ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์หรือ Complete Aged Society เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องของโครงสร้างทางสังคมและสวัสดิการต่างๆ ที่รองรับ เป็นสิ่งที่หน่วยงานทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับมือ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยีในผู้สูงอายุ
เพราะเป็นหนึ่งในช่วงวัยที่มีการเข้าถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รวมถึงเป็นกลุ่มที่ส่งต่อข่าวปลอมต่างๆ มากที่สุด
ถ้ามองถึงผลกระทบของปัญหาโดยตรง การรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดการด้านโครงสร้างอื่ืนๆ จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 5 องค์กร ทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทำมาปัน จำกัด รวมทั้งภาคีเครือข่ายสูงวัยรู้ทันสื่อ 12 จังหวัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ’ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานสร้างสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
The MATTER ชวนไปคุยถึงเบื้องหลังของความร่วมมือในครั้งนี้กับ คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. รวมถึงเหตุผลที่ผู้สูงอายุต้องรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเปลี่ยนอนาคตของสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ยั่งยืน
สถานการณ์ของสังคมสูงวัยตอนนี้ที่เข้าสู่ Aged Society แล้ว สำคัญกับคนทั่วไปอย่างไรบ้าง
ตั้งแต่ปี 2564 เข้าสู่ปี 2565 สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) นั่นหมายความว่า มีประชากรผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้สูงวัย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ หรือกว่า 12 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดการณ์กันว่า เราจะไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด (Super Aged Society) หมายถึง มีจำนวนสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างที่จะมารองรับทางด้านของเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และวิถีชีวิตที่จะโอบอุ้มผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมคนทุกกลุ่มในสังคมให้พร้อมก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ รวมถึงการปรับ Mindset ที่มองผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังของสังคม ที่จะร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะได้
ถ้ามองในเรื่องของสุขภาวะในภาพรวม ต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุอย่างไร
พอบอกว่าสุขภาพที่ดีหรือสุขภาวะ สสส. เองก็ไม่ได้มองแค่สุขภาพทางกายอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต อย่างกลุ่มผู้สูงอายุเองก็จะมีเรื่องของภาวะเครียด ซึมเศร้า พอถึงวัยเกษียณแล้ว ก็มีเรื่องของ สุขภาวะทางสังคม หมายถึงปัจจัยแวดล้อมที่โอบอุ้มตัวเขาอยู่ รวมถึง สุขภาวะทางปัญญา ก็คือเรื่องของจิตสำนึกใหม่ที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงนวัตกรรม เครื่องมือ หรือพื้นที่ที่ทำให้รู้จักตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจชีวิต และเข้าใจธรรมชาติของการอยู่และการตาย แม้ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่ก็ได้เรียนรู้อีกมุมหนึ่งของชีวิตเช่นกัน
เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเยอะ ในแง่ดีคือทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล มองว่าตรงนี้เป็นปัญหาอย่างไร
คือเป็นทั้งโอกาสและปัญหา ต้องขยายภาพก่อนว่าจริงๆ สังคมไทยใช้สื่อโดยเฉพาะสื่อดิจิทัลผ่านมือถือเยอะมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สังเกตได้จากที่มองไปทางไหน ทุกคนมีมือถือกันหมด รวมถึงกลุ่มผู้สูงวัยก็เช่นกัน ที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งสื่อออนไลน์ และดิจิทัลมีเดียต่างๆ จากผลสำรวจของ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า ผู้สูงอายุใช้สื่อออนไลน์ตั้งแต่ตื่นนอน จนเข้านอน ประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวัน สอดคล้องกับผลสำรวจของทางสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า สื่อ 3 อันดับแรกที่ผู้สูงอายุเข้าถึงได้ อันดับ 1 ยังคงเป็น สื่อโทรทัศน์ อันดับ 2 เป็น สื่อบุคคล ซึ่งเข้าไปเคาะตามประตูบ้าน อันดับที่ 3 เป็น สื่อออนไลน์ ที่สำคัญพบผู้สูงอายุถูกหลอก ถูกล่อลวงให้ลงทุน ทำบุญ จนเสียเงินจำนวนมาก รวมถึงการแชร์ข่าวปลอมต่างๆ เนื่องจากการได้รับข้อมูลจำนวนมาก แต่ไม่สามารถกลั่นกรองได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือจะแก้ปัญหาอย่างไร ให้ผู้สูงอายุอยู่กับสื่อในยุคดิจิทัลได้อย่างมีสุขภาวะ นั่นหมายถึงการที่เขาจะได้รับการติดตั้งทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ที่เราเรียกว่า Media Information Digital Literacy หรือว่าเรียกย่อๆ ว่า MIDL ให้กับผู้สูงอายุ
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นเหยื่อ แม้ว่าจะเป็นวัยที่มีประสบการณ์มากก็ตาม
เขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็จริง แต่ในปัจจุบันปรากฏการณ์ Media Disruption หรือภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปมาก สื่อดิจิทัลต่างๆ มีเทคนิคมากมายในการเข้าถึงผู้สูงอายุตลอดเวลา ตื่นมาก็เจอสื่อต่างๆ ทุกแพลตฟอร์ม เขาถึงมีคำกล่าวว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่อพยพเข้ามาในโลกดิจิทัลหรือ Digital Immigrant คือเขาจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับสื่อใหม่ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตเมือง จะใช้โซเชียลมีเดียเยอะมาก เรียกว่าเป็นการปรับตัวเพื่อให้ได้รับอานิสงค์ทั้งด้านความสะดวกสบาย ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว เพื่อน และชุมชนออนไลน์ การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง หรือเพื่อความบันเทิงต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เขาเป็นผู้อพยพทางดิจิทัล จึงต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับตัวมากกว่าปกติ ทำให้บางทีอาจจะไม่เท่าทันจริงๆ อย่างเทคโนโลยี Deepfake ที่เนียนมาก
ทาง สสส. และภาคีเครือข่าย มีการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
จากที่เรามองเห็นปัญหา คือสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ อาจจะยังมีช่องว่างอยู่ คือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สสส. ร่วมกันทางภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนตัว D บริษัท ทำมาปัน จำกัด และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (Intelligent Center for Elderly Media Literacy) หรือ ICEM เป็นการยกระดับการทำงานเพื่อเติมเต็มและขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุในสังคมไทยให้เกิดผลในวงกว้างอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยหน้าที่หลักของศูนย์ คือ การเป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการ หรือ Knowledge Hub ด้านการรู้เท่าทันสื่อกับผู้สูงอายุของประเทศไทย ที่ได้มาจากการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุที่จะทำอย่างต่อเนื่องทุกปี
‘นวัตกรรมสุขภาพ’ เพื่อผู้สูงอายุเท่าทันสื่อ ‘เข้าถึงผู้สูงอายุ’ อย่างไร
การวิเคราะห์งานวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อการรู้ทันสื่อให้ผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมของผู้สูงอายุสู่การเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพได้จริง สสส. และภาคีเครือข่ายได้พัฒนาหลักสูตรสูงวัยเท่าทันสื่อ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี การใช้สื่อเพื่อสุขภาพ และเพื่อสุขภาวะของตัวเอง กระจายไปในโรงเรียนผู้สูงอายุ 20 จังหวัดทั่วประเทศ อีกส่วนหนึ่งที่กล่าวตั้งแต่ข้างต้นคือ ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพลัง เพราะฉะนั้นเรามองว่ากลุ่มนี้สามารถเป็นนักสื่อสารสุขภาวะได้ คือเมื่อเขาได้รับการเรียนรู้จากหลักสูตรนี้แล้ว ก็จะมีอีกหลักสูตรหนึ่งคือ ‘หลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ’ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้สูงอายุที่เรียกว่าครู ก สามารถที่จะนำเอากระบวนการต่างๆ ที่อยู่ในหลักสูตรนี้ ไปสอนผู้สูงอายุอื่นๆ ในชุมชนหรือในโรงเรียนผู้สูงอายุอื่นๆ ได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุทั้งชุมชน ได้เข้าใจแนวคิดของการรู้เท่าทันสื่อ และใช้ชีวิตอยู่กับสื่ออย่างมีสุขภาวะไปพร้อมๆ กัน
อะไรคือความยากและความท้าทาย ของการออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับผู้สูงอายุจริงๆ
ธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ มีเรื่องของการเปิดรับสื่อบางช่วง คือจะพูดบรรยายยาวๆ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องออกแบบเครื่องมือทั้งคลิปวิดีโอ ทั้งเกม ให้น่าสนใจ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการกระตุ้น นำมาสู่นวัตกรรมเครื่องมือใหม่ๆ อย่างแอปพลิเคชันเกมที่ชื่อว่า ‘หยุด คิด ถาม ทำ หรือ STAAS (สต๊าซ)’ (มาจาก Stop หยุด / Think คิด / Ask ถาม / Act ทำ / Share แชร์) หยุด หมายถึงเมื่อผู้สูงอายุได้รับสื่อเข้ามา สิ่งแรกที่เขาทำก็คือตั้งสติก่อน หยุดก่อน อย่าเพิ่งทำอะไร คิด หมายถึงการคิดสักนิดหนึ่ง ว่าอันนี้จำเป็นไหม เดือดร้อนใครหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ ถาม หมายถึงการไปถามหาข้อมูลก่อนทำ หมายถึงว่า ทำหรือไม่ทำ ทำก็คือไปซื้อหรือไม่ซื้อ จะแชร์ต่อหรือไม่แชร์ต่อ หากได้ผ่านกระบวนการหยุด คิด ถามทำแล้วมั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องมีประโยชน์จึงแชร์ได้ รูปแบบจะเป็นเกมจำลอง 4 สถานการณ์ที่ผู้สูงวัยมักจะเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหลอกลวงจากคอลเซ็นเตอร์ การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ เช่น สมุนไพรรักษามะเร็ง สุดท้ายจะมีคะแนนบอกว่าอยู่ในระดับไหน แล้วต้องไปพัฒนาเรื่องไหนต่อ สามารถดาวน์โหลดเล่นได้ทั้ง Android และ iOS ด้วย
ถ้าขยายไปถึงกลุ่มช่วงวัยอื่น ซึ่งเป็นคนในครอบครัว จะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีทักษะรู้เท่าทันสื่อได้อย่างไร
จริงๆ ทุกคนในบ้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ต้องมีการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย คือเข้าใจในธรรมชาติของปู่ ย่า ตา ยายที่บ้าน ต้องให้ความช่วยเหลือได้ ไม่รำคาญ เวลาที่ผู้ใหญ่ถามในเรื่องของการใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ ท่านจะถามซ้ำ จึงเป็นหน้าที่หนึ่งของคนในครอบครัวที่จะคอยซัพพอร์ตในเรื่องของการใช้สื่ออย่างถูกต้องและช่วยกลั่นกรองให้
อยากจะชี้ประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของข่าวลวง Fake News หรือข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ที่สร้างผลกระทบอย่างมาก ซึ่งมีทั้งเจตนาและไม่เจตนา แต่สิ่งสำคัญคือผู้สูงอายุ กลับเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนดังกล่าว จากผลสำรวจออนไลน์ของ Cofact พบว่าข่าวลวงเหล่านี้ เกิดจากการสื่อสารในระบบปิด อย่างกลุ่มไลน์ เหมือนอยู่ใน Echo Chamber ห้องแห่งเสียงสะท้อนของตัวเอง ตามความเชื่อของตัวเอง เป็นการคุยกันในกลุ่ม ไม่ได้มีการไปสอบถามคนอื่น จึงเกิดการแชร์วนกันอยู่อย่างนี้ รวมทั้งวัฒนธรรมความเกรงใจที่ไม่กล้าบอกผู้ที่ส่งต่อข้อความว่าเป็นข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวลวง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นข่าวลวงซ้ำๆ มาทุกปี มะนาวรักษามะเร็ง มะนาวโซดารักษาโควิด-19 วนกันมาโดยที่ไม่มีกระบวนการในการเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ
สสส. มุ่งพัฒนากลไกหนึ่งที่ช่วยในการตรวจสอบข่าวลวง เพื่อที่จะให้ทุกคนฝึกซ้อมการเป็น Digital Citizen หรือพลเมืองดิจิทัล นั่้นคือ Cofact แพลต์ฟอร์มในการตรวจสอบข่าวลวง ที่ใช้ได้ทุกกลุ่มวัย เมื่อคุณได้ข้อความหรือรูปภาพจากแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถที่จะนำไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ www.cofact.org จะมีการกรองว่าข้อมูลนี้ เป็นข่าวลวง ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ หรือว่าเป็นข่าวที่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในระบบนิเวศนี้ ที่จะเข้าไปช่วยกันกลั่นกรอง คือยิ่งมีคนใช้มากเท่าไร ฐานข้อมูลจะยิ่งเยอะ ทำให้สามารถตรวจสอบข่าวลวงได้มากขึ้น
สุดท้ายแล้ว อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ
การกำหนด Mindset ของสังคมให้มองเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของทักษะการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงวัย การใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ การวิเคราะห์ประเมินเนื้อหาในสื่อ ซึ่งเป็นกลไกระยะยาว เพราะเป็นการสร้างไปถึงความเชื่อและความคิดของคน ทำให้ผู้สูงอายุได้มีอาวุธทางปัญญาในเรื่องของทักษะเท่าทันสื่อ สู่การเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร ส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง และสื่อสารแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับทักษะเท่าทันสื่อให้กับกลุ่มผู้สูงอายุรอบข้างได้ สสส. และภาคีเครือข่าย กำลังขับเคลื่อนงานอย่างนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นงานเชิงองค์ความรู้ ทั้งงานเชิงภาคพื้นที่ การสานเครือข่ายภาคประชาสังคม สู่ภาคนโยบายกลไกต่างๆ ไปด้วยกัน
เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตได้ต่อไป