‘ปัญหาด้านจิตใจ’ คือหนึ่งในปัญหาที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แน่นอนว่ายังเชื่อมโยงไปถึงโรคซึมเศร้า ในยุคสมัยที่มีปัจจัยเชิงลบมากมายมากระทบจิตใจให้เกิดปัญหาดังกล่าว
หากมองถึงแนวทางแก้ไขปัญหา สิ่งที่มากไปกว่าการบำบัดรักษา คือเรื่องของ ‘สุขภาวะทางปัญญา’ เป็นแนวทางการป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้มั่นคง ก่อนที่จะเผชิญกับปัญหาสุขภาพด้านจิตใจนั่นเอง จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้เกิดงาน ‘Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ’ ครั้งแรกกับการรวมตัวกัน ของภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาของ สสส. จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 19 – 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อํานวยการสํานักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ถึงจุดประสงค์ของงานในครั้งนี้ และที่สำคัญคือการชวนให้ทุกคนร่วมกันตามหาเพื่อนใจ เพื่อเติมเต็มภายในไปด้วยกัน
มองว่าสุขภาพด้านจิตใจของคนทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าดูจากชีพจรของสังคมเรา โดยเฉพาะที่ผ่านมา 3 – 4 ปีนี้ ผลกระทบด้านของเศรษฐกิจ สุขภาพ โควิด-19 และสังคม ทุกอย่างมันรุมเร้า ทำให้คนมีภาวะเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นมีกราฟที่ขยับขึ้น อาจเป็นเรื่องของความกดดันจากเรื่องเรียน ความไม่เข้าใจ และความสัมพันธ์ต่างๆ ส่วนวัยทำงานมีภาวะ burnout พรุ่งนี้วันจันทร์แล้วไม่อยากไปทำงาน ถูกเปรียบเทียบ ต้องแข่งขันกันตลอด แล้วยิ่งซ้ำเติมลงไปอีกก็คือโลกของโซเชียลมีเดียที่เป็นโลกเสมือนจริง แล้วข้างในก็มีทั้ง hate speech cyberbullying ไม่ค่อยมีใครอยากจะฟังกัน มีแต่คนอยากจะพูด อยากจะอวดในสิ่งที่ตัวเองมี ให้เกิดการเปรียบเทียบ เกิดความทุกข์ขึ้นไปอีก
แสดงว่าสังคมหรือสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นใช่ไหม
ถ้าวัดจากสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ World Happiness Report ปี 2023 ล่าสุดประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 60 ปีที่แล้ว อันดับ 61 ขยับขึ้นมานิดหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วจะบอกว่าเราถดถอยมาตั้งแต่ 6 – 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอยู่ที่ระดับ 30 กว่า แต่ตอนนี้ถดถอยมาที่ 60 ซึ่งดัชนีการวัดความสุขอยู่ที่ 6 ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ GDP, well-being, life expectancy หรือช่วงอายุขัยของคน, สุขภาพกาย สุขภาพใจ, ความรู้สึกว่ามีคนซัพพอร์ต เวลาที่มีความทุกข์, การซัพพอร์ตทางสังคมหรือการมีสังคมที่พึ่งพากันได้ และการคอร์รัปชันว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดย top 10 ประเทศ ก็คือสแกนดิเนเวียน ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น แต่ไทยสูงกว่าจีนนิดหนึ่ง ถือว่าอันดับกลางๆ เป็นอันดับ 3 ของประเทศแถบอาเซียน
ลำดับความสุขดังกล่าว สะท้อนให้เรามองเห็นอะไรบ้าง เรื่องยุคสมัยมีผลมากน้อยแค่ไหน
สมัยก่อนสภาพสังคมไม่ซับซ้อน สภาวะพวกนี้สะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน ทำให้คนสมัยก่อนอยู่ง่ายกว่า แต่ใช่ว่าจะไม่มี ซึมเศร้า ก็คงมีมาตั้งนานแล้ว แต่ปริมาณความชุกอาจจะมีน้อยกว่าปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อม สภาพของจิตใจผู้คนไม่เหมือนกัน แล้วก็เรื่องของดิจิทัลก็เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงปัจจัยในการบ่งชี้โรคก็เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างโรคความดันโลหิต สมัยก่อนความดัน 140 ยังไม่ถือว่าเป็นความดันสูงนะ แต่เดี๋ยวนี้ 140 ก็ถือว่าสูงแล้ว และความเซนซิทีฟของการบ่งบอกโรคมันเปลี่ยนไป ซึมเศร้าก็เหมือนกัน อย่ารอให้เกิดโรค แล้วค่อยมาหาวิธีบำบัด ให้ดีคือตั้งรับก่อน สร้างความเข้มแข็งและสร้างภูมิคุ้มกันก่อนที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าใครเวลาที่มีความยากลำบากในชีวิต อาจจะล้มไปช่วงหนึ่ง แต่ล้มแล้ว ศักยภาพในการฟื้นคืนมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ที่การฝึก บางคนล้มแล้วล้มเลย บางคนล้มแล้วฟื้นกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม เรียนรู้จากสิ่งที่พลาดมาในอดีต เรียกว่ามี resilience ที่ดีกว่าคนอื่น
จากปัญหาสุขภาพจิต นำไปสู่การสร้างสุขภาวะทางปัญญาได้อย่างไร
สุขภาพจิตเป็นเรื่องของ individual mental health แต่ว่าสุขภาวะทางปัญญาจะขยายผลกระทบไปสู่วงกว้างมากขึ้น ไปสู่การที่เราเกื้อกูลผู้อื่นด้วย ถ้าภาษาที่ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี มักพูดถึงก็คือ การที่จิตเล็กมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น นั่นหมายถึงความลดความเห็นแก่ตัว การมองตัวเองเป็นหลักน้อยลง หาความสุขที่ไม่ใช่ความสุขแบบทางวัตถุหรือทางกาย เข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร แล้วก็ไปสู่ความสุขที่เกื้อกูลคนอื่นด้วย เช่น การทำจิตอาสา ถ้ากลับมาสังเกต ใจเราจะมีความปลื้มปีติ นั่นคือความสุขที่หาไม่ได้จากความสุขแบบวัตถุหรือความสุขแบบโลก นี่ก็คือการเข้าถึงมุมมองทางด้านของจิตวิญญาณหรือ spiritual
อยากให้เล่าถึงที่มาของการจัดงาน Soul Connect Fest ในครั้งนี้
งานนี้มีความเฉพาะ คืองานเป็นการเปิดพื้นที่ให้เรียนรู้และมีประสบการณ์ที่เราเรียกว่า ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ซึ่ง go beyond ไปกว่าเรื่องของสุขภาพจิต เพราะสุขภาพจิตอาจจะมีแนวทางของการบำบัดรักษา อย่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา บำบัด หรือมีแนวป้องกันได้ แต่สุขภาวะทางปัญญา เน้นเรื่องของการสร้างวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันทางใจก่อน เหมือนกับการออกกำลังกาย เราสร้างกล้ามเนื้อทางร่างกายเพื่อป้องกันโรค สุขภาวะทางปัญญาสร้างภูมิคุ้มกันภายใน สร้างความมั่นคงภายในเพื่อป้องกันเวลาที่มีความทุกข์ มีความบีบคั้นของชีวิต เพื่อให้ตั้งรับทัน ล้มแล้วลุกขึ้นไว และที่สำคัญคือสุขภาวะทางปัญญาจะอยู่นอกเหนือไปจากเรื่องส่วนตัว คือแรกเริ่มอาจจะเป็นการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เช่น ความมั่นคงภายใน แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ขยายออกไปจะนำไปสู่การเข้าใจคนอื่นหรือ empathy ทำให้เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกหรือสังคม เกิดความเกื้อกูล ทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงโลกหรือสังคมในทางที่ดีได้
ทำไมทุกคนต้องมี Soul Buddy หรือ เพื่อนใจ
จากการสำรวจความรู้สึกเบื้องต้นของคนรุ่นใหม่ในสังคม ว่าตอนนี้เขาติดหล่มมายาคติอะไรบ้าง เป็นที่มาของการไปสร้าง Soul Buddy หรือ เพื่อนใจ ในงานนี้ ถ้าเข้าไปที่เว็บไซต์ Soul Connect Fest (www.soulconnectfest.com) สิ่งแรกที่ทำคือ สำรวจว่าภาวะของคุณตอนนี้ มีความทุกข์หรือมีอะไรบ้างในใจ คือบางคนเข้าไปแล้วบอกว่าฉันโอเค ฉันดีทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วอาจจะมีสักจุดหนึ่งที่คุณต้องการการไกด์บางอย่าง หลังจากนั้นโปรแกรมจะบอกเลยว่า Soul Buddy ของคุณคืออะไร ซึ่งจะมีทั้งหมด 7 ตัว ไม่ว่าจะเป็น นำทาง, กอด, เป็นหนึ่ง, ตอนนี้, เติมเต็ม, รู้ใจ, ดีแล้ว เช่น กอด เป็นเรื่องของการให้อภัยตนเอง การให้ความรักตัวเอง และจะมีไกด์ว่ากิจกรรมที่เหมาะกับการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้ด้านของ spiritual ที่เหมาะมีอะไรบ้าง ทั้ง 50 กว่ากิจกรรม จาก 37 ภาคี มีกระบวนการอะไรที่จะมาช่วยคุณได้ บางคนที่บอกว่าฉันโอเค ฉันไม่เป็นอะไรเลย แต่ลองไปทำเทสสิ ยังไงคุณต้องได้ Soul Buddy สักตัว ไม่ใช่ว่าคุณบกพร่องนะ แต่เป็นการทำอย่างไรให้ดีขึ้นได้
แล้วการใช้ชื่อ Soul Connect Fest ทำไมเรื่องของ soul ถึงเชื่อมต่อกัน
จริงๆ แล้วโลกของเรา ทุกอย่างเป็น soul เดียวกัน เหมือนพระอาทิตย์เดียวกัน แต่เรานำอ่างเล็กๆ วางไว้อยู่แบบกระจาย เมื่อน้ำในอ่างสะท้อนเงาของพระอาทิตย์ ก็จะเห็นเป็นดวงเดียวกัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็ connect กัน เพียงแต่เรารู้ตัวหรือเปล่า ถ้าเมื่อใดที่เราได้ฝึกฝนเรื่องของจิตวิญญาณ รู้ถึงความจริงของชีวิต นั่นหมายถึงว่าเราได้เชื่อมต่อกับ soul ของโลก แค่รู้กายรู้ใจเราก่อน แล้วขยายความเข้าใจไปสู่การฟังเสียงของคนอื่น สุดท้ายแล้ว ถ้าเรารู้ว่าตัวเองเชื่อมโยงกับโลกใบนี้ จะทำให้เราอยากจะหาวิธีเกื้อกูลโลก ธรรมชาติ และสังคมต่อไป
มองว่า การสร้างภูมิคุ้มกัน ควรจะสร้างด้วยตัวเองหรือว่าต้องมีคนมาสร้างให้
ต้องพึ่งพาตัวเองก่อน อย่างเว็บไซต์ความสุขประเทศไทย (www.happinessisthailand.com) ที่เป็นภาคี ได้แบ่งความสุขเป็น 8 อย่าง คุณก็ไปเลือกเลย เช่น ไปทางจิตอาสา ไปภาวนาก็ได้ แต่ภาวนาแบบไหนที่ทำให้ใจคุณสงบรู้กายรู้ใจตัวเอง อาจจะถนัดทางศิลปะก็ได้ หรืออาจจะไปด้านของการเรียนรู้ ซึ่งมีหลากหลายกระบวนการที่เป็นสิ่งช่วยฝึกฝน แต่ต้องเปิดใจ เปิดความคิด เพื่อที่จะเอาตัวเองเข้าไปมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งเหล่านั้น
การนำตัวเองเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ตรง ดีกว่าอย่างไร
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พื้นที่อย่าง Soul Connect Fest เป็นพื้นที่ทดลองให้มาทดลอง ผ่านอายตนะในทุกกระบวนการ ทั้งเรื่องกลิ่น เรื่องของภาวนา เรื่องของการสัมผัสทางกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่า ฉันได้การ์ดความสุข กลับไปฉันโอเคแล้ว แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน เอาไปประยุกต์กับชีวิตบ่อยๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของจิตทำงานได้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ว่าหนึ่งปีออกกำลังกายหนึ่งครั้ง แล้วบอกว่าเราสุขภาพดีแล้ว เรื่องของจิตวิญญาณ ถ้าทำบ่อยๆ จะเห็นว่าเวลาคนที่ทำจิตอาสาแล้วมีความสุข ตอนไปถึงครั้งแรกอาจบ่นว่ามาทำอะไร สกปรก เหนื่อย แต่พอทำจบกระบวนการ ทุกคนจะมาอีก คือต้องผ่านประสบการณ์ ไม่สามารถที่จะสัมผัสแบบผิวเผินได้ สุดท้ายต้องพาตัวเองไปรับประสบการณ์เหล่านั้น เรื่องการภาวนาก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม 3 วัน ออกมาแล้วคุณเผชิญโลกได้ กลับมาแล้วก็ต้องมีสติ กาย ใจระหว่างวัน รู้ถึงสภาพทางใจว่าเป็นอย่างไร ต้องฝึกฝนตลอดเวลา นั่นแหละคือกระบวนการความเข้มแข็งจิตที่จะดีขึ้น เหมือนกันกับร่างกายที่ออกกำลังกายบ่อยๆ
การที่งานจัดไปแล้ว มีเสียงตอบรับที่ดีมากๆ สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง
คือความโหยหาอะไรบางอย่างที่จะเป็นตัวช่วยหรือหลักยึด แต่ว่ายึดอย่างไรให้ถูกต้อง แล้วพาเราไปสู่ชีวิตที่สว่างและดีกว่า ก็ต้องเลือกให้เป็น เลือกให้ถูก และที่สำคัญหลักยึดที่ว่า ต้องเป็นเครื่องมือที่ง่ายๆ แล้วก็ไม่ได้ซับซ้อน ไม่ต้องมีพิธีกรรมอะไร จิตอาสาก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง การรับฟังก็เป็นเครื่องมือหนึ่งเช่นกัน การรับฟังอย่างลึกซึ้งเป็นอย่างไร ที่บอกว่าทุกวันนี้มีแต่คนอยากพูด แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีความทุกข์ แต่หาคนรับฟังไม่มีเลย มีแต่อยากจะให้คำแนะนำ คุณต้องไปอย่างนั้น อย่างนี้สิ จริงๆ การนั่งฟังเงียบๆ อย่างเข้าใจก็เพียงพอแล้ว แม้แต่การฝึกรับฟังตัวเอง หรือฟังเสียงของคนอื่น แล้วสะท้อนกลับมาว่าระหว่างที่เรารับฟังเขา ข้างในเรากระเพื่อมสั่นไหวอย่างไร แล้วเราเข้าใจเขามากแค่ไหน เป็นการฝึกทั้งเขาและเราไปด้วยกัน
ระยะเวลาของงานอาจจะดูไม่ได้มากนัก คาดหวังผู้เข้าร่วมงานนำไปต่อยอดอย่างไร
สสส. เปิดพื้นที่ ผู้เข้าร่วมแค่เปิดใจ ก้าวเท้าเข้ามาลองชิมประสบการณ์ เพื่อให้สะท้อนกลับมาที่ตัวเรา สะท้อนผ่านกิจกรรมที่ได้เข้าร่วม สุดท้ายแล้วพอได้มีประสบการณ์ตรงบางอย่าง แล้วนำกลับไปฝึกต่อ อย่างศิลปะก็ทำได้ในเวลาว่าง เช่น Mandala Art หรือเจริญสติได้ทุกที่เลย กิจกรรมที่ผ่านมา เป็นแค่การเปิดพื้นที่ให้มาช้อป มาชิม แล้วนำกลับไปใช้ต่อ
ถึงแม้จะจบงานนี้ไป ก็ติดตามรายละเอียดของกิจกรรมที่มีการจัดอย่างต่อเนื่อง สามารถไปดูที่เว็บไซต์ www.soulconnectfest.com และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Soul Connect Fest