ท่ามกลางสถานการณ์เร่งฉีดวัคซีนของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ประเด็นของตัววีคซีน การดีล การกระจายฉีดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่แม้เราจะพยายามหาวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ มาเพิ่มในปีนี้ แต่ตอนนี้วัคซีนส่วนใหญ่ที่มี และถูกฉีดนั้น ก็เป็นของ SINOVAC ซึ่งที่ผ่านมา ก็พบหลายกรณีที่มีผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนด้วย
The MATTER รวบรวมข้อมูลของวัคซีนซิโนแวคว่า การแพ้นั้นเกิดขึ้นได้จากอะไร วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผลข้างเคียง และข้อสังเกตที่แพทย์พบมีอะไรบ้าง รวมไปถึงว่า มีคำแนะนำอะไรหากจะฉีดวัคซีนตัวนี้ต่อไปด้วย
SINOVAC หรือชื่อทางการวิจัย CoronaVac เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีน ที่มีชนิดวัคซีนเชื้อตาย เป็นการนำเชื้อไวรัสโคโรนามาเพาะเลี้ยงบนเซลล์ที่ใช้ทำวัคซีน จากนั้นก็นำฆ่าเชื้อให้ตาย ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนนี้ ร่างกายจะจดจำโปรตีนหนาม (Spike Protein) ของตัวไวรัส เพื่อกระตุ้นสร้างระบบภูมิคุ้มกัน แต่นอกจากโปรตีนหนาม แต่ยังมีโปรตีนอื่นๆ บนอนุภาคไวรัส เช่นโปรตีน E (Envelope) และ M (Membrane) แต่ในการผลิตนั้น จะไม่ทราบปริมาณของโปรตีน E และ M ทำให้บางล็อต อาจมีมากหรือน้อย ซึ่งหากมีมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
โดยตอนนี้ วัคซีน SINOVAC มีการส่งออกไปแล้วราว 120 ล้านโดส ใน 19 ประเทศทั่วโลก เช่น อาเซอร์ไบจาน บราซิล ชิลี โคลอมเบีย อินโดนีเซีย ลาว เม็กซิโก ตุรกี รวมถึงไทยเอง ที่สั่งวัคซีนตัวนี้ไปอย่างน้อย 3.5 ล้านโดส (สำหรับประชากร 1.75 ล้านคน)
ประสิทธิภาพ
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ มีการทดลองผลที่หลากหลาย โดยจากการทดสอบเฟส 3 ในบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศบราซิล พบว่า SINOVAC มีประสิทธิภาพป้องกันโรค COVID-19 อยู่ที่ 50.4% พร้อมรายงานประสิทธิภาพในการป้องกันอาการระดับเล็กน้อย (mild case) 78% และประสิทธิภาพการป้องกันกรณีปานกลาง (moderate infection) และรุนแรง (severe infection) 100%
ขณะที่ ผลทดลองวัคซีนเฟส 3 ในการใช้งานจริง (Real-World Trial) มีประสิทธิภาพเพียง 49.6% และสำหรับกรณีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการนั้นอยู่ที่ 35.1%
แต่ถึงอย่างนั้น ผลวิจัยจากรัฐบาลชิลี หนึ่งในประเทศที่สั่งซื้อ SINOVAC และเร่งฉีดวัคซีนนี้ให้ประชาชนจำนวนมากก็พบว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพถึง 67% ในการป้องกันการติดเชื้อ มีประสิทธิภาพ 85% ในการป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีประสิทธิภาพ 80% ในการป้องกันการเสียชีวิตด้วย
สำหรับกรณีไวรัสกลายพันธุ์นั้น ก็พบว่า วัคซีน SINOVAC ตัวนี้ สามารถป้องกันได้ใน 3 สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) คือ ป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) ,สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (B.1.1.28) ได้ แต่ประสิทธิภาพจะลดลง
อาการที่พบ
ด้านอาการที่พบว่าเป็นผลข้างเคียง เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนแล้วกับบุคลากรทางการแพทย์ในหลายโรงพยาบาล อย่างน้อย 20 เคส โดยจากเฟซบุ๊กของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดเผยอาการต่างๆ ที่พบว่า เป็นอาการที่คล้ายอัมพฤกษ์ ซึ่งเป็นอาการที่เข้ากับความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง จากการทำให้เส้นเลือดเกิดภาวะหดเกร็งขึ้น หรือสพาสซั่ม เช่น
- แขน หรือขาชา
- ผิดปกติทางสายตา เห็นภาพแหว่งครึ่งซีกตาซ้าย หรือตาขวา
- ปวดศีรษะท้ายทอยอย่างรุนแรง
- เจ็บหน้าอก
- ความดันสูงผิดปกติ
- ผื่นขึ้น
- ปากเบี้ยว
- ฯลฯ
ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ให้ข้อมูลว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของระบบประสาทจริงด้วย
ข้อสังเกต
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ฉีดวัคซีนตัวนี้ และจะเกิดผลข้างเคียง โดยคุณหมอธีระวัฒน์ เองก็ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโหนกระแส ในวันที่ 26 เมษายนว่า ตนไม่คิดว่าวัคซีน SINOVAC ไม่ดี และมองว่าวัคซีนทุกชนิดนั้นมีผลข้างเคียงได้ทุกยี่ห้อ ซึ่งคุณหมอก็ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกับแค่วัคซีนเพียงบางล็อต และบางขวดในล็อตนั้นเท่านั้น โดยบางกรณี อาจจะไม่ได้เกิดจากตัววัคซีน แต่อาจเกิดจากการปนเปื้อนในหลอดที่บรรจุ
ทั้ง “อาการเกิดขึ้นมีในระยะนาที-ชั่วโมงหลังฉีดยา ปฎิเสธไม่ได้ถึงความเกี่ยวข้อง และเป็นอาการเข้ากับความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง” ซึ่งบางรายก็มีการให้ยาและดีขึ้น ขณะที่บางรายมีอาการกลับมาเป็นใหม่ รวมถึงโรงพยาบาลสุรินทร์นั้นยังพบว่าในกรณีของผู้หญิงซึ่งส่วนมากอายุน้อยทั้งสิ้น อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระยะที่มีประจำเดือนและภายในช่วงก่อนและหลังที่มีประจำเดือนประมาณ 7 วัน จึงมีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดในช่วงเวลานั้นด้วย
คำแนะนำจากแพทย์ กรณีฉีด SINOVAC
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่พบเคสการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน SINOVAC โดยประเทศอย่างฮ่องกง และชิลีเอง ก็พบทั้งในระดับที่เบา และรุนแรงเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ขณะที่ชิลีเองก็รายงานว่า เกิดในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งสำหรับเคสที่พบเสียชีวิตหลังการฉีด SINOVAC นั้น กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้ออกมาแถลงว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับเคสในฮ่องกง ที่มีการชี้แจงเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็พบว่า ได้สร้างความกังวลให้กับชาวฮ่องกง จนมีผู้ไปรับโดสที่ 2 น้อยลงด้วย ซึ่งแพทย์มองว่าไม่ควรเกิดขึ้น
ถึงอย่างนั้น การเร่งฉีดวัคซีนยังจำเป็น ทั้งคุณหมอธีระวัฒน์ และสมศักดิ์ต่างก็ให้ข้อมูลว่า ยังควรฉีดวัคซีนต่อไป แต่มีคำแนะนำว่าหากฉีดเข็มแรกแล้ว ควรฉีดต่อเข็ม 2 แต่สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติ ยังไม่ควรฉีดเข็มที่ 2 ทั้งหมอธีระวัฒน์เอง ก็ได้เสนอคำแนะนำ และสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขควรทำไว้ว่า ควรหยุดใช้วัคซีนในล็อตนั้นก่อน จนกว่าจะทำการสรุปสาเหตุได้ และต้องติดต่อผู้ผลิตให้ตรวจสอบโดยด่วน รวมถึงต้องมีการฉีดอย่างรอบคอบ ระวัง เตรียมพร้อมรักษาอาการต่างๆ ที่อาจเกิดข้างเคียงรวมถึงคอยติดตามระยะกลางของผลข้างเคียง จาก 1-4 สัปดาห์ ที่อาจเกิดได้ในระบบต่างๆ
“แต่ประเด็นสำคัญก็คือทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังคงต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศทั้งนี้โดยที่ทราบข้อจำกัดบางประกา รและเตรียมรับมือในการแก้ผลแทรกซ้อนดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น” หมอธีระวัฒน์ระบุในโพสต์เฟซบุ๊ก
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/thiravat.h/posts/4426512664048920
https://www.facebook.com/thiravat.h/posts/4439290816104438
https://www.sanook.com/news/8372390/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/934124
https://news.thaipbs.or.th/content/303594
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-chile-sinovac-idUSKBN29X282
https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/hong-kongs-covid-19-vaccine-no-show-rate-rises-after-side-effect-reports