ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก เราจะอยู่อย่างมีความหวังได้อย่างไร
เราจะมีชีวิตอยู่ได้ไหม ถ้าไม่มีความหวัง นักคิดหรือแม้แต่เราๆ ท่านๆ ต่างรับรู้ว่าความหวังเป็นแกนสำคัญแกนหนึ่งที่ทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้ อย่างไม่ชืดชาตายซากนัก
แต่บางทีการอยู่บนโลกนี้นานๆ ถูกประสบการณ์ชีวิตกัดกร่อนจนเราเริ่ม ‘สูญสิ้นความหวัง’ ไปจากการใช้ชีวิต ความหวังบางครั้งกลายเป็นเรื่องของความไร้เดียงสา เราจะมีความหวังไปทำไมถ้าสุดท้ายแล้วนำไปสู่ความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า
ความหวังเป็นเรื่องจำเป็น เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เราเชื่อว่าวันพรุ่งนี้ยังมีเรื่องดีๆ รออยู่เสมอ แต่เราเองจะมีความหวังอย่างไรไม่ให้ ‘คาดหวัง’ อะไรคือความหวังแบบที่ดีต่อสุขภาพใจและกายของเรา
ความหวังดีหรือไม่ดี
ความหวังคือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เราที่มีต่ออนาคต ความหวังจึงประกอบไปด้วยทัศนคติ ประกอบขึ้นด้วยคิดและความเชื่อในความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
ความหวังเลยฟังดูเป็นพลังเชิงบวก เป็นมุมมองที่เรามองว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่าเก่า เป็นแรงผลักดันให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างสดใส แต่ความหวัง ในมุมมองของเหล่านักคิดก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีๆ เพียงอย่างเดียว นักปรัชญาผู้เคร่งครัดทั้งหลายในครั้งก่อนต่างไม่ค่อยชอบเจ้า ‘ความหวัง’ ซักเท่าไหร่ เพราะนักคิดเหล่านี้มองว่าการหวังเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เป็นเรื่องของการอ่อนต่อโลก เป็นผลของความไม่ถี่ถ้วน
นักปรัชญากรีกโบราณ – ที่ได้รับอิทธิพลแบบสโตอิกผู้เชื่อในความเคร่งครัด – บอกว่าความหวังเป็นทัศนคติของคนที่ ‘มีความรู้ไม่พอ’ ความหวังอาจจะนำเราไปสู่การคิดและการตัดสินใจที่ผิดพลาด มีข้อคิดเก่าแก่หนึ่งของ the dialogues of Thucydides บอกว่าคนที่จะเต็มไปด้วยความหวังได้นั้นเป็นคนที่ไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ที่ตัวอยู่อย่างแท้จริง ไม่สามารถสร้างแผนการที่ดีพอขึ้นมาได้ และคนพวกนี้ถ้าไปออกศึกสงครามก็น่าจะดูไม่จืด
นักคิดบางคนบอกว่าความหวังเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ของคนขี้เกียจที่นั่งเฟื่องไปวันๆ
แต่หลังจากนั้นนับพันปี นักคิดร่วมสมัยก็เริ่มมองว่า ในเมื่อความหวังมันคือทัศนคติ – ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อการกระทำของเรา – เราลองมาคิดใหม่กับความหวังดีไหม Immanuel Kant เป็นนักคิดที่บอกว่าความหวังเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เรามีคุณธรรม การมีความหวังมีผลต่อตัวเราและสังคมโดยรวม
