ผลกระทบจากวัคซีนสัญชาติจีน เป็นที่พูดถึงอย่างมากในไทย หลังจากที่มีคนฉีด Sinovac แล้วออกมาแชร์ประสบการณ์แพ้ต่างๆ มากมาย อีกทั้ง ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก แม้ผู้เชี่ยวชาญจะย้ำว่า การฉีดวัคซีนมีผลดีกว่าไม่ฉีดก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงความเชื่อมั่นในวัคซีนจากจีนเป็นอย่างมาก
แล้วมีประเทศที่ใช้วัคซีนจากจีนมากน้อยแค่ไหนกันนะ?
วัคซีนสัญชาติจีนที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากคือ Sinovac ซึ่งตอนนี้ ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก เนื่องจากต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม แต่คาดว่า องค์การอนามัยโลกจะประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในสัปดาห์นี้ ถึงอย่างนั้น ก็มีประเทศที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนของ Sinovac แล้ว 25 ประเทศ/เขตการปกครอง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา บราซิล ชิลี ปากีสถาน รวมถึง ประเทศไทยด้วย
สำหรับ Sinopharm ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก ให้ใช้เป็นวัคซีนฉุกเฉินได้นั้น ได้รับการอนุมัติแล้วใน 40 ประเทศทั่วโลก เช่น ลาว บาห์เรน กัมพูชา อิหร่าน มัลดีฟส์ ฮังการี่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า หลายประเทศเจอกับภาวะผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้ ก็มีหลายปัจจัยที่เราต้องพิจารณา ทั้งเรื่องของมาตรการในการป้องกันเชื้อ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายและหลบเลี่ยงแอนติบอดี้ของร่างกาย รวมถึง วัคซีนที่แต่ละพื้นที่ใช้
เราขอพาไปดูสถานการณ์ของประเทศที่นำวัคซีนสัญชาติจีนไปใช้ เพื่อดูว่า แต่ละพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องย้ำก่อนว่า แต่ละพื้นที่มีปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป
เซเชลส์
60% ของวัคซีนที่ฉีดให้กับประชากร เป็นวัคซีนของ Sinopharm แต่ตอนนี้ เซเชลส์มียอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 100 คนต่อวัน โดย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศที่มีประชากรเพียงแสนกว่าคน ทำให้ระบบสาธารณสุขค่อนข้างตึงมือ และต้องประกาศปิดโรงเรียน ร้านค้า และร้านอาหารใหม่อีกครั้ง
เซเชลส์ เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วถึง 61% แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลของเซเชลส์ประกาศว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,068 ราย โดยประมาณ 65% ของผู้ติดเชื้อ เกี่ยวพันกับผู้อยู่อาศัยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือได้รับเพียงโดสเดียว
เชริน ฟรานซิส (Sherin Francis) ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวของเซเชลส์ กล่าวว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำ
อย่างไรก็ดี วัคซีนที่เซเชลส์ใช้นอกจาก Sinopharm นั้น ยังมีวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท AstraZeneca และผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ด้วย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประชาชนบางส่วนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องเข้าฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ของ Sinopharm หลังจากผลทดสอบแอติบอดีพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขายังไม่ตอบสนองต่อวัคซีน แม้ว่าจะได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้วก็ตาม
วาลิด ซาเฮอร์ (Walid Zaher) ผู้นำการวิจัยจาก G42 Healthcare กล่าวว่า เมื่อมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้ว แล้ววัคซีนยังไม่กระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย ก็จำเป็นจำต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้กับวัคซีนทุกตัว และในกรณีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็คือวัคซีนจาก Sinopharm
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากอิสราเอล โดยมีวัคซีนมากกว่า 7 ล้านโดส ให้กับประชากรกว่า 9 ล้านคน โดยประชาชนรวมถึงผู้อยู่อาศัยทุกคนจะได้รับวัคซีนฟรี
ฟิลิปปินส์
ประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ขอให้สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ ส่งวัคซีน Sinopharm จำนวน 1,000 โดส กลับไปสู่จีน หลังจากเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่ฉีดวัคซีน Sinopharm ทั้งที่วัคซีนตัวนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขในฟิลิปปินส์ และในช่วงนั้น ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกด้วย
“อย่าทำตามผมนะ มันอันตราย เพราะยังไม่มีผลการศึกษารองรับ มันอาจจะไม่ดีต่อร่างกาย ขอให้ผมเป็นคนรับแต่เพียงผู้เดียว” ดูแตร์เตกล่าว
ตอนนี้ วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้วในฟิลิปปินส์ มีวัคซีนจาก AstraZeneca และ Sinovac แต่ทั้งสองยังคงให้ใช้ได้ เฉพาะในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มที่เปราะบางเท่านั้น
ตุรกี
ตุรกีประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ หลังมีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 6,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตรายวันมากถึง 300 ราย แม้ว่าจะมีการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว 22 ล้านโดส โดยมีประชาชนกว่า 13.6 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว และส่วนมากเป็นวัคซีน Sinovac ขณะที่ส่วนน้อย ได้รับวัคซีนของ Pfizer-Biontech
ตอนนี้ ตุรกีกำลังกดดันให้จีนส่ง CoronaVac วัคซีนของ Sinovac ตามที่ทำข้อตกลงกันไว้ และเร่งเดินหน้าทำข้อตกลงกับวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียไว้ด้วย ขณะเดียวกัน ก็ได้รับ วัคซีนล็อตแรกที่ตุรกีดีลไว้กับ Pfizer-BioNTech เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่นอกจากเรื่องของวัคซีนแล้ว รัฐบาลตุรกียังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆ เร็วเกินไป และกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนก็ยังไม่รวดเร็วพอ ด้วยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนมีมากกว่า 22 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 82 ล้านคน
อีกทั้ง เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังวิเคราะห์กันว่า ปัจจัยเร่งให้เกิดการติดเชื้อสูงในตุรกีนั้น มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.7หรือสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
ชิลี
ชิลีเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา ด้วยยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่มากกว่า 7,000 ราย รุนแรงยิ่งกว่าในการระบาดระลอกแรก โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดหนักอีกครั้งคือ ความเหนื่อยล้าจากการล็อกดาวน์ที่ยาวนานและเข้มงวด การมาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการพึ่งพาวัคซีนจีนซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตในชาติตะวันตก
แต่ผลการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนสัญชาติจีนจากในชิลี แสดงให้เห็นว่า จากตอนนี้ที่ชิลีมีผู้ได้รับวัคซีนของ Sinovac ตอนนี้ มีประชากรหนึ่งในสามของผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบทั้งสองโดสแล้ว ทำให้การรักษาในโรงพยาบาลลดลง 85% และอัตราการเข้ารักษาในICU ก็ลดลง 89%
จีน
เกา ฟู (Gao Fu) หัวหน้าศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดจีน กล่าวในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า วัคซีนของ Sinovac นั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไม่สูงนัก และเสนอให้ผสมการฉีดวัคซีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน โดยโดสแรกกับโดสที่สองเป็นวัคซีนคนละบริษัทกัน
แต่ภายหลัง เกากลับคำให้สัมภาษณ์กับสื่อของจีนใหม่ว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนทั้งหมดในโลก บางครั้งก็สูง บางครั้งก็ต่ำ ส่วนวิธีในการพัฒนาประสิทธิภาพต้องพิจารณาโดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และที่เคยระบุว่าวัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพต่ำเป็นเรื่องเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากจีนว่า มีผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อวัคซีน Sinopharm ของจีนในขั้นต้นและต้องได้รับปริมาณวัคซีนเพิ่มเติมด้วย
ตอนนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติให้ใช้วัคซีน Sinopharm ในกรณีฉุกเฉินแล้ว โดยประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน Sinopharm ไว้ที่ 78% สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ขณะที่ข้อมูลสำหรับผู้สูงอายุนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ส่วนทางบริษัท Sinopharm รายงานว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 79% ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกระบุว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว แต่ข้อมูลจากทางบริษัทก็ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
แต่ตอนนี้ WHO ยังไม่อนุมัติวัคซีนของ Sinovac โดยระบุว่ากำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ คาดว่า จะประเมินได้ในสัปดาห์นี้
WHO จะรีวิวข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac จาก 5 ประเทศ แต่ข้อมูลของประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac ในแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน โดยผลจากตุรกีระบุว่า วัคซีนของ Sinovac มีประสิทธิภาพ 84% ในชิลีระบุว่ามีประสิทธิภาพ 67% ในอินโดนีเซีย มีประสิทธิภาพ 65% และในบราซิลมีประสิทธิภาพ 51% โดยค่าเฉลี่ยของทุกประเทศอยู่ที่ตัวเลข 67%
อย่างไรก็ดี วัคซีนหลายล้านโดสถูกส่งไปทั่วโลกและหลายประเทศอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้แล้ว
อ้างอิงจาก