‘เรื่องเหยียด’ เป็นประเด็นที่เราผ่านตากันบ่อยๆ ล่าสุดขนาดคลิปน่ารักๆ ที่มีซีนหลุดๆ ขณะที่นักข่าว BBC กำลังสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ Robert Kelly ก็ดั๊นอุตส่าห์มีกระแสว่าผู้หญิงเอเชียนที่เข้ามาจัดการเด็กๆ เป็นแม่บ้าน เป็นพี่เลี้ยง แต่จริงๆ แล้วเป็นภรรยาและแม่ของเด็ก ซึ่งประเด็นดราม่าเล็กๆ นี้คือเรื่องอคติหรือการเหยียดทางเชื้อชาติที่แฝงอยู่
สำหรับบ้านเราเอง การเหยียด การแบ่งแยก (discrimination) ก็เป็นสิ่งที่โผล่ขึ้นมาบ่อยๆ บางทีในระดับความคิด เราก็เผลอเหยียดกันไปโดยไม่ทันรู้ตัว ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา Rappler ออกแคมเปญ #ZeroDiscriminationDay เพื่อลดทอนการเหยียดผู้คนจากแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา รสนิยมทางเพศ สีผิว เชื้อชาติ โดยใช้คำว่า แล้วไง หรือ so what
การเหยียดเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานของสังคม (norm) มารตรฐานหรือค่านิยมบางอย่างที่บอกว่าเธอควรจะเป็นอย่างนั้นนะ ควรจะเป็นอย่างนี้นะ ซึ่งมาตรฐานหรืออคติทั้งหลายนั้นมันก็ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเหตุผลเท่าไหร่ คำว่า ‘แล้วไง’ ที่ฟังดูกวนประสาทจึงอาจเป็นคำที่ทำให้เราคิดว่า เออ เราที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น ไม่ว่าจะอ้วนไป ผิวเข้ม มาจากต่างจังหวัด สุดท้ายมันก็ไม่ได้ผิดอะไรนี่หน่า เพราะคนเราเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย จะมาเหมารวมกันง่ายๆ หรือตัดสินว่าเข้าหรือไม่เข้ากับมาตรฐานแบนๆ มันก็ไม่น่าจะได้และไม่เห็นจำเป็น
ฉันผิวเข้ม
เรื่องสีผิวเป็นอะไรที่เป็นประเด็นบ่อยๆ ในสังคมไทย แม้ว่าบ้านเราจะเป็นเมืองร้อนและสีผิวของชาวไทยก็ค่อนข้างสอดคล้องกับสภาวะอากาศ แถมโดยดั้งเดิมเราก็เป็นคนผิวแทน ผิวเข้ม แต่ด้วยกระแสสินค้ารวมไปถึงค่านิยมความเชื่อที่พยายามบอกเราว่า ‘ความขาว’ เป็นสิ่งพึงปรารถนา และในนัยที่พยายามบอกว่าความขาวนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่า ก็เลยเป็นการผลักให้คนผิวเข้มตกเป็นลักษณะที่ไม่สวย ไม่พึงปรารถนาเท่าไหร่ ก็นั่นแหละเนอะ ผิวเข้ม? แล้วไง?
ฉันอ้วน
ร่างกายที่สวยงามเป็นอีกอย่างที่มักเอามาวัดและกะประมาณว่าคนคนนี้เป็นยังไง ปัญหาอย่างหนึ่งคือขนาดที่เราใช้แบ่งแยกว่าผอมและอ้วนมันดูจะแคบลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ภาพของคนอ้วนที่เรามักเห็นคือมักเป็นตัวตลก รับบทเป็นคนเปิ่นๆ น่าหัวเราะเยาะ ตะกละตะกราม แถมในมุมมองเชิงสุขภาพความอ้วนหรือความผอม บางทีก็เป็นลักษณะเฉพาะตัว บางคนเจ้าเนื้อเอง บางคนเผาผลาญดี ก็สุดแท้แต่ ก็เนอะ ชีวิตที่ดีที่ไม่ได้กินของอร่อย มันจะเรียกว่าชีวิตได้ยังไง เอ้อ แต่ขอให้สุขภาพดี ไม่เดือดร้อนคนอื่น ก็เนี่ยแหละ อ้วน? แล้วไง?
ฉันสัก
หูย คนนี้สักอะ เป็นโจรแน่เลย ดูเหมือนว่าบ้านเรายังคงมีความคิดประมาณนี้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เป็นการตัดสินคนเพียงแค่การมองปราดเดียวแล้วสรุปไปเลยว่าคนคนนี้ต้องเป็นอย่างที่เราคิดแน่ๆ รอยสักก็เป็นอีกอย่างที่มักถูกเอามาตัดสินในลำดับต้นๆ ว่าต้องเกี่ยวกับอาชญกรรม เป็นพวกนอกคอก ทั้งที่จริงแล้วรอยสักอาจเป็นเรื่องของศิลปะ ความเชื่อ ความงาม หรืออาจเป็นร่องรอยเรื่องราวบางอย่างที่ผู้สักอยากบันทึกไว้บนผิวหนังของตัวเอง…สัก? แล้วไง?
ฉันมาจากต่างจังหวัด
เราเป็นคนไทยเหมือนกัน มีนักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตว่าบ้านเราแบ่งแยกคนจากพื้นที่ พูดง่ายๆ คือในความเป็นคนไทย เราก็มักมีการแบ่งระหว่างคนเมือง คนชนบท เรามักมีอคติหรือภาพบางอย่างที่เราเหมากับคนจากพื้นที่ต่างๆ คนเหนือ คนอีสาน คนใต้ คนกรุงเทพฯ บางภาคถูกโยงเข้ากับความแร้นแค้น ความขี้เกียจ ต่างๆ นานา ซึ่งปัจจุบันเส้นแบ่งของพื้นที่เมือง พื้นที่ชนบท มันก็ยากจะแยกแล้ว ในชนบทก็มีความทันสมัยแบบเมือง ในเมืองก็มีคนจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาเติบโต ที่สำคัญคือ คนเรามันก็มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน จะไปเหมาจากภาคหรือพื้นที่ที่คนเกิดก็ไม่ได้เนอะ เป็นคนต่างจังหวัด? แล้วไง?
ฉันเป็นเกย์
รสนิยมทางเพศเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล ความรักยังไงก็เป็นเรื่องสวยงามเสมอ ไม่ว่าเราจะชอบใคร เพศไหน หรือเป็นอะไร เราต่างก็เป็นคนเหมือนกัน การเอาความชอบส่วนตัวมาตัดสินว่าปกติหรือผิดปกติมันก็เป็นเรื่องที่ไม่โอเคเนอะ คำว่าเกย์ในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายชอบผู้ชาย ผู้หญิงชอบผู้หญิง หรือใครชอบใคร มันก็เป็นเรื่องที่ เป็นเกย์? แล้วไง?
ฉันชอบอยู่คนเดียว
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมก็จริง แต่มันก็จะมีบางคนที่อาจจะเรียกว่าเป็น introvert คือเป็นคนชอบอยู่เงียบๆ ไม่ค่อยชอบพบปะผู้คน ไม่เก่งในการสังสรรค์พูดคุย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นไลฟ์สไตล์ก็สุดแท้แต่ละคนจะชอบเนอะ สุดท้ายแล้ว เป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว? แล้วไง?
เราแตกต่าง
มนุษย์เราก็แบบนี้ เรามักตัดสินและแบ่งแยกคนอื่นอยู่เสมอ และความ ‘เหมือนกัน’ ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เรามักเผลอใช้ไม้บรรทัดไปวัด ไปกะเกณฑ์ แล้วบอกว่าคนคนนี้ไม่เหมือนกับเรา ทั้งๆ ที่เราทุกคนนั้นต่างมีความเฉพาะตัว
เราจึงน่าจะเคารพกันที่ความเป็นคน ไม่ใช่เคารพจากการเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เป็นพุทธ อิสลาม เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นเกย์ หรือเป็นอะไรก็ตาม เพราะเราก็ต่างเป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีความแตกต่าง เหมือนๆ กัน