คานท์บอกว่าความหวังมีผลตั้งสามระดับ ระดับแรกคือการมีความหวังเป็นเรื่องความสุขของตัวเองล้วนๆ เรามีหวังในใจเราก็มีสุขแล้ว สองคือถ้าเรามีหวัง เราเชื่อว่าพรุ่งนี้จะดี เราก็จะทำดี การพัฒนาศีลธรรมประจำใจย่อมเติบโตได้ถ้าเรามีความหวัง สามคือความหวังเป็นเรื่องของมนุษยชาติ คือเราในฐานะมนุษย์ก็ต้องหวังว่าโลกของเรากำลังดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น สายพันธุ์ของเรากำลังไปสู่การวิวัฒน์เฟื่องฟูไม่ใช่เลวลง ความหวังในมิติของคานท์เลยดูจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นแง่บวกมากกว่าแง่ลบของนักปรัชญาโบราณ ซึ่งก็อาจจะเป็นผลของสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เราอาจไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม ไม่ได้อยู่ในโลกของภัยพิบัติ การขาดแคลนอาหาร (เท่าสมัยก่อน) เรามีวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่างๆ ไปจนถึงมีความเชื่อมั่นในตัวมนุษย์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน นักคิดยุคต่อๆ มาก็เริ่มมองความหวังในฐานะสิ่งสำคัญ Kierkegaard บอกว่าเราควรใช้ชีวิตของเราบนความหวัง และการหวังคือการนึกจินตนาการถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
ความหวัง/ความคาดหวัง เรามองอนาคตด้วยอดีตหรือมองสู่อนาคต
ความหวังเป็นเรื่องของอุดมคติ เป็นการมองอนาคตที่ความเป็นไปได้ที่สุด แต่ทีนี้โลกมันไม่ได้เป็นอุดมคติอย่างที่เราหวังแน่ๆ ดังนั้น เราจะหวังอย่างไรไม่ให้ ‘คาดหวัง’ มาก หวังอย่างไรไม่ให้เจ็บใจและเจ็บตัวเกินไป
ในหนังสือชื่อ The Awakened Heart ของ Dr. Gerald May แยกแยะว่า ความคาดหวัง (expectation) อาจจะมีนัยเชิงลบและไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าความหวัง (hope) แกบอกว่าความคาดหวังเป็นเรื่องของการยึดติด ในความคาดหวังมักมีความผิดหวังแฝงอยู่ในตัวเอง และเมื่อความคาดหวังไม่เป็นอย่างที่คาด ผลคือความไม่พอใจและความไม่สบายใจ
“ความหวังเป็นสิ่งจำเป็น มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้ถ้าไม่มีหวัง การมีความหวังคือการมีเป้าหมายในชีวิต ทำให้ชีวิตมีคุณค่าที่ชัดเจนขึ้นมา แต่เราไม่ต้องไปคิดว่าสิ่งที่เราหวังแล้วจะต้องได้หรือไม่ได้…”
– อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
แง่มุมสำคัญอีกด้านที่ทำให้ความคาดหวังต่างจากความหวังเชิงบวก – คือเราจะหวังอย่างไรให้มีผลเชิงบวก – แกบอกว่าความคาดหวังเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความคาดหวังมักจะแน่นิ่งและตายตัว เป็นเรื่องที่เราคาดการณ์จากประสบการณ์ ส่วนความหวังเป็นเรื่องของอนาคต แกบอกว่าเราไม่สามารถคาดหวังในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นหรือไม่เคยคิดถึงมาก่อนได้ แต่ความหวังนั้นกลับกัน เราหวังถึงอะไรที่สวยงาม เป็นเรื่องของจินตนาการ ความเชื่อ หวังถึงอะไรที่ดีกว่าที่เคยมีมาได้
ความหวังดูจะเป็นสิ่งที่จำเป็น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะหวังอย่างไรไม่ให้เพ้อฝัน และจะหวังอย่างไรไม่ให้ผิดหวังมากเกินไป อ. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ศาสตราจารย์ทางปรัชญาให้ความเห็นว่า ความหวังเป็นสิ่งจำเป็น มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้ถ้าไม่มีหวัง การมีความหวังคือการมีเป้าหมายในชีวิต ทำให้ชีวิตมีคุณค่าที่ชัดเจนขึ้นมา แต่เราไม่ต้องไปคิดว่าสิ่งที่เราหวังแล้วจะต้องได้หรือไม่ได้ เอาแค่ว่าในใจของเรามีหวัง ที่เหลือเป็นเรื่องของคนอื่น เป็นสิ่งที่บังคับได้
แต่เราใจเราบังคับได้ แค่มีความหวังในใจก็เพียงพอแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก