วัคซีน เป็นความหวังของผู้คนทั่วโลกนับตั้งแต่ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญที่อาจจะทำให้ชีวิตปกติของเรากลับคืนมาเสียที
ตามปกติแล้ว กว่าที่เราจะผลิตวัคซีนขึ้นมาได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยก่อนหน้านี้มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า วัคซีนจะมาพร้อมจริงๆ ในช่วงปีหน้า แต่วัคซีน COVID-19 ถือว่ามาเร็วกว่าการผลิตวัคซีนครั้งอื่นๆ มาก ดังนั้น หลายคนจะตั้งคำถามว่า วัคซีนเหล่านี้ปลอดภัยจริงไหม แล้วเราได้ศึกษาผลข้างเคียงที่เป็นไปได้อย่างเพียงพอแล้วหรือยัง?
จริงๆ แล้ว ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก บริเวณที่เราฉีดวัคซีนเข้าไปอาจมีรอยแดง หรืออาจปวดรอบๆ จุดนั้นก็เป็นได้ หรืออาจมีอาการปวดหัว ตัวร้อน อ่อนล้า ก็ได้เช่นกัน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลจากการที่วัคซีนเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราให้ทำงาน ซึ่งมักเกิดขึ้นและทุเลาลงภายใน 2-3 วัน หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก
แต่นอกจากอาการข้างเคียงทั่วไปแล้ว อาการแพ้ที่เกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขจากหลายประเทศได้ออกมาเตือนว่า ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหารมาก่อนมีแนวโน้มที่จะแพ้วัคซีน COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น หากใครมีประวัติแพ้ยาหรืออาหาร ก็ควรแจ้งประวัติให้แพทย์ได้ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
อาการแพ้ของวัคซีนแต่ละตัวมีลักษณะแตกต่างกันออกไป แต่อาการแพ้ในวัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna คล้ายคลึงกันมาก โดยผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในวัคซีนทั้งสองตัวนี้ อาจเป็น โพลี เอธิลีน ไกคอล (polyethylene glycol) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีอยู่ในวัคซีนทั้งสองชนิดก็เป็นได้
อีกทั้ง วัคซีนจากทั้งสองเจ้านี้ ยังเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเหมือนกัน นั่นคือ เป็นวัคซีนที่ผลิตจาก mRNA ซึ่งถือเป็นวัคซีนรูปแบบใหม่ที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อในมนุษย์
ถึงจะเป็นวัคซีนที่ไม่เคยใช้กับมนุษย์มาก่อน แต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ก็ยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงในประชาชนหลายหมื่นคนที่มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยวัคซีนทั้งสองชนิด ขณะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) ก็อ้างถึงสถิติจากผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.9 ล้านคน ที่พบผู้มีอาการแพ้อย่างน้อย 21 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 11 คนต่อ 1 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก โดยประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna อยู่ที่ 95% และ 94.5%
อีกด้านหนึ่ง วัคซีนของ AstraZeneca และ Sputnik V ก็ถือว่าเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่ใช้ในมนุษย์เช่นกัน จึงต้องจับตาดูผลจากการใช้วัคซีนในระยะยาวอีก โดยวัคซีน AstraZeneca นั้น เบื้องต้นพบอาการของผู้แพ้วัคซีน เช่น ผื่นขึ้นตามร่างกายและหน้าบวม ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 70% โดยเป็นค่าเฉลี่ยจาก 2 กลุ่มทดลอง ซึ่งมีผลอยู่ที่ 62% และ 90%
สำหรับวัคซีนจาก Sputnik V นั้น ยังไม่มีรายงานอาการแพ้ของผู้ที่ฉีดวัคซีนออกมา แต่ผลการทดลองระบุว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพถึง 91.4%
ส่วนวัคซีนจาก Sinopharm มีรายงานว่า พบอาการข้างเคียงที่คล้ายคลึงกับวัคซีนอื่นๆ อย่าง ปวดหัว เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนล้า และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายก็มีอาการไม่อยากอาหารและอาเจียนบ้าง ส่วนอาการแพ้ของวัคซีนอย่างหอบหืด ทอนซิลอักเสบ ปวดตา หรือตาพร่ามัว แต่ตามรายงานอ้างว่า ถือเป็นอาการที่พบได้ยากมาก โดยมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 79%
ขณะที่ วัคซีน Sinovac นั้น ยังไม่มีรายงานของอาการแพ้จากวัคซีน เพราะยังอยู่ในช่วงทดลองเฟส 3 แต่มีข้อมูลว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนรายหนึ่ง มีอาการแพ้ใน 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก แต่อาการก็ทุเลาลงใน 3 วัน และไม่มีอาการแพ้อีกหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
ถึงอย่างนั้นข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ที่เปิดเผยออกมานั้น ก็มีตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ จากตอนแรกที่มีรายงานว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 78% ลดลงมาจนเหลือไม่ถึง 60% และล่าสุดก็มีรายงานว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% เท่านั้น
แน่นอนว่า ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่มีประสิทธิภาพถึง 100% แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็มองว่า วัคซีนสำหรับ COVID-19 นั้น ต้องมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 50% ขึ้นไป เช่นเดียวกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ที่ระบุว่า สหรัฐฯ จะรับรองเฉพาะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 50% เท่านั้น ขณะที่ แอนโทนี ฟาวชี (Anthony Fauci) ผอ.สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อของสหรัฐฯ มองว่า วัคซีนที่ดีควรมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 75% ขึ้นไป
ส่วนวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น ตอนนี้มีเพียงวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech เท่านั้นที่ WHO อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก WHO นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ดี วัคซีน COVID-19 โดยมากต้องฉีด 2 ครั้งจึงจะได้ผล แม้ว่าผู้รับวัคซีนจะมีอาการข้างเคียงจากการฉีดครั้งแรกไปแล้ว ก็ยังสามารถฉีดเข็มที่สองได้ เว้นแต่ว่าผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ซึ่งเป็นผู้สังเกตอาการจะไม่อนุญาตให้ฉีดเข็มที่สอง และต้องรอให้วัคซีนทำงานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปแล้วด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น จะได้รับวัคซีน Sinovac จากจีน โดยล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส จะส่งมาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากนั้น ล็อตต่อมาอีก 8 แสนโดส จะส่งมาในช่วงเดือนมีนาคม และล็อตสุดท้ายอีก 1 ล้านโดส จะส่งมาในเมษายน นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนล็อตใหญ่จากแอสตราเซนเนกาอีก 26 ล้านโดส
อย่างไรก็ดี แม้จะเริ่มฉีดวัคซีนกันไปในหลายประเทศแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องจับตามองผลข้างเคียงและอาการแพ้จากวัคซีนจากแต่ละแหล่งกันต่อไป เพราะอย่างที่เล่าไปว่า กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 นั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าครั้งก่อนๆ มาก
อ้างอิงจาก