ปกติในช่วงเวลาที่เรายังนั่งทำงานที่ออฟฟิศกันอยู่ เราก็มีความเครียดเป็นเพื่อนร่วมทาง คอยเกาะหลังในทุกชั่วโมงการทำงานอยู่แล้ว พอย้ายการทำงานจากออฟฟิศมาเป็นที่บ้าน ดูเหมือนว่าความเครียดนั้นก็ไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย แถมมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในวันที่ทั้งโลกสามารถถอดหน้ากากอนามัยไปคอนเสิร์ตได้แล้ว เรายังคงต้องนั่งทำงานที่บ้านกันต่อไปแบบไม่มีทีท่าจะได้กลับออฟฟิศอีกครั้ง
แน่นอนว่าความเครียดนั้นยิ่งทวีคูณเข้าไปเรื่อยๆ จากสถานการณ์โดยรวม สภาพสังคมที่ไม่อาจเหลือช่องว่างให้เราได้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจกับสิ่งไหนได้เลย
เดิมทีการปรับตัวให้เข้ากับการทำงานรูปแบบใหม่ก็สร้างความประหม่า ความกังวล และความเครียดให้กับพนักงานอยู่แล้ว ทั้งการทำงานท่ามกลางเสียงพูดคุยของคนที่บ้าน การประชุมออนไลน์อันยืดเยื้อเพราะการสื่อสารถูกลดทอนความชัดเจนลง และการปรับเวลาในการทำงาน ที่หลายคนมักหลงลืมเวลา เผลอนั่งทำงานจนดึกดื่น เพราะรู้สึกว่า เราอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง จะเลิกงานเมื่อไหร่ก็ได้นี่นะ ทำให้ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว กลายเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่อาจเอื้อมถึงได้ยิ่งกว่าเดิม
ผลสำรวจจาก Oracle บอกตัวเลขที่ดูจะไม่ประหลาดใจเท่าไหร่ว่า กว่า 94% ของพนักงานรู้สึกเครียดมากขึ้นตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 แน่นอนว่า ต่อให้ไม่มีใครมายืนยัน เราเองคงรับรู้ถึงความเครียดของเราและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี แต่ความเครียดนี้นำมาสู่อะไรบ้าง? 78% เชื่อว่าความเครียดในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกับสุขภาพใจพวกของเขาอย่างมาก อีก 40% รู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจอะไรผิดพลาดมากขึ้น และความเครียดเหล่านั้น 90% ส่งผลกับชีวิตส่วนตัวของพวกเขาด้วย
แน่นอนว่า ความเครียด เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา อย่างการใช้ชีวิตส่วนตัวที่แม้จะได้นั่งทำงานที่บ้าน ถึงเวลาเลิกงานแล้วก็ใช่ว่าความเครียดเหล่านั้นจะหายไป สุขภาพใจเองก็โดนผลกระทบจากเรื่องนี้ไปเต็มๆ ไม่ว่าจะสภาพจิตใจ อาการนอนไม่หลับ ความห่อเหี่ยวที่ตามมาเป็นขบวน
ความเครียดนี้เหมือนจะเป็นเรื่องส่วนตัวของพนักงาน แต่เชื่อเถอะว่าความเครียดเหล่านี้ส่งผลกับการทำงานอยู่แล้ว หากคนทำงานมีปัญหา เกิดความเครียด ความกังวล อาจทำให้คงประสิทธิภาพการทำงานให้เท่าเดิมได้ยาก
เมื่อเกิดความเครียด พนักงานเองก็ย่อมหาทางออกให้กับความเครียดที่รุมเร้าของตัวเองกันอยู่แล้ว ทว่าเจ้านายเองก็มีส่วนสำคัญในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในสถานการณ์แสนตึงเครียดนี้ นอกจากจะช่วยแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อพนักงานแล้ว ยังช่วยให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้นอีกด้วย
แต่ก่อนที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือนั้น อาจจะต้องสำรวจก่อนว่าใครบ้างที่ส่งสัญญาณว่ากำลังเครียดเกินไป เช่น
- ทำยังไงก็ไม่ยืดหยุ่น การทำงานที่บ้านมักต้องอาศัยความยืดหยุ่น ทั้งเรื่องการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน แต่พอเริ่มเครียดขึ้นมา การตอบช้าของเพื่อนร่วมงานก็ชวนให้โมโหได้ หรือเสียงรถผ่านหน้าบ้านก็พาลให้หัวร้อน ซึ่งสถานการณ์จากต่างออกไปถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในออฟฟิศ เพราะอาจมีทางแก้ที่ดีกว่าและปัญหาก็ดูจะไม่หนักหนาเท่านี้ด้วย
- เริ่มทำงานพลาดมากขึ้น จุดแรกผ่านไป จุดสอง จุดสาม ค่อยๆ ผ่านไป ปกติแล้วคนนี้ก็ทำงานเรียบร้อยดี แต่ความผิดพลาดเหล่านี้ต้องไม่ได้เกิดจากความเขลา ความสะเพร่า โดยเนื้อแท้ แต่เกิดจากอาการหมดไฟ ห่อเหี่ยว เริ่มไม่มีสมาธิกับการทำงาน
- ภาษาและท่าทางดูเกรี้ยวกราดเกินเบอร์ ใครที่ปกติก็คุยกันนุ่มนวลดี แต่ช่วงนี้เหมือนโดนใส่อัศเจรีย์ (!!!) ในทุกประโยค ไม่ใช่แค่คำพูดเท่านั้นที่แสดงออกถึงความเกรี้ยวกราดและความไม่มั่นคงทางอารมณ์ได้ การตกลงกันได้ยาก การแสดงออกในแง่ลบมากๆ ก็เป็นอีกสัญญาณที่เข้าข่ายเช่นกัน
