ทำไมบริษัทนั้นมีนโยบายแบบนี้ บริษัทนี้มีวิธีการทำงานแบบนั้น?
นอกจากประเภทขององค์กรจะส่งผลต่อบรรยากาศและวิธีการทำงานของแต่ละบริษัทแล้ว วัฒนธรรมหรือสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาในแต่ละสังคม อาจส่งผลต่อ ‘วัฒนธรรมมองค์กร’ ได้เช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างหล่อหลอมให้เรามี ‘เลนส์ในการมองโลก’ ที่แตกต่างหลากหลาย
หนึ่งในตัวอย่างที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดและเราอยากจะหยิบยกมาเล่าให้ฟังในบทความนี้คือ’สหรัฐอเมริกา’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นปัจเจกสูง (individualism) และเน้นเรื่องความเท่าเทียมกัน (Low Power Distance) โดยในรายงาน American Business Culture: an Overview of the National Culture and Organizational Cultural Dimmensions in the USA เผยแพร่เมื่อปี 2019 วิเคราะห์ว่าวัฒนธรรมการทำงานของชาวอเมริกัน จะเน้นความยืนหยุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้า-พนักงาน ค่อนข้างเป็นกันเองสูง รวมทั้งมีความเป็นปัจเจกนิยม เลยให้อิสระในการทำงาน สามารถแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองได้ มีเสรีภาพในการแสดงออก และเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย
แล้วถ้าบริษัทเหล่านี้มาอยู่ในประเทศไทยล่ะ? บรรยากาศการทำงาน วิธีคิด นโยบายต่างๆ จะเป็นแบบไหน
The MATTER มีโอกาสได้ไปสอบถามพนักงานจาก 4 บริษัทอเมริกันในประเทศไทย แล้วสรุปออกมาเป็น 5 วัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจ แต่ขอบอกก่อนว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เราได้เห็น ‘ภาพรวม’ มากขึ้น ไม่ได้เป็นการเหมารวมว่าทุกที่จะเป็นแบบเดียวกัน เพราะวัฒนธรรมองค์กรแต่ละบริษัทอาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น คนในองค์กร ประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ตำแหน่งงานที่เราทำ ซึ่งถ้าใครมีมุมมองไหนเพิ่มเติม แวะมาคอมเมนต์แบ่งปันกันได้เลย
วิธีการยืดหยุ่น แต่เน้นผลลัพธ์ในการทำงาน
หลังจากที่เราได้พูดคุยกับทั้ง 4 คน ทำให้พบว่าจุดเด่นหลักๆ คือเรื่องการเน้นผลลัพธ์ของงาน แต่กระบวนการสามารถยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะเรื่องสถานที่และเวลาเข้าทำงาน บางแห่งเลยไม่มีการตอกบัตร ไม่ได้กำหนดวันเข้าออฟฟิศ
“เราแค่มีงานส่งทันกำหนด ส่วนใหญ่วัดกันที่ผลลัพธ์คืองานเสร็จไหมอะไรอย่างนี้ ส่วนตัวเรา work from home ตลอด แต่อาจจะมีบางตำแหน่งที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศบ้างเหมือนกัน ออฟฟิศเราเลยเป็นแบบ hot desk สำหรับคนที่เข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง คือไม่ได้มีโต๊ะประจำว่าคนนี้นั่งตรงนี้ ใครเข้าออฟฟิศจะนั่งตรงไหนก็ได้ เพราะส่วนใหญ่มากันไม่ครบอยู่แล้ว” เอ (นามสมมุติ) software developer ในบริษัทด้าน Marketing Technology บอกกับเรา พร้อมเล่าเสริมว่าการเลือกที่จะไม่เข้าออฟฟิศ บางทีก็อาจจะต้องแลกมากับความรู้สึกห่างเหินกับเพื่อนร่วมงาน และการไม่ได้กำหนดเวลางานที่ชัดเจน อาจทำให้พนักงานบางคนต้องทำ ‘โอฟรี’ กันไปยาวๆ ในช่วงที่งานเยอะเกินไปหรือเดดไลน์กระชั้นชิด
ดังนั้นสิ่งที่ควรมาคู่กับความยืดหยุ่น คือบรรยากาศที่เอื้อต่อการสื่อสารกันได้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือบริษัทด้านพลังงานที่ เซบาสเตียน (นามสมมุติ) Data Engineer ทำงานอยู่
“ถ้างานเยอะหรือเร่งเกินกว่าที่มันควรจะเป็น แล้วเราทนแบกรับ ยอมทำงานเกินเวลา จนสุดท้ายต่อให้งานเสร็จทันเดดไลน์ได้ แต่จะไม่มีใครเห็นปัญหา ที่บริษัทเลยจะเน้นให้ voice out มากกว่า แล้วทุกๆ คนก็พร้อมที่จะซัปพอร์ตกัน ถ้างานเยอะหรือเดดไลน์กระชั้นชิดมากๆ เขาจะไม่แก้ปัญหาด้วยการให้คนที่อยู่ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ทำเท่าที่ทำได้ แล้วคนที่มีพาวเวอร์จะแอคทีฟมากในการมาช่วยดูว่ามีอะไรผิดพลาด วางแผนจำนวนงานกับคนไม่ดีเหรอ หรือต้องจ้างคนเพิ่ม คือเขาพยายามทำความเข้าใจปัญหานั้น”
เคารพเวลาส่วนตัว และ work-life balance
มันเผา (นามสมมุติ) Analyst Consultant ในบริษัทด้านการตรวจสอบบัญชีและให้คำปรึกษา มองว่าความยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำให้เขาสามารถจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น มีเวลาไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ โดยที่ยังทำงานเสร็จทันตามเดดไลน์ เช่นเดียวกับ เซบาสเตียนที่แม้บริษัทจะสนับสนุนให้เข้าออฟฟิศ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความสะดวกของพนักงาน
“ถ้าเรามีธุระช่วงเช้า ก็เอาเวลาไปทำธุระแล้วหาเวลาอื่นนั่งทำเพื่อชดเชยได้ ซึ่งคำว่าธุระอาจจะหมายถึง พ่อแม่ที่ไปงานโรงเรียนเพื่อใช้เวลากับลูก พาคนในครอบครัวไปหาหมอก็ได้ ซึ่งก็เป็นจุดที่ชอบเหมือนกัน เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้เอาเวลาไปใช้อย่างคุ้มค่าตราบใดที่ยังไม่กระทบกับงาน”
นอกจากความยืดหยุ่นจะเอื้อต่อ work-life balance มากขึ้นแล้ว อีกเรื่องสำคัญคือการเคารพเวลาส่วนตัวของแต่ละคน
“เราเคยทำบริษัทไทยที่ใช้ไลน์หรือแอปฯ อื่นๆ ติดต่องาน เวลาได้ยินเสียงแจ้งเตือนก็หลอนๆ หน่อยเพราะกลัวว่าจะเป็นแชตโดนตามงานหรือคุยเรื่องงานในช่วงเวลาที่ควรจะได้พักแล้ว บางทีมันก็ทำลายบรรยากาศที่ควรจะได้พักผ่อนไปเลย แต่ที่นี่ถ้าเราปิดคอม ก็คือตัดขาดจากงานทันที ไม่มีใครรบกวน เว้นแต่จะคอขาดบาดตายสุดๆ จริงๆ และด้วยความที่เป็นบริษัท global เวลานัดประชุมบางทีก็ต้องคุยหลายๆ ไทม์โซน ทุกคนก็จะหาเวลาที่ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะสลับกันดึก แล้วถ้าวันไหนประชุมดึก วันต่อมาก็เริ่มงานสายได้ เป็น flexible working hour ที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน”
เปิดรับความหลากหลาย และสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา
ความหลากหลายในที่นี้มีทั้งเรื่องผู้คนไปจนถึงการเปิดกว้างทางความคิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางบริษัทมีพนักงานจากหลากหลายสัญชาติ เช่นในบริษัทของมันเผา
“เราได้รู้จักหลากหลายวัฒนธรรม ทุกคนทำให้รู้สึกสบายๆ มาก (easygoing) บริษัทเรามีกิจกรรมสร้างคอนเนคชั่นบ่อยๆ ทำให้รู้จักคนที่หลากหลายสาขา ส่วนเรื่องการทำงาน เราไม่ต้องกังวลว่าถ้าทำแบบนี้เขาจะมองเรายังไง จะชอบ ไม่ชอบเราไหม เพราะเราโฟกัสที่ตัวงานมากกว่าตัวบุคคล เราเลยสามารถออกความเห็นได้กับทุกตำแหน่งงาน”
นอกจากนี้ การสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมาอาจเกิดจากโครงสร้างองค์กรที่ไม่ได้มีลำดับขั้นสูง (Hierarchical Structure) อย่างในบริษัทของ บี (นามสมมุติ) Sales Manager ในบริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่ง “คัลเจอร์ที่นี่ค่อนข้างราบเรียบ (flat) เรามีทำงานกันเเค่ไม่กี่ลำดับขั้นเอง จะเริ่มจากตำแหน่งธรรมดา manager, director , MD (Managing Director) ที่เหลือคือคุยกันด้วยความรู้สึกเหมือนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง แล้วก็ใช้เหตุผลในการคุยกันเป็นหลัก”
ส่วนเซบาสเตียนมองว่าการเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถพูดถึงปัญหาหรือเสนอไอเดียใหม่ๆ
“วิธีการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน อันนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญ เหมือนเราได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย น่าจะโยงกับเรื่องที่เราพูดถึงไปคือทุกคนเคารพกัน แคร์ความเป็นอยู่และชีวิตส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน พยายามเข้าใจและแก้ปัญหามากกว่าพยายามหาคนรับผิด นี่เป็นสิ่งที่เราสังเกตได้จากเพื่อนร่วมงานทุกเลเวล ตั้งแต่คนทำงานไปจนถึงผู้บริหารเลย”
เน้นการพัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
อีกเรื่องที่เน้นเป็นพิเศษ คงจะเป็นการพัฒนาตัวเองและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ “ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับอิมแพ็คของงาน เน้น empower yourself กล้าคิด กล้าทำ” บีเล่าถึงบรรยากาศการทำงานของเขา เช่นเดียวกับมันเผาที่บอกว่าเขาค่อนข้างมีอิสระในการตัดสินใจ หัวหน้าเลยมักจะอยู่ในบทบาทของคนที่ให้คำปรึกษามากกว่าจะเป็นรูปแบบของการสั่งงาน
“เขาจะมอบหมายงานมาให้เรา โดยที่ให้เรารับผิดชอบเองเลย 100% จะไม่ได้ถูกควบคุมจากคนที่ตำแหน่งสูงกว่า แต่ถ้าเกิดปัญหา เราก็มั่นใจได้ว่าสามารถมาปรึกษาคนในทีมเพื่อช่วยกันแก้ไข” นอกจากการรับผิดชอบงานตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว นโยบายของบริษัทยังผลักดันให้พนักงานพัฒนาตัวเองอีกด้วย
“เขาจะมีสมัครคอร์สเรียนออนไลน์ต่างๆ ไว้หลายคอร์สให้เราเข้าไปเรียนได้ไม่จำกัด อันไหนที่จำเป็นกับการทำงานก็อาจจะกำหนดว่า 1 ปีต้องเข้าเรียนไม่ต่ำกว่ากี่ชั่วโมง แต่บางคอร์สไม่ได้กำหนดอะไร ขึ้นอยู่กับความสนใจของเราเลย และแม้จะเป็นเด็กเข้าใหม่ที่อาจจะย้ายสายงานมา หรือไม่มีพื้นฐานในสิ่งที่ทำ เขาก็จะมีแหล่งเรียนรู้ (resource) และเวลาให้ไปเรียนได้อย่างเต็มที่ ก่อนเราจะเริ่มเข้าไปทำโปรเจ็กต์นั้นๆ”
สวัสดิการด้านสุขภาพ
ถ้าถามถึงเรื่องสวัสดิการ นอกจากประกันสังคมและประกันกลุ่มที่ครอบคลุมการรักษาแล้ว บางแห่งอาจจะมีสวัสดิการที่ส่งเสริมสุขภาพเพิ่มเติมมาอีกด้วย เช่น ฟิตเนส สวัสดิการด้านทันตกรรม ตัดแว่นให้ฟรี ส่วนสวัสดิการด้านอื่นๆ จะมีตั้งแต่วันลาสำหรับวันครบรอบเข้าทำงาน วันลาสำหรับวันเกิด คูปองส่วนลดเดลิเวอร์รี่ ค่าโทรศัพท์ ที่จอดรถ ขนมและอาหารที่มีให้ฟรีในออฟฟิศ ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้จะมีแตกต่างกันออกไปตามบริษัทและตำแหน่งงานของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เราเห็นภาพมากขึ้น และวัฒนธรรมองค์กรแต่ละรูปแบบต่างมีจุดเด่น มีข้อจำกัดต่างกันออกไป สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหน คงขึ้นอยู่กับการปรับใช้ และการบริหารจัดการในองค์กรนั้นด้วยเช่นกัน