้นจึงสามารถช่วยให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า เราควรหรือไม่ควรร่วมงานกับใคร
อย่างไรก็ดี ก็ต้องไม่ลืมคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไปด้วยเช่นกัน เพราะท้ายสุดแล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจมากสุดก็คือ ตัวของเราเอง
ดังนั้นแล้ว เมื่อถึงเวลาต้องเลือกงาน ก็ควรเลือกงานให้เหมาะสมกับตัวเอง และตอบโจทย์ต่อเป้าหมายในชีวิตให้ได้มากที่สุด เพื่อให้วันจันทร์ ที่ต้องลุกไปทำงาน เต็มไปด้วยพลังเต็มเปี่ยม พร้อมลุยงานต่อ!
อ้างอิงจาก