วัคซีนของบริษัทในประเทศจีนได้ถูกส่งออกให้หลายประเทศทั่วโลก โดยอาจเรียกได้ว่า จีนได้กลายเป็นประเทศที่ส่งออกวัคซีนมากที่สุดในโลกแล้ว
ด้วยสถานะตอนนี้ มีวัคซีนที่ได้รับการรับรองแบบฉุกเฉินจาก WHO แล้ว 1 ยี่ห้อ คือ Sinopharm, วัคซีนที่กำลังอยู่ระหว่างการประเมินอีก 1 ยี่ห้อคือ Sinovac และวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนการส่งข้อมูลต่างๆ คือ CanSino ซึ่งทั้ง 3 ยี่ห้อนี้ ต่างก็มีประเทศอื่นๆ ทำการสั่งจอง มีการส่งออก และกำลังจะส่งออกแล้ว ทั่วโลกเลยด้วย
โดยจากข้อมูลของ Bridge Consulting ของจีน ได้ชี้ว่า วัคซีนของจีนมีการขายแล้วอย่างน้อย 707 ล้านโดส มีการบริจาคไป 20.8 ล้านโดส และส่งออกทั่วโลกแล้วอย่างน้อย 231 ล้านโดส โดย Sinovac เป็นยี่ห้อหลักที่ขายในหลายประเทศ ขณะที่ Sinopharm เป็นยี่ห้อหลักที่จีนบริจาค
นอกจากนี้ยังมีโรงงานของผู้ผลิตวัคซีนจีนในต่างประเทศ ที่ผ่านการเจรจา และส่งมอบเทคโนโลยี อย่างน้อยใน 10 ประเทศ ที่เตรียมผลิตวัคซีน 3 ยี่ห้อนี้ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอาร์เจนตินาที่ผลิต Sinopharm, อียิปต์ และอินโดนีเซีย ที่ผลิต Sinovac, ปากีสถาน และเม็กซิโก ที่ผลิต CanSino
ซึ่ง 3 ยี่ห้อตระกูล Sino นี้ แตกต่างกันอย่างไร สถานการณ์การรับรอง หรือประสิทธิภาพเป็นอย่างไร The MATTER จะชวนไปรู้จักกัน แม้ว่าบางยี่ห้อ คนไทยจะรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว
Sinopharm (BBIBP-CorV)
Sinopharm เป็นวัคซีนที่ผลิตโดย China National Pharmaceutical Group Corporation (CNPGC) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘Sinopharm’ เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งจริงๆ แล้วบริษัทนี้ได้ผลิตวัคซีนออกมา 2 ตัวคือ BBIBP-CorV ที่ส่งขายทั่วโลก และอีกตัวที่เป็นการร่วมพัฒนากับ สถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น คือ WIBP-CorV ที่มีทดสอบในจีน และอนุมัติอย่างจำกัดแค่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้น โดยวัคซีนของ Sinopharm นั้นมีเป้าหมายการผลิตในปี 2021 มากถึง 1,000 ล้านโดส
โดย Sinopharm (BBIBP-CorV) นั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่ต้องฉีด 2 เข็ม ซึ่งเป็นวัคซีนตัวล่าสุด และตัวแรกของจีน ที่ได้รับการรับรองฉุกเฉินจาก WHO และยังถูกรับรองใช้ในอย่างน้อย 48 ประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา อิหร่าน จอห์แดน เบราลุส เปรู ฮังการี เป็นต้น โดยมีคำแนะนำว่าวัคซีนชนิดนี้เหมาะกับ แนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
Sinopharm ยังเพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยเฟส 3 แล้ว 4 ชิ้น ที่ทดลองใน 6 ประเทศ เช่น บาห์เรน อียิปต์ จอห์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปรู อาร์เจนตินา ซึ่งล่าสุดประสิทธิภาพของเฟส 3 ของ Sinopharm ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ The Journal of the American Medical Association (JAMA) แล้ว
สำหรับประสิทธิภาพนั้น Sinopharm ได้ชี้ว่าวัคซีนนี้ มีประสิทธิภาพ 79% ต่อเชื้อไวรัส หลัง 2 สัปดาห์ที่ฉีดครบ 2 โดส ขณะที่ WHO และที่ตีพิมพ์ใน JAMA ยังชี้ว่าวัคซีนนี้แสดงอาการ 78.1% ต่อคนที่มีอาการ ส่วนด้านการทดลองเฟส 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ชี้ผลว่า Sinopharm มีประสิทธิภาพในการต้านการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 86% และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรคในคนที่มีอาการปานกลางและรุนแรง
ด้านสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และกำลังแพร่ระบาดอยู่ในตอนนั้น ทั้งอังกฤษ, แอฟริกาใต้, บราซิล และอินเดีย นั้น วัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO นั้นมีประสิทธิภาพป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลง
Sinovac (CoronaVac)
หนี่งในวัคซีนที่ส่งออก และใช้ในไทยจำนวนมาก คือวัคซีนของจีนอย่าง Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดย ‘Sinovac Biotech’ เป็นวัคซีนเชื้อตาย ฉีด 2 เข็ม ที่ยังไม่ถูก WHO รับรอง แต่อยู่ในระหว่างการประเมิน ซึ่งคาดว่าจะน่าจะมีผลออกมาเร็วๆ นี้ แต่ถึงแม้ว่า WHO ยังไม่รับรอง แต่วัคซีนนี้ถูกรับรองใช้แล้วในอย่างน้อย 32 ประเทศ เช่น ชิลี บราซิล ตุรกี โคลัมเบีย และไทย ซึ่งไทยเองก็ส่ง และสั่งวัคซีนนี้ไปแล้วอย่างน้อย 9 ล้านโดส และซิโนแวคเองยังมีเป้าหมายการผลิตในปี 2021 มากถึง 2,000 ล้านโดสเลยด้วย
สำหรับซิโนแวค มีการทดลองเฟส 3 แล้ว ใน 7 ประเทศ อย่าง ชิลี ตุรกี จีน ฮ่องกง บราซิล อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ แต่ยังไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เลยด้วย แต่สำหรับรายงานของ WHO จากการทดลองเฟส 3 ใน 5 ประเทศพบว่า ป้องกันอาการป่วย COVID-19 ได้ 50%-84% และป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลได้ 85%-100% ด้านผลทดลองเฟส 3 จากอินโดนีเซีย ที่เก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1.2 แสนคน ยังพบว่าวัคซีนป้องกันได้ 99% จากการเสียชีวิต และ 96% จากการเข้ารักษาในโรงพยาบาล 7 วันหลังฉีดโดส 2
ขณะที่การป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ได้ในการป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ, แอฟริกาใต้, บราซิล แต่จะมีประสิทธิภาพลดลง ขณะที่สายพันธุ์อินเดียนั้น นักวิจัยของ Sinovac ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพ แต่นักวิจัยก็ออกมาระบุว่า Sinovac สามารถผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับสายพันธุ์ต่างๆ ได้ภายใน 10 สัปดาห์
CanSino หรือ Convidecia (Ad5-nCoV)
วัคซีนอีกตัวของจีน ที่เริ่มมีการฉีดแล้วในจีน และกำลังจะเริ่มส่งออกในต่างประเทศ คือ CanSino หรือ Convidecia ซึ่งพัฒนานำโดย CanSino Biologics บริษัทของจีนในเมืองเทียนจิน ซึ่งมีขั้นตอนร่วมพัฒนากับสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารจีน
วัคซีน CanSino เป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรืออะดิโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นตัวนำพา (adenovirus type 5 vector) ที่ต่างจาก 2 ตัวแรก และฉีดเพียง 1 เข็มเท่านั้น ซึ่งถูกมองว่าสะดวกกว่าตัวอื่น และมีแนวโน้มว่าชาวจีนจะขอฉีดวัคซีนชนิดนี้มากขึ้นด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการชี้ว่า ประสิทธิภาพอาจจะค่อยๆ ลดลง และควรมีการฉีดซ้ำด้วย โดยทางบริษัทก็ตั้งเป้าหมายการผลิตในปี 2021 ไว้ที่ 100 ล้านโดส
สำหรับวัคซีนตัวนี้ ยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO แต่กำลังอยู่ในขั้นต่อการส่งเอกสาร และข้อมูลต่างๆ แต่มีการประกาศรับรองใช้ใน 5 ประเทศแล้ว อย่างจีน ฮังการี ชิลี ปากีสถาน และเม็กซิโก ขณะที่มีการทดลองเฟส 3 แล้ว 2 ชิ้น ที่เก็บรวบรวมข้อมูลใน 7 ประเทศ เช่น รัสเซีย และอาร์เจนตินา ชิลี เม็กซิโก และปากีสถาน โดยพบว่าตอนนี้ ชิลีเป็นประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อนี้แล้ว 1.8 ล้านโดส ที่กำลังจะมีการส่งในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนนี้
ประสิทธิภาพของ CanSino นั้น ทางบริษัทระบุว่า มีประสิทธิภาพโดยรวม 65.28% ในการป้องกัน COVID-19 กรณีที่มีอาการ และป้องกันอาการรุนแรงได้ถึง 90.07% ใน 28 วันหลังฉีด 1 โดส ขณะที่การทดลองเฟส 3 ในปากีสถาน ก็พบว่า มีประสิทธิภาพ 74.8% ในการป้องกันการมีอาการ และ 100% สำหรับการป้องกันอาการรุนแรงได้ แต่ในด้านข้อมูลเรื่องการป้องกันสายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่นๆ นั้น ยังไม่มีข้อมูล
การกลายเป็นหนึ่งประเทศที่ส่งออกวัคซีนมากที่สุดในโลกของจีน ทำให้ทั่วโลกจับตาไม่เพียงแค่ในมุมการแพทย์เท่านั้น แต่ในเชิงการทูต และการขยายอำนาจการเป็นผู้นำด้วย ที่จำนวนการส่งออกที่มีจำนวนมาก การบริจาค รวมถึงหลายประเทศที่ติดต่อกับจีนนั้น ยังถูกมองถึงการแข่งขันต่างๆ ซึ่งมีการนำไปเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศผู้ผลิต Pfizer และ Moderna แต่ถึงอย่างนั้นแม้จำนวนส่งออกจะมีจำนวนมาก แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาคของวัคซีนจากจีน เช่นกัน
อ้างอิงจาก