ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กำลังลุกลามอยู่ขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายประเด็นหรือชุดความรู้หลายอย่างที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย ตั้งแต่การป้องกันตนเอง การลดการแพร่เชื้อ มาตรการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต อย่างการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
หน่วยงานอย่าง สสส. ซึ่งปกติทำหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาวะอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้จึงมีบทบาทมากขึ้นจากเดิมหลายเท่า นับตั้งแต่เกิดข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสที่ประเทศจีนเลยทีเดียว
The MATTER ได้พูดคุยกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงเบื้องหลังการทำงานของ สสส. ที่ลงมือทำมากกว่าแค่การสร้างสื่อให้ความรู้ แต่ยังทำงานในระดับนโยบายที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และวางแผนเรื่องสุขภาวะของผู้คนในระยะยาว เพื่อให้วิกฤตครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกคนต้องผ่านไปให้ได้
ในสถานการณ์ปกติ สสส. มีบทบาทอะไรเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะของคนทั่วไป
หน่วยงาน สสส. เกิดขึ้นมาแล้ว 18 ปี โดยหลักคือเราไม่ได้เป็นหน่วยปฏิบัติการ แต่เราเป็นหน่วยสนับสนุน โดยสนับสนุนเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ จากวิสัยทัศน์ที่เรามองเห็นว่าโลกอนาคต เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของการแพทย์ตามลำพังอีกต่อไปแล้ว เพราะสุขภาพที่เป็นปัญหาสำคัญของคนยุคสมัยใหม่ คนไทย 3 ใน 4 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ตายด้วยโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรค แต่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมหรือโรค NCDs ทั้งหลาย อย่างเช่น มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดัน ฉะนั้นสุขภาวะในยุคสมัยใหม่ ต้องการการทำงานของหลายภาคส่วนมากๆ นอกเหนือจากแพทย์และพยาบาล เพื่อที่จะสร้างสิ่งแวดล้อม สร้างวิถีชีวิต และสร้างเสริมพฤติกรรมเพื่อให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีจริงๆ
การสนับสนุนที่ว่า คือการรณรงค์ให้คนรักษาสุขภาพเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า
ถ้าถามการสร้างเสริมสุขภาพ ต้องทำอะไรบ้าง ปกติจะมีองค์ความรู้สากลที่ตกผลึกจากการทำงานหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างเช่นพื้นฐานพูดถึงการสร้างทักษะให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารที่ปลอดภัยและถูกหลักโภชนาการ มีกิจกรรมทางกายที่พอเพียง มีสุขภาพจิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมลพิษ นอกจากนั้นคือการสร้างให้เกิดภาวะนั้นได้ อย่างการมีนโยบายสาธารณะที่ดี ยกตัวอย่างเวลาจะพูดถึงการรณรงค์ให้สูบบุหรี่น้อยลง มันไม่ใช่แค่เรื่องการให้ความรู้ แต่ยังไปถึงการสร้างกติกาพื้นที่ห้ามสูบ มีการขึ้นภาษีบุหรี่ มีการจำกัดการขาย ไม่ให้มีการโฆษณาเหมือนสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของนโยบายต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการไปทำงานกับองค์กรและพื้นที่ต่างๆ ด้วย ที่สำคัญคือเรื่องของการสื่อสาร ฉะนั้นโดยรวมนักสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. จะมีงานทางยุทธศาสตร์หลายด้านมาก
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างการทำงานการสร้างเสริมสุขภาพที่ชัดเจนที่สุด
สสส. มีบทในการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จนตอนนี้น่าจะเกิน 100 ฉบับที่สร้างกฎกติกาต่างๆ เอื้อให้คนมีสุขภาพดีขึ้น เราสนับสนุนไม่ใช่แค่เรื่องทุนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเรื่องของการเชื่อมโยงเครือข่าย อย่างเช่นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ต้องการวิชาการ backup จำนวนมาก ถึงจะมั่นใจว่าเราได้ความรู้ที่ถูกต้องผ่านบทเรียนของการทำเรื่องนี้จากทั่วโลก หรือหลายๆ อย่าง ก็ต้องการความร่วมมือจากสังคม มีการทำความเข้าใจกับสังคมก่อน เพื่อขอความร่วมมือ อย่างเช่น พรบ. ยาสูบปี 2560 ล่าสุด ก็มีการล่ารายชื่อสนับสนุนร่วม 10 ล้านคน คือเราช่วยกระตุ้นทำให้กฎหมายมีชีวิต มีการบังคับใช้จริง ไม่อย่างนั้นตัวหนังสือมีอยู่แต่ไม่เกิดการปฏิบัติ นอกจากนั้นงานที่เหลือจำนวนมากคือการหนุนให้องค์กรทางด้านสุขภาพของตำบลเอง จำนวน 2,000 กว่าตำบลหรือ 1 ใน 3 ตำบลของประเทศไทย ให้เขาเป็นตำบลสุขภาวะที่มีระบบในการจัดการสุขภาพตัวเองได้ดี
แล้วในสถานการณ์วิกฤตอย่างตอนนี้ บทบาทของ สสส. ต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติหรือเปล่า
คือในทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับปัญหา ซึ่งบทบาทปกติของ สสส. จะไม่ได้เน้นที่เรื่องของโรคติดเชื้อหรือผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะว่าเรามารองรับปัญหาใหม่ของสังคมไทยและสังคมโลกที่ต้นทางเกิดจากเรื่องของวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เราทำงานตรงนี้เป็นหลัก มียุทธศาสตร์ในการทำหลายด้าน ปีที่แล้ว สสส. สนับสนุนโครงการไปกว่า 5,200 โครงการ สัดส่วนที่ผมประเมินคร่าวๆ คืองานสื่อสารอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ มีงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสื่อสารอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบางงานก็เป็นงานที่เราต้องดูแลอยู่ข้างหลังด้วย
ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศ สสส. มีการวางแผนรับมืออย่างไรบ้างในการสื่อสารเรื่องนี้ออกไปให้คนเข้าใจ
อย่างที่ทุกคนทราบ โควิด-19 มาเร็วมาก สัญญาณแรกคือวันสิ้นปี 31 ธันวาคม ที่เริ่มมีรายงานว่าเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อู่ฮั่น องค์การอนามัยโลกเพิ่งส่งสัญญาณ ประเทศไทยเราโดยรวม ตั้งรับเร็ว เริ่มมีการสกรีนตั้งด่านที่ท่าอากาศยานตั้งแต่ 3 มกราคม เราเริ่มตระหนักแล้วว่า เรากำลังเผชิญปัญหาใหม่ จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่รับมือโรคอุบัติใหม่แห่งชาติขึ้น สสส. เองก็ถูกใส่ในรายชื่อของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย แต่ว่าก่อนที่คำสั่งจะออกมา เราก็ไปประสานงานเบื้องต้น เรารู้ดีกว่าในภาวะโรคระบาด ศูนย์กลางการจัดการทางวิชาการหรือมันสมองจะอยู่ที่กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นพันธกิจของกรมที่เขาจะดูแล ส่วน สสส. ถูกคาดหวังบทบาทเหมือนเดิมก็คือด้านการสื่อสาร เราไปประสานงานกับศูนย์การสื่อสารกลางที่กรมควบคุมโรค ซึ่งก็เป็นศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย แล้วก็ต่อมาก็เป็นศูนย์กลางของรัฐบาลด้วย
มีกลยุทธ์ในการสื่อสารอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม
การสื่อสารในยามวิกฤตที่จะต้องมีการรวมศูนย์หรือเป็นข่าวสารกลาง ฉะนั้น สสส. จึงไม่อยากไปทำอะไรแยกออกไป เริ่มตั้งแต่ทำโลโก้และเว็บไซต์ที่แสดงอัตลักษณ์ ช่วงต้นจะเป็นการสื่อสารเรื่อง ‘โควิดป้องกันได้’ ตอนนี้จะเป็น ‘ไทยรู้สู้โควิด’ มีภาพคนสวมหน้ากากอย่างที่เห็นกัน แล้วก็เข้าไปรับผลิตเนื้อหาในส่วนที่ยังมีช่องว่างอยู่ ต้องยอมรับว่าความสนใจของสังคมในช่วงโรคระบาด ทำให้พื้นที่สื่อเยอะมาก แต่ก็มุ่งไปที่เรื่องของสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง จำนวนคนที่ติดเชื้อแล้ว หรือมาตรการที่ออกมา แต่ว่าการสื่อสารย่อยไปถึงความรู้ในกลุ่มจำเพาะต่างๆ ก็ไม่ได้มีพื้นที่ให้ สสส. ก็ไปรับช่องว่างนี้ในการที่ผลิตสื่อจำเพาะถึงกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้เกิดการเตรียมตัว เรามีคำแนะนำกว้างๆ ที่ได้ยินอยู่แล้ว อย่างเช่น ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย’ แต่ว่าความรู้จำเพาะ เช่น กลุ่มร้านค้าร้านอาการ กลุ่มบริษัทท่องเที่ยว กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มผู้จัดอีเวนต์ สถานบันเทิงต่างๆ ต้องมีข้อปฏิบัติตัว ข้อควรระวังเป็นอย่างไร หรืออย่างศาสนสถาน ตอนนั้นเรามีข้อมูลถึงมัสยิดด้วย ซึ่งตอนหลังเราก็เห็นว่าจุดนี้เป็นจุดแพร่โรคได้ รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะต่างๆ เช่น แรงงานต่างด้าว เรามีสื่อหลายภาษาเจาะเข้ากลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ที่กระจายเข้าหากลุ่มต่างๆ ครบ
ต่อมาก็มีส่วนที่เราเห็นช่องทางสำคัญ อย่างที่ท่าอากาศยานและสถานีขนส่ง มีการประสานไปที่กระทรวงคมนาคม เราก็ได้พื้นที่สื่อมาอีกจำนวนมาก ท่าอากาศยานทั้ง 25 แห่งตอนนี้มีคัทเอาท์ สสส. ขึ้นหมดแล้ว ขณะเดียวกันเราก็ปรับบิลบอร์ดต่างๆ ของ สสส. ให้เป็นเรื่องโควิด-19 ทั้งหมด แต่ว่าในสื่อกระแสหลักหรือสื่อมวลชน ต้องยอมรับว่าสื่อทีวีไม่สามารถเปลี่ยนได้เร็ว เราก็เร่งยกผังสงกรานต์ลงทั้งหมด แล้วไปเน้นเรื่องของการกระตุ้นให้คนไทยรับผิดชอบตัวเองและรับผิดชอบสังคม รวมทั้งเรื่อง Social Distancing ที่จะเป็นโจทย์สำคัญในการสื่อสาร
นอกจากเรื่องการสื่อสารกับคนทั่วไปแล้ว การทำงานกับผู้นำในชุมชนหรือกลุ่มต่างๆ มีการวางแผนในรูปแบบไหน
หากสถานการณ์เริ่มร้ายแรงขึ้น เราจะประสานไปยังทุกแผนงานของ สสส. ทั้ง 15 แผนให้ปรับตัวจากเนื้องานปกติ มาช่วยรองรับเรื่องนี้ก่อน อย่างเช่นการทำงานกับกลไกของระดับตำบลในชุมชนท้องถิ่น เรายกระดับให้เขาเป็นศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดระดับตำบล เราเติม know how เข้าไป ทั้งองค์ความรู้เรื่องการจัดการดูแลเฝ้าระวัง ไปจนถึงการดูแลให้คนในหมู่บ้านให้ไม่ไปรับเชื้อ เพราะเราก็รับรู้ว่าการอพยพจากเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาด กลับเข้าไปหาภูมิลำเนาเยอะขึ้น เชื้อก็จะกระจายไปยังชุมชน ซึ่งตอนนี้ผู้ติดเชื้อเริ่มเกิน 60 จังหวัดแล้ว
นอกจากศูนย์เฝ้าระวังที่ดูแลไม่ให้คนติดโรคแล้ว ยังเพิ่มการที่ทำงานกับการกักตัวผู้ที่เสี่ยงด้วย เพราะชาวบ้านหลายที่ในตำบล ไม่สามารถรองรับคนที่กลับมาแล้วต้องกักตัวได้อย่างสะดวก เขาไม่ได้มีบ้านที่มีห้องต่างหากหรือห้องน้ำแยก ตรงนี้เองตำบลก็จะเข้าไปมีบทบาทว่า คุณจะดัดแปลงบ้านเรือนยังไงให้รองรับการกักกัน แล้วถ้าไม่มี แผนบีคืออะไร เช่น การใช้ศาลาประชาคม ศาลาวัด ซึ่งต้องจัดการยังไง นี่คือ know how ที่เราเข้าไปเสริมแนวราบ หรือบทบาทของ อสม. ก็จะได้คู่มือแนะนำพื้นฐาน มีแนวทางปฏิบัติเป็นลำดับเลย เข้ามาจะต้องลงทะเบียน ดูแลการกักกันยังไง มาตรการขั้นต่ำคืออะไร มีการให้ชุดอุปกรณ์พื้นฐานคนละชุดเลย ในนั้นจะมีแอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย สบู่ล้างมือ และมีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ทั้งหมดถูกทำเป็นระบบ สวมเข้าไปในโครงสร้างตำบลเข้มแข็งที่เราทำอยู่แล้ว ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เรามีการทำงานกับชมรมผู้สูงอายุกว่า 20,000 แห่งในประเทศไทย ซึ่งกระจายอยู่ทั้งประเทศ ให้ชมรมผู้สูงอายุทั้งหลายได้รับคำเตือนพิเศษตรงนี้
ถ้าประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ สสส. เตรียมรับมือกับสิ่งที่จะหนักขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างไร
เราติดตามสถานการณ์ตลอดตั้งแต่ต้น ด้วยองค์ความรู้พื้นฐานทางสาธารณสุข ทำให้เราเห็นความเป็นไปและทางแยกที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่มีใครทำนายทุกอย่างได้ชัด ยกตัวอย่างเช่นการสื่อสาร เรากำลังจูนให้อยู่ในจุดที่สังคมไทยต้องไม่ตื่นตระหนกเกิดเหตุ จนกระทั่งก่อให้เกิดการตีตรา อย่างเช่นการกักตัวคนติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงหลักหลายพันก็อาจจะเกิดในอนาคตอันใกล้แล้ว เราต้องให้จังหวะเวลามันใช่ เราควรต้องดักรออย่างน้อยก้าวหนึ่ง เพราะสิ่งรองรับทางบริการสาธารณสุขเริ่มไม่พอแล้ว ผู้ติดเชื้อบางคนต้องกักกันตัวที่บ้าน แล้วก็มีปัญหา คือชุมชนไม่รับ เจ้าของบ้านเช่าไล่ออกไม่ให้อยู่ คือถ้าเรายังหวาดระแวงผู้ติดโรคและประณามเขาด้วย ปัญหานี้จะทำให้เกิดการปิดบังข้อมูล เหมือนกับที่เคยเกิดโรคระบาดอื่นๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่นเอดส์ ถ้าสังคมยังตื่นตระหนก ปัญหาเดิมก็จะวกกลับมา เพราะฉะนั้นเราต้องสื่อสารให้ผู้คนไม่ตระหนกเกินเหตุ แต่ให้ตระหนักในความรุนแรงของโรคพอประมาณ และยังมีอีกกลุ่มที่ตระหนักต่ำไป ต้องทำให้ตระหนักสูงขึ้นตามลำดับ เพราะสถานการณ์ก็เร่ง ตัวเลขก็จี้ มีมาตรการระดับชาติก็เข้ามาล็อกดาวน์ ถึงคุณไม่เปลี่ยน คุณก็จะถูกบังคับให้เปลี่ยน จึงต้องมีสารที่มาช่วยให้เกิดสมดุล
ว่ากันว่าหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปแล้ว จะเกิดมาตรฐานใหม่ของการใช้ชีวิต สสส. ต้องปรับแผนการสร้างเสริมสุขภาวะใหม่อย่างไร
ในมุมของ สสส. วิกฤตโควิด-19 เป็นประสบการณ์สำคัญและเป็นปัญหาที่เราจะต้องฟันฝ่าไปด้วยกัน เราลงไปร่วมแบกรับปัญหากับทุกท่านเต็มตัวในทุกศักยภาพที่เรามีอยู่แล้ว วิกฤตนี้จะช่วยเตือนทุกคนได้ ปัญหาจะเป็นรากฐานสำคัญมากสำหรับการป้องกันโรคภัยอื่นๆ ที่จะอุบัติใหม่ให้เผชิญต่อไปในอนาคต โรคอุบัติใหม่ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นประมาณ 30 ปีครั้ง หลังๆ เริ่มถี่ขึ้นมาเป็น 10 ปีครั้ง และเริ่มจะสั้นกว่า 10 ปีแล้ว มันไม่หมดไปแน่นอน วันหนึ่งถ้าเราจะอยู่กับโควิด-19 ได้ มันก็จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตลอด ฐานสำคัญคือการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี สร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งในภาวะโควิด-19 นี้เอง เป็นห้วงยามที่ต้องการความร่วมมือสูงมาก จะด้วยอำนาจรัฐ การรวมศูนย์ หรือมีพรก. ฉุกเฉินก็ตาม เอาไม่อยู่ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนที่จะต้องปรับพฤติกรรม ปรับวิถีชีวิตตัวเอง เรียนรู้อย่างมีสติ เพราะด้วยรูปแบบของโรคที่สร้างข้อจำกัดให้กับคน ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย อย่างเช่นการรักษาระยะห่างทางสังคม เรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพออนไลน์ก็ผุดขึ้นมา
สุดท้ายแล้ว อะไรคือบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตครั้งนี้
เรามองว่าทุกวิกฤตมีโอกาสอยู่ โดยใช้ประสบการณ์ร่วมของคนทั้งชาติตอนนี้ เพื่อวัตถุดิบในการจะผลักดันเรื่องสุขภาพต่อไปในวันข้างหน้า บทเรียนในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพยุคต่อไปได้แน่นอน