“เออนี่ พี่จะเมาท์อะไรให้ฟังนะ…”
“ค่ะพี่”
“…เรื่องมีเท่านี้แหละ ว่าแต่งานที่พี่ให้ทำเสร็จหรือยังล่ะ”
คงได้แต่คิดในใจ “คุณพี่ชวนคุยขนาดนี้ หนูจะเอาเวลาไหนไปทำงานให้ละคะ”
เวลาเริ่มตั้งหน้าตั้งตาทำงานทีไร ต้องมีใครสักคนมาขัดจังหวะทุกที พอจะหันไปบอกขอให้เขาหยุดคุยสักแป๊บ เอ้า! เป็นหัวหน้าเราเองซะงั้น ทำไงดีล่ะทีนี้ อยากลุกหนีไปเลยก็ไม่ได้ หรือจะบอกเขาไปตรงๆ ว่า “หนูขอทำงานก่อนได้ไหมคะ” ก็ไม่กล้า
นี่คงจะเป็นสถานการณ์ชวนกระอักกระอ่วนไม่น้อย หากคนชวนคุยแซ่บดันเป็นหัวหน้าของเราเอง และเป็นคนเดียวกันกับที่รอเราส่งงานให้ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า จะปฏิเสธไม่คุยด้วยก็กลัวว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์หรือเปล่า เพราะอีกฝ่ายเป็นถึงหัวหน้าของเรา แต่ถ้าเขามัวแต่ชวนคุยไปเรื่อยๆ อย่างนี้ เราเองจะทำงานไม่เสร็จเอาสินะ
มาทำงานหรือมาหาเพื่อนเมาท์กันแน่?
หลายครั้งที่เรามาทำงานด้วยแพชชั่นมุ่งมั่น พร้อมลุยงานให้เสร็จ แต่สุดท้ายความตั้งใจเราก็พังลง เพราะเมื่อขาก้าวเข้ามาในออฟฟิศ ก็มีคนตรงดิ่งเข้ามาเมาท์ราวกับว่าพรุ่งนี้เราจะไม่ได้คุยกันแล้ว
แน่นอนว่าเราอาจมีโอกาสที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรใดสักองค์กรหนึ่ง แล้วได้เผชิญกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าขาเมาท์ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผลสำรวจเกี่ยวกับการทำงานในองค์กรที่เพื่อนร่วมงานชอบชวนคุยจาก Preply โดยสำรวจจากหนุ่มสาวชาวออฟฟิศในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 1,003 คน พบว่า พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอนจอยเท่าไหร่นักกับการทำงานร่วมกับคนช่างจ้อ โดย 95% ของพวกเขาเคยเจอเพื่อนร่วมงานพูดเยอะจนเกินไป ถึงอย่างนั้นหากมีแค่เพื่อนร่วมงานด้วยกัน มันคงไม่มีปัญหาอะไรมาก ทว่าใน 95% กลับมีมากถึง 64% ที่พวกเขาบอกว่า คนชวนคุยในองค์กรคือ ‘หัวหน้า’
ดูเหมือนว่าคนจำนวนไม่น้อยเลยต่างมีประสบการณ์กับหัวหน้าชอบชวนคุย ซึ่งมันคงไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไหร่นักหรอก หากเรายอมฟังให้จบๆ ไป แล้วหันไปทำงานของเราต่อ แต่ผลสำรวจดังกล่าวกลับเผยให้เห็นว่า 40% ของช่วงเวลาที่หัวหน้ามักเข้ามาคุยกับเรามากที่สุด คือช่วงขณะที่เรากำลังรีบเคลียร์งานให้เสร็จเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน และอีก 38% เป็นช่วงระหว่างวันที่ยังคงอยู่ในเวลางาน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว หากเทียบกับช่วงเวลาที่ควรเมาท์อย่างตอนจะเริ่มทำงานหรือตอนพักเที่ยง
คุยกันบ้างก็ได้ แต่ถ้ามากเกินพอดีก็คงต้องพอ
ไปทำงานแต่ละวันก็แทบจะเครซี่อยู่แล้ว ถ้าจะขอแอบพักจิตพักใจเมาท์มอยกับคนที่ทำงานบ้างสักนิดจะเป็นอะไรไหมนะ?
การมีบทสนทนาบ้างสักเล็กน้อยระหว่างทำงานไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป งานวิจัยจาก University of Michigan เกี่ยวกับประโยชน์ทางสติปัญญาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน พบว่า การมีบทสนทนากับเพื่อนร่วมงานนิดหน่อยระหว่างวัน ช่วยให้การทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิและการวางแผนเกิดการพัฒนามากขึ้น ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนจำเป็นการทำงานในแต่ละวันของเรา
ไม่เพียงแค่การคุยกับเพื่อนร่วมงานเท่านั้นที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของเรา ในอีกทางหนึ่ง การมีหัวหน้าคุยเก่งและเฟรนลี่ยังช่วยทำให้พนักงานกล้าเข้าหา และพูดคุยขอคำปรึกษามากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหัวหน้ากับพนักงาน โดยผลสำรวจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับหัวหน้า จาก Olivet Nazarene University ทำการสำรวจพนักงานออฟฟิศชาวสหรัฐฯ กว่า 3,000 คน พบว่า 1 ใน 3 ของพนักงานในสหรัฐฯ พึงพอใจกับการมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้ามากขึ้น จนทำให้พวกเขากล้าขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวจากหัวหน้า และเกือบ 1 ใน 3 ของพนักงานก็มีหัวหน้าเข้ามาขอคำปรึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการมีหัวหน้าที่เฟรนลี่และเข้าหาพนักงานเป็น อีกทั้งการพูดคุยเหล่านี้ยังช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน พร้อมส่งเสริมให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการคุยกันบ้างในที่ทำงานจะช่วยพัฒนาสมองและส่งผลดีต่อตัวเรา แต่หากคุยกันเยอะเกิน หรือไม่ถูกจังหวะเวลา ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรากำลังเดือดกับงาน หรือใกล้เลิกงาน ถ้ามีใครสักคนมาขัดจังหวะขณะเรากำลังพิมพ์งานแบบไฟแลบจนต้องหยุดชะงัก เราก็คงจะหงุดหงิดอยู่ไม่น้อย
ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับบางหัวข้อของบทสนทนา ยังอาจสร้างความน่ารำคาญให้กับใครหลายคนได้เช่นกัน เพราะขณะที่เรากำลังขะมักเขม้นกับงาน ตัวเราเองคงไม่อยากรับรู้เรื่องราว หรือเอาปัญหาของเพื่อนร่วมงานมาใส่ตัวเองให้ปวดหัวมากขึ้นหรอก จริงไหม?
หลายคนคงคิดว่าหัวข้อเรื่องที่ทำให้หนุ่มสาวชาวออฟฟิศรำคาญใจมากสุด คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานเอง อย่างเรื่องแฟนของเพื่อนคนนี้ หรือเรื่องลูกของพี่คนนู้น ทว่าจากผลสำรวจของสำรวจของ Preply กลับพบว่า หัวข้อที่เหล่าบรรดาชาวออฟฟิศไม่อยากฟังมากสุดจากบรรดาเพื่อนร่วมงานขาเมาท์ คือหัวข้อซุบซิบหรือนินทาคนอื่นๆ ในองค์กร ไม่ว่าจะแผนกเดียวกัน หรือคนละชั้นก็ตาม และอันดับรองลงมาคือ หัวข้อกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างประเด็นทางการเมือง ซึ่งถ้ามีความเห็นต่างกันก็อาจทำให้หลายคนมองหน้ากันไม่ติดได้
จะทำยังไงดีถ้าหัวหน้าชวนคุยไม่หยุด?
ทุกวันนี้แค่เพื่อนร่วมงานชวนคุย งานก็แทบไม่เดินแล้ว ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้าเดินมาชวนคุยด้วยตัวเอง รับรองได้เลยว่า งานไม่น่าจะเสร็จทันเดดไลน์แน่นอน!
ด้วยความยากในการบอกปัดบทสนทนาของหัวหน้า ทำให้ The Muse องค์กรด้านอาชีพและให้คำแนะนำในการทำงานของสหรัฐฯ เสนอวิธีที่น่าสนใจสำหรับการรับมือเมื่อหัวหน้าชอบชวนคุย แถมบางครั้งยังคุยออกนอกเรื่อง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการพูดคุย – หากเรารู้ว่าอยู่แล้วว่าหัวหน้าเป็นขาเมาท์อันดับหนึ่งในออฟฟิศ เราอาจหลีกเลี่ยงการสนทนาโดยตรงกับอีกฝ่าย และหาวิธีการสำหรับสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์แทน รวมถึงพยายามเลี่ยงการเจอกันตามทางเดินหรือหน้าห้องน้ำ เพื่อเป็นการแสดงออกกลายๆ ว่า ตอนนี้เรายังไม่อยากเริ่มต้นสนทนากับใครเท่าไหร่
- กำหนดเวลาสำหรับการคุย – เมื่อมีความจำเป็นต้องคุยกับหัวหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจกำหนดเวลาในการคุยให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นบทสนทนา ตัวอย่างเช่น หากต้องไปปรึกษางานโดยตรงกับหัวหน้า แทนที่จะเข้าไปพบเขาตอนเรากำลังว่าง อาจลองเปลี่ยนเป็นไปพบหัวหน้าก่อนเข้าประชุมต่อแทน พร้อมบอกกับอีกฝ่ายไปว่า เรามีเวลาแค่ 10 นาทีก่อนไปประชุม เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายลากยาวคุยสัพเพเหระ จนเราไปประชุมไม่ทัน
- ใช้ภาษากายสื่อสารออกไป – ถ้ามองเห็นด้วยหางตาไกลๆ ว่าหัวหน้ากำลังตรงดิ่งเข้ามาคุยกับเรา คงต้องสวมบทบาทพนักงานอันดับหนึ่งประจำออฟฟิศกันหน่อย ด้วยการทำตัวเร่งรีบพิมพ์งานไฟแลบ จดจ่อกับงานตรงหน้าของเรา หรือหากเราต้องเข้าไปคุยงานเป็นการส่วนตัวในห้องของหัวหน้า แทนที่จะนั่งลงสบายๆ อาจเลือกเป็นการยืนฟัง เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเรากำลังรีบอยู่ และเมื่ออีกฝ่ายเริ่มออกทะเล เราอาจลองก้มลงไปมองนาฬิกา หรือดูหน้าจอโทรศัพท์ เพื่อเป็นการบอกกลายๆ ว่าเรามีธุระรีบไปสะสางต่อ
- ขัดจังหวะบทสนทนาสักเล็กน้อย – พอคุยเรื่องงานยังไม่ทันจะจบดี หัวหน้าของเราก็เริ่มโยงเข้าเรื่องส่วนตัว และไม่มีท่าทีจะหยุดเสียที ถ้าไม่อยากเสียเวลาทำงานของเราไปมากกว่านี้ เราอาจต้องมองหาส่วนจบของเรื่อง และหาทางแทรกโดยเร็วที่สุด อาจจะลองวกกลับเข้าเรื่องงานที่คุยกันค้างไว้ก่อนหน้า หรือถามเรื่องงานอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยท่าทีสุภาพ เพื่อให้ไม่เสียมารยาทจนเกินไป รวมถึงไม่เสียเวลางานของเราด้วย
แน่นอนว่าการมีปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงานบ้างสักเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องแย่อะไร เพราะบางครั้งงานสามารถทำให้เราเครียดได้เช่นกัน การแวะเบรกและมีบทสนทนากับเพื่อนร่วมงานบ้าง อาจช่วยให้เราบรรเทาความเครียดได้ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าบทสนทนามากเกินไปก็คงไม่ดี เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเราได้เช่นกัน
แม้ว่าการจะเบรกใครสักคนให้หยุดคุยอาจเป็นเรื่องท้าทายสักเล็กน้อย ยิ่งถ้าคนชวนคุยเป็นหัวหน้าของเราด้วยแล้วคงจะทวีความยากมากขึ้น ดังนั้น เราอาจต้องลองประเมินสถานการณ์ และหาวิธีที่เหมาะสมในการจะหยุดบทสนทนาอันไม่จำเป็นลง เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และทำให้งานนั้นเสร็จตรงเวลา
เพราะไม่ว่าหัวหน้าจะชวนเราคุยแค่ไหน สุดท้ายก็คงถามอยู่ดีว่า “งานที่สั่ง ได้แล้วหรือยัง?”
อ้างอิงจาก