ครบ 8 ปีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะได้อยู่ต่อไหม หรือจะได้พ้นจากตำแหน่งกันนะ?
ท่ามกลางความคุกกรุ่นของประชาชนที่กำลังเฝ้ารอว่า 8 ปีของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญต้องนับยังไง ในช่วงสัปดาห์นี้ก็ได้มีเอกสารชี้แจงของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หลุดออกมาให้ได้ชมกัน
เนื้อความภายในเอกสารสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลายคนมองว่า นี่เป็นการพลิกลิ้นของอดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อปี 2561 เคยกล่าวไว้อีกแบบ แต่มาตอนนี้กลับกล่าวไปอีกทาง จนคนสงสัยว่า เราต้องเชื้อ ‘มีชัย’ ในไทม์ไลน์ไหนกันแน่?
The MATTER ขอนำเอกสารชี้แจงนี้มาเปรียบเทียบกับคำกล่าวของมีชัยในอดีต เพื่อให้เห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำรงการตำแหน่งนายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติไว้ เป็นอย่างไรกันแน่
อ้างตามข้อความในเอกสารที่มีชัยอ้างถึงหนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 40/2565 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น สั่งให้มีชัยในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ซึ่งมีความว่า “ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ใช้บังคับตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด”
ความเห็นของมีชัย (ในปี 2565) มีดังนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ, ที่มา, วิธีการได้มา, กรอบในการปฏิบัติหน้าที่, ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และผลจากการพ้นจากตำแหน่งไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้นจึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ
3. การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ
4. ผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ถ้าย้อนกลับไปดูในการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา ได้มีการพิจารณาความมุ่งหมายและคําอธิบายประกอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 158 ในวรรคสาม ประเด็นนายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
ซึ่งสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. คนที่หนึ่ง ได้กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ2560 ด้วย
ส่วนมีชัย ในฐานะประธาน กรธ.กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”
มีชัยระบุอีกว่า การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี
แต่พอมาในปี 2565 นี้ มีชัยกล่าวถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ว่า ขอเรียนว่าเป็นการรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุม เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้
ถึงอย่างนั้น สื่อหลายสำนัก เช่น ผู้จัดการออนไลน์ มติชนออนไลน์ ก็รายงานตรงกันว่า ในระเบียบวาระที่ 2 ของการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 ได้มีการรับรองบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 497 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 ถึงครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2561 ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่า ข้อความนี้ไม่ตรงกับเอกสารชี้แจงที่มีชัยทำต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 ซึ่งเป็นบันทึกที่จะบ่งชี้ว่า การประชุมครั้งที่ 500 ได้ถูกรับรองแล้วหรือไม่ เพื่อที่ศาลจะพิจารณาเพิ่มเติม เราถึงจะได้คำตอบเรื่องการนับวาระนายกฯ กัน
แล้วแบบนี้ เราจะเชื่อ ‘มีชัย’ ในไทม์ไลน์ไหนกันดีน้า…
อ้างอิงจาก