ใกล้ปีใหม่แล้ว ถึงเวลาทิ้งอะไรเก่าๆ ไว้ท้ายปี รวมทั้งวัฒนธรรมการทำงานอันแสน toxic ที่ไม่ดีทั้งต่อคนทำงานและบริษัท แล้ววัฒนธรรมการทำงานแบบไหนที่ไม่ควรมีในปีหน้าบ้างนะ?
The MATTER เลยขอรวบรวม 7 วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่อยากให้ได้ไปต่อในปีหน้ามาให้ทุกคน เผื่อเจ้านาย เพื่อนร่วมงานคนไหนผ่านมาเห็น จะชวนกันลด ละ เลิก วัฒนธรรมอันไม่เป็นมิตรต่อคนทำงานเสียที เพราะวัฒนธรรมเหล่านี้เลิกได้ ก็เลิกเถอะนะ (ได้โปรด)
เราทำงานกันแบบครอบครัว
เวลาเห็นคำว่า ‘ทำงานแบบครอบครัว’ ทีไร ในหัวแทบจะตะโกนคำว่า “หนีไปปปป!” โดยอัตโนมัติ แม้คนพูดจะเจตนาดี แค่อยากสื่อสารว่าบรรยากาศการทำงานอบอุ่นเป็นกันเอง แต่คำถามที่มักจะตามมาคือครอบครัวที่ว่าเป็นแบบไหนกัน? เพราะถ้าเป็นความความสัมพันธ์เป็นกาสะลอง-ซ้องปีบ แค่คิดก็ไม่กล้ายื่นเรซูเม่แล้ว หรือต่อให้ไม่ใช่ครอบครัวแบบนี้ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ กับ ‘ความสัมพันธ์ในครอบครัว’ คงเป็นเรื่องที่เทียบกันไม่ได้อยู่ดี เพราะครอบครัวให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความรู้สึก ขณะที่การทำงาน เป้าหมายหลักคือเรื่องงานและควรใช้เหตุผลกับการตัดสินใจเป็นหลัก ถ้านำสองอย่างนี้มาปะปนกัน สุดท้ายก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการคาดหวังให้เราจัดลำดับความสำคัญว่า ‘งานมาก่อน’ ทุกๆ เรื่อง หรือมองว่าการล้ำเส้นเรื่องส่วนตัวเป็นอะไรที่ทำได้ตามปกติ แม้แต่ระบบเส้นสายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพราะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มาก่อนความสามารถ
ดังนั้นการเป็น ‘เพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน’ บางทีก็อาจจะเพียงพอแล้ว เพราะสุดท้ายงานก็คืองาน ต่อให้เรารัก เราผูกพันกับบริษัทเหมือนครอบครัวแค่ไหน ก็ต้องมีวันที่ปล่อยมือกันไปแล้วหาคนใหม่เข้ามาทำงานแทนอยู่ดี
‘Urgency Culture’ เพราะทุกงานคืองานเร่ง
“งานนี้พี่ขอวันนี้นะ ลูกค้าเร่งมา ส่วนอีกชิ้นขอแบบด่วนๆ เลยเหมือนกัน ไม่ทันแล้ว” แค่ได้ยินประโยคนี้เชื่อว่าหลายคนจะเริ่มไฟลุกขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ไฟในการทำงานนะ แต่เป็นไฟจากเดดไลน์นี่แหละ ซึ่งถ้าเจอแบบนี้ทุกวัน อาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังอยู่ในองค์กรที่มี urgency culture หรือการทำงานที่รู้สึกรีบตลอดเวลาเพราะทุกงานคืองานเร่ง
จริงๆ งานเร่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ความรู้สึกว่าทุกงานด่วนไปหมดจนเป็นงานไฟลุกตลอดเวลา คนทำงานเองอาจจะหมดไฟได้เหมือนกัน เพราะต้องไปโฟกัสกับการทำงานให้เสร็จเพื่อทำชิ้นใหม่ (อย่างเร่งรีบ) ต่อ เหมือนกับอ่านหนังสือที่เขียนติดกันโดยไม่เว้นวรรค ไม่มีย่อหน้าให้ได้หยุดหายใจ ซึ่งมีการศึกษาหนึ่งที่พบว่า ชาวอเมริกัน 40% รู้สึกวิตกกังวลระหว่างการทำงาน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักของความวิตกกังวลนี้คือ ‘ความเร่งรีบระหว่างการทำงาน’
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทางออกคือการทำงานแบบสโลว์ไลฟ์ตลอดเวลา แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญว่างานไหนรอได้ งานไหนเร่งด่วน เรียกง่ายๆ ว่าไม่ทำให้ ‘ทุกงานเป็นงานเร่ง’ ไปหมด เพราะนอกจากจะทำให้กายและใจห่อเหี่ยวแล้ว งานเร่งๆ อาจทำให้หลายคนลืมเช็คความถูกต้อง จนเสียเวลามากกว่าเดิมเพราะต้องกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอยู่ดี
ทำ ‘โอที’ ที่กลายเป็น ‘โอฟรี’ ตลอด
การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ้างระหว่างการทำงาน แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือทุกๆ วันอาจเป็นสัญญาณของปัญหาบางอย่างภายในองค์กร โดยเฉพาะการทำงานล่วงเวลาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่ว่าจะอยู่ดึก โต้รุ่ง ทำงานในวันหยุด หรือที่หลายคนเรียกแซวๆ กันว่า ‘โอฟรี’ ซึ่งนอกจากการทำโอฟรีจะไม่แฟร์กับพนักงานแล้ว ยังส่งผลทั้งกับสุขภาพกายและสุขภาพใจที่สุดท้ายผลเสียเหล่านี้ก็จะวกกลับมายังบริษัทอยู่ดี
แต่ที่น่าเศร้าคือปัญหานี้ยังคงเกิดขึ้นทั้งในไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก เห็นได้จากการสำรวจ ADP Research Institute ในปี 2021 พบว่าพนักงานทั่วโลกทำงานล่วงเวลา (overtime) แบบไม่ได้รับค่าตอบแทนวันละประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนในประเทศไทย และผลการสำรวจ ในปี 2021 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนทำงานหนักเกินไป (overwork) เป็นอันดับ 3 ของโลก
ดังนั้นปีใหม่นอกจากเรื่องค่าตอบแทนที่ควรจะเหมาะสมกับเวลามากขึ้นแล้ว อีกเรื่องสำคัญคงจะเป็นการกลับมาตั้งคำถามว่า ที่เราต้องทำงานล่วงเวลากันทุกวันนี้ เป็นเพราะเราทำงานช้าจริงๆ หรือเพราะระบบการทำงานที่ออกแบบมาให้ปริมาณงานไม่สอดคล้องกับเวลาและกำลังคนกันแน่?
อยากลาไม่ได้ลา เพราะงานหนักเกินไป
ตามกฎหมายพนักงานที่ทำงานมาครบหนึ่งปีมีสิทธิ์ลาพักผ่อนประจำปีอย่างน้อย 6 วัน โดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติ แต่ในความเป็นจริงบางคนใช้วันลาไม่หมดหรือทำได้แค่ยื่นใบลา แต่ต้องพร้อมรับโทรศัพท์ แบกคอมไปทำงานด้วยเสมอ แม้แต่วันที่ป่วยก็ยังต้องลุกมาคุยงาน ตอบอีเมล เพราะไม่มีคนมาช่วยทำงานแม้จะแค่ชั่วคราวก็ตาม และถ้าลางานจริงๆ เมื่อไร งานก็จะไม่เดินหรือเกิดปัญหาขึ้นเมื่อนั้น
แต่ใช่ว่าการทำงานแบบไม่พักเลยจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนของปัญหา เพราะต้นตอจริงๆ คือระบบการทำงานที่ออกแบบมาไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนี้มีคนน้อยเกินไป ปริมาณงานกับเดดไลน์ไม่สัมพันธ์กัน หรืองานไปกระจุกอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และถ้าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไป บวกกับร่างกายให้ทำงานโดยไม่พักไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็อาจจะจบลงที่การ Burnout เข้าโรงพยาบาล หรือไม่ก็เหนื่อยจนขอยื่นใบลาออกอย่างถาวรแทน
‘Presenteeism’ อยากพักก็ไม่กล้า อยากลาก็รู้สึกผิด
ลาที่ไม่ได้ลา นอกจากจะเกิดขึ้นเพราะงานหนักเกินไปแล้ว ยังเกิดจากความ ‘เกรงใจ’ ไม่กล้าลาได้เหมือนกัน ดังนั้นแม้ร่างจะพัง ใจจะแหลกสลายแค่ไหน บางคนก็ยังอดทนทำงานกันต่อไป ซึ่งภาวะที่ไม่ไหวแต่ยังฝืนนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Presenteeism’
สาเหตุของภาวะนี้บ้างก็มาจากความเชื่อว่าการทำงานหนักเป็นสิ่งที่ดี บ้างก็เป็นเพราะปริมาณงานที่หนักเกินไป จนการหยุดพักทำให้เพื่อนร่วมงานต้องแบกรับภาระหนักขึ้น หลายคนเลยรู้สึกผิดที่จะยื่นใบลา
แน่นอนว่าการทำงานด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานตามไปด้วย อย่างบทวิเคราะห์จาก American Productivity Audit ได้ประเมินมูลค่าว่า Presenteeism ทำให้องค์กรทั้งประเทศเสียประโยชน์ไปกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว นอกจากนี้ในเว็บไซต์ hintsa ได้พูดถึงงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกว่า การลาพักร้อนช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ โฟกัสกับงานได้ดีขึ้น มีแรงกายแรงใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นถ้าปีนี้ใช้วันลาไม่ทัน ปีหน้าก็คงต้องลาให้ครบตามสิทธิ์กันแล้วล่ะ
วันหยุด แต่ตามงานกันไม่หยุด
เคยไหม วันหยุดแต่แจ้งเตือนเรื่องงานเด้งขึ้นมาไม่หยุด จนสับสนว่านี่เราจำผิดหรือเปล่าว่าวันนี้เป็นวันหยุด บางคนหลอนแจ้งเตือนจนเก็บไปฝันเลยก็มี แถมรูปแบบการทำงานนี้ยังไม่ส่งผลดีกับชีวิตอีกต่างหาก อย่างการศึกษาจาก University of California ที่พบว่าการเช็กอีเมลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และทำให้ระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
ดังนั้น วันหยุดยาวปลายปีนี้คงถึงเวลาแล้วที่เราจะทิ้งวัฒนธรรมการตามงานในวันหยุดโดยไม่จำเป็นเอาไว้ แล้วเริ่มสร้างขอบเขต (boundary) ด้วยการอนุญาตให้ตัวเองหยุดพัก ไปพร้อมกับการเคารพสิทธิวันหยุดของคนอื่นๆ ดังนั้นถ้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือเร่งด่วนมากๆ รอสักหน่อยแล้วค่อยตามงานในวันทำงานจริงๆ กันเถอะ
หนึ่งคนทำงานควบหลายตำแหน่ง
“รับสมัครตำแหน่ง XXX 1 อัตรา คุณสมบัติคือ ตัดต่อได้ ถ่ายภาพเป็น ทำกราฟิกสวย โพสต์คอนเทนต์ในเพจเองได้จบครบในคนคนเดียว”
เคยเปิดดูรายละเอียดรับสมัครงานแล้วสับสนไหมว่าสรุปเขาต้องการตำแหน่งอะไรกันแน่ หรือตกใจว่าทำไมหน้าที่ร้อยแปดในงานนี้กลับสวนทางกับตัวเลขเงินเดือนในประกาศรับสมัคร
แม้การทำอะไรหลายๆ อย่างได้จะเป็นคุณสมบัติที่ดี แต่การทำงานแบบจับฉ่ายหลายหน้าที่ในตำแหน่งเดียวอาจไม่ใช่เรื่องดีทั้งกับตัวเราและผลงานที่ออกมา โดยข้อมูลจาก The Harvard Business Review ระบุว่า การทำงานหลายๆ อย่างเหมือนแยกร่างได้อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงถึง 40% เพราะพนักงานต้องใช้เวลาในการสับเปลี่ยนความคิดจากงานหนึ่งไปยังอีกงานหนึ่งจนเกิดความสับสน ไม่สามารถจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้อย่างเต็มที่ ยิ่งถ้าเงินเดือนไม่ได้สมน้ำสมเนื้อยิ่งท้อใจเข้าไปใหญ่ จนสุดท้ายงานก็อาจจะไม่ทันเดดไลน์ หรือทำเสร็จทันแบบครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งผลลัพธ์นี้คงไม่ได้ส่งผลดีกับใครเลย ไม่ว่าจะคนทำงาน ลูกค้า หรือแม้แต่บริษัทเอง
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก