ไม่ว่าใครต่างก็คาดหวังว่า อยากจะมีชีวิตที่ดี ทั้งในเรื่องของสุขภาพ การงาน รวมถึงความสัมพันธ์ทั้งครอบครัวและสังคม
ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ เชื่อว่าหลายคนกลับยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง และมองข้ามไปว่าตัวเราเองนี่แหละที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้
‘Live Healthier ชีวิตดีเริ่มที่เรา’ คือแคมเปญในวาระครบรอบ 18 ปีของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเอง ผ่าน 8 เรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความสัมพันธ์ เพศศึกษา ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งเป็นการรวบรวมสิ่งที่ สสส. ทำมาตลอดให้กลายเป็น How to ดีๆ ที่แนะนำเคล็ดลับการทำให้ชีวิตดีแบบครบทุกด้าน
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และ คุณเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ที่จะมาเจาะลึกถึงแนวคิดของแคมเปญนี้ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
มองว่าทุกวันนี้ กระแสเรื่องการรักษาสุขภาพของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
คุณเบญจมาภรณ์: มองว่ามีมุมมองทั้ง 2 ด้านเลย ตอนนี้ดีขึ้นมากๆ คือเป็นเทรนด์ที่ทุกวัยสนใจ อย่างเด็กวัยรุ่น เมื่อก่อนจะชอบผอมๆ แต่เดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นไม่ได้เน้นเรื่องความผอมแล้ว เน้นความเฟิร์มของร่างกาย สนใจอาหารคลีนมากขึ้น คนวัยทำงานก็สนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น พอมีดารา มี Influencer หลายคนที่สนใจเรื่องรูปร่าง ทำให้เขาเริ่มสนใจดูแลตัวเอง กิจกรรมการออกกำลังกายเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไป ทั้งการเล่นซุมบ้า โยคะ เป็นกิจกรรมที่มันเป็นการเบิร์น และการสร้างกล้ามเนื้อไปในขณะเดียวกัน ส่วนคนสูงวัยเริ่มใส่ใจมากขึ้นด้วย เพราะเขารู้ว่าการที่เขามีสุขภาพดี เขาสามารถทำอะไรแบบที่แบบพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เพราะฉะนั้นเทรนด์สุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ดี
ดร.ประกาศิต: จริงๆ มันเป็นทั้งโอกาส แล้วบางจังหวะก็อาจจะเป็นอุปสรรคเหมือนกัน คือทุกวันนี้แน่นอนว่า การตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี อย่างที่ตอนพี่ตูนที่วิ่ง จังหวะนั้นคนก็ออกมาวิ่งกันเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นนี่คือประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน บริบทของปัจจุบันมันก็เปลี่ยนไปเยอะ การสื่อสารที่มาเร็วหรือการปลุกกระแสอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็มีการสื่อสารที่ผิดๆ ออกมา เกี่ยวกับเรื่องของอาหาร เกี่ยวกับเรื่องของการออกกำลังกาย หรือแม้แต่สุุขภาพจิตใจก็เหมือนกัน อย่างปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงเรามีเทคโนโลยีมีอะไรช่วยเหลือมากมาย แต่เพราะมันดึงเราออกจากรากของเรา ดึงออกจากความเข้มแข็งของครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ประโยชน์จากสังคมที่ก้าวไปข้างหน้ามันก็จะช่วยเราเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอุปสรรคที่ต้องระวังด้วย
เทรนด์เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่มาเร็ว แล้วมันจะไปเร็วด้วยหรือเปล่า
คุณเบญจมาภรณ์: ส่วนตัวคิดว่าไม่ เพราะปัจจุบันต้องบอกว่า คนสนใจเรื่องของโรคไม่ติดต่อหรือ NCDs (Non-Communicable diseases) ทั้งโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหลอดเลือดอุดตัน ความจริงโรคพวกนี้อยู่กับสังคมไทยมาช้านานแล้ว สมัยก่อนเราจะรู้สึกว่าโรคพวกนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนแก่ แต่ตอนนี้มันเริ่มไปอยู่ในกลุ่มคนที่เป็นวัยทำงานมากขึ้น การเป็นเบาหวานไม่จำเป็นต้องอายุ 40 เด็กบางคน 30 ก็เริ่มเป็นแล้ว เพราะว่าพฤติกรรมการกิน ใครเป็นความดันก็ต้องกินยา ถึงแม้จะออกกำลังกายแล้ว ก็ต้องคอยกินยาควบคุมไปตลอด สู้ไม่ให้เป็นดีกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็จะต้องเริ่มสนใจตัวเองมากขึ้น คิดว่าเรื่องพวกนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและยังคงอยู่ในระยะยาว
ดร.ประกาศิต: อย่างข้อมูลที่บอกว่าสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงสุด ก็เนื่องมาจากพฤติกรรม ไม่ใช่ว่าเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นตัวเชื้อโรคเลยนะ เป็นพฤติกรรมล้วนๆ ปีหนึ่งเสียชีวิตประมาณ 4 แสนคน 3 แสนคนมาจากพฤติกรรม อย่างมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน พวกนี้เกิดจากพฤติกรรมหมดเลย แล้วเป็นการสะสมตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่เรามีชีวิตอยู่ ถ้าหากว่าคุณจะแก้ไขมัน ก็ต้องใช้เวลายาวเช่นกัน เพราะฉะนั้นของที่เสียไปแล้ว มันเอากลับคืนมาไม่ได้
นอกจากเรื่องพฤติกรรมส่วนตัวแล้ว คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยให้คนไทยมีสุขภาพที่แย่ลง
ดร.ประกาศิต: ถ้าเราการเริ่มต้นแล้วมันจะต้องแพ้หรือล้มเหลว ส่วนตัวผมมองว่าเพราะมันไม่เข้ากับชีวิตเรา ไม่ต้องพูดเรื่องออกกำลังกายก็ได้ เอาแค่เรื่องของการกินอาหารเช้า ยังไม่ต้องบอกว่ากินอะไรด้วยนะ ทุกคนรู้หมดเลยว่าอาหารเช้าสำคัญ แต่ที่น่าตกใจคือมีอาจารย์คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าไปสอนนักศึกษาแพทย์ แล้วถามว่าได้กินอาหารเช้าบ้างไหม ปรากฏมีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่กิน แม้แต่นักศึกษาแพทย์เองที่ก็รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีกับสุขภาพ ยังไม่เห็นความสำคัญ แปลว่านอกเหนือจากความรู้แล้ว บริบทหรือสังคมรอบข้างสำคัญมาก เพราะถ้าหากว่าเราอยากจะกินอาหารเช้า แต่ว่ารถมันติด เราก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อจะออกจากบ้าน เด็กหลายคนต้องโตในรถ เพราะสภาพแวดล้อมมันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราปรับค่านิยมเรา ให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านแทน เด็กก็สามารถออกสายได้สักหน่อยและมีเวลากินข้าวเช้าได้
คุณเบญจมาภรณ์: ปัญหานี้เป็นเรื่องของคนเมืองจริงๆ ที่สามารถอ้างได้แบบมีเหตุผลด้วยนะ เพราะว่ารถมันติดจริงๆ ฝนมันตก แต่เราต้องไปพึ่งพาฟิตเนส จะไปก็ปิดเสียแล้ว จะไปเดินที่สวนลุม เขาก็ปิด 3 ทุ่ม เลิกงานก็ไปไม่ทัน แล้วพอเราต้องไปพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้ มันจะเป็นข้ออ้างได้ง่าย
แล้วส่วนตัวมีวิธีจัดการกับข้ออ้างยังไงบ้าง
ดร.ประกาศิต: ยกตัวอย่างตัวผมเองก็ได้ เมื่อก่อนจะเล่นกีฬา เล่นเทนนิส ออกกำลังกายเยอะมาก ช่วงหลังน่าอายเหมือนกัน พอย้ายมาอยู่ สสส. น้ำหนักขึ้น 14 กิโลกรัม เราก็อ้างว่ายุ่งบ้าง ติดธุระบ้าง อุปสรรคหนึ่งที่พบคือเมื่อก่อนทำงานอยู่แถวรังสิต จะมีคอร์ทเทนนิสอยู่ใกล้ๆ ก็ชวนเพื่อนไปเล่นได้ง่าย คือกีฬาบางอย่างต้องมีเพื่อนถึงจะเล่นได้ พอเริ่มยุ่ง หาเวลาได้ไม่ตรงกัน ทำให้กิจกรรมนี้หายไป ในขณะเดียวกันเราก็กินเท่าเดิม แต่ออกกำลังกายน้อยลง มันก็สะสม คือทุกคนมีต้นทุนชีวิตเท่ากันหมด 24 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าคุณเผาผลาญพลังงานชีวิต เผาผลาญสุขภาพของคุณไปในช่วงต้นของชีวิต แล้วหวังว่าช่วงปลายจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี บางส่วนมันก็เอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว
คุณเบญจมาภรณ์: ส่วนตัวคิดว่าการมีข้ออ้างไม่แปลก แต่เราต้องรู้ว่าเราอนุญาตให้ตัวเองอ้างได้กี่ครั้ง คือถ้าเราไม่ทำวันนี้ก็ต้องทำวันอื่น มีข้ออ้างแล้ว อะไรที่จะมาทดแทนได้บ้าง ไม่อย่างนั้นชีวิตมันจะไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นไปออกกำลังกาย 30 นาทีนะ คุณอาจจะแค่ออกไปเดินก็พอ คือบางทีพอเราตั้งเป้าหมายที่มันไกลก็จะไม่ค่อยอยากทำ ต้องค่อยๆ เริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน การเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นแบบยิ่งใหญ่ แค่เริ่มต้นในสิ่งเล็กๆ แล้วถ้าทำได้สำเร็จ เราจะมีความพยายามมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของแคมเปญ ‘Live Healthier ชีวิตดีเริ่มที่เรา’ เกิดขึ้นจากอะไร
คุณเบญจมาภรณ์: แคมเปญนี้ต้องบอกว่าเป็น Corporate campaign แรกของ สสส. ที่ออกมาในรอบ 18 ปี เมื่อก่อนเราจะเห็นแคมเปญเป็นประเด็นๆ เช่นเรื่องบุหรี่ เหล้า สุขภาพ แต่นี่เป็นแคมเปญแรกที่ สสส. ตั้งใจอยากจะชวนคนไทย เริ่มคิด ออกแบบชีวิต ตั้งเป้าหมาย แล้วก็ลงมือทำ ด้วยตัวเราเอง แบบองค์รวมในทุกๆ ประเด็น ซึ่งเป็นเคมเปญที่ สสส. คิดมายาวนานมาก คำว่า Live Healthier ไม่ได้พูดถึงแค่สุขภาพทางกายดี แต่มองเป็นองค์รวม คือทั้งกาย จิต ปัญญา แล้วก็สังคมดีด้วย เพราะฉะนั้นการทำให้ชีวิตอยู่ยืนยาวแบบสุขภาพดีๆ มันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ เราก็เลยอยากหาภาษาไทยที่มันตรงความหมาย เราพบเลยว่า ทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องโรค NCDs ล้วนเกิดจากพฤติกรรมของเราอย่างเดียวเลย เพราะฉะนั้นเราอยากให้ทุกคนแค่เริ่มต้น เริ่มคิด เริ่มตั้งเป้าหมาย แล้วลงมือทำ โดยเริ่มต้นที่เรา อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ก็สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ ก็เลยกลายเป็น ชีวิตดีเริ่มที่เรา
ดร.ประกาศิต: ชีวิตดีเริ่มต้นที่เรา คือวิธีการที่ใช้สมดุลชีวิตของเราเป็นตัวตั้ง อย่าเพิ่งไปวางแผนว่าจะลดน้ำหนัก หรือจะวิ่งอะไร แต่มองว่าอะไรที่มันไม่จำเป็นกับชีวิตเราหรือเป็นผลเสียกับชีวิตเรา เราก็ตัดสิ่งนั้นออกไป แล้วอะไรบ้างที่ทำแล้วชีวิตเราดีขึ้น ไม่ต้องเยอะ แค่เป็นความสำเร็จน้อยๆ ก็ได้ นี่คือสิ่งที่อยากให้สังคมกลับมาสนใจ แล้วทุกคนรู้สึกว่ามันไม่ยาก แค่ปรับอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเป็นสิ่งใกล้ตัว เป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มที่ตัวเองได้
อยากให้อธิบายประโยคที่ว่า ‘ชนะในความแพ้’ ว่าหมายถึงอะไร
คุณเบญจมาภรณ์: หมายความว่า ถึงเราแพ้มากี่ครั้ง เราก็เริ่มต้นใหม่ได้ทุกครั้ง อย่าคิดว่าแพ้แล้วแพ้เลย หรือแพ้แล้วไม่สามารถเริ่มต้นหรือลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ได้ คือเราแพ้ได้วันนี้ แต่เราต้องลุกขึ้นมาใหม่ได้ คืออย่าให้วงจรมันไปจบที่ว่า ล้มแล้วจาก ต้องล้มแล้วเริ่มใหม่ แพ้กี่ครั้งไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าการแพ้นั้นทำให้เราลุกขึ้นมาใหม่ได้ไหม คือไม่ได้พูดถึงเฉพาะเรื่องออกกำลังกาย แต่ยังรวมถึงเรื่องงานและทุกอย่างในชีวิตด้วย นี่เป็นคอนเซปต์ที่ สสส. อยากให้ทุกคนเริ่มต้น แค่เริ่มต้นก็ทำให้รู้สึกว่าชนะไปหนึ่งก้าวแล้ว
ดร.ประกาศิต: ฝรั่งจะมีคำพูดหนึ่งบอกในลักษณะที่ว่า แพ้หรือไม่แพ้ อยู่ที่ว่าจะ give up หรือไม่ เพราะถือว่าเกมยังไม่ over เหมือนชีวิตของเราถ้ามองเป็นเกม มันเป็นเกมระยะยาว เพราะฉะนั้นการที่คุณผิดหวังเป็นระยะ แพ้เป็นระยะ แต่เกมมันยังไม่ over ถ้าคุณกลับมา คุณก็มีสิทธิ์ชนะได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามถ้าคุณแพ้ แล้วไม่ลุกขึ้นมาใหม่ นั่นก็ไม่มีโอกาสชนะเลยกับช่วงชีวิตที่เหลือ เพราะฉะนั้นแคมเปญเราก็เลยใช้คำว่า ‘ชนะในความแพ้’ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีโอกาสที่จะกลับมาชนะได้ ถ้ายังไม่ยอมแพ้
ทำไมถึงออกมาเป็น 8 เรื่องใกล้ตัว ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยได้
คุณเบญจมาภรณ์: ก่อนหน้านี้ สสส. ทำแคมเปญเยอะมาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่มันจะเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้ หลายๆ เรื่องเป็นเชิงนโยบาย เราจึงพยายามเลือกเรื่องที่น่าจะเข้าถึงได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงเป็น 8 เรื่องนี้ที่ใกล้ตัวที่สุด แล้วก็เกี่ยวโยงกับพฤติกรรมของคนในสังคมไทยได้ดีที่สุด หลายๆ ครั้งที่ สสส. สื่อสารอะไรไป เราไม่ได้บอกแค่ว่า แกว่งแขนนะ เสร็จแล้วน้ำหนักคุณจะลดภายในกี่วันๆ เราไม่ได้พูดแค่นั้น แต่เราจะพูดว่าต่อมน้ำเหลืองคุณจะทำงานดีขึ้น แล้วต่อมน้ำเหลืองมีความสำคัญในชีวิตยังไง หรือการเลิกเหล้า เราไม่ได้บอกว่า ถ้าคุณหยุดเหล้า คุณจะไม่เมาอย่างเดียว แต่เราบอกว่าตับคุณจะดีขึ้นนะ เราบอกผลกระทบที่จะตามมาด้วย เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันลึกลงไปกว่าแรงบันดาลใจ ว่าคุณอยากมีชีวิตอยู่ต่อ อยากมีชีวิตทีแข็งแรงเพื่อใคร เพื่อเรา เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก หรือเพื่อคนรอบข้างที่เรารัก
ดร.ประกาศิต: สสส. ทำงานสุขภาพมานาน 18 ปีแล้ว หลายๆ คนจะมอง สสส. จากประเด็นสุขภาพเป็นสำคัญเลย เช่น ประเด็นเรื่องเหล้า อุบัติเหตุ บุหรี่ ออกกำลังกาย แต่ยังไม่ได้มองว่าจริงๆ แล้ว สสส. ทำงานในลักษณะที่เป็นสุขภาพแบบองค์รวม รวมถึงครอบครัว รวมถึงชุมชนด้วย ไม่ใช่แค่คนคนเดียว ทีนี้พอมันเป็นองค์รวม เราจึงเลือกมา 8 เรื่องที่เราเรียกว่าเป็น 8 เรื่องสุขภาพใกล้ตัว ว่าด้วยเรื่อง อาหาร ออกกำลังกาย เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ เรื่องจิตอาสา เรื่องของเพศในกลุ่มวัยรุ่น หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของครอบครัว ซึ่งทุกเรื่องเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของเรามาก หลังจากนั้นจึงนำความรู้ เครื่องมือ และเครือข่ายที่ สสส. มีรวมเป็น 108 วิธี ที่จะช่วยให้เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้
มองว่าใน 8 ประเด็นเหล่านี้ ประเด็นไหนน่ากังวลที่สุดในสังคมไทย
คุณเบญจมาภรณ์: ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะถ้าเด็กมีพื้นฐานจิตใจที่ดี สามารถคิด วิเคราะห์ได้ตั้งแต่เล็ก จะทำให้เขาเติบโตไปในทิศทางที่ดีได้ เพราะอย่างเรื่องบุหรี่ อยู่ดีๆ เด็กก็ไม่ได้สูบเอง มันต้องมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นก่อน ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว จะทำให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรคือสิ่งที่ควร แล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต เมื่อก่อนสังคมจะบอกว่าครอบครัวอบอุ่นหมายถึงพ่อแม่ลูกใช่ไหม แต่ที่จริงมันไม่ใช่แค่นั้น ต้องเป็นครอบครัวที่เข้มแข็งและมีความสัมพันธ์ที่ดี เพราะมันคือรากฐานสำคัญในการที่จะทำให้ชีวิตเติบโตแบบแข็งแรง
ดร.ประกาศิต: อีกส่วนหนึ่งมันขึ้นอยู่กับบริบทของคนด้วย เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดหรือมีน้ำหนักในชีวิตที่แตกต่างกัน
อย่างสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยน จากเด็กที่เคยอยู่บ้าน ไปโรงเรียนพ่อแม่ไปรับไปส่ง ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตก็เปลี่ยนหมดเลย ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น หรือสังคมเปลี่ยน ความคาดหวังของคนรอบๆ ข้างก็เปลี่ยน ตรงนี้ถ้าใครที่มีภูมิต้านทานเข้มแข็ง ก็จะสามารถดูแลตัวเองให้รอดพ้น แล้วก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ แต่บางคนถ้าภูมิต้านทานตรงนี้ไม่เข้มแข็ง ก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะหลงผิดไป ทั้งการคบเพื่อน เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เซ็กส์ ซึ่งชื่อว่าใน 8 ประเด็นนี้น่าจะตอบความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้หมด
ดูเหมือนว่าช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงวัยที่น่าเป็นห่วงที่สุด ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแคมเปญนี้เลยหรือเปล่า
คุณเบญจมาภรณ์: ที่จริงเราวางกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กอายุ 18 ปี เพราะเราทำสำรวจมาว่า คนช่วงอายุ 18 ปี เป็นช่วงที่เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตที่สำคัญมากๆ เป็นช่วงที่บางคนกำลังเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะต้องเติบโตออกไปใช้ชีวิต ต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่าง คนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มีลูกผู้หญิง เขาจะคุยลูกเรื่องเพศได้ยังไง หรือบางครอบครัวเพิ่งเริ่มชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เขาอยากจะสร้างคืออะไร เพราะเดี๋ยวนี้คำว่าครอบครัว มันไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ลูกปู่ย่าตายาย แต่เป็นครอบครัวเดี่ยวแทน หรืออย่างเรื่องบุหรี่ที่มันติดอยู่กับสังคมไทยมานานมาก ตามการสำรวจเราพบเลยว่า การเริ่มต้นสูบบุหรี่มีเกณฑ์อายุที่ต่ำลงเรื่อยๆ อายุ 13 ปีเดี๋ยวนี้ก็เริ่มสูบแล้ว แต่ถ้าเขาได้เข้าใจสิ่งพวกนี้อย่างถูกต้อง เราก็ยังสามารถทำให้เขาเห็นทางเลือกได้ ทางเลือกว่าคุณอยากจะมีชีวิตที่ดีได้ สามารถก้าวข้ามไปด้วยความมั่นใจได้
ดร.ประกาศิต: คือเรื่องของตัวเลข 18 นั้น คือนอกจาก สสส. จะครบ 18 ปีแล้ว ก็จะอีกมีจุดหนึ่งที่เราอยากเปิดประเด็นตรงนี้คืออายุ 18 เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของคนเราด้วย เป็นการเริ่มก้าวข้ามจากการเด็กสู่ผู้ใหญ่ ตัวเลข 18 เรามองว่าเป็นจุดที่น่าจะเอามาเป็นตัวเล่าเรื่อง แต่ถามว่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 เท่านี้ไหม ก็ไม่ใช่ แต่ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัยเลย นอกจากตัวเราที่เริ่มต้นแล้ว คนที่อยากทำงานเกี่ยวกับสังคมก็นำมาใช้เป็นคู่มือได้ เพราะมันมีวิธีการที่เราจะปรับเปลี่ยนชุมชนของเราให้ดีขึ้นด้วย
ในขั้นตอนลงมือทำให้ชีวิตดี คนทั่วไปจะเริ่มต้นได้อย่างไรบ้าง
ดร.ประกาศิต: เราจะมีคู่มือที่เรียกว่าเป็น 108 วิธี ชีวิตดีเริ่มที่เรา จะเริ่มตั้งแต่ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตัวเราก่อน เรียกว่าเป็นความรอบรู้ทางสุขภาพเบื้่องต้นก็ได้ หลังจากที่รู้จักตัวเองแล้ว ก็ต้องมีวิธีการในการวางเป้าหมายให้เหมาะสม และวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายให้ได้ ขยับออกมาอีกหัวข้อหนึ่ง จะว่าด้วยเรื่องของครอบครัวและความสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตและมีภาวะจิตที่ดี และสุดท้ายจะว่าด้วยเรื่องของชุมชน ว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในชุมชนของเราได้อย่างไร ลักษณะเป็น How to แนะนำว่าทำอย่างไร สามารถปฏิบัติได้จริง พร้อมทั้งมีตัวช่วยด้วย ทั้งเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญ มีเบอร์โทรศัพท์ฮอตไลน์ที่เราสามารถโทรไปปรึกษาหารือได้ เช่น การเลิกเหล้า การเลิกบุหรี่ ปัญหาเรื่องเพศ คู่มือนี้สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ สสส. เลย
คุณเบญจมาภรณ์: นอกจากจะเป็น How to วิธีทำแล้ว ยังมีตัวอย่างงานที่เราได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น ถ้าคุณอยากทำเรื่องชุมชน จะมีบอกว่ากี่เรื่องที่ทำได้ ภาคีไหนจะให้ความช่วยเหลือ หรือมีตัวอย่างดีๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ทันที
สุดท้ายคาดหวังให้แคมเปญนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทยอย่างไร
ดร.ประกาศิต: ความคาดหวังคือว่าอยากให้ประชาชนทั่วไปลองปรับมุมมองในเรื่องสุขภาพ ให้เป็นมุมมองแบบองค์รวม ซึ่งการมองแบบองค์รวม จะไม่แยกเป็นชิ้นๆ แล้วว่าเราจะกินเท่าไหร่ ออกกำลังกายยังไง แต่เป็นการเน้นให้เกิดสมดุลชีวิต ทั้งเรื่องการทำงาน การกิน การออกกำลังกาย ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนลองคิดว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด หลายคนบอกว่าเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและตัวเอง ชีวิตบั้นปลายจะได้สบาย แต่เอาเข้าจริง ผลการศึกษาพบว่า ช่วงท้ายๆ ของชีวิต ถ้าคุณไม่ดูแลตัวเอง สิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายมากที่สุด คือค่ารักษาพยาบาล ถึงตอนนั้นไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถ้าบอกว่าต้องการคุณภาพชีวิตในบั้นปลาย คำว่าคุณภาพชีวิตอาจจะไม่ใช่เงิน แต่เป็นสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทั้งตัวเองและครอบครัว
คุณเบญจมาภรณ์: ต้องเริ่มต้นจากการที่เรารักตัวเองก่อน พอเรารู้แล้ว เราจะรู้ว่าจะทำยังไงให้เราสามารถอยู่ได้แบบมีความสุขและแข็งแรง ทำให้ตัวเองสามารถดูแลคนอื่นและดูแลคนรอบข้างที่เรารักต่อไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นที่ตัวเราได้ก่อน เชื่อว่าเราสามารถชวนให้คนอื่นสามารถเริ่มต้นที่ตัวเขาเองได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแคมเปญนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คน สสส. มีภาคีเครือข่ายเยอะมากที่จะช่วย มีเครื่องมือมากมาย มีโซเชียลมีเดีย มี Influencer หลายคนที่เป็นตัวอย่างให้เห็น
เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นการยากที่ทุกคนจะทำให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ สสส. อยากให้เกิดขึ้นก็คือการที่คนไทยทำชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยมือของเราเอง