เรามีคำว่า ให้รักตัวเอง ให้ใจดีกับตัวเอง เพราะความรักที่ดีเริ่มการรักตัวเองก่อน
ทว่าในภาคปฏิบัติ โลกแห่งความจริง คำแนะนำที่ ‘ง่ายๆ’ นี้ ด้วยจิตใจและตัวตนของเราที่แสนจะซับซ้อน ‘การรัก’ หรือการกลับไปรักตัวเองอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ สำหรับใครหลายคน
ความรักเป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกันการรักก็อาจเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ยิ่งการรักตัวเองยิ่งฟังดูน่างุนงงสงสัย ในชีวิตเราเองคงเคยเจอข้อวิจารณ์ว่า ทำไมเรารักตัวเอง? เพราะหลายครั้งเราก็รักคนอื่น หรือรักสิ่งอื่นมากไป
ด้านหนึ่งการทบทวนเรื่องการรักตัวเองอาจฟังดูเหลวไหลไร้สาระ อันที่จริงแค่คิดว่าเราต้องกลับมารักตัวเอง ในบางบริบทก็จะทำให้เราเริ่มเบ้ปาก และรู้สึกเพ้อฝันเห็นแก่ตัว ยิ่งเฉพาะในโลกที่ไม่ค่อยอนุญาตให้เรามีความสุข มีความภูมิใจกับตัวเอง หลายครั้งการไม่รักตัวเองก็นำไปสู่ปัญหาทั้งกับเราเอง และกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบๆ
ดังนั้น ในเดือนแห่งความรัก The MATTER จึงชวนทุกท่าน ไม่ว่าจะโสดหรือมีคู่แล้ว กลับมาสู่แนวคิดเรื่องการรักตัวเอง ทว่าคำว่ารักตัวเองเป็นนามธรรม เราเลยมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะกับวันแห่งความรัก คือการเขียนจดหมาย ที่จดหมายของวันวาเลนไทน์นี้จะไม่ได้เขียนถึงใครนอกจากตัวเราเอง ประเด็นเรื่องการรักตัวเองส่วนหนึ่งเป็นการเข้าใจตัวเอง และการแสดงความรักต่อตัวเอง การเขียนจดหมายรักหาตัวเราเอง จึงถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่อาจช่วยให้เรามองเห็น และกลับมารักตัวเราที่มีคนเดียวและจะอยู่ด้วยกันไปตลอดได้
การเขียน-จดหมายรัก
ทำไมในโลกของการเขียนอีเมล เราถึงอยากกลับมาเขียนจดหมาย โดยเฉพาะจดหมายรักกันอีกครั้ง? ถ้าเรามองเฉพาะการเขียนจดหมายด้วยลายมือ นั่นเป็นสิ่งที่เราห่างหายไปนาน ตัวการเขียนเองยิ่งถ้าเป็นการลงมือเขียนด้วยมือ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่แช่มช้า เราเองต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจมากขึ้น ตั้งแต่การเตรียมกระดาษ ปากกา และการลงมือเขียนที่เราจะค่อยๆ เขียนลงไปมากกว่าการพิมพ์ ตัวจดหมายจึงมีความเป็นศิลปะในตัวเอง และเรายังสามารถทำให้จดหมายนั้นๆ มีความเฉพาะ มีตัวตนของเราลงไปประกอบในจดหมายนั้นด้วย
นอกจากตัวจดหมายแบบอนาล็อกแล้ว การเขียนก็ถือเป็นกิจกรรมทางความคิดที่สำคัญ เพราะเป็นกระบวนการซึ่งจำเป็นต้องถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกมาภายใต้เงื่อนไขของภาษา หลายครั้งการเขียนทำให้เราได้ทบทวนการคิดและความคิดของเรา โดยการเขียนคือการพยายามนิยามสิ่งที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม ผ่านการเรียบเรียงความคิดต่างๆ ออกมาเป็นระบบเท่าที่จะทำได้
ความซับซ้อนของการเขียนจึงอยู่ที่การเขียน ซึ่งเป็นกระบวนการของการคิด หลายครั้งที่เราลงมือเขียนสิ่งต่างๆ ก่อนเขียน ระหว่างเขียน และหลังเขียน ความคิดของเราไปจนถึงสิ่งที่เราตั้งใจเขียนออกมา อาจเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปจากสิ่งที่เราคิดตั้งแต่ก่อนเริ่มเขียน การเขียนหลายครั้งจึงเป็นการค้นพบ เป็นการคิดเพิ่ม ไปจนถึงคิดทบทวนต่อเติม เพราะมันทำให้ความเป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม ทำให้เรามีเวลาทบทวนความคิดของเราได้มากขึ้น ด้วยการเขียนใหม่ และทำความเข้าใจใหม่ได้เรื่อยๆ
ดังนั้น ในแง่ของตัวตนของเรา แน่นอนว่าการเข้าใจตัวตน หรือเข้าใจตัวเองเป็นเรื่องยาก การกลับมารักตัวเองก็เช่นกัน การเขียนจึงเป็นขั้นตอนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เราได้กลับไปสำรวจความหมายในตัวตนของตัวเองอีกครั้ง
ประเด็นเรื่องการรักตัวเองไม่ได้มีหลายปัจจัยเงื่อนไข หนึ่งในนั้นคือการรู้สึกว่าตัวเราเองดีไม่พอ ไม่สมควรที่จะได้รับความรักจากที่ไหนรวมถึงตัวเราเองด้วย การเขียนจดหมายรักถึงตัวเองในมิติที่เรียบง่ายที่สุด เลยเป็นการทบทวนและวางจุดยืนของเราที่มีต่อตัวเราเอง ได้ทบทวนความรู้สึก และหลายครั้งอาจนำไปสู่การให้อภัยตัวเอง
ฮาวทูจดหมายรักถึงตัวเอง
อันที่จริงการเขียนจดหมายหรือจดหมายรักหาตัวเอง หรือหาใครก็ตาม ด้านหนึ่งเป็นกิจกรรมที่เราทำเพื่อตัวเอง เพื่อลงมือทำสิ่งนั้นๆ ดังนั้น การลงมือก็ไม่มีข้อจำกัดอะไรมากมาย แค่อยากเขียนก็ลองเขียนดูเพราะสะดวก อยากได้ความรู้สึกแบบเก่าๆ ก็ไปหากระดาษและปากกามาลงมือเขียน ถ้าไม่ก็เขียนลงโน๊ต เขียนในมือถือ หรือพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งการเขียนมักเป็นสิ่งที่เราประวิงเวลาออกไป การลงมือทำเลย เขียนเลยถ้าอยากเขียน โดยทำให้สะดวกที่สุดอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ในระดับของเนื้อหาโดยทั่วไปก็จะแนะนำให้เขียนผ่านเสียงของบุคคลที่ 3 คือเหมือนเราพูดกับตัวเองอีกคนหนึ่งที่แยกออกไป ทั้งการใช้สรรพนาม และทำให้ตัวเรามีอีกตัวตน อาจเป็นกระบวนการที่เราได้สำรวจ หรือถอยหลังออกจากตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจในฐานะคนอื่น
การแสดงความรักผ่านการเขียนจึงเริ่มเป็นศิลปะบ้าง ยิ่งในยุคสมัยที่เราไม่เขียนจดหมายรักกันแล้ว เบื้องต้นเราอาจจะนึกภาพการเขียนถึงตัวตนของเราว่า เราเป็นอย่างไร เราชอบอะไร เราทำอะไร แล้วรักในสิ่งที่ตัวเราเป็นมากน้อยแค่ไหน จุดนี้อาจนำไปสู่บางจุดที่เราไม่ชอบในตัวเอง แล้วทำให้เราได้ปรับปรุง หรือปรับความรู้สึกของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ
อีกข้อคือความสม่ำเสมอ ถ้าเรามองย้อนไปในอดีต หลายครั้งจดหมายจะพูดถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เราอาจเก็บมันไว้ในใจ เป็นรอยสะดุด ไปจนถึงเป็นเรื่องราวดีหรือไม่ดี ตัวจดหมายรักนี้จึงอาจทำหน้าที่โดยสัมพันธ์กับเวลา เป็นการพูดถึงตัวเราในช่วงเวลาหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่ง สำหรับการบันทึก ทบทวน และจดจำนี้ อาจสำคัญท้ังกับมุมมองของเราที่มีต่อสิ่งนั้นๆ เหตุการณ์นั้นๆ หรือเวลานั้นๆ ไปจนถึงการเขียนลงไปในจดหมาย อาจทำให้เรามีหลักฐานการคิดบางอย่างที่เราสามารถย้อนกลับมาอ่านใหม่อีกครั้งได้เมื่อเราเติบโตขึ้นแล้ว
จดหมายรักถึงตัวเอง กับการช่วยเหลือเด็กๆ
การเขียนจดหมายรักอาจไม่ใช่แค่เรื่องการรักตัวเองแบบลมๆ แล้งๆ หรือเป็นความฝันเฟื่องเปล่าประโยชน์ ไปจนถึงการหลงตัวเอง เพราะหลายพื้นที่มีการใช้กิจกรรมการเขียนจดหมายรัก มีการเวิร์กช็อป โดยเฉพาะกับเด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจ ไปจนถึงใช้การเขียนจดหมายรักและการรักตัวเองเป็นพื้นฐานในการรับมือปัญหาที่เด็กๆ เผชิญ
หนึ่งตัวอย่างในปี 2023 ที่วอชิงตัน ดีซี มีศูนย์เกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งดูแลเด็กๆ ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสวัสดิภาพ ชื่อ Fihankra Akoma Ntosaso ตั้งอยู่ในเขตแปดของเมือง โดยทุกๆ เย็นวันพฤหัสบดี ที่ศูนย์แห่งนี้จะจัดอบรมและจัดกิจกรรมฝึกฝนให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนทักษะการเล่าเรื่อง และในทุกเดือนเด็กๆ จะได้รับโจทย์เป็นการเขียนจดหมายรักหาตัวเองหนึ่งครั้ง
หลักการของกิจกรรมคือ การฝึกฝนทักษะการเล่าเรื่อง (Narrative) ให้กับเด็กๆ เป็นการฝึกเล่าเรื่องราวของตัวเอง และบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ไปในตัว ตัวเวิร์กช็อปจะนำโดยผู้ฝึกสอนด้านการเล่าเรื่องคือ คุณป้า Oyé ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผิวดำ และผู้สอนที่เติบโตจากไลบีเรีย เธอจะใช้ศิลปะทั้งดนตรี อาหาร และวัฒนธรรมในการทำกิจกรรมการเขียนจดหมาย และการเล่าเรื่องให้กับเด็กๆ
ในแง่กิจกรรมการเขียนจดหมายรัก และการฝึกทักษะการเล่าเรื่อง ผู้สอนบอกว่าสำหรับการเขียน ยิ่งเราเขียนมากขึ้น เรายิ่งเข้าใจและมองเห็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นตัวเราในทุกวันนี้ การเดินทางเข้าใจในตัวเราเองเป็นกระบวนการที่เราค่อยๆ เข้าไปค้นหา และค้นพบตัวตนและหัวใจของเราเอง การเขียนช่วยทำให้เราเข้าใจว่า อะไรทำให้เรามีความสุข อะไรทำให้เราเศร้า และอะไรที่เราอยากจะก้าวไปสู่
จดหมายรักที่เด็กๆ เขียน ก็มีเนื้อหาน่าสนใจและมีบุคลิกแตกต่างกัน โดยรวมแล้วเด็กๆ จะเขียนตั้งแต่บรรยายตัวตนของตัวเอง ว่าเป็นคนที่ตลก ชอบกินอะไร ไม่ชอบกินอะไร โตขึ้นมีความหวังว่าอยากเป็นอะไร เติบโตไปที่ไหน บางคนเห็นภาพบางอย่างที่มีความมั่นใจ เช่น บรรยายภาพตัวเองที่กำลังเดินอยู่ และมั่นใจว่าคนอื่นชื่นชอบบรรยากาศที่ตัวเองพาไป บางคนเขียนอย่างเรียบง่ายเช่น “ความสงบสุขที่รัก สิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับตัวฉันเองคือผมของฉัน หน้าของฉัน มือและร่างกาย ฉันสวย และฉันชอบเสื้อผ้าของฉัน”
เด็กๆ ที่เข้าร่วมและเขียนจดหมายรัก มีทั้งเด็กชายและเด็กหญิง สิ่งที่น่าสนใจคือ นี่เป็นกิจกรรมที่เปิดในพื้นที่ของเด็กๆ ที่อาจมีสถานะทางสังคมไม่สูงนัก การฝึกทักษะนอกตำรานี้จึงเป็นทั้งการร่วมเยียวยา ส่งเสริมความมั่นใจ และยังบ่มเพาะทักษะที่มองเห็นได้ยาก เช่น ทักษะภาษา การคิด ศิลปะของการถ่ายทอด ไปจนถึงการเล่าเรื่อง
และที่สำคัญคือความเข้าใจตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การรักตัวเอง และรักผู้อื่นอย่างมีคุณภาพ จนสามารถเติบโตและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป
อ้างอิงจาก