ทำงานหนักเกินไปไหม?
คุณภาพชีวิตเป็นยังไง?
สุขภาพกายและใจดีหรือเปล่า?
เมื่อพูดถึงความสำเร็จของธุรกิจ เรามักนึกถึงเรื่องตัวเลขและกลยุทธ์ต่างๆ แต่สิ่งที่เราไม่อยากให้ละเลยไป คือคำถามข้างต้นที่พูดถึงคนเบื้องหลังการทำงาน เพราะความสำเร็จตรงหน้าต่างแลกมาด้วยหยาดเหงื่อของแรงงานอีกหลายชีวิต และหากกลุ่มคนเหล่านี้ถูกกดขี่หรือละเลย ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ในระดับประเทศตามไปด้วยในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม การดูแลพนักงานในองค์กรที่เราพูดถึง ไม่ได้หมายถึงการเข้าไปประคบประหงมเอาอกเอาใจไปเสียทุกอย่าง แต่เป็นการไม่ปล่อยปละละเลยให้พนักงาน มาแบกรับความยากลำบากจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงบรรยากาศการทำงานที่ท็อกซิก ซึ่งถ้าผู้มีอำนาจบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ถูกจุด ก็เป็นโอกาสที่จะส่งผลดีให้ทั้งกับพนักงานและบริษัทในระยะยาวตามไปด้วย
ลดต้นทุนจากการลาป่วย (และลาออก)
หากถามว่าบริษัทจะดูแลพนักงานได้ในแง่มุมไหนบ้าง แน่นอนว่าเรื่องพื้นฐานที่ควรใส่ใจ คือเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพนักงาน ซึ่งนอกจากเวลาพักผ่อนแล้ว ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี และการมีความสุขในการทำงาน (หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องทำงานด้วยความรู้สึกอมทุกข์ตลอดทั้งวัน) โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบสถานที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปจนถึงระบบการทำงานที่ไม่ท็อกซิก สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอัตราการลาป่วย และช่วยจูงใจให้พนักงานมีเรี่ยวแรงโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่
ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น เห็นได้จากการศึกษาโดย University of Warwick ในสหราชอาณาจักรที่พบว่า ความสุขในที่ทำงาน ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 12% ในขณะที่ความทุกข์ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง 10% ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเมื่อมองตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราไม่มีความสุขในการทำงาน ก็มีโอกาสที่อยากจะอู้งาน เกิดความเครียด และถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปจากงานได้ง่ายกว่าคนที่รู้สึกสบายใจกับการทำงานเหล่านั้น และช่วงเวลาที่เราไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องคิดกังวล คือช่วงเวลาที่เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่า ทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสที่บริษัทจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และได้ไอเดียเจ๋งๆ ตามไปด้วย
นอกจากนี้ ความสุขของพนักงานยังส่งผลต่ออัตราการลาออก เห็นได้จากงานวิจัยโดย Development Academy พบว่ามากกว่า 75% ของคนทำงานที่มีความพึงพอใจกับการทำงานต่ำ ต้องการลาออกจากงานในปัจจุบัน และข้อมูลการลาออกของแรงงานไทย จากกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ระบุว่า
เหตุผลที่คนตัดสินใจลาออก หรือว่างงานกว่า 87%
คือภาวะหมดไฟ ไม่มีความสุขในการทำงาน
เมื่อมีพนักงานลาออกบ่อยๆ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมา คือบริษัทสูญเสียต้นทุนการสรรหาและฝึกอบรมพนักงานใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่พอจะหาพนักงานใหม่ ก็เจอความท้าทายเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน โดยบทความของ thairath ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘ค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานขึ้น เห็นได้จากคนจำนวนมากเลือกไปทำงานแบบเดียวกันในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลว่าได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศไทย
ดังนั้น จึงหมายความว่า ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่คนไม่อยากทำงาน แต่เพราะค่าตอบแทนไม่คุ้มกับการทำงานเหล่านั้นมากกว่า อีกทั้งยังมีการสำรวจเมื่อปี 2022 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทย ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น และแรงงานส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย โดยปี 2022 ถือเป็นปีที่สถิติหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจดังกล่าว
ผลที่ตามมาจากการกดค่าแรง และไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของคนทำงาน คือการสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพ เพิ่มต้นทุนการสรรหาและฝึกฝนพนักงานใหม่ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย และถ้ามองในระยะยาวกว่านั้น อัตราการเกิดของคนไทยเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ จำนวนแรงงานก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
ท้ายที่สุด ไม่แน่ว่าราคาที่บริษัทต้องจ่ายในอนาคต
อาจมากกว่าการสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี
ให้กับพนักงานในปัจจุบันก็เป็นได้
ไม่ใช่แค่กำไรระยะสั้น แต่เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากเรื่องการลดอัตราการลาป่วย ลาออก และสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กรแล้ว มุมมองของผู้บริโภคและนักลงทุนในยุคปัจจุบัน ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลคนในองค์กรมากขึ้นด้วย เทรนด์เหล่านี้เริ่มมาตั้งแต่คำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance) กรอบที่ใช้ประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทว่ามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน โดยพิจารณาองค์กระกอบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการ ดังนั้น การดูแลคนในองค์กร จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของธุรกิจที่ยั่งยืนในปัจจุบัน ส่วนอีกคำที่เราเริ่มได้ยินบ่อยๆ เมื่อพูดถึงองค์กรยุคใหม่คือ DEI (Diversity, Equity and Inclusion) หรือแนวคิดที่ว่าองค์กรควรให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ความเสมอภาค และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คำเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวอักษร 3 ตัวกับความหมายเท่ๆ เท่านั้น หากใจความสำคัญของมันยังเป็นเรื่องที่นักลงทุน ผู้บริโภค หรือแม้แต่คนทั่วไป ให้ความสนใจมากขึ้นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะแบน หรือออกมาเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อแบรนด์หรือธุรกิจนั้นเอาเปรียบคนทำงาน
จึงเห็นว่าการให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘คน’ นอกจากจะส่งผลกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีผลต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และความยั่งยืนของธุรกิจอีกด้วย และไม่แน่ว่ามุมมองต่อนิยาม ‘ความสำเร็จ’ ของธุรกิจในวันข้างหน้า อาจจะไม่ได้มีแค่เรื่องตัวเลขของการเติบโตและผลกำไร หากรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงานอีกหลายชีวิตด้วยเช่นกัน (หรืออย่างน้อยๆ เราก็หวังให้เป็นอย่างนั้น)
อ้างอิงจาก