การทำธุรกิจมักไม่มีทางลัด
ความสำเร็จในอดีตอาจไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวสำหรับหาทางที่สดใสในอนาคต
ชีวิตการทำงานของ เจ๋อ—ภาวิต จิตรกร ซีอีโอแห่ง GMM Music ก็เป็นเช่นนั้น จากคนทำงานสายเอเจนซี่สู่ก้าวสำคัญของการเข้าสู่ตึกแกรมมี่ เขาต้องพิสูจน์ตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน ไม่เพียงแค่ให้คนในทีมงานของตัวเองไว้ใจ หากแต่โจทย์ใหญ่ยังรวมถึงความเชื่อมั่นในระดับองค์กรมหาชน
ในบทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านกันนี้ เจ๋อเล่าให้เราฟังถึงความท้าทายของการทำธุรกิจดนตรีในยุคปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้แกรมมี่ยังคงไปต่อได้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากคลื่น Disruption และสังคมหลัง COVID-19
อะไรที่ทำให้ GMM Music ยังคงไปต่อได้อย่างสง่างามในธุรกิจดนตรี—ธุรกิจที่เจ๋อบอกกับเราตรงๆ ว่ามันถูก Disruption ได้ง่ายที่สุดและเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา?
อย่างที่เราได้กล่าวไว้ย่อหน้าแรกสุดของบทความ การทำธุรกิจมักไม่มีทางลัด คำตอบของผู้บริหารคนนี้ผ่านคอลันม์ ‘No Shortcut’ จะบอกกับเราว่าเขาพาองค์กรข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ มาได้อย่างไร
โจทย์ของ GMM Music ในยุคหลัง COVID-19 ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหนบ้าง
เราดีใจมากเลย ที่มันถึงเวลาที่เราจะได้พิสูจน์ตัวเอง เราขอตอบก่อนว่าโจทย์ของเราไม่ เปลี่ยนไป ย้อนกลับไปสามปีที่แล้ว เมื่อคลื่นสึนามิของ COVID-19 มันกระแทกเข้ามา ก็ทำให้หลายบริษัทปิดตัวนะ ทั้งธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์ ด้วยความที่ Disruption มันมา และ เราไม่รู้ว่าคนอยากจะกลับมาชุมนุมรวมตัวกันในที่สาธารณะหรือเปล่า มันเลยเป็นคำถามที่ใหญ่มาก พอๆ กับโรงหนังจะมีคนกลับมาอยู่ในโรงหรือไม่? หลายที่เลย์ออฟ หลายที่ปิดบริษัท หลายที่เลิกธุรกิจไปทําอย่างอื่นเลย แต่แกรมมี่คือคนที่อดทน เราไม่ได้ให้พนักงานออกเลยแม้แต่คนเดียว ในตอนนั้น พวกเราทําแผนห้าปี มองว่าวันที่ฟ้าเปิด ซึ่งพอถึงปี 2023 เมื่อฟ้าเปิดเต็มตัว เราจะเป็นคนที่มี Line Up ไปอีกห้าปีข้างหน้า ที่ไกลที่สุด พร้อมที่สุด และมองเห็นอนาคต
ช่วงที่เราเจอ COVID-19 เรารู้ว่าเสถียรภาพทางการเงินเรามีพอที่จะเลี้ยงบริษัทได้ยาวนาน ทุกคนไม่ต้องไปไหน ทุกคนเอาเวลาไปนั่งคิดงานให้ดีที่สุด เตรียมพร้อมให้ดีที่สุด เมื่อไหร่เขาเปิดโอกาส พวกเราจะเป็นคนที่สร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้มากที่สุด แต่ถ้าถามว่ามีสิ่งที่อยากเปลี่ยนไหม? มีนะครับ เพราะว่าของบางอย่างมันประกาศ Line Up ไปแล้ว ศิลปินบางคนอยู่ผิดเวที คือช่วงเวลาที่ก่อน COVID-19จะมา เขาควรจะอยู่เวทีไซส์เล็กหรือไซส์กลาง แต่ในสักสองสามปีที่ผ่านมาพวกเขาเติบโตเร็วมาก จนกลายเป็นว่าต้องมีเวทีไซส์ใหญ่สำหรับเขาแล้ว
แล้วพี่เจ๋อสื่อสารกับคนในองค์กรอย่างไร ในช่วงเวลาที่สภาพธุรกิจโดยรวมมันไม่ แน่นอนเลย
เราให้ความมั่นใจกับคนทั้งแกรมมี่มาตลอดว่า จะไม่มีใครต้องจากกัน สิ่งที่ผมเชื่อและให้ความสําคัญกับคนเสมอก็คือธุรกิจมิวสิคจะต้องไม่โดน Disrupt นี่คือความมั่นใจจากซีอีโอว่าธุรกิจเพลงยังเดินต่อไปได้ และยังเดินได้อย่างเติบโตอีกด้วย ถ้าจํางานแถลงข่าว GMM Music ที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาที่ผ่านมาได้ ก็คือไม่มีปีไหนที่เราขาดทุนเลย ตลอดสามปีที่โดนCOVID-19อย่างแย่สุดคือ เท่าทุน
สิ่งที่เราบอกอยู่ก็คือว่าวันนี้คุณอย่ารู้สึกเคว้ง คุณไม่ได้อยู่ในเรือที่สั่นคลอน แต่คุณอยู่ในเรือที่สมบูรณ์แบบนะครับ วันนี้เหมือนเราได้ตั้งหลัก ที่จะทบทวนยุทธศาสตร์และวางแผนอนาคต ทุกคนใช้เวลานี้ที่จะเตรียมความพร้อม ผมยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมนะ แต่เดิมเวลาเราไม่มีเวลาสำหรับการหาสถานที่สำหรับโชว์ต่าง ๆ แต่ช่วงนี้คือช่วงเวลาทองเลยที่เราจะไปสำรวจได้ทุกที่ทั่วประเทศ แถมยังเป็นช่วงเวลาที่คุณสามารถหา Reference ได้เต็มที่ และมันคือช่วงเวลาที่เราจะคิดไอเดียต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ นี่คือช่วงเวลาที่เราจะ Pitching Idea ได้เต็มที่จากทีมมากมาย ขณะเดียวกันมันก็เป็นช่วงเวลาที่เราจะจัดโครงสร้างการทำงานต่างๆ ให้มันถูกต้องได้ด้วย
ที่พี่เจ๋อบอกว่า ธุรกิจมิวสิคต้องไม่โดน Disrupt มันหมายความว่าอย่างไร ขยายความ ได้ไหม
ผมว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการถูก Disrupt เราเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่ ถึงแม้โลกจะวิวัฒนาไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่ตาย ย้อนกลับไปสมัยก่อน ในยุคที่ยังขายเทปกันอยู่ ธุรกิจมิวสิคทั่วโลกบูมและรวยมาก หลังจากเทปก็เป็นยุคของซีดี ในช่วงที่กําลังขายซีดีกันอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นยุคของการดาวน์โหลด ก่อนจะกลายเป็นยุคของริงโทน และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดคือการมาถึงของ Streaming ที่ทำให้ Physical Business หัวปักลงทันที เราผ่าน Disruption มาเยอะมากครับ
สิ่งที่เราเจอทั้งหมด มันคือ Disrupt ที่อุปกรณ์ เช่น เครื่องฟังเทป เครื่องฟังซีดี และคอมพิวเตอร์ พอเรามาถึงยุคสตรีมมิ่ง ถามว่าคนเลิกฟังเพลงเหรอ? เพลงหมดอายุแล้วเหรอ? ธุรกิจเพลงมันเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลานะครับ ไม่มีอายุไข คนไม่ได้เลิกฟังเพลง แต่คนอาจจะไม่จ่ายตังค์ให้การฟังเพลงเหมือนเดิม Disruption มันเกิดขึ้นแต่เพลงยังไม่ตาย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือที่มาของเงิน ซึ่ง Showbiz ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านการสร้างรายได้ แต่เดิม ธุรกิจ Showbiz ของ Grammy มีเม็ดเงินประมาณสักสองร้อยล้าน นั่นแปลว่าคุณต้องมีศิลปินที่ดังมาก ๆ เพื่อพอที่จะจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่และขนาดกลาง
มาวันนี้ธุรกิจ Showbiz ของแกรมมี่กำลังจะแตะถึงระดับพันล้านแล้ว ถามว่ามันเติบโตไปได้ยังไง ผมคิดว่าหัวใจหลักคือ B2C (Business to Customer) เราเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมเราเคยร่ำรวยจาก B2C จากการค้าขายเทปซีดี แล้ว Disruption มันเข้ามา จนเราต้องไปหาเงินจาก B2B (Business to Business) นั่นคือรายได้จากการขายงานจ้าง รายได้จากสปอนเซอร์ชิป เหมือนกับโมเดลทางธุรกิจที่ทุกคนกำลังทำอยู่ทุกวันนี้
สิ่งใหญ่สิ่งแรกที่เราปรับตัวจนทำให้ GMM Music รอดมาได้ก็คือ เราปรับแหล่งรายได้ของตัวเองให้เป็น Digital Based เรามีรายได้ดิจิทัลพันหนึ่งร้อยล้าน นั่นแปลว่าเรารอด COVID-19 มาได้อย่างสง่าผ่าเผย และเรามี Fundamental ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน
นอกจากนี้ Showbiz ก็ถูกปรับให้เติบโตขึ้นครับ ผมคิดว่าข้อจำกัดที่เรามีในยุคก่อน นั่นคือการโชว์ในรูปแบบ Indoor เพียงอย่างเดียว แต่วันนี้เราเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ Showbiz ในรูปแบบ Outdoor เพราะฉะนั้นคําว่า Music Festival จึงเกิดขึ้นมา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าพี่เต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เป็น คนนำร่องในสิ่งนี้
เราได้เชื่อมโยงระหว่างข้อมูล ผู้ชมผู้ฟัง และ Infrastructure เข้าหากัน วันนี้มิวสิคเฟสติวัลของจีเอ็มเอ็มโชว์ไม่ได้มีแต่ Big Mountain หันไปดูทางเหนือสุด เรามีเชียงใหญ่เฟสที่โตเร็วมากๆ ที่ภาคอีสาน เรามีเฉียงเหนือเฟสที่เป็นเฟสติวัลที่ใหญ่ที่สุดและโตเร็วที่สุด ส่วนที่ภาคใต้ เรามีพุ่งใต้เฟส ที่มีคนเข้าร่วมงานมากกว่าสองหมื่นคน ภาคกลางตอนบน เรามี Rock Mountain ที่มีคนเข้าร่วมสองหมื่นห้าพันคน ภาคตะวันตก เรามีนั่งเล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรามีนั่งเล่น กรุงเทพมหานคร เรามี Monster ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราได้วาง Segmentation ของการขยายธุรกิจมิวสิคเฟสติวัลได้อย่างชัดเจนและตรงกลุ่มเป้าหมาย
ความสำเร็จเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการคุยกันภายในองค์กรอย่างไร
ผมต้องให้เครดิต CSO (Chief Strategic Officer) สองท่านคือคุณสมภพ บุษปวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (มหาชน) กับคุณฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ ธุรกิจมิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (มหาชน) โดยคุณฟ้าใหม่ดูแลการผลิตจากการขายทั้งหมด ขณะที่คุณสมภพก็เป็นคนที่ดูธุรกิจ showbiz และธุรกิจต่อยอดทั้งหมด
ผมคุยเรื่องธุรกิจต่อยอดกับคุณสมภพ ตั้งแต่เริ่มต้นที่เข้ามาเป็น CEO ว่าเราจะต่อยอดธุรกิจได้ยังไง และคุยกับคุณฟ้าใหม่ว่าเราอยากปรับให้ดิจิทัลเป็น Backbone แทน Physical แบบเดิม ซึ่งเราก็มองไปทางธุรกิจ Showbiz ที่มันเติบโตขึ้นได้ ซึ่งเราก็เติบโตขึ้นมาได้ประมาณ 400 เปอร์เซ็นต์จากการทำเฟสติวัลต่างๆ
พี่เจ๋อเห็นเทรนด์อะไรที่มันกำลังเกิดขึ้นในวงการ Showbiz รวมถึงเทรนด์ที่แกรมมี่กํา ลังจะพาไปในตอนนี้บ้าง
ในเทรนด์ระดับโลกนั้น ผมคิดว่ามันไม่ใช่ยุคที่มี Big Three หรือ Big Four อีกต่อไป มันเป็นยุคที่คนเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก คนเข้าถึงการฟังแบบ Multi Genre เป็นการฟังที่ไร้พรมแดน ไม่มีการเลือกฟังว่าต้องฟังจากค่ายเดียวหรือสองค่าย ฟังเพลงทุกแนวดนตรี ฟังเพลงทุกยุคสมัย ซึ่งมันเยอะมาก พอโลกเปลี่ยนไปสู่ยุคของ Streaming หรือ Online Video ยิ่งทำให้การฟังของคนเปลี่ยนไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นมีโอกาสแน่นอนที่ศิลปินจะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะโอกาสมันมีอยู่เต็มไปหมด อยู่ที่ว่าเรารองรับโอกาสนี้ได้หรือเปล่าต่างหาก เราไม่จําเป็นต้องเป็นค่ายเพลงค่ายเดียวที่คนฟังอีกต่อไป เราสามารถเป็น Music Infrastructure ที่ทำให้คนทั้งอุตสาหกรรมพึ่งพากันได้
มองว่าอัลกอริทึมมีผลต่อพฤติกรรมคนฟังแค่ไหน
เราวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึมตลอดเวลา เราวิเคราะห์อยู่เสมอว่าวันนี้อัลกอริทึมเคลื่อนตัวไปทางไหน ตอนนี้เราแทบจะเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยเลยที่ยังมีเพลงร้อยล้านวิวนะ เพราะเรารู้เท่าทันว่าการจะปล่อยเพลงแบบไหนที่จะทำให้คนสนใจ ประเด็นต่อมาคือ เรามี Performing ที่ดีที่สุด แล้วทําไมเราไม่สร้างประโยชน์จากสิ่งนั้น
เราก็จะเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีรีแอคชั่น ต่อเพลงต่อศิลปินเหล่านั้น และอยู่ในพื้นที่ที่ แยกออกจากกัน ด้วยรสนิยมและความต้องการที่แยกจากกัน นั่นคือทําให้เห็นเหตุผลว่า เรา Promote เพลงได้ประสบความสำเร็จ และเราสามารถจัด Showbiz ได้ประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ เราเริ่มทำธุรกิจจากการที่เราเป็น Data Intelligence Company ซึ่งน้อยคนจะเห็นแกรมมี่ในภาพแบบนี้ ตอนนี้เรามี Big Data มากเพียงพอแล้วที่จะไปต่อกับเส้นทางนี้
พูดถึงเรื่อง Big Data อยากรู้ว่าแล้ว GMM Music เลือกทางไหน ระหว่างออกแบบธุรกิจนำ Data หรือ ใช้ Data นำธุรกิจ
ผมว่ามันคือทั้งสองฝั่ง อันดับแรกคือเรามีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ส่วน Data สําหรับผมมันเป็นทั้ง Inspiration (แรงบันดาลใจ) เป็นทั้งเรื่อง Prediction (การคาดการณ์) และเป็น Measurement (การวัดผล) เราคิดว่าการ Reshape ธุรกิจเกิดจากผลลัพธ์ของธุรกิจ เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับ Data แต่ Data ทําให้เรามีความมั่นใจและทำให้เราเห็นหนทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ผมยกตัวอย่าง สมมติเรามอง Data ให้เป็นเรื่องของการคาดการณ์ มันก็จะบอกเราว่าเมื่อเรามีข้อบกพร่องแบบนี้ แล้วเราจะไม่ยอมแก้ไขมันเหรอ เราก็ควรจะแก้ถ้ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเรารู้ได้ถึงขั้นว่าคนคาดหวังที่จะดูศิลปินอะไรในคอนเสิร์ต หรือเมื่อดูจบไปแล้วเราก็รู้ว่าศิลปินเหล่านั้นได้แสดงตรงตามความคาดหวังของผู้ชมหรือเปล่า ผมคิดว่าการรับรู้ถึง Data เหล่านั้นได้คือสิ่งที่มีประโยชน์มาก ทั้งทีมงาน และศิลปิน ก็ควรรับรู้
นอกจากนี้การพัฒนา Product หรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เราก็ใช้ Data มาช่วยแหละ แต่เราไม่ได้งมงายขนาดนั้น เรามีจุดตั้งต้นจากการใช้ Data มากําหนดยุทธศาสตร์ก่อนแล้วค่อย มายืนยันความน่าเชื่อถืออีกทีนึง แล้วค่อยเดินไปสู่ขั้นที่ใช้ Data มาคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ถึงแม้ตอนนี้เราใช้จะ AI กับ Machine Learning เยอะ แต่สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่การตัดสินใจของมนุษย์
บางคนกังวลว่าเวลาเราใช้ Data มาขับเคลื่อนธุรกิจมาก ๆ มันจะทำให้ความสวยงามแบบศิลปิน หรือสุนทรียศาสตร์ (aesthetic) มันหายไป ผมอยากอธิบายโครงสร้างธุรกิจ Showbiz ของเราก่อนว่า เรามีโครงสร้างทั้ง Promoter, Creative, Production, Data, Marketing และ Marketing Communication ทั้งหมดนี้ทุกคนมีเสียงที่เท่ากัน
ผมคิดว่า Aesthetic ต้องเกิดจาก Beauty ของ Product และ Marketing Communication ไม่งั้นคนก็จะไม่รู้สึก แต่ Data มันเหมือนระฆังเตือนสติคือความแม่นยำในการผลิตมันออกมา ซึ่งต่างจากเดิมที่เราใช้วิธีการเดา หรือการคาดการณ์ ผมมองว่า Marketing ต้องคิดแบบมีชั้นเชิงในการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยการวาง Branding & Positioning ที่ถูกต้อง ผมอยากให้เรามีโครงสร้างที่ไม่มีใครเสียงดังกว่าใคร เมื่อก่อนจะมีคำล้อ ๆ กันว่าแกรมมี่เป็นองค์กรที่เป็น Producer Oriented คือมีคนหนึ่งที่ใหญ่ที่สุด และทุกคนต้องทำตาม แต่ยุคนี้คนที่ใหญ่สุดคือผู้บริโภค และเราต้องตามเค้าให้ทัน
ทีนี้มาพูดถึงเรื่องเทรนด์คอนเสิร์ต ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เรียกว่าคนดูก็เหมือนจะกลับ ไปเรโทรค่อนข้างเยอะ และการที่มีโปรเจ็กต์ร่วมกับทางอาร์เอสออกมา คนก็ให้ความ สนใจค่อนข้างมาก อยากรู้ว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของการเข้ามาร่วมทำโปรเจ็กต์นี้
จริงๆ แล้ว ตลาดเรโทรก็เป็น Segment ที่ทุกคนอยากทำนะ เพราะเป็นตลาดที่มีกําลังซื้อ ผู้บริโภคเองก็สนับสนุน แต่ว่ามันไม่ได้ถูกจัดเป็น Big Scale และจัดขึ้นปีหนึ่งครั้งสองครั้ง จริงๆ เราสนใจมาตลอด แต่ในใจไม่ได้อยากทําเหมือนพี่ ๆ เขาเท่าไหร่ ถ้าพูดตรงๆ คือผมรู้สึกว่าเราไม่มีบารมีเหมือนพี่ๆ เขา เราเพิ่งเข้ามาแกรมมี่ คือจะไป Convince ศิลปินระดับตำนานได้ไง เขายังไม่รู้จักผมเลย มันเป็นไปไม่ได้ ที่เราซึ่งเป็นคนนอกเดินมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผมว่ามันไม่ใช่เพราะศิลปินเขาอยากร่วมมือกับพี่ๆ ที่อยู่ในยุคสมัยของเขามากกว่า
เพราะฉะนั้นก็คงต้องเป็นอะไรที่ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นมา มันถึงจะเป็นเวทีของเรา ก็เลยเป็นเหตุผลที่หนึ่ง ส่วนเหตุผลที่สองผมคิดว่า พื้นฐานเราต้องแยกแยะก่อนว่า อะไรที่เราทําแล้วจะสามารถทำได้กับธุรกิจที่กําลังดำเนินอยู่หรือเปล่า
เมื่อพูดถึงคอนเสิร์ตเรโทรขึ้นมาเมื่อไหร่ ศิลปินไม่เคยอยู่ภายใต้การเซ็นสัญญากับบริษัท เราจะไปสั่งอะไรเขาก็คงไม่ใช่ มันเป็นการขอความร่วมมือมากกว่า บริษัทมีศิลปินสามร้อยคน ทำไมเราไม่ไปโฟกัสทําศิลปินที่มีอยู่ให้สำเร็จก่อน นั่นคือเหตุผลว่าทําไมเราถึงไม่ทําเรโทรในอดีต เพราะเราโฟกัสที่จะทําสิ่งที่เรามีอยู่ในมือให้ดีที่สุดก่อน เราต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนว่า เราเก่ง Showbiz นะ สองคือเราขยายตลาดให้ได้เห็นเลยว่า เราทำเรื่องโครงสร้าง ทำเรื่อง Infrastructure Platform ที่สามารถเกื้อหนุนศิลปินทั้งวงการได้นะ
วันนี้เราสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตฝ่าวิกฤต COVID-19 และทำรายได้ได้ดีกว่ารายได้เดิม ด้วยเหตุนี้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าเราสามารถทําได้ดีกว่าเดิมแล้ว ตอนนี้จึงเป็นวาระว่าถ้าเราทําโปรเจ็กต์แกรมมี่อาร์เอส มันก็น่าจะเป็นปรากฎการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่นอน
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมานี้ ผมไปมิวสิคเฟสติวัลไม่เคยขาดเลยแม้แต่ครั้งเดียว เหมือนผมไปเยี่ยมเยียนศิลปิน ไปทําความรู้จัก และสร้างความเป็นเพื่อน สร้างความผูกพัน ผมไม่เคยเชื่อว่าตําแหน่งผู้นําที่ถูกวางไว้เป็นซีอีโอ ทุกคนต้องกราบไหว้เคารพ ไม่จริงเลยครับ ผมไม่เคยเชื่อสิ่งนั้นเลย ผมมองเข้าไปในสายตาศิลปิน ผมก็รู้ว่าเขาไม่เชื่อผม ผมไม่หลอกตัวเอง ผมเดินเข้าหาเขาเพื่อพิสูจน์ตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน แต่อันนี้ผมต้องให้เครดิตพี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (มหาชน) ด้วยนะครับ
ผมเคยคุยกับพี่เล็กว่า ผมเคยกลุ้มใจกับเรื่องนี้เพราะว่าผมเป็นคนนอก มันยากมากที่จะทำให้เขาเชื่อผม พี่เล็กบอกผมว่า “มันง่ายมากเลยเจ๋อ แกต้องหาเวทีที่ทําให้เขาสําเร็จ แล้วเขาจะฟังแก” หลังจากนั้นเราก็มองว่าเวที Showbiz ก็เป็นเวทีหนึ่งที่มันเป็นความภูมิใจของศิลปิน แล้วเราก็ค่อยๆ ทําสะสมเรื่อยมา ทุกอย่างมันไม่ง่ายเลยนะที่กว่าจะเดินถึงวันนี้ มันยากมาก มันต้องรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมมันถึงจะเกิดไง
ความเป็น CEO ของพี่เจ๋อ คือ การเข้าไปคุยกับผู้คน
คิดว่าใช่เลย เพราะว่ามันเป็นตัวเรา ผมเป็นคนไม่เชื่อคน ผมก็เลยมีนิสัยคิดว่าคนก็คงไม่เชื่อผมเหมือนกัน การให้ความมั่นใจว่าเราทําได้ มันเลยเป็นสิ่งสําคัญในการเดินบนเส้นทางธุรกิจนี้ มันเป็นจุดยืนในใจผม ถ้าสังเกตวิธีพีอาร์ที่ผมพีอาร์แกรมมี่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ผมจะไม่พูดวิสัยทัศน์เยอะ ผมจะไม่ค่อยอยากเล่าเรื่องอนาคตหรือความฝันที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จรึเปล่า ผมมักจะชอบเล่าเรื่องที่ทําสําเร็จ แล้วอธิบายให้เห็นว่ามันสําเร็จได้ยังไง กับเปรยเล็กน้อยว่าอนาคตจะเดินไปทิศทางไหน ผมไม่อยากโม้แล้วทําไม่ได้ ผมเป็นสไตล์ที่อยากจะทำให้เห็นว่า ผมสามารถทําอะไรสําเร็จ ผมเชื่อสิ่งที่คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยพูดว่า “ภาวะของผู้นําคือผลลัพธ์ของความสําเร็จ”
ผมเชื่อว่าเราในฐานะผู้นํา เราไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทําให้สําเร็จ เรามีผู้ตามอีกมากมายที่ช่วยทําให้มันสําเร็จ และมันก็เป็นความสําเร็จขององค์กร ผมถึงเชื่อแบบนี้ ผมก็เลยคิดว่าการให้เวลากับคนทำทุกอย่างให้เขาเข้าใจ เป็นหัวใจสําคัญ มันไม่ได้เกิดจากการที่กําหนดนโยบายจากบนลงล่าง ผมไม่เคยเชื่อวิธีการแบบนั้นมันเลยไม่เหมาะกับแกรมมี่
ผมเคยพูดคุยกับคุณไพบูลย์ ทำไม CEO ต้องเป็นมนุษย์ทองคําเหรอ ทําไมซีอีโอต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด มันอาจไม่มีจริงหรอกในโลกที่ซีอีโอมันต้องคิดออกทุกอย่าง แต่ซีอีโออาจจะต้องมีพลังมากพอที่จะปลดปล่อยศักยภาพของคนรอบข้างแล้วผลักดันให้เขาไปข้างหน้า เพื่อเดินทางสู่ความสำเร็จ
วันนี้ผมเป็นคนได้รับเกียรติให้มาพูดคุยกับสื่อ ผมอาจจะพูดแล้ว เหมือนตัวเองเป็นคนคิดทั้งหมด แต่ไม่ใช่นะ ผมไม่ได้คิดเองทั้งหมดหรอก สิ่งสำคัญที่มันเดินหน้าไปได้คือ ผมต้องมีทีมที่เก่งและต้องทําให้คนรอบข้างนั้นมีพลังเดินเคียงข้างไปกับผม อันนี้คือหัวใจสําคัญ
ด้วยความเป็นพี่เจ๋อที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ เวลาคุยกับคุณไพบูลย์ตอนนั้นมัน ออกมาอย่างไร
ความสัมพันธ์ของผมกับคุณไพบูลย์เป็น Love Hate Relationship มั้ง 555 คือมีหลายครั้งที่คุณไพบูลย์อาจจะโกรธผม และมีหลายครั้งที่ผมเองอาจจะทำให้คุณไพบูลย์โกรธผม แต่พื้นฐานคือเรารักกันมากครับ ผมต้องตอบว่าสิ่งที่ผมชอบในตัวคุณไพบูลย์มากคืออิสรภาพคุณไพบูลย์เป็นคนที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่คือความสนุก แต่วิธีของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเห็นด้วยเหมือนกันหรือเปล่า ก็เป็นอีกเรื่องนึง
คุณไพบูลย์ให้ผมเป็นซีอีโอเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แถมคุณไพบูลย์ยังให้อิสรภาพ แต่เป็นอิสรภาพแบบมีขอบเขต เพราะฉะนั้นก็ต้องแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็มองไม่ตรงกัน โกรธกันบ้าง แต่เราโกรธกันบนงาน จบแล้วก็เป็นพี่น้องเหมือนเดิม ผมรักคุณไพบูลย์มาก การทำงานกับเถ้าแก่ เราต้องทําถูกมากกว่าผิด ห้ามเจ๊ง ต้องรอบคอบ ที่สําคัญต้องคิดเสมอว่ามันคือเงินเขา มันไม่ใช่เงินเรา เราจึงต้องคิดแทนเขาอย่างถี่ถ้วน
พี่เจ๋อบอกว่า ซีอีโอไม่จําเป็นต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดทุกเรื่อง แต่เรื่องอะไรคือเรื่องที่จำเป็น จะต้องเก่งที่สุด
ต้องกล้าตัดสินใจที่สุด (ตอบทันที) คนมีไอเดียกับคนตัดสินใจเก่งไม่เหมือนกัน ผมอยากเป็นคนนั้นมากกว่านะครับ เป็นคนที่ตัดสินใจได้รอบคอบ ตัดสินใจได้แม่นยํา คนเราไม่ต้องมีไอเดียตลอดเวลา คนเราจะมีไอเดียได้ก็ต้องมี Passion แต่เรื่องบางเรื่องผมไม่มี Passion นะ เช่น วันนี้ระบบไอทีใหม่ของแกรมมี่คืออะไร ผมก็ไม่รู้นะแต่มันน่าจะมีคนไอทีที่เก่ง และพร้อมจะบอกผมว่าอนาคตของไอทีบริษัทควรจะเป็นอย่างนี้นะ
มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะมี Passion ไปกับทุกเรื่อง ถามว่าถ้าจะทำยังไงให้คนในองค์กรสามัคคี อยากเดินไปข้างหน้า เรื่องแบบนี้ผมอยากลงมือทําเองเลย ผมลุกขึ้นมาเขียนซีอีโอโน้ตเพื่อสื่อสารหาผู้คน เพราะผมมีแรงไง ผมอยากทํา แต่เรื่องบางเรื่องผมไม่มีหรอก เช่น ประเพณีสงกรานต์ปีนี้จะจัดยังไง อย่าถามผมเลยครับ และไม่ต้องเอาผมนําขบวนด้วย ผมไม่อยาก 555
การ convince ให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันแล้วไปพร้อมกันมันยากไหม
มันยากนะ แต่ไม่ได้แปลว่าเป้าหมายของเขาคือการต้องเห็นพ้อง ผมว่าผู้นําที่ดีต้องมองเห็นความสวยงามในความแตกต่างนะ ประเด็นของผมคือผมไม่ได้พยายามให้เขาซ้ายหัน ขวาหัน ผมพยายามทําให้เขาเห็นประเด็นและมีแรงบันดาลใจ
ถ้าเขาฟังผมแต่เขาไม่ Take Action หรือเขาไม่มีแรง มันก็คือเขาก็ไม่เชื่อไง สิ่งที่ผมทำคือผมก็อยากให้เขาเห็นประเด็นที่เขาทำแล้วมันดีต่อตัวเค้า ดีต่อบริษัท เขาจะมีแรง และมีไอเดียทันที ผมเคยพูดประโยคที่ทุกคนเสียใจเสมอคือความขยันไม่ใช่การพิสูจน์เส้นชัย หรือความสามารถ ผมไม่เคยให้แต้มคนขยันเลย ผมคิดว่าทุกคนต้องขยันอยู่แล้ว ผมพูดทีไรคนก็เสียใจทุกที น้องๆ ก็จะถามว่าพี่ไม่เห็นเหรอว่าหนูทุ่มเทแค่ไหน ผมบอกคุณก็ต้องทุ่มเทอยู่แล้ว คนที่เก่ง ฉลาด มีไหวพริบ มีแรงบันดาลใจ มีไอเดียที่เหนือกว่าคนอื่นต่างหาก คือคนที่ผมมองว่านี่คือคนที่บริษัทขาดไม่ได้
ความกดดันจากการทำธุรกิจ Showbiz ที่แต่ละเฟสติวัลต้องใช้เงินหลักหลาย 100 ล้าน มันทำให้พี่เจ๋อกลัวบ้างไหมว่ามันจะไม่ตรงตามเป้า
ทุกสิ่งที่ผมเสนอเข้าบอร์ด ผมคิดว่ามันจะชนะได้ตามเป้า 80% และผมเผื่อใจไว้ 20% ว่ามันอาจจะไม่ได้ตามเป้าที่ผมต้องการ แต่ผมเชื่อว่าภาพรวมมันจะเข้าเป้า แต่ทุกโปรเจ็กต์มีชนะมีแพ้ ซึ่งมี Balance ของมันอยู่ ผมมีเลเวลของการรับความเสี่ยงที่คิดว่าวัฒนธรรมในแกรมมี่รับได้
ความเชื่อแบบไหนที่ทําให้พี่เจ๋อมั่นใจว่าจะชนะได้
ผมเชื่อว่าชัยชนะทั้งหมดเกิดขึ้นจากผู้คน เราพูดถึงทั้งแกรมมี่ได้เลยนะ เราเห็นมันมาจากความเชื่อมั่นในตัวบุคคล เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันจะไปได้ไกล ฉะนั้นถ้าถามว่าทำไมผมไม่สนใจตัวเองไม่สนใจว่าอยากดัง เพราะว่าผมอยากทำให้มันเป็นวาระของคนรุ่นใหม่ อยากสร้างเวทีให้คนได้ก้าวเดินไปข้างหน้า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปลี่ยนบริษัทไปสู่ Generation ของคนรุ่นใหม่ โดยที่พวกเรามีคนเก่งมากมากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเกินห้าสิบคน นี่คือบริษัทที่แข็งแกร่งและไม่มีทางล้มลงง่ายๆ หรอก
สำหรับผู้คนที่หมดแรง หมดกําลังใจ ผมเคยผ่อนคันเร่งนะ ยกเลิกงานแม่งเลย ผมบอกไม่ต้องทําแล้ว ไปเที่ยวเถอะ เลิกดื้อๆ เลย น้องถามว่ามันเป็นความฝันของพี่ไม่ใช่เหรอ ผมบอกว่าเพราะคุณหมดแรงไง ผมรู้ว่าคุณกําลังจะแพ้ คุณหมดแรง ผมก็หมดแรง
ผมมีเรื่องอยากเล่าให้ฟัง ตอนผมทำงานใหม่ๆ เป็นเออี ถึงผมจะสอบได้ที่หนึ่งนะ แต่ว่าผมเป็นเออีที่ล้มเหลวมากเลย มีวันหนึ่งพี่ที่เป็นหัวหน้า มาถามผมว่า “มึงชอบอะไรวะ” ผมบอกว่า “ผมชอบเล่นสนุ๊กพี่” พอไปเล่นสนุ๊กกันผมชนะเขายับเยินเลยพอเล่นเสร็จก็กลับมานั่งทํางานต่อจนถึงห้าทุ่มผมมารู้จากเขาทีหลังว่าพี่เขาเล่นสนุ๊กไม่เป็นแต่เขายอมให้ชนะเขาเพื่อให้เรามีแรงขึ้นมา
เรื่องนี้ทำให้ผมเชื่อว่า เขาเป็นผู้นําที่น่าเคารพมากเลย ที่เขามีกุศโลบายหรือมีวิธีที่จะผ่อนทั้งที่จริงๆ สองทุ่มเรากําลังทํางานกันอยู่ แล้วเราควรจะต้องเหยียบต่ออีกสองร้อย กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อทํางานนั้นให้สําเร็จ เขาเป็นตัวอย่างที่เข้าใจ ว่ามันจะเดินต่อไปได้ยังไงในเมื่อทีมหมดแรง ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ทําให้ผมเติบโตเป็นคนที่มีความเห็นใจคนอยู่ลึกๆ นะครับ ผมใช้คําว่าลึกๆ เพราะว่าคนอาจจะมองไม่ค่อยเห็นความเห็นใจของผม (หัวเราะ)
เพราะโดยปกติผมชอบใช้ Passion ในการผลักดันสิ่งต่างๆให้ได้ตามเป้าหมายเสียมากกว่า