หลังจากนี้…เราจะไม่มีปิดเทอมอีกเลยตลอดชีวิต!
ไม่แน่ใจว่าทุกคนเป็นเหมือนกันไหม แต่ทันทีที่เรียนจบ เราก็หัวหมุมอยู่แค่กับการหางานทำ ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการนั่งปั่นพอร์ตโฟลิโอตั้งแต่วันแรกที่พ้นสภาพนักศึกษา เพราะอยากได้ชื่อว่ามีที่ทำงานเข้าไส้ ทั้งที่ลึกๆ ในใจ เรายังหาตัวเองไม่เจอด้วยซ้ำ
“นี่เราต้องรีบหางานขนาดนี้เลยเหรอ” คุณถามตัวเองก่อนถึงวันรับปริญญา
“ใช่ดิ เพื่อนคนอื่นได้งานกันหมดแล้วนะ” คุณตอบคำถามตัวเอง หลังจากไถผ่านหน้าสตอรี่ในอินสตาแกรม
“แต่เรายังไม่ได้พักเลยนะเว้ย อยากไปเที่ยวสักเดือน อยากได้ลองทำในสิ่งที่ชอบ เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ กว่าจะมีเวลาอีกทีก็อาจต้องรอถึงหลังเกษียณเลยนะ…”
ทว่าระหว่างที่อยู่ในภวังค์แห่งความสับสน เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นจากในครัว
“เอ้อ เรียนจบก็รีบๆ หางานทำได้แล้วนะ มัวชักช้าเดี๋ยวตำแหน่งเต็มหมด”
สิ้นเสียงของแม่ เราก็ทำได้แค่ถอนใจ ก่อนจะเปิดโน้ตบุ๊กแล้วกดส่งใบสมัครงานใบที่ 3 ของวัน
ทั้งที่เติบโตมาในสังคมซึ่งไม่อนุญาตให้เราได้รู้จักตัวเองมากเท่าที่ควร แต่ในวันที่เรียนจบ เราก็ยังถูกบีบบังคับให้ต้องโตทันที ต้องมีงานทำ ต้องได้เงินเดือน ต้องมีแผนการสำหรับอนาคตทั้งไกลและใกล้ โดยห้ามเสียเวลาสักนาทีหนึ่งไปกับการอยู่เฉยๆ เพราะเดี๋ยวจะสมัครงานไม่ทันคนอื่นเขา
ในขณะที่วัยรุ่นอีกซีกโลกกำลังใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปีไปกับการพักผ่อน ไปกับการลองตามหาว่าสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ คืออะไร แต่วัยรุ่นไทยกลับต้องจำใจเลือกงานอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคงในชีวิต ก่อนจะเข้าสู่วัฏจักรตื่นเช้า ทำงาน กลับบ้าน และนอน ตามค่านิยมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ…
และต่อไปนี้ที่เราจะพาทุกคนไปดู คือเงื่อนไขซึ่งบีบให้เด็กไทยต้องกลายเป็น ‘First Jobber’ ทันทีที่พ้นสภาพนักศึกษา
อยากเป็นอิสระจากเงินของพ่อแม่
เรามีสิ่งที่อยากทำ มีของที่อยากซื้อ และมีสถานที่ที่อยากไป ทว่าตั้งแต่เด็กจนโต เงื่อนไขที่เข้ามาจำกัดความต้องการของเราไว้ คือการตัดสินใจร่วมของพ่อแม่ การต้องพึ่งพาเงินในกระเป๋าของผู้ปกครอง ทำให้เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้เท่าที่ใจนึก และทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากข้อจำกัดนี้ได้ก็คือ การมีรายได้เป็นของตัวเอง
เราเชื่อว่าหลายคนก็คงยังไม่ได้พร้อมจะมีชีวิตวัยทำงานอย่างเต็มที่ แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างการใช้เงินพ่อกับแม่ต่อไป เรากลับขอเลือกความลำบากสักนิด เพื่อให้มีอิสระทางการเงินอันแท้จริงดีกว่า ในเมื่อฟิกเกอร์ตัวนั้นก็อยากมี หรือตั๋วคอนเสิร์ตวงนี้ก็อยากได้ เราจึงบอกตัวเองในหัวว่า
“เอาวะ จบแล้วทำงานเลยก็ได้”
เมื่อบ้านไม่ได้มีฐานะที่ดีขนาดนั้น
สำหรับบางคน การรีบสมัครงานอาจไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่แทบจะเป็น ‘ทางรอด’ ของครอบครัว ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2564 ครัวเรือนในประเทศไทยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 205,679 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า การมีงานทำของสมาชิกในบ้าน คือรากฐานสำคัญต่อการเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน เงินเดือนถือเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตให้รอดพ้นจากสภาวะหนี้สิน
เพราะฉะนั้น ต่อให้เราจะยังไม่อยากทำงาน หรือไม่ได้ต้องการอิสระที่จะเลือกซื้อสิ่งของได้ตามใจ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ในสังคมไทยยังมีบัณฑิตจบใหม่มากมายที่ไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจากต้องสมัครงานให้เร็วที่สุดเพื่อรับเงินเดือน
มองไปทางไหนเพื่อนก็มีงานทำ
สำหรับบางครอบครัว อาจมีเงินสำรองมากพอที่จะซัปพอร์ตเราให้สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้ในระยะหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องรีบร่อนใบสมัครงาน แต่เมื่อหันซ้ายมองขวาแล้ว ภาพที่ปรากฏคือเพื่อนผู้จบมาพร้อมกัน ดันมีงานทำกันหมดแล้ว คนนู้นก็เพิ่งแชร์ว่าผ่านรอบสัมภาษณ์ ส่วนคนนี้ก็เพิ่งอวดตัวเลขเงินเดือน ทุกอย่างรอบตัวโน้มน้าวและกดดันจนเรารู้สึกว่า การไม่หางานเป็นเรื่องผิดที่ไม่สามารถยอมรับได้
สภาวะนี้สอดคล้องโดยตรงกับทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม โดยเลออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เคยอธิบายไว้ว่า การเปรียบเทียบทางสังคม คือการที่บุคคลเปรียบเทียบตัวเองกับบุคคลอื่น เพื่อประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของตัวเอง โดยการกระทำนี้มักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเผชิญสถานการณ์อันสับสน กำกวม จนเกิดเป็นความรู้สึกทางลบ มีความไม่แน่ใจ และต้องการอะไรบางอย่างเพื่อช่วยให้สิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น บุคคลนั้นจึงเริ่มเปรียบเทียบทางสังคมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
หนึ่งในประเภทของการเปรียบเทียบทางสังคม ที่ส่งผลให้วัยรุ่นไทยกรูหางานกันโดยไม่มีช่วงหยุดพักเรียกว่า Upward Social Comparison หรือการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จมากกว่า ซึ่งความสำเร็จที่มากกว่าในที่นี้คือการมีงานทำ เมื่อคนหนึ่งคนได้ที่ทำงาน คนแรกที่เริ่มเปรียบเทียบก็จะถูกกระตุ้นว่าต้องหางานตาม จากนั้นคนในกลุ่มที่กำลังสับสนเพราะเพิ่งเรียนจบ ก็จะรู้สึกถูกกดดันต่อไปเป็นทอดๆ จนท้ายที่สุด แทบทุกคนรอบตัวก็ตบเท้าเข้าสู่โลกแห่งการทำงานกันจนหมด ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีสักคนที่อยากทำงานเลยก็ได้
ค่านิยมเชิงลบที่มีต่อ Gap Year
Gap Year หรือการเว้นระยะเวลาช่วงก่อนหรือหลังชีวิตมหาวิทยาลัย ด้วยเป้าหมายเพื่อค้นหาตัวเอง พักผ่อน ไปจนถึงการเรียนรู้ประสบการณ์ในโลกกว้าง ซึ่งบางคนโดยเฉพาะวัยรุ่นอเมริกันและยุโรปอาจใช้ Gap Year เพื่อทำหน้าที่อาสาสมัคร ไปท่องเที่ยวประเทศในฝัน หรือทำโปรเจ็กต์บางอย่างที่ตั้งใจมาตลอด ก่อนจะเข้าสู่โลกการทำงานจริงที่อาจไม่มีวันหยุดยาวอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี มุมมองของคนไทยส่วนมากที่มีต่อ Gap Year กลับแตกต่างจากคนในประเทศฝั่งตะวันตก โดยข้อมูลจาก Way Magazine ชี้ว่า 36.67% ของนักเรียน ม.6 และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 90 คน คิดว่าสังคมไทยไม่อนุญาตให้เรามี Gap Year ขณะที่ 6.67% เชื่อว่า Gap Year นั้นเป็นไปได้ยาก และอีก 11.11% ไม่รู้จักสิ่งนี้เลย
นอกจากนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ในไทยยังมองว่า Gap Year เป็นเรื่องเสียเวลา เพราะนอกจากจะไม่สร้างรายได้แล้ว มันยังผลิตรายจ่ายที่มากพอสมควร แต่นั่นยังเลวร้ายไม่เท่ากับการที่หลายครอบครัวแปะป้ายไปแล้วว่า Gap Year คือข้ออ้างแห่งความขี้เกียจของเด็กจบใหม่ ลูกหลานแค่หาเรื่องเที่ยวเล่น เพราะไม่อยากทำงานก็เท่านั้น
อยากเรียนต่อแต่รัฐไม่สนับสนุน
อีกหนึ่งปลายทางหลังจากการสวมชุดครุย คือการตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาโท ทว่าหากเราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะมั่นคงและพร้อมสนับสนุน แม้จะมีทุนการศึกษาในการเรียนปริญญาโท ก็ยังไม่ใช่หนทางที่ง่ายดายนัก เพราะในระหว่างที่ศึกษาต่อ เราต้องมีทุนทรัพย์อย่างเพียงพอสำหรับใช้จ่ายประจำวัน นั่นเท่ากับว่าถ้าไม่มีเงินเก็บในระดับหนึ่ง ทางเลือกนี้ก็ดูจะเป็นไปได้ยากเย็นเหลือเกิน
เมื่อข้ามไปมองประเทศในทวีปยุโรปอย่างสวีเดน นอกจากการไม่คิดค่าเล่าเรียนของประชากรตั้งแต่ชั้นอนุบาลแล้ว ภาครัฐยังให้เงินส่วนหนึ่งแก่นักศึกษาปริญญาโท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย โดยรัฐบาลสวีเดนมองว่า คนกลุ่มนี้คือกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมโลก และพวกเขาเลือกที่จะไม่มีรายได้เพื่อสั่งสมองค์ความรู้ ดังนั้น เราในฐานะภาครัฐก็ควรทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากที่สุด
เมื่อตัดภาพกลับมายังประเทศไทย การเรียนปริญญาโทแบบฟรีค่าเล่าเรียนว่าหายากแล้ว แต่การเรียนแบบมีทุนสนับสนุนรายเดือนยิ่งยากกว่า หากพิจารณาอุปสรรคต่างๆ อย่างละเอียด ก็คงไม่แปลกว่าทำไมเด็กจบใหม่ในไทยเลือกจะหางานทำมากกว่าเรียนต่อ ซึ่งเป็นการสะท้อนกลายๆ ว่า สำหรับประเทศไทย การผลักให้คนเข้าสู่ระบบการทำงาน ดูจะสำคัญมากกว่าการเรียนรู้
จากเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวมา หลายเรื่องก็เป็นปัญหาระดับสังคม ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อแก้ไข ขณะเดียวกัน ถ้าลองหายใจเข้าลึกๆ แล้วมองกันอีกครั้ง บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่เรากดดันตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะจริงๆ แล้ว ต่อให้เราจะเห็นเพื่อนทุกคนมีงานทำแล้ว แต่หากไม่ได้มีข้อจำกัดอื่นใด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรีบมีเหมือนอย่างคนอื่น ขอเพียงรวบรวมความกล้าและให้เวลากับตัวเอง ท่องเอาไว้ว่า
จังหวะในชีวิตของแต่ละคนช้าเร็วไม่เท่ากัน
และเรา ‘ไม่จำเป็น’ ต้องรีบทำงานเสมอไป
ส่วนเรื่องราวในครอบครัว เราอาจรู้ดีว่าที่บ้านอยากให้รีบหางานทำ แต่หากได้ลองเปิดใจคุยกันจริงๆ บางทีพ่อแม่ก็อาจยินยอมและยินดีที่จะให้เราได้มีช่วงเวลาค้นหาตัวเองก่อนสักระยะ
“สิ้นปีนี้เริ่มหาแน่ แต่ตอนนี้ขอลองทำอะไรที่ชอบสัก 2 เดือนนะ” คุณรวบรวมความกล้าเอ่ยออกไป
แม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งใจ แต่สุดท้ายแม่ก็ตอบกลับมาว่า…
“โอเค งั้นให้เวลาถึงสิ้นปีนะ”
สุดท้าย การก้าวเท้าสวนแรงกดดันและความคาดหวังคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราพูดคุยกับตัวเองและครอบครัวได้ นั่นย่อมดีกว่าการทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบตั้งแต่ก้าวแรก โดยที่เรายังไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำ
อ้างอิงจาก