สงกรานต์กำลังจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้งดเว้นการจัดเทศกาลนี้ไปนานหลายปี
แต่การกลับมาจัดอีกครั้ง สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลไม่ใช่เรื่องโรคระบาด แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยและรูปแบบการจัดงาน ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่กลับไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้มีแนวโน้มการดื่มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ งานสงกรานต์ปลอดเหล้า จึงเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้น
The MATTER ชวนไปเปิดประเด็นนี้กับ วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ถึงแนวทางที่กำลังวางแผนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลดปัจจัยเสี่ยง ภายใต้แนวคิด ‘สงกรานต์ 4 รีเทิร์น คุณค่า ความสุข ความสนุก ความปลอดภัย กำลังจะกลับมา’ เพื่อให้ทุกฝ่ายมองเห็นแก่นแท้ของสงกรานต์ร่วมกัน
สังคมไทยหลังโควิด พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการเฉลิมฉลองจะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าสงกรานต์อั้นมานานหลังจากผ่านโควิด ปีนี้คนน่าจะออกมาเยอะ เพราะอยากจะผ่อนคลาย น่าจะมีคนออกมาท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองมากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เริ่มติดพฤติกรรมการอยู่บ้าน มีความสุขกับคนในครอบครัว อาจจะไปอยู่กับครอบครัวที่ร้านชาบูก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านเหล้าอย่างเดียวเสมอไป ตอนนี้ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะไปทิศทางไหน แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม 5-7 วันนี้ คนก็ต้องออกมาเฉลิมฉลอง ธุรกิจก็ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ทุกพื้นที่เปิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พฤติกรรมการดื่มคงเยอะขึ้น เพราะว่าปีที่แล้วก็เริ่มเห็นทิศทางมาบ้าง ทั้งร้านเหล้า ลานเบียร์ และคอนเสิร์ตเต็มไปหมด
มองว่าทำไมแอลกอฮอล์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมในทุกเทศกาล
แอลกอฮอล์อยู่กับเรามาสองพันกว่าปี และก็จะอยู่ต่อไปอีกเป็นหมื่นปี คือสิ่งที่เป็นความจริง เพียงแต่ว่าการอยู่ของมันได้ส่งผลกระทบต่อสังคมหรือเปล่า จากแต่ก่อนในอดีต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นเรื่องที่มาทีหลังเรื่องส่วนรวม การทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ จะมาก่อน และท้ายที่สุดค่อยเฉลิมฉลองดื่มกัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นสินค้าและธุรกิจ จึงทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นทุกอย่าง เรื่องส่วนรวมเป็นทีหลัง ดังนั้นสิ่งที่พวกเราทำคือพยายามทำให้เรื่องแอลกอฮอล์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเท่านั้น
ในยุคนี้ เทศกาลสงกรานต์กับแอลกอฮอล์ กลายเป็นภาพจำที่มาคู่กันไปแล้ว แล้วแก่นแท้ของสงกรานต์จริงๆ คืออะไร
เทศกาลสงกรานต์มีฟังก์ชันต่างๆ ของตัวเองอยู่ อย่างเช่นการไปทำบุญอัฐิ การพาผู้เฒ่าผู้แก่ไปสรงน้ำ การไปเยี่ยมครอบครัวครูบาอาจารย์ แล้วค่อยมีกิจกรรมในครอบครัว หรือไปสนุกกับเพื่อนต่อ ดังนั้นสงกรานต์จะไม่ใช่กิจกรรมที่อยู่กับเพื่อนทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจบทบาทของสงกรานต์กับพฤติกรรมทางสังคมที่มีการเปลี่ยนผ่าน ช่วยกันส่งเสริมให้สงกรานต์เป็นฟังก์ชันเหมือนที่คนจีนมีเทศกาลตรุษจีน ที่มีวันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว แสดงว่ามีฟังก์ชันของที่ต้องไปทำ ไม่ใช่ตรุษจีนคนจะไปกินเหล้าอย่างเดียว
เช่นเดียวกันกับสงกรานต์ก็ต้องมีฟังก์ชัน ก่อนหน้านี้มีการขยายจากวันเดียวมาเป็นสามวันเพื่อให้คนเดินทาง เป็นพัฒนาการเชิงวัฒนธรรมที่เราไม่ได้ทำฟังก์ชันให้มันชัด พอไม่ชัด ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าจะทำตัวยังไง กลายเป็นเทศกาลดื่มทั้งวัน จะออกมาเล่นน้ำทั้งวัน จนกระทั่งสงกรานต์เท่ากับการสาดน้ำ จริงๆ ประเพณีในอุษาคเนย์ ไม่มีประเพณีไหนเกิดมาเพื่อให้คนมาเมา อย่างงานบั้งไฟ จะเมาได้ก็ต่อเมื่อคุณมาเตรียมฟ้อน เตรียมรำ เตรียมดินประสิว แล้วสุดท้ายหลังจากจบงาน ก็ดื่มกันนิดหน่อย ทุกวันนี้พฤติกรรมคืองานส่วนรวมไม่ต้องทำ ตั้งวงเหล้า เปิดเพลงตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ลาวก็เป็น เราจึงต้องหาวิธีเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมอย่างเข้าใจ ไม่อย่างนั้น สงกรานต์จะกลายเป็นเทศกาลที่ไร้ราก ในมุมของ สคล. และ สสส. จึงพยายามจะย้อนกลับ ทำยังไงให้วิถีสามารถรับใช้สุขภาวะของสังคมและชุมชนได้
อะไรคือความยากที่สุดในการสื่อสารประเด็นนี้ให้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน
ผมว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือความเข้าใจต่อสิ่งที่ทำ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งคำถามถึงสิ่งที่มี มีไว้ทำไม ทำไปทำไม ก่อนจะตามมาด้วยพฤติกรรมที่พอไม่รู้ว่าทำอะไร ไม่มีใครบอก ก็เลยกลายเป็นเทศกาลกลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองอย่างเดียว คือสมัยก่อนไม่ได้มีธุรกิจที่มาจ้องทำกำไร ถ้าคนจะกินเหล้าต้องใช้เวลาในการหมัก ต้องเตรียมการ ไม่ใช่เข้าร้านสะดวกซื้อแล้วซื้อได้เลย แท้จริงแล้ว งานเหล่านี้มีความร่วมสมัย เราก็หาวิธีควบคุมดูแลไม่ให้เสี่ยง ไม่ให้กระทบกับคนส่วนรวม
ถ้ารู้สึกว่าการก่อเจดีย์ทรายมันโบราณ ที่จันทบุรีเขามีการก่อเจดีย์ทรายแบบให้พื้นที่แบบเมตรคูณเมตร มาก่อตอนช่วงบ่ายสามโมงถึงห้าโมง แล้วกลับบ้านอาบน้ำ หกโมงกลับมาใหม่ แล้วปักเทียน เซลฟี่กัน แล้วไม่ได้มีแต่เจดีย์ทรายธรรมดา มีทั้งก่อเป็นสนามกีฬา หอเอนปิซ่า มีอะไรที่โมเดิร์นๆ ถ้าเราเข้าใจว่าขนทรายเข้าวัดไปทำไม เพราะว่าอดีตเขาต้องการเอาไปก่อสร้างหรือไปถมพื้นที่เป็นพื้นต่ำของวัด จึงต้องช่วยกันขนทรายเข้าไป อย่างนี้มันก็จะมีคุณค่าความหมาย ซึ่งเราอาจจะลืมเลือน คือสงกรานต์ไม่ใช่เฉพาะของคนภาคกลางอย่างเดียว แต่มีทุกชาติพันธุ์ น่าค้นหาว่าปีใหม่เขาเฉลิมฉลองกันด้วยวิธีไหน ชาติพันธุ์แต่ละชาติพันธุ์เฉลิมฉลองอย่างไร ที่ไม่ใช่การเคาน์ดาวน์แบบต่างประเทศ นี่คือความร่ำรวยทางวัฒนธรรมที่เราควรจะนำเสนอ แทนที่ข่าวจะเสนอแต่การเล่นน้ำสาดน้ำ ถ้าคนรุ่นใหม่มีสายตาแบบนี้ แล้วเข้าใจในอีกมุมหนึ่ง ทุกอย่างมันก็ไปต่อได้
ถ้าเรื่องแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่แยกจากเทศกาลต่างๆ ไม่ได้ สังคมจะมีวิธีการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นยังไงบ้าง
สิ่งที่เราทำงานมากว่า 20 ปี สะท้อนว่าทุกอย่างมีทางออก การรับมือมีสองระดับ สเกลระดับตนเองกับระดับสังคม ซึ่งสำคัญทั้งสองระดับ วัคซีนในระดับสังคมต้องคิดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน ดูแล และทำให้คนส่วนรวมปลอดภัย ส่วนวัคซีนระดับบุคคล คือแล้วแต่ใครจะกินหรือไม่กิน เป็นเรื่องปัจเจก เราไม่ละเมิดและเคารพการตัดสินใจกัน แต่วัคซีนระดับสังคมก็ต้องมีด้วย ต้องมาเรียนรู้ หาสิ่งที่เป็นความทุกข์ร่วม แล้วก็หาทางออกด้วยกัน ตัวอย่างถนนข้าวเหนียว ที่ขอนแก่น อย่างที่ถนนข้าวเหนียว ก็ไม่ขายไม่ดื่มในพื้นที่ 1 กิโลเมตร หน่วยงานต่างๆ พอมาเห็น ก็ได้เรียนรู้ว่าสามารถทำให้เกิดความปลอดภัย สามารถนำไปขยายผลต่อไปได้ คือทำให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ของสังคม เป็น Social Norm ที่มากกว่ากฎหมาย เพราะกฎหมายอนุญาตให้ขายได้ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมที่เราต้องทำด้วยกัน
อยากให้เล่าถึงที่มาของ 7 มาตรการเพื่อสงกรานต์ดีๆ ที่ประกาศออกมา
ข้อที่ 1 ร่วมกันกำหนด ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ สำหรับคนไทยเป็นสิ่งที่ทำยาก คนต่างชาติยิ่งยากใหญ่ เพราะเขาไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมบ้านเรา เพราะอย่างในพื้นที่สาธารณะของบางประเทศก็ดื่มไม่ได้ แต่เขามาบ้านเราทำไมดื่มได้ จึงต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ
ข้อที่ 2 ร่วมกันสนับสนุน สร้างพื้นที่รูปธรรมงานสงกรานต์ปลอดเหล้า ไม่ใช่มีแค่ 60 ถนนตระกูลข้าวต่างๆ แต่ต้องเกิดขึ้นทั่วประเทศ ต้องไปช่วยกันทำให้หมด ให้ปลอดเหล้าปลอดภัย
ข้อที่ 3 ร่วมกันใช้มาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เข้ามาในพื้นที่จัดงาน สมัยก่อนจะมีมาตรการฝากเหล้าไว้กับตำรวจ แต่ตอนนี้จะมีมาตรการติดกล้อง CCTV เพื่อสร้างความปลอดภัย หรือมีการดูแลกันอยากเข้มงวด
ข้อที่ 4 ร่วมกันควบคุมและเฝ้าระวัง ไม่ให้ธุรกิจแอลกอฮอลล์ฉวยโอกาสจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เป็นการให้ช่วยกันเฝ้าระวังตามพื้นที่คอนเสิร์ต ซึ่งปีนี้ก็น่ากังวลเรื่องของห้างใหญ่ที่กระจายในท้องถิ่นที่มีคอนเสิร์ตพ่วงเหล้า ซึ่งกลุ่มธุรกิจต้องช่วยกันรับผิดชอบ หรือขายได้แต่ก็ต้องมีมาตรการรองรับ
ข้อที่ 5 ร่วมกันส่งเสริม กิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและการละเล่นพื้นถิ่น เป็นสิ่งที่อยากจะผลักดันให้เกิดการต่อยอด เพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ
ข้อที่ 6 ร่วมกันดูแลบุตรหลาน เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งในระยะหลังมีแนวโน้มของการเล่นสงกรานต์กลางคืนมากขึ้น มีความเสียงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน อาชญากรรม ชีวิตทรัพยสินและการคุกคามทางเพศ ต้องช่วยกันดูแล
ข้อที่ 7 ร่วมกันสื่อสารให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในสังคม ได้เข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัย รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นในการที่จะต้องร่วมกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ และนำเสนอกิจกรรมทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถ้าร่วมกันทำได้สำเร็จก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้
สุดท้ายแล้ว อยากให้สงกรานต์ในอุดมคติออกมาเป็นอย่างไร
อยากให้คุณค่า ความสุข ความสนุก และความปลอดภัย ทุกอย่างยังคงอยู่ มีการต่อยอดกันไป ไม่ทิ้งให้เป็นเรื่องของคนแก่ คนรุ่นใหม่ก็ประยุกต์ให้มันเข้ากับยุคสมัย ความสุขก็จะกลับมา อยากให้คนรุ่นใหม่ลองไปตั้งคำถามกันว่าสงกรานต์มีไว้ทำไม แล้วก็ไปตามหาคุณค่าและความหมายของมัน
จะต่อยอดจากสิ่งที่มี เพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ยังไง เป็นสิ่งท้าทายที่เราทุกคนต้องร่วมกันทำให้สำเร็จ