การที่ gaslighting เป็นคำศัพท์แห่งปีบอกอะไรกับเรา?
จากการเก็บข้อมูลโดยพจนานุกรม Merriam-Webster พบว่ามีการค้นหาคำดังกล่าว เพิ่มขึ้นสูงถึง 1740% ในปี 2022 หรือสถิติจากแอปฯ หาคู่ Tinder ก็พบว่า มีการใช้อีโมจิแทนคำว่า gaslighting เป็นอันดับต้นๆ ในปีนี้ ในมุมหนึ่งเราอาจมองได้ว่า มีคนเริ่มรู้จักคำดังกล่าวในวงกว้าง มีการใช้สอยคำคำนี้หลากหลายขึ้น หรือถ้ามองลงไปอีกขั้นคือ ผู้คนรู้ความหมายคำคำนี้อยู่แล้ว คำศัพท์ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในปีนี้ และยังหาทางออกจากมันอยู่
ในขณะที่คนมากมายรู้จักคำนี้ ทำไมเราถึงยังไม่หลุดพ้นจากมันเสียที ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราก็เห็นการผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับการ gaslight ไม่ว่าจะความหมายของมัน สัญญาณที่ควรระแวดระวัง การเช็คตัวเองว่าโดนอยู่หรือเปล่า หรือแม้แต่วิธีการหลุดพ้นจากมัน
การหลีกหนีออกจากการ gaslight นั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า?
เขาวงกตแห่ง Gaslighting
ก่อนจะไปกันต่อ gaslighting คือวิธีการควบคุมคนหรือกลุ่มคนผ่านการทำให้คลางแคลงใจและตั้งคำถามกับการกระทำ คำพูด มุมมอง ความทรงจำ หรือแม้แต่ตั้งคำถามกับความเป็นจริงของตัวเอง ราวกับว่าอยู่ดีๆ คนคนหนึ่งก็คิดว่าตัวเองทำหรือพูดอะไรผิดพลาดไป ทั้งที่ในความเป็นจริงตัวเขาเองไม่เคยทำแบบที่โดนปั่นเลยก็ได้ การ gaslight ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างคู่รัก แต่เกิดได้ทุกความสัมพันธ์มนุษย์ ในที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือแม้แต่ครอบครัว
แต่พอรู้แล้วว่าความหมายของมันคืออะไร แล้วการก้าวออกมายังไงล่ะ? บอกวิธีออกมาเป็นข้อๆ ได้เลยหรือเปล่า? คำตอบส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำให้ลองหาสายตาคนนอกมาช่วงมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ระบายให้เพื่อนฟังดู หรือก็แค่เลิกคบ เดินออกมาจากความสัมพันธ์ไปเลย
แต่พอจะทำขึ้นมาจริงๆ มันไม่ง่ายแบบนั้น เพราะเวลาเราอ่านวิธีการเหล่านั้นแล้วสิ่งแรกที่นึกถึงคือเวลาบ่นว่า “เครียดจัง ทำยังไงดี?” แล้วคำตอบที่ได้กลับมาคือ “ก็อย่าคิดมากสิ” เป็นคำตอบที่ก็เป็นความจริง การหยุดคิดมากก็คงทำให้หายเครียดได้แหละ แต่ทำยังไงล่ะ
นี่ไม่ใช่การบอกว่าวิธีเหล่านั้นไม่ได้ผลเลย การรับรู้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญนั้นดีในตัวของมันเอง แต่ด้วยธรรมชาติของการ gaslight การรับรู้อาจเปลี่ยนไปเป็นการกระทำได้ยากกว่าที่เราคิด เพราะการ gaslight วางอยู่บนความเป็นจริงที่ว่า ผู้ถูกกระทำไม่รู้ตัวว่าเขากำลังประสบมันอยู่ อาจจะในระดับที่ปกป้องผู้กระทำเลยด้วยซ้ำ การ gaslight นอกจากจะทำให้เหยื่อกังขากับตัวเองแล้ว ผลของการกังขานั้นก็นำไปสู่ความสามารถในการตัดสินใจที่ลดลง แม้ว่าคำตอบที่ดีต่อตัวเองที่สุดจะอยู่ตรงหน้า
และแม้จะรับรู้ในระดับที่มองออกทุกการกระทำ มันทำให้การเดินออกมานั้นง่ายขึ้นรึเปล่า? บ่อยครั้งคำตอบคือ ไม่ เพราะปัจจัยภายนอกมากมายทำให้เป็นอย่างนั้น เราออกจากชีวิตพ่อแม่ตัวเองได้ขนาดไหน? ทำงานกับเจ้านายแย่ๆ แต่ถ้าลาออกแล้วจะเอาอะไรกิน? ถ้าเลิกคบเพื่อนคนนี้ แต่เขารู้จักกับคนใกล้ตัวเราไม่น้อย จะเกิดอะไรขึ้นต่อความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ?
การหนีจาก gaslight จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ไม่จำกัดแค่เรื่องจิตใจ แต่คือเรื่องของอำนาจด้วย
ปัญหาหลักของการพูดคุยเกี่ยวกับการ gaslight คือเรามักมองมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ จิตใจ และจิตวิทยา แต่อีกมุมมองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการ gaslight คือมุมมองสังคมวิทยา
บทความวิชาการที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจคือ ‘Sociology of gaslighting’ โดยนักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพจ สวีต (Paige L. Sweet) เธอศึกษาเกี่ยวกับการเมืองของการเอาชีวิตรอดของผู้หญิงจากความรุนแรงในครัวเรือนหรือจากเหตุก่อแผลใจต่างๆ โดยในชิ้นงานนี้เปรียบเหมือนความกังวลของเธอต่อจำนวนนักสังคมวิทยาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการ gaslight ไม่มากพอ และงานวิจัยชิ้นนี้ทำหน้าที่เป็นเหตุผลของเธอที่นักสังคมวิทยาควรเริ่ม
เธอเล่าว่า ในขณะที่มีการศึกษาการ gaslight อย่างกว้างขวาง นักสังคมวิทยามักโยนความรับผิดชอบนี้ไปยังนักจิตวิทยา โดยในมุมมองของเธอแล้วรากของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น “บทความนี้เป็นข้อถกเถียงว่าปรากฏการณ์การ gaslight นั้นโดยหลักแล้วมีรากปัญหาอยู่ที่สังคมวิทยา ไม่ใช่จิตวิทยา” เพจกล่าว โดยเธอให้เหตุผลว่าหากมองในมุมสังคมวิทยาแล้ว การ gaslight เกี่ยวข้องกันกับการใช้อำนาจ ความไม่เท่าเทียม สถานะทางสังคม และ/หรืออคติทางเพศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนความเป็นจริงของบุคคล
นั่นแปลว่าเพจมองการ gaslight เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลักนั่นเอง
โดยวิธีวิทยาของเพจคือ เธอใช้การสัมภาษณ์ประวัติชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติ หลายฐานะ หลายสถานะทางสังคม โดยมีจุดร่วมหนึ่งคือพวกเธอเป็นเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครัวเรือน เหตุผลที่เพจเลือกสัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้เพราะว่า ในมุมมองของเธอการมองหาเหยื่อของการ gaslight อย่างเดียวตรงๆ นั้นยากเกินไป เนื่องจากบ่อยครั้งเหยื่อจะไม่รู้ว่าตัวเองโดนกระทำอยู่เสียด้วยซ้ำ การหาปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมเช่นความรุนแรงในครัวเรือนแล้วสืบหาว่ามีความเชื่อมโยงกับการ gaslight หรือไม่จึงอาจเป็นประโยชน์มากกว่า
จากการสัมภาษณ์ของเพจ เธอพบว่าวิธีการสร้างความรู้สึก ‘เหนือจริง’ (surreality) ให้กับเหยื่อโดยหลักแล้วคือการผูกขาดความเป็นเหตุเป็นผลไว้กับตัวเอง และนอกจากกลยุทธ์ที่ใช้ สิ่งที่เธอพบเจอคือที่มาของกลยุทธ์ ที่โดยมากกลยุทธ์เหล่านั้นมีรากมาจากความเหลื่อมล้ำในหลากหลายแง่มุม เช่น อคติทางเพศที่แปะป้ายความไม่สมเหตุสมผลให้กับผู้หญิง มุมมองแง่ลบเกี่ยวกับเพศเช่นการนำ ‘มารยาหญิง’ (female sexuality) มาเป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวโทษ และใช้ประเด็นเปราะบางของเหยื่อเพื่อเสริมแรงการปั่นหัว เช่น หากเป็นผู้ลี้ภัยก็ถูกขู่ว่า หากไม่ทำหรือเชื่อฟังจะเรียกระบบตรวจคนเข้าเมืองมาจับ หากเป็นผู้มีปัญหาทางใจก็อาจถูกบังคับให้เข้าพบจิตแพทย์ หรือบังคบไม่ให้เข้าพบเพื่อตีตราให้เหยื่อเป็น ‘คนบ้า’ ฯลฯ
และทั้งหมดนั้นไม่ได้แปลว่ามีเฉพาะผู้ชายที่สามารถ gaslight ได้ เพราะเพจอธิบายว่าไม่ใช่เพียงผู้หญิงเท่านั้นจะถูก ‘ทำให้เป็นหญิง’ (feminization) การทำให้เป็นหญิงไม่ได้เป็นเรื่องของเพศสภาพหรือเพศกำเนิดทั้งหมด แต่เป็นเรื่องอคติทางเพศ และเพื่อการยึดถือเอาความเป็นเหตุเป็นผลเอาไว้กับตัวเอง ผู้กระทำการ gaslight อาจจะยัดเยียดอคติความเชื่อเกี่ยวกับเพศหญิงให้เหยื่อได้
ฟังดูเกินไปมากๆ แต่ลองคิดว่า เวลาเราทะเลาะกับใครสักคน แล้วเขาเริ่มเรียกสรรพนามเราว่า ‘หนู’ คิดว่าเขาต้องการจะทำอะไร?
ทางออกของเขาวงกต?
ทางออกส่วนบุคคลมีทั้งการหาคนช่วย ระบายให้ใครสักคนฟัง หรือเดินออกมา แต่การ gaslight เป็นประเด็นใหญ่ที่ฝังรากอยู่ระหว่างจุดตัดของความไม่เท่าเทียมและอคติ เราหนีออกมาจากสัมพันธ์หนึ่งแล้วไปไหนต่อ? เราอาจโชคดีแล้วไปเจอสัมพันธ์ที่ดีที่สุดในชีวิตก็ได้ ว่าแต่โชคนั้นจะหมดลงเมื่อไหร่?
ในโลกที่รุ่นพี่ก็ใช้ระบบอาวุโสและพื้นที่ในสังคม gaslight ให้เราอยากร่วมงานรับน้องได้ หัวหน้างานยัดเยียดเอาความมือใหม่ของเรามาเชื่อมโยงกับความไม่รู้ความ หรือแม้แต่นักการเมืองยังสามารถใช้กรอบคิดการ gaslight เข้าไปในกลยุทธ์ของพวกเขาได้ การหาทางออกของเราจากความสัมพันธ์เดียวนั้นเวิร์กกับโลกแบบนี้ขนาดไหน?
อาจฟังดูน่าเบื่อและหดหู่ แต่หากมองในมุมสังคมวิทยาแล้ว ทางออกที่แท้จริงจากการ gaslight คือการร่วมขับเคลื่อนและลดช่องว่างทางสังคมในหลากหลายแง่มุมนั่นเอง
อ้างอิงจาก
asanet.org
Proofreader: Tangpanitan Manjaiwong
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon