ทำไมบางครั้งตัวตนและความคิดของแฟนเก่า ถึงได้อยู่กับเรานานกว่าที่ตัวเขาอยู่ด้วยซ้ำ…
ความเห็นว่าเราชอบตัดทรงผมอะไร ชอบให้ปัดผมขึ้นมากกว่าเอาลง อะไรที่ชอบให้ทำหรือไม่ให้ทำ ฯลฯ และแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกแล้ว บ่อยครั้งความสัมพันธ์เก่าๆ ก่อร่างตัวตนของเราบางส่วนไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เมื่อมองกลับไปดีหรือไม่ ความใกล้ชิดในระดับนั้นย่อมทิ้งร่องลอยเอาไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เพราะอะไรกัน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่ไม่สวยงาม เสียงของคนที่เราอยากลืมมักติดอยู่กับเราอย่างเนิ่นนาน และมันมีหนทางให้เราสามารถก้าวข้ามมันไปได้หรือไม่
เพราะสมองบอกให้ทำซ้ำ
มีกิจวัตรที่ทำให้ตัวเองเจ็บแปล๊ปจากแผลใจขึ้นมาบ้างหรือเปล่า? อาจจะเป็นการขุดคุ้ยคำพูดในอดีตที่เลวร้าย การเก็บของดูต่างหน้าคนที่ทำร้ายเรา การเล่าเรื่องเก่าๆ ที่ทิ่มแทงใจให้เพื่อนฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Repetition Compulsion ความต้องการที่จะทำซ้ำสิ่งที่ก่อความเจ็บปวดในอดีตขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านการกระทำที่นำเสนอถึงความเจ็บปวดนั้น หรือบางครั้งอาจมาในรูปแบบของความฝันเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมีเหตุผลที่พฤติกรรมรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลแตกต่างกันออกไป
ในงานวิจัยโดย ไมเคิล เลวี (Michael Levy) อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดจำแนกเหตุผลการทำซ้ำออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ โดยประเภทแรกคือการทำซ้ำเพื่อทำความเข้าใจในความเจ็บปวดในหลากหลายแง่มุม อย่างเช่นการเล่าให้เพื่อนฟังเพื่อขอความเห็นในแง่มุมอื่นๆ แม้แต่เพื่อขอความเข้าใจในมุมของผู้กระทำก็ได้เช่นกัน เป็นประเภทเดียวที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจ
ประเภทที่ 2 คือการทำซ้ำที่เกิดจากการป้องกันตัวโดยสุดโต่งเพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บปวดแบบเดิมขึ้นมาอีก ตัวอย่างเช่น หากในอดีตเราเป็นคนที่มีปมจากการขาดคนใกล้ชิด หากเริ่มมีเพื่อน หรือมีแฟนแล้วเราอาจหวงและรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่อความสัมพันธ์นั้นๆ อย่างมาก จนนั่นเองอาจนำไปสู่การถูกผลักออกจากความสัมพันธ์นั้นๆ ได้
ประเภทที่ 3 คือการทำซ้ำที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น สมมติว่าคนคนหนึ่งถูกจับผิดบ่อยๆ ในอดีต เขาจะเชื่อมโยงการถูกวิจารณ์ว่าเป็นสิ่งเร้าแง่ลบ และเมื่อเจอเข้ากับคำวิจารณ์ใดๆ ในอนาคตแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการวิจารณ์ที่รุนแรงมาก ก็มักจะนำไปสู่การทำซ้ำในความเจ็บปวดในอดีต
และสุดท้ายคือ Ego Deficits หรือการขาดดุลในอีโก้ หมายความว่าหากคนคนหนึ่งเคยถูกกดทับ เช่น การตัดทอนความมั่นใจในตัวเอง การทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว การลดทอนคุณค่า ฯลฯ แม้จะหลุดออกจากสถานการณ์เหล่านั้นได้แล้ว ในอนาคตหากเจอเหตุการณ์คล้ายๆ เดิมอีกเขาอาจไม่กล้าที่จะเดินออกมา
ฉะนั้นแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เรามักทำอะไรให้ตัวเองช้ำซ้ำๆ แทนที่จะไปหาอะไรที่ทำให้เรามีความสุขทำ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมูฟออนออกจากคนรักเก่าได้แบบ 100% แม้ว่าจะขัดใจคนมองจากภายนอกมากแค่ไหนก็ตาม เพราะการเริ่มก่อร่างตัวเองใหม่จากความสัมพันธ์ที่จบลงไปไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
เมื่อไม่มีจุดจบ ก็ไม่รู้สึกว่ามันจบ
หากให้อธิบายความรู้สึกของการเลิกกับใครสักคน สำหรับเราอาจเรียกได้ว่าว่างเปล่า ไม่ได้ว่างเปล่าในเชิงว่าเหงาจัง หรือเสียดายจัง อะไรแบบนั้น แต่เป็นว่างเปล่าในเชิงว่า ‘มันมีแค่นี้เองเหรอ?’ ความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นมาเป็นปีๆ แต่กลับไม่มีคิวดนตรีเศร้าหรือซีนฝนตกแบบในหนัง ไม่มีประโยคสุดท้ายคมๆ แต่ชีวิตก็ดำเนินไปต่อแบบเหมือนกับไม่มีตอนจบจริงๆ ให้เทียบกันแทนที่มันจะเป็นกราฟที่ตัดฉับดิ่งลงหัวทิ่ม มันกลับเป็นการไล่ระดับลงไป ปล่อยพื้นที่ให้คิดและได้ปรับตัว
พื้นที่นั้นอาจเปิดโอกาสให้เราคิดถึงการเดินไปในอนาคต แต่บ่อยครั้งกว่านั้นคือเราใช้มันคิดไปยังอดีต ‘น่าจะเจอกันตอนโตกว่านี้เนอะ’ ‘ถ้าวันนั้นไม่ทำแบบนั้นอาจจะไม่เลิกกันก็ได้’ ‘แล้วทำไมตอนนั้นต้องพูดแบบนั้นกับเราด้วย’ อะไรแบบนั้น ทำไมเราคิดถึงมันแทนจะรีบๆ เดินไปข้างหน้า?
เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า ‘Rumination’ เป็นพฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นเมื่อเรากำลัง ‘เกียร์ว่าง’ และเมื่อไม่มีอะไรให้คิดเกี่ยวกับปัจจุบัน สิ่งที่เราย่อมคิดถึงคืออดีต อาจจะคิดถึงบทสนทนาที่มีความสำคัญในความคิดและความทรงจำของเรา หรือเหตุการณ์ในอดีตที่ทิ้งรอยอะไรสักอย่างเอาไว้ และความทรงจำอะไรจะไปน่าจดจำ น่าประทับใจ และน่าจะทิ้งรอยเอาไว้ เท่ากับเหตุที่เกิดขึ้นจากคนรักเก่า?
ซึ่งหากเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ นั้นนี่เป็นเรื่องปกติ แต่หากว่าการคิดถึงอดีตถี่เกินไป กินเวลามากไป และความคิดยิ่งดังเกินไป ความคิดนั้นๆ อาจนำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพราะการอยู่กับอดีตก็แปลว่าเราไม่เพ่งเล็งกับปัจจุบันและสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากพอ
และนอกจากคิดแล้วความคิดเหล่านั้นอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่เป็นตัวเองมากพอในปัจจุบันอีกด้วย หากย้อนกลับไปที่เรื่องคนรักเก่า สมมติว่าเราอยู่ระหว่างการเดทหรือคุยกับคนคุยคนใหม่ แล้วเรานึกถึงเรื่องราวในอดีตขึ้นมากะทันหัน ‘คนนี้ไม่ดีเท่าคนที่แล้วเลย’ ‘คนนี้เหมือนคนที่แล้วเป๊ะ’ ‘เริ่มมาดีขนาดไหนสุดท้ายก็เลิกกันอยู่ดี’ ความคิดเหล่านี้ส่งผลถึงการตัดสินใจในอนาคตอย่างแน่นอน
ทางเดียวที่อาจช่วยบรรเทาการคิดวนคิดซ้ำนี้อาจเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองอีกที เช่น เรื่องนี้คิดไปแล้วได้อะไร? เราแก้ได้ไหม? แก้ไม่ได้แล้วก็เอามันไปเป็นตัวอย่างการเดินหน้าในอนาคตแทนดีหรือเปล่า? การถามคำถามเหล่านี้อาจช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นได้
การลืมเป็นตัวเลือกรึเปล่า?
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่จบไปแล้วในขณะนั้นท้ายที่สุดไม่ว่าจะดีหรือร้ายมันก็คือความสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวของเราที่สุดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบแทบจะห้ามไม่ได้เลยที่ตัวตนของคนอีกคนในความสัมพันธ์จะไม่ถูกฝังเข้าในตัวเราแม้จะโบกมือลากันแล้ว และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดความฝังใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกดปุ่มลบออก เพราะถ้าสมองมนุษย์มันมีปุ่มนั้นอยู่เราก็คงไม่ต้องมานั่งอ่านบทความแบบนี้จริงไหม?
เรื่องดีๆ ไม่จำ เน้นจำแต่อะไรที่ทำร้ายใจ สมองมนุษย์เหมือนถูกออกแบบมาให้กวนโอ้ยกับการใช้ชีวิตที่มีสุขของคน แต่จริงๆ แล้วหน้าที่ของฟังก์ชั่นการโฟกัสเรื่องแย่ๆ นี้ถูกผูกเอาไว้ในสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของเรา และถ้าหากว่าในปัจจุบันเราไม่โดนปองร้ายสิงสาราสัตว์แล้ว สิ่งที่จะทำร้ายใจเราได้ให้เจ็บพอๆ กันก็คงเป็นความรักที่ล้มเหลวนี่แหละ
ฉะนั้นแล้วถ้าไหนๆ เราไม่ได้ถูกออกแบบให้ลืม (เมื่อยังไม่ถึงวัย) เราจะทำยังไงกับความเจ็บปวดเหล่านั้นได้? เพราะหากจะให้มองให้อีกแง่มุม แผลใจนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้นอาจเป็นการตีความความเจ็บปวดแล้วนำมันมาเป็นยารักษาให้กับมัน หรือสร้างเกราะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำกับตัวเองจากการสังเกตให้เห็นสัญญาณ และหลีกเลี่ยงก่อนจะต้องไปจมอยู่กับเหตุการณ์คล้ายๆ เดิมอีกรอบ
อ้างอิงข้อมูลจาก