ในด้านหนึ่งของโลกการทำงาน หลายคนอาจถือคติ “อะไรที่คนอื่นทำได้ ก็ให้เขาทำไป” ฟังดูเหมือนมุกตลกขำขัน ราวกับว่าฉันขี้เกียจทำแล้วล่ะ เธอทำได้ก็ทำไปสิ แต่นั่นก็ไม่ผิดอะไร หากสิ่งที่เขาคนนั้นทำได้ มันคือหน้าที่ที่คนนั้นต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว
ในทางกลับกันหลายคนยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วเลือกถือคติ “อะไรที่เราทำได้ เราก็อยากทำด้วย” เห็นใครทำอะไรที่ฉันเองก็ทำได้ ก็อยากจะกระโดดเข้าไปร่วมวงด้วย หรือหนักกว่านั้น อยากเก็บงานที่ทำได้เอาไว้ทำคนเดียวเสียเลย เพราะมันจะได้ดั่งใจเราทุกอย่าง แม้จะฟังดูเหมือนเป็นคนขยันเกินร้อย รับผิดชอบเกินหน้าที่ แต่นี่กำลังเป็นการก้าวก่ายหน้าที่คนอื่นอยู่หรือเปล่า?
ลองนึกภาพเรานั่งอยู่ในทีมที่ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง เป็นเหมือนฟันเฟืองชิ้นเล็กที่ขับเคลื่อนภาพรวมให้เดินไปข้างหน้าได้ แต่เราดันรู้สึกว่าฉันเองนี่แหละ ฟันเฟืองอัจฉริยะ อยากจะรับหน้าที่แทนฟันเฟืองตัวเล็กตัวน้อยอื่นๆ ที่ทำหน้าที่แค่พอได้ เอามาทำเองให้มันได้ดั่งใจไปเลย เลยเป็นเหมือนขาใหญ่งานกลุ่ม ที่ไม่เคยไว้ใจให้ใครทำงานอะไร จนกลายเป็นว่า งานทั้งหมดเป็นหยาดเหงื่อแรงงานของตนเพียงคนเดียว อาจทำไปด้วยความเต็มใจ หรืออาจทำไปด้วยความไม่ไว้ใจ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า?
กลับไปที่ภาพของฟันเฟืองอีกครั้ง ทุกคนต่างมีตำแหน่งประจำการของตัวเอง มีหน้าที่เฉพาะของตัวเอง แต่ละคนถูกจ้างมาด้วยหน้าที่ที่ชัดเจน องค์กรเล็งเห็นแล้วว่าแต่ละคนจะเข้ามาประจำการตรงไหน ทำงานร่วมกันอย่างไร ถึงจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ หากเราก้าวขาเข้าไปในหน้าที่ของคนอื่น แม้จะทำไปด้วยเจตนาแสนดีแค่ไหน มันอาจเปลี่ยนจากความหวังดีเป็นการก้าวก่ายได้ในสักวัน
การเข้าไปก้าวก่ายในหน้าที่คนอื่นจนเกินไป อย่างแรกที่ตามมา คือ ความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความไว้วางใจ ขาดความมั่นใจในการทำงานครั้งต่อไป อาจจะต้องคอยเสิร์ฟงานให้ดูระหว่างทางกันในทุกขั้นตอนเพื่อความสบายใจ เพราะไม่อยากต้องมาแก้อะไรจุกจิกยิบย่อยในตอนหลัง บางคนอาจเจอมากกว่าการแทรกแทรงในการทำงาน มันรวมไปถึงรายละเอียดเล็กน้อย “ใช้เครื่องมือนี้สิ แบบนั้นมันช้า” “เดินทางด้วยวิธีนี้สิ ประหยัดกว่า” “ยี่ห้อนี้ไม่ดีหรอก เอาอันนี้สิ” ดูเหมือนความหวังดีมากกว่าใช่ไหม ดูเหมือนคำแนะนำทั่วไป มันจะยังคงเป็นความคิดเห็น เป็นความแนะนำอยู่ ถ้าไม่มีการบังคับให้ทำตามสิ่งที่บอกจริงๆ แบบนั้นก็ออกจะเข้าข่าย ‘Micromanagement’ ที่เข้าไปก้าวก่ายงานของคนอื่นจนเกินไป เกินระดับที่จับตามองคนอื่นแม้แต่ในเรื่องยิบย่อยเกินความจำเป็น ตั้งแต่กระบวนการทำงาน ไปจนถึงภาพรวมของผลงาน ไปจนถึงแทรกแซงการตัดสินใจ
ต่อให้เราเป็นฝ่ายมองขาดจริงๆ ว่าเขาคนนั้นยังทำหน้าที่นั้นได้ไม่ดีเท่าเรา ยังไม่สามารถทำออกมาได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อผลลัพธ์มันออกมา มันจะออกมาในชื่อของเขาอยู่ดี นั่นเป็นเรื่องที่เขาคนนั้นต้องเรียนรู้และเติบโตในหมวกของฟันเฟืองนั้นต่อไป หากเราถือเอาทุกอย่างมาไว้ในความรับผิดชอบของเราเองทั้งหมด อาจจะดีที่มีผลงานได้ดั่งใจ แต่เขาคนนั้นจะไม่ได้รับโอกาสให้เรียนรู้ ลงมือทำด้วยตัวเอง ได้แต่เฝ้ามองตัวอย่างจากฝีมือคนอื่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นหมายถึงเรากำลังตัดโอกาสการเติบโตของเขาด้วยเหมือนกัน สุดท้ายแล้วถ้าเขาคนนั้นทำหน้าที่ตัวเองแล้วมันยังไปไม่รอดจริงๆ นั่นเป็นเรื่องขององค์กรที่จะต้องจัดการต่อไป (ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องรับหน้าที่แทนต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน)
เพราะเหตุนี้เอง เราถึงมีการกระจายงาน ให้ทุกคนได้มีบทบาทหน้าที่เป็นของตัวเอง และสิ่งนี้เป็นเหมือนหัวใจหลักในการทำงานเป็นทีม วางแผนร่วมกัน สื่อสารกัน และปล่อยให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเอง สุดท้ายแล้วเราจะได้เรียนรู้และเติบโตในหน้าที่ของตนเองไปพร้อมกัน
ทำอย่างไร หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่อยากเก็บทุกอย่างไว้ทำคนเดียว?
การทำงานเป็นทีม จะมีความหมายอะไร หากเราต้องนั่งทำงานอยู่คนเดียว ทางออกที่ดีที่สุด คือ เราควรปล่อยวางให้คนอื่นได้ทำหน้าที่ของเขาได้อย่างเต็มที่ เพราะตรงนั้นคือหน้าที่ของเขา คือสิ่งที่เขาควรทำได้ แม้อาจจะยังไม่ได้ดีมากในวันนี้ แต่เขาก็ต้องเรียนรู้และทำให้ได้ในสักวัน แล้วระหว่างนี้เราทำอะไรได้บ้าง?
- เป็นไกด์ในช่วงแรก สำหรับอะไรที่เราเห็นว่าเขาคนนั้นยังทำได้ไม่เข้าที่เข้าทาง แล้วรู้สึกว่าเรามีคำแนะนำดีๆ ที่อาจทำให้เขาผ่านด่านไปได้ เราสามารถเป็นไกด์คอยนำทางให้เขา แต่อย่าถึงกับให้ยึดคำแนะนำของเราเป็นที่ตั้ง แนะนำคือแนะนำ เขาเองก็สามารถเลือกได้เช่นกันว่าจะทำตามหรือเปล่า
- ทำในสิ่งที่มีแต่เราทำได้เท่านั้น แม้อยากแนะนำให้ทุกคนกระจายงานให้คนในทีม แต่ถ้าหากมีบางอย่างที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้ อาจด้วยความสามารถ ประสบการณ์ หรืออะไรก็ตาม เราสามารถเก็บสิ่งนั้นไว้เป็นหน้าที่ของเราได้ ส่วนอะไรที่คนอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน เราก็ต้องปล่อยวางให้ได้ หากหน้าที่นั่นจะไปอยู่ในมือของคนอื่น
- ติดตามผลและให้ feedback ให้ข้อเสนอแนะว่าด้านไหนที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ด้านไหนต้องปรับปรุงอย่างไร จะเป็นบันไดช่วยให้เขาคนนั้นได้ก้าวไปข้างหน้าได้จริง มากกว่าคำแนะนำเชิงตัดสิน “เห็นไหมล่ะ ให้ฉันทำแต่แรกก็จบแล้ว”
ทำอย่างไร หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกก้าวก่ายในหน้าที่การงาน?
หากเราเป็นฝ่ายโดน เราสามารถบอกไปตามตรงได้ว่าจุดนี้คือหน้าที่ของเรา เราเป็นเจ้าของงานนี้ เราควรมีอำนาจตัดสินใจว่าเราจะเลือกวิธีไหน รายละเอียดอย่างไร อยากให้รอดูที่ผลงานหรือบทสรุปในตอนท้ายมากกว่าการคอยกำกับกันในทุกขั้นตอน เพราะไม่อย่างนั้น อาจจะต้องคอยแก้ทีละจุดกันไปตลอดทาง เรายินดีที่จะรับคำแนะนำที่เป็นคำแนะนำจริงๆ มากกว่าการทำตามคำสั่งแบบ 100% เพียงเพราะเขาไม่มั่นใจในความสามารถของเรา
สุดท้ายแล้วมุกตลกในโลกการทำงานอย่าง “อะไรที่คนอื่นทำได้ ก็ให้เขาทำไป” อาจเป็นไม้ตายที่เอาไว้คอยเตือนใจคนที่หอบงานทุกอย่างไว้ในความรับผิดชอบของตัวเองเพียงคนเดียวก็ได้
อ้างอิงจาก