หากพอรู้แล้วว่าใครกำลังอยู่กับความเครียดที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบกับสุขภาพใจและการทำงาน ลองมาดูกันต่อว่า ในฐานะหัวหน้าทีมหรือเจ้านาย จะสามารถให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
พูดคุยสื่อสารกันให้เป็นปกติ
ปกติแล้ว เราคุยอะไรกับพนักงานบ้าง? งานนี้ไปถึงไหนแล้ว? ชิ้นนั้นล่ะเสร็จหรือยัง? คนในทีมทำงานกันเป็นอย่างไรบ้าง? เข้าใจได้ว่าในเมื่อนี่ยังเป็นเวลางาน หัวหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลภาพรวมของการทำงาน ย่อมต้องทำหน้าที่นี้เป็นอันดับแรก แต่เมื่อพนักงานของเรากำลังเผชิญกับปัญหา—และอาจไม่ใช่แค่คนเดียว เมื่อความเครียดมารวมกันเป็นหมู่เมฆอึมครึม หัวหน้าเองจึงต้องรับหน้าที่ดูแลบรรยากาศในการทำงานด้วยเช่นกัน
อย่าลืมสื่อสารกับพนักงาน นอกจากเรื่องงานแล้ว การใส่ใจถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากก็สำคัญ ผลสำรวจจาก Qualtrics พบว่า กว่า 46% ของพนักงาน รู้สึกว่าบริษัทไม่ได้ใส่ใจในเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานเลย และ 23% บอกว่าพวกเขามักถูกปฏิเสธการพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย
เราอาจเห็นพนักงานทำงานในทุกวัน โดยไม่ได้สังเกตว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้น บางคนอาจไม่แสดงท่าทีอะไรออกมา บางคนอาจแสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลังเผชิญกับปัญหา แม้เราจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยตรงเพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่การถามไถ่ถึงปัญหาของพนักงานบ่อยๆ จนพวกเขากล้าที่จะแชร์ปัญหาให้เราฟัง ช่วยให้เรารู้ว่าใครกำลังเจอกับปัญหาอะไร และช่วยสร้างวัฒนธรรมในองค์กรที่เกื้อกูลกันอีกด้วย
เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน
เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป เราไม่อาจยึดการทำงานแบบเดิมๆ ไว้ได้ทุกอย่าง ลองสำรวจความต้องการของพนักงาน (รวมถึงตัวเราเองด้วย) ว่าการทำงานที่บ้านมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรตรงไหน อะไรที่เคยทำที่ออฟฟิศแล้วอยู่บ้านทำไม่ได้ ทั้งวิธีการทำงาน รูปแบบการสื่อสาร ข้อตกลงต่างๆ รวมถึงเวลาในการเข้าออกงาน
ถ้าเป็นไปได้ การมีข้อตกลงใหม่ที่ชัดเจนจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับทุกคน เป็นการเพิ่มวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับการทำงานที่บ้าน และช่วยลดความเครียดจากการทำงานที่ต้องตรงเป๊ะไปหมด ซึ่งการจะกำหนดนโยบายใหม่ได้ หัวหน้าเองก็ต้องเริ่มจากความเห็นอกเห็นใจ เอาตัวเองเข้าไปมองในมุมของพนักงานว่า ทุกคนกำลังเผชิญกับอะไร และต้องการความช่วยเหลือในเรื่องไหน
ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างแบกความเครียดมาทำงานด้วย หัวหน้าจำเป็นต้องหาทางออกให้กับทีม เพื่อช่วยให้พนักงานลดความเครียดลงได้ และช่วยให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย
ลงทุนกับด้านสุขภาพจิตมากขึ้น
หากเรามีหน้าที่ในระดับที่เปลี่ยนแปลงนโยบายได้ ลองเพิ่มสวัสดิการใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้ อย่างการเพิ่มเรื่องของสุขภาพจิตที่สำคัญไม่แพ้สวัสดิการด้านสุขภาพกาย เข้ามาช่วยเหลือพนักงานที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากความเครียดในการทำงานให้องค์กร อาจเป็นค่ารักษาโดยตรง หรือคอร์สการบำบัดความเครียดสำหรับพนักงาน ให้ทุกคนได้ผ่อนคลายมากขึ้น
ถ้ายังไม่มีใครที่ได้รับผลกระทับหนักจนต้องเข้ารับการบำบัด และไม่สะดวกเป็นคอร์สบำบัด เพราะทุกคนมีเวลาไม่ตรงกัน และกังวลเรื่องระยะห่างทางสังคม เดี๋ยวนี้ก็มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น Headspace, Calm, Happify ซึ่งสามารถจ่ายค่าสมาชิกให้ทุกคนเลือกแอพฯ ตามความชอบและความเหมาะสมของตัวเองได้
ในช่วงที่ความเครียดรุมเร้านี้ การทิ้งใครเอาไว้ข้างหลังเพียงเพราะมองว่าเรื่องสุขภาพใจเป็นเรื่องส่วนตัว ก็อาจจะส่งผลระยะยาวกับคนทำงานในท้ายที่สุด ในเมื่อทุกคนคือคนทำงาน มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึกเหมือนกัน และในวันนี้ที่เหล่าพนักงานต้องเครียดจากการทำงานให้องค์กร เรายิ่งไม่ควรมองว่ามันเป็นปัญหาส่วนตัวอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon