เมื่อมีคนคอยถามไถ่รายละเอียดการทำงาน คงเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีคนยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการงานของเรา คงเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีคนเข้ามาจี้รายละเอียดในทุกย่างก้าว คงไม่ใช่เรื่องปกติ ถึงจะไม่ปกติ เราก็มักจะเจอคนแบบนี้อยู่เสมอ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘micromanager’ ผู้ที่ชอบจัดการทุกอย่างให้อยู่ในความเรียบร้อย ถูกต้อง ตามความต้องการของตนเองในทุกย่างก้าว จนเลยเส้นของการช่วยเหลือดูแล ไปสู่การจับผิด ก้าวก่ายหน้าที่ ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าทำงานด้วยเท่าไหร่ ถ้าเจอแล้วต้องรับมือยังไง? แล้วเราเองเข้าข่ายหรือเปล่า? มาดูกัน
มองผ่านๆ อาจจะเหมือนเพอร์เฟ็กต์ชันนิสต์ เป็นคนมีมาตรฐานสูง ชอบให้ทุกอย่าง เป๊ะได้ดั่งใจ มีไม้บรรทัดแห่งมาตรฐานกำไว้แน่นเสมอ แต่ ‘Micromanagement’ เป็นมากกว่านั้น มันคือการเข้าไปก้าวก่ายงานของคนอื่น หรืองานที่มอบหมายจนเกินไป เกินระดับที่จับตามองคนอื่นแม้แต่ในเรื่องยิบย่อยเกินความจำเป็น ตั้งแต่กระบวนการทำงาน ไปจนถึงภาพรวมของผลงาน ไปจนถึงแทรกแซงการตัดสินใจ
แล้วมันไม่ดียังไงต่อการทำงาน?
การเข้าไปก้าวก่ายในหน้าที่คนอื่นจนเกินไป อย่างแรกที่ตามมาแน่นอน คือ คนทำงานจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความไว้วางใจ ขาดความมั่นใจในการทำงานครั้งต่อไป อาจจะต้องคอยเสิร์ฟงานให้ดูระหว่างทางกันในทุกขั้นตอนเพื่อความสบายใจ เพราะไม่อยากต้องมาแก้อะไรจุกจิกยิบย่อยในตอนหลัง และการแก้อะไรจุกจิกนั่นก็เช่นกัน บางครั้งมันอาจเลยเถิดไปจนมองข้ามภาพรวมไป เหมือนใช้แต่แว่นขยายหารายละเอียดเล็กๆ ที่ผิดพลาด จนไม่เห็นภาพกว้างว่ามันใช้ได้หรือเปล่า
บางคนอาจเจอมากกว่าการแทรกแทรงในการทำงาน มันรวมไปถึงรายละเอียดเล็กน้อย “ทำไมพิมพ์แบบนี้ล่ะ ลองพิมพ์สัมผัสดู” “ใช้เครื่องมือนี้สิ แบบนั้นมันช้า” “เดินทางด้วยวิธีนี้สิ ประหยัดกว่า” “ยี่ห้อนี้ไม่ดีหรอก เอาอันนี้สิ” ดูเหมือนความหวังดี เป็นคำแนะนำทั่วไป ซึ่งก็คงเป็นความคิดเห็น เป็นคำแนะนำอยู่ ถ้าไม่มีการบังคับให้ทำตามสิ่งที่บอกจริงๆ ซึ่งถ้าบังคับกัน แบบนั้นคือการก้าวก่ายระดับไมโครสมชื่อเลยล่ะ
เจอแบบนี้จะแก้ยังไง?
หากเราเป็นฝ่ายโดน ก็ลองบอกไปตรงๆ ว่าจุดนี้คือหน้าที่ของเรา หากเราเป็นเจ้าของงานนี้ เราควรมีอำนาจตัดสินใจว่าเราจะเลือกวิธีไหน รายละเอียดอย่างไร หากโดนแทรกแซงตอนทำงาน ควรบอกไปตรงๆ ว่าจุดนี้คือหน้าที่ของเรา อยากให้รอดูที่ผลงานหรือบทสรุปในตอนท้ายมากกว่าการคอยกำกับกันในทุกขั้นตอน เพราะไม่อย่างนั้น อาจจะต้องคอยแก้ทีละจุดกันไปตลอดทาง
หากเราเป็นฝ่ายกระทำ วางแว่นขยาย แล้วใช้ตามองภาพรวม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่กับคนที่เป็นหัวหน้าหรือเจ้านายเท่านั้น คนทำงานปกติก็อาจเผลอทำแบบนี้กับเพื่อนร่วมงานได้เช่นกัน บางครั้งเราอาจจะเลือกใช้แว่นขยาย ส่องดูรายละเอียดด้วยความหวังดี ไม่อยากให้มีอะไรผิดพลาด แต่นั่นอาจทำให้เราพลาดภาพรวมไป เราไม่อาจใช้แว่นขยายมองทั้งภาพได้ ปล่อยให้คนที่มีหน้าที่ทำตรงนั้น ได้ทำหน้าที่ของเขา หากผิดพลาดอะไร เป็นเรื่องที่ต้องเจอเพื่อเรียนรู้และแก้ไขกันไป ดีกว่าการคอยตามแก้กันในทุกจุดทั้งสองฝ่าย
ละเอียดในหน้าที่ของตัวเองเป็นเรื่องดี แต่ละเอียดในหน้าที่คนอื่น อาจกลายเป็นความก้าวก่าย ไม่ว่าจะด้วยความหวังดีต่อคนหรืองาน ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีในการเข้าไปจัดการทุกอย่างในงานคนอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก