จาก ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ซึ่งเขาเคยพูดไว้หลายปีก่อน และถึงปัจจุบันก็ยังให้ชื่อกับระบอบนี้ไม่ได้ รู้เพียงว่ามันกุมความเป็นไปของประเทศนี้อยู่ ทั้งหน้าและหลังฉาก
มาจนถึง ‘นิติรัฐแบบไทยๆ’ ที่อาจไม่จำเป็นต้องมีใครกดปุ่มสั่ง ทว่าคนในเครือข่ายชนชั้นนำแทบจะรู้กันโดยนัยว่า คดี ‘ได้เสียทางการเมือง’ ต่างๆ ควรจะตัดสินไปในทางทิศทางไหน
ทั้งหมดทั้งมวล ดูเหมือนว่าเรากำลังสู้กับสิ่งที่ใหญ่โตมโหฬาร จนแทบจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้เลย
ทว่าในมุมของ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ กลับคิดว่า แม้หลายอย่างจะดูวนลูป แต่มันไม่หมุนเป็นวงกลม ทว่าเป็นเกลียว อาจไม่เป็นเส้นตรง แต่ไปข้างหน้า
..10 ปีที่ผ่านมา หลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น
..ความสำเร็จของการผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาสู่ที่สาธารณะ
..คดี 112 เริ่มมีศาลใช้อย่างถูกต้องตามหลักการมากขึ้น เทียบกับในอดีต
“อาจจะเป็นอย่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยพูดไว้ว่า การต่อสู้ช่วงชิงกันในทางระบบ ยังต้องทำต่อไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน”
กว่าสองชั่วโมงครึ่ง The MATTER พูดคุยกับนักวิชาการกฎหมายรายนี้ในหลากหลายเรื่องราว และเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจจึงขอแยกเป็น 10 ประเด็นสำคัญ
ชวนอ่านและมาพูดคุยกันว่า คุณเห็นด้วยกับความเห็นของ อ.วรเจตน์ในประเด็นต่างๆ เหล่านี้หรือไม่
1.
ระบอบที่(ก็ยัง)ตั้งชื่อไม่ได้
เราชวน อ.วรเจตน์ย้อนคุยถึงบทสัมภาษณ์ของเขาก่อนการเลือกตั้งทั่วในไปในปี 2562 เรื่อง ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ว่าเมื่อการเมืองต่างๆ เดินมาถึงจุดนี้ เราสามารถให้ชื่อระบอบนี้ได้แล้วหรือยัง – ที่ตั้งชื่อไม่ได้ เพราะตั้งไม่ได้จริงๆ หรือถ้าตั้งไปแล้วจะมีปัญหากันแน่?
“ตอนที่ให้สัมภาษณ์น่าจะเป็นช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว ในทางกฎหมาย พอผมเข้าไปดูเนื้อหาก็พบความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจากรัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะเรื่องสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผมเคยให้สัมภาษณ์ไว้บ้างว่า เรื่องเหล่านี้มันจะเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญปี 2492 ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2490 ก็มีการกำหนดบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่เกิดขึ้นหลัง รสช.ยึดอำนาจในปีเดียวกัน ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องกฎมณเฑียรบาลและการสืบสันตติวงศ์ แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดยังไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงหลังรัฐประหารปี 2557 โดย คสช.”
อ.วรเจตน์บอกว่า นอกจากเรื่องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่ตนสนใจในรัฐธรรมนูญ ยังรวมถึงสถานะทางการเมืองของกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาในปี 2475 เราจะเห็นว่า ประเทศไทยจะถูกปกครองสลับกันระหว่าง ‘ระบบรัฐประหาร’ กับ ‘ระบบเลือกตั้ง’
เขายังบอกว่า การรัฐประหารเอง โดยเนื้อแท้แล้วคือความพยายามในการแสดงตัวของกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งออกมา แต่มันก็เป็นเพียง ‘ระบบหนึ่ง’ ใน ‘ระบอบใหญ่’ ฉะนั้นเมื่อมีการรัฐประหาร แม้กฎเกณฑ์บางอย่างอาจปรับเปลี่ยนบ้าง แต่ตัวโครงสร้างใหญ่ๆ จะไม่ค่อยเปลี่ยน เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์หรือศาล องค์กรเหล่านี้รวมถึงระบบราชการจะได้รับผลกระทบน้อย หากเทียบกับองค์กรทางการเมือง
“แต่การ shift ครั้งสำคัญ คือตอนรัฐประหารปี 2549 เพราะไม่เคยปรากฎรัฐบาลที่เข้มแข็งได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนมากเท่านี้มาก่อนในประวัติศาสตร์เท่ากับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2548 แบบ landslide สิ่งนี้มันสร้างความกังวลให้กับฝ่ายชนชั้นนำในสังคมไทย เกรงว่าจะมาสั่นสะเทือนต่อสิ่งที่เคยเป็นมาแต่เดิม ก็เลยเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อหยุดยั้ง มีการนำศาลเข้ามา ที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ เพื่อสลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ประกอบกับองค์กรอิสระต่างๆ เริ่มเผยตัวว่าที่สุดแล้วก็เป็นเพียงระบบราชการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อมาคุมระบบการเมือง”
เขาสรุปว่า ที่บอกว่า ระบอบนี้เป็นระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้ อาจเพราะเรายังไม่สามารถคิดชื่อที่มันเหมาะสม เพราะมันมีความผันแปรมา รัฐประหารในปี 2557 ก็เป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งยังส่งผลมาถึงการเมืองในปัจจุบันนี้ ฉะนั้นเวลาเราดูการตัดสินคดีต่างๆ จะดูแบบขาดจากช่วงเวลาเหล่านั้นไม่ได้ แม้ว่าตัวละครจะเปลี่ยนไป
2.
จุดอ่อนในระบบกฎหมาย ที่เปิดช่องให้ ‘รัฐประหาร’
เราถามว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามีความสำคัญอย่างไรใน ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ นี้
“ยังประเมินทั้งหมดไม่ได้ เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาครั้งเดียว แล้วตัวผู้นำรัฐบาลปัจจุบันก็เป็นตัวผู้นำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมี ส.ว.แต่งตั้งคอยสนับสนุนอยู่ (อยู่จนถึงปี 2567) ต้องรอดูว่า ส.ว.ชุดต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ตัวระบบที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะสามารถจัดการได้แค่ไหน”
อ.วรเจตน์ระบุว่า จำได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์หงุดหงิด ตอนถูกถามเรื่องโอกาสรัฐประหาร ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ถ้าเรียกร้องให้ทหารออกมา “พวกเขาจะอยู่นาน” และก็ทำได้นานจริงๆ ที่สำคัญคือในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เอาการรัฐประหารไม่สามารถคุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะถ้าคุมได้ ต่อให้มี ส.ว.แต่งตั้ง เขาก็จะอยู่ไม่ได้ แม้โอเคว่า สิ่งที่ทำให้คุมไม่ได้จะเกิดปัจจัยแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น การยุบพรรคไทยรักษาชาติ, การตีความเรื่อง ส.ส.พึงมีของ กกต. เป็นต้น
เขายังชี้ให้เห็นปัญหาของระบบกฎหมายไทยที่ ‘เปิดช่อง’ ให้กองทัพเข้ายึดอำนาจได้
- การรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง (ในปี 2549 และปี 2557) เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศ ‘ยุบสภา’ แล้ว ประกอบกับศาลและองค์กรต่างๆ มีคำวินิจฉัยออกมาด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้คนรู้สึกว่าการเมืองติดล็อก กลายเป็นช่องให้ทหารแทรกเข้ามา เหตุผลเป็นเพราะรัฐธรรมนูญไทยไม่เคยบัญญัติให้มีสภารักษาการต่อไปจนกว่าจะมีสภาชุดใหม่ หลังนายกฯ ประกาศยุบสภา “ผู้แทนปวงชนมันไม่ควรจะขาดช่วง” ซึ่งหากตนมีโอกาสทำรัฐธรรมนูญ – ที่ก็คงไม่มีหรอก – แต่สมมุติว่ามี จะใส่เรื่องนี้เข้าไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองได้ง่าย อาจจะจำกัดอำนาจอะไรบางอย่าง แต่มันจะไม่ทำให้เกิดเดดล็อกได้ง่าย
- การรัฐประหารครั้งหลังสุดในปี 2557 ของ คสช. ทำผ่านการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งคณะนิติราษฎร์ก็เคยออกแถลงการณ์ชี้ว่า การประกาศกฎอัยการศึกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็น ผบ.ทบ. 2 วันก่อนยึดอำนาจ (ใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2557 และยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐบาลขณะนั้นกลับไม่กล้าโต้กลับทางกฎหมายว่าการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวไม่ชอบ คือยังไงๆ เขาก็ยึดอำนาจ อย่างน้อยน่าจะสู้ทางกฎหมายให้ถึงที่สุด และจริงๆ รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องเป็น ‘ม้าไม้เมืองทรอย’ ว่าเมื่อกองทัพประกาศกฎอัยการศึกแล้ว พลเรือนจะอยู่ภายใต้กองทัพทันที ถ้าฝ่ายการเมืองไม่คิดที่จะแก้ไขตรงนี้ก็จะป้องกันการรัฐประหารได้ยาก หรือองค์ประกอบของสภากลาโหมปัจจุบันก็ต้องเปลี่ยน จะปล่อยให้เป็นแบบนี้อยู่ไม่ได้
“นี่คือช่องว่างของระบบกฎหมายบ้านเรา แล้วพอยึดอำนาจเสร็จก็มีคนที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเขียนกฎหมายให้ มันเลยทำให้พอเกิดการรัฐประหารขึ้นแล้วกลไกต่างๆ ที่จะทำให้เกิด order (ระเบียบ) ในสังคม เขาถึงคุมได้ไง” อ.วรเจตน์สรุป
3.
คดีสำคัญ ไม่จำเป็นต้องมี ‘ใบสั่ง’
คุณคิดว่า การตัดสินคดีการเมืองสำคัญ ‘ทุกคดี’ จะมี ‘ใบสั่ง’ ไหม – อ.วรเจตน์ไม่เชื่อเช่นนั้น
“อาจมีคนเข้าใจว่า ภายใต้ระบอบแบบนี้มันจะมีการกดปุ่มสั่งในทุกๆ คดีที่จะเป็นผลดีกับผู้มีอำนาจ แต่ผมคิดว่าไม่ขนาดนั้น”
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์รายนี้ ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของฝ่ายที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงว่า ยังไม่สามารถเสนอโมเดลที่จูงใจให้กับ ‘คนที่พอใจกับระบอบปัจจุบัน’ ไม่รู้สึกว่าจะสูญเสียอะไรไป หรืออย่างน้อยๆ จะไม่ไปสู่สิ่งที่มันแย่กว่า แน่นอนว่า คงไม่มีใครรู้อนาคตทั้งหมด 100% แต่อย่างน้อยก็พอเห็นโครงร่างว่ามันน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ จูงใจให้คนจำนวนมากเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือเป็นนิติรัฐที่มากขึ้น
“เมื่อเรายังไม่สามารถจูงใจให้คนเห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวกลไกของระบอบนี้ เมื่อถึงเวลาต้องชี้ขาดคดีสำคัญ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าโครงข่ายชนชั้นนำเขาคุยอะไรกันบ้าง แต่ผมเชื่อว่าหลายเรื่องก็ไม่ต้องคุย แต่คนที่ตัดสินคดีจะรู้ว่าจะต้องตัดสินไปในทางไหน ผมไม่เชื่อว่าทหารจะสั่งศาลได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าคดีใดมีปัญหาต้องตีความ มันก็จะเกี่ยวข้องกับ ideology ของคนใช้กฎหมาย ซึ่งนี่ยังเป็นความสำเร็จของระบอบเดิมอยู่ เพราะ ideology มันจะเป็นตัวกำกับการใช้และการตีความกฎหมาย หรือบางทีเขาก็จะดูว่า ถ้าจะขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เขาถูกจับตามองอยู่ จะต้องตีความแบบไหน
“ฉะนั้น บางเรื่องมันไม่ต้องสั่งหรอก เขาก็ตัดสินใจภายใต้ความอิสระ แต่เป็นความอิสระภายใต้อุดมการณ์บางอย่างที่คอยกำกับอยู่” อ.วรเจตน์กล่าว
4.
คาดเดาผล คดีวาระ 8 ปีประยุทธ์
จากคำถามเรื่องใบสั่งคดี (ซึ่ง อ.วรเจตน์เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมีในทุกคดี) เราจึงถามต่อว่าแล้ว คดีสำคัญที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2565 อย่างคดีวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ‘ห้ามเกิน 8 ปี’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 น่าจะออกทางไหนได้บ้าง
ก่อนจะให้คำตอบ เขาแจกแจงว่า เรื่องนี้สามารถให้คำตอบได้ 2 แบบ คือ ‘ในเชิงการเมือง’ และ ‘ในเชิงกฎหมาย’
“ในเชิงการเมือง อาจต้องดูบริบทตอนยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า สถานภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร เรามองจากตอนนี้เพื่อพยากรณ์ไม่ได้หรอก เพราะมันต้องอาศัยบริบทแวดล้อมช่วยมองด้วย ต้องไปดูว่า ณ ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะยังไปต่อได้ไหม เป็นสินค้าที่จะหมดอายุในแง่การใช้งานหรือยัง ซึ่งผมไม่ค่อยชอบฟันธงในเรื่องนี้ ถ้าว่ากลัวผิดไหม ก็ใช่ เพราะมันเป็นการคาดเดากันทางการเมือง
“นอกจากนี้ การเมืองมันเป็นเรื่องของ ‘ความอยากให้มันเป็น’ ฝ่ายที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ก็อยากให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็อยากให้เริ่มนับปี 2562 เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพูดอะไรไปก็โดนด่า เพราะการเมืองจะมีแฟนคลับ มีกองเชียร์ มีติ่ง”
อ.วรเจตน์จึงชวนมองคดีนี้ในเชิงข้อกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีวิธีนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ 3 แนวทาง
- แนวทางที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่เป็นนายกฯ สมัยแรก ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557
- แนวทางที่ 2 เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560
- แนวทางที่ 3 เริ่มนับตั้งแต่เป็นนายกฯ สมัยสอง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562
“ในความเห็นของผม ควรเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ อันนี้ไม่ได้บอกว่าผมเดินสายกลางนะ แต่ดูความสมเหตุสมผลในเชิง logic และตัวบท การนับแบบนี้มีเหตุผลที่สุด มากกว่าอีก 2 ทางเลือก ซึ่งมันมีข้ออ่อนคนละอย่าง
“หากย้อนไปเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ก็จะมีคำถามว่า แล้วจะใช้กับอดีตนายกฯ คนอื่นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยหรือไม่ ทางเลือกนี้แม้จะเป็น ‘ทางลัด’ ที่สุดในการเอา พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง แต่จะมีคำถามเรื่องความสมเหตุสมผล ส่วนที่ให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ตามที่ฝ่ายกฎหมายของสภาบอก ก็มีจุดอ่อนสำคัญ เพราะในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ได้เขียนไว้ว่า ให้รัฐบาล คสช.ขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เสมือนรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยรัฐธรรมนูญปี 2560”
อ.วรเจตน์ยังเชื่อว่า เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ในรัฐธรรมนูญ เป็นมรดกของการโค่นรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2549 เพราะเดิมไม่เคยมีเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญไทย เพราะนายกฯ ไทยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับประธานาธิบดี โดยเรื่องวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไทยมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ครั้งนั้นไปเขียนว่าต้องเป็น ‘ติดต่อกัน’ พอมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เลยแก้เป็นว่า ‘จะติดต่อกันหรือไม่ก็ได้’
“คนเขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 อาจจะลืมนึกถึงกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ไป หรืออาจจะไม่ลืมก็ได้ แต่คิดว่าอย่าไปเปิดประเด็นเลย เอาไว้ค่อยว่ากันในอนาคต”
5.
นิติรัฐแบบไทยๆ คือนิติรัฐที่มี ‘ข้อยกเว้น’
เรายกกรณีที่ อ.ธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันของสหรัฐอเมริกา เคยพูดไว้ว่า ประเทศไทยใช้หลัก rule by law (ใช้กฎหมายมาปกครอง) มากกว่า rule of law (ปกครองด้วยนิติรัฐ) มาเป็นประเด็นที่จะพูดคุยต่อ
อ.วรเจตน์เสริมว่า จริงๆ มันมีคนเสนอนิยามด้วยว่า ‘หลักนิติรัฐแบบไทยๆ’ คือ Thai-style rule of law ซึ่งคล้ายกับที่ อ.ธงชัยเสนอ คือเป็นหลักนิติรัฐแบบที่มีข้อยกเว้น
“จริงๆ บ้านเราเวลาพูดถึง rule of law มันไม่ถึงกับว่าไม่มีเลย แต่มันมีอยู่ในบางส่วนบางจุด เช่น หากคุณมีคดีความในศาล ถ้าคุณเป็นคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก และมีทนายที่ฝีมือพอใช้ได้ ก็มีโอกาสจะได้สิ่งที่ถูกต้องกับตัวคุณนะ คือในระนาบทั่วไปมันยังมี rule of law อยู่ แต่ถ้าในระดับได้เสียทางการเมือง ในระนาบใหญ่ เรายังไม่เป็น rule of law อันเนี้ยแหละใช่”
เขายังบอกว่า จะประเมินการใช้กฎหมายในบ้านเรา ดีที่สุดต้องประเมินเป็น layer (ชั้น) ถ้าเป็นคดีการเมืองการปกครอง จะบอกว่าเป็น rule by law ตนคิดว่าใช่ เรื่องสิทธิเสรีภาพบางอย่าง ใช่ แต่คดีอื่นๆ บางเรื่องเป็น rule of law ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปเจอเรื่องอะไร ในจังหวะไหน
“rule by law ในเชิงของการได้เสียทางการเมือง คล้ายๆ กับว่าหลักนิติรัฐแบบไทยๆ มันคือหลักนิติรัฐแบบมีข้อยกเว้น ถ้าเรากำหนดสักพื้นที่หนึ่ง แล้วหลักนิติรัฐคือไฟที่ฉายลงมา มันก็จะมีส่วนที่สว่างอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีส่วนมืด ส่วนมืดก็คือส่วนที่ไม่เป็น rule of law ซึ่งมีอยู่จริงๆ ในระบบกฎหมายของไทย ทั้งในแง่ตัวกฎเกณฑ์และการบังคับใช้”
อ.วรเจตน์ยังยกตัวอย่างคดี ‘ได้เสียทางการเมือง’ ที่ยังเป็นปัญหา ระยะใกล้ คือคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ที่จนบัดนี้ยังไปไม่ถึงไหน ระยะไกลหน่อย คือคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ถามว่ามีคดีไหนบ้างที่พิสูจน์ได้ว่า อดีตนายกฯ รายนี้ทุจริตจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีต้นเหตุที่ทำให้ต้องหนีไปต่างประเทศอย่างคดีประมูลที่ดินรัชดาฯ ซึ่งเป็นเพียงการเซ็นชื่อให้ภรรยาไปประมูลที่ดิน หรือคดีสาขาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากคดียึดทรัพย์
6.
ยังต่อสู้ให้เกิดความยุติธรรมได้อยู่ไหม
กับคำถามนี้ อ.วรเจตน์ตอบเร็วว่า มีช่องทางอยู่ แต่ต้องใช้เวลา ไม่เร็ว ที่สำคัญมันไม่ง่าย และการไปคาดหวังให้คนที่อยู่ในระบบราชการมาร่วมต่อสู้ด้วย คงเป็นเรื่องยาก เพราะเขาสู้ไปก็ไม่ได้อะไร รังแต่จะทำให้ความก้าวหน้าทางอาชีพของเขามันช้าลงหรือกระทั่งเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ ข้าราชการเป็นคนที่รู้ร้อนรู้หนาวช้าที่สุดแล้ว เพราะมีสวัสดิการต่างๆ รองรับอยู่
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงมันยาก เพราะตัวระบอบเองก็ต้องพยายามรักษา status quo ไว้ เวลาคัดคนเข้าสู่ระบอบ เดี๋ยวนี้ก็จะมีการกรองกันอย่างเข้มงวดว่าเป็นภัยต่อระบอบหรือเปล่า ทั้งเชิงพฤติกรรมและความคิด เช่น มีอดีตทูตคนหนึ่ง (รัชนันท์ ธนานันท์ อดีตทูตไทยประจำฟินแลนด์) เคยไปต้อนรับคุณทักษิณแล้วภายหลังสมัครเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 รอบปรากฎว่า ส.ว.แต่งตั้งลงมติไม่ให้เป็นทั้ง 2 รอบ หรือคดียึดทรัพย์คุณทักษิณ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินออกมา 8:1 ปรากฏว่าเสียงข้างน้อย (ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล) ไปสมัครเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ไม่ได้เป็น เพราะถูก สนช.ตีตก นี่คือกลไกที่เป็นตัวส่งสัญญาณ ว่าถ้าคุณอยากจะขึ้นไปสูงๆ คุณต้องอย่านะ
“อาจจะเป็นอย่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และอดีตนายกฯ หลายสมัย) เคยพูดไว้ว่า ‘การต่อสู้ช่วงชิงกันในทางระบบ ยังต้องทำต่อไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน’ แต่ถามว่ามันหมุนวนลูปเป็นวงกลมไหม ผมก็คิดว่าไม่นะ มันอาจจะหมุนบ้าง แต่มีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า เพียงแต่มันไม่เป็นเส้นตรง จะค่อยๆ หมุนเป็นเกลียว
“ผมจึงรู้สึกว่ามันยังไปข้างหน้าอยู่ เพราะ 10 ปีกว่าที่ผ่านมา คนรู้อะไรมากขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น แล้วเราก็ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเยอะแยะเลย มันก็มีความสว่างขึ้นมา แต่ยังไม่พอ ยังต้องไปต่ออีก” อ.วรเจตน์กล่าว
7.
คดีล้มล้างการปกครองฯ = ปิดประตูปฏิรูปสถาบัน?
คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำปราศรัยของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎร คือรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เรื่อง 10 ข้อเสนอปฏิรูปเสนอสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คดีล้มล้างการปกครองฯ) ในมุมมองของ อ.วรเจตน์คิดว่า ผลทางคดีโดยตรงคงจะมีไม่มากนัก โดยเฉพาะผลในการลงโทษทางอาญา แต่จะทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ ทำได้ยากขึ้น – เพราะอะไร?
“มีความพยายามตีปี๊บโดยฝ่ายกองเชียร์ที่พยายามรักษาระบอบนี้ไว้ว่า จะไปควานหาคนที่อยู่เบื้องหลังเพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ‘องค์กรเครือข่าย’ ด้วย ซึ่งแม้ในทางกฎหมายมันคงจะทำไม่ได้ง่าย แต่มันจะมีนัยยะอื่นๆ อยู่ด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้เซ็ตเอาไว้ว่าข้อเรียกร้องแบบนี้มันคือการล้มล้าง ฝ่ายตำรวจและรัฐบาลก็จะเริ่มขยับมากขึ้น ไม่นานมานี้ผมก็เห็นการเข้าไปยึดหนังสือที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มันเหมือนกับมีสภาพเป็น ‘นโยบาย’ ว่าเรื่องเหล่านี้ต่อไปจะมีการดำเนินการที่เข้มมากขึ้น ฉะนั้นการเดินในทางกฎหมายมันก็จะเรียวแคบมากขึ้น แม้ไม่ถึงกับขนาดว่าทำอะไรไม่ได้เลย แต่มันจะลำบากยากขึ้นกว่าเดิม”
ส่วนตัว อ.วรเจตน์มองว่า ความเคลื่อนไหวหลังจากนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง อาจจะต้องยกประเด็นอื่นๆ ขึ้นมาแทน แต่ความสำเร็จหนึ่งของกลุ่มที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คือทำให้เรื่องนี้ออกมาสู่การรับรู้ของสาธารณชน
“หากเทียบกับสมัยที่พวกผมเคยขับเคลื่อนเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ปริมาณความสำเร็จมันน้อยกว่านี้มาก เป้าหมายตอนนั้นคืออยากให้คนรับรู้ถึงปัญหาการใช้มาตรานี้ในที่สาธารณะเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าหากสภารับลูกไปพูดคุยต่อในที่ประชุมก็น่าจะดี แต่สุดท้ายเขาก็ตีตกไปแต่แรก
“คดีล้มล้างการปกครองจะมีผลกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก ว่าเขาสามารถจะดำเนินการอะไรได้บ้าง เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้ไว้แล้วว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ที่เขาจะใช้อันนี้เป็นตัวเบรก หรือทำให้การเคลื่อนไหวมันฝ่อลง พร้อมๆ กับใช้กลไกทางกฎหมายมาจัดการ ซึ่งเราก็เห็นการใช้กลไกแบบนี้มาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และก็ยังใช้ได้ผลอยู่ แต่ผมก็เคยเตือนไว้ด้วยว่า มันจะตามมาด้วย cost หรือราคาที่ต้องจ่ายเยอะมากๆ”
8.
ม.112 กับความเปลี่ยนแปลง
“ผมเคยพูดตั้งแต่ทำ ครก.112 (คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112) ว่าปัญหาของมาตรา 112 มันมี 3 ชั้น คือ 1.ปัญหาของการบังคับใช้ 2.ตัวบทที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร 3.อุดมการณ์ที่กำกับการใช้และการตีความกฎหมาย ซึ่งแต่ละชั้นจะต้องวิเคราะห์ด้วยแว่นที่แตกต่างกันนิดหน่อย
“เวลาถามว่ามันจะมีความเปลี่ยนแปลงได้ไหม แน่นอนในโครงสร้างตัวบทมันยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงๆ มาตรา 112 เคยมีความเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 โดยการกำหนดให้มีโทษหนักขึ้น เดิมทีไม่มีขั้นต่ำ จากจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุก 3 ถึง 15 ปี และการแก้ไขนี้ไม่ได้ทำโดยรัฐสภาด้วย แต่ทำโดยคำสั่งของคณะรัฐประหาร”
อ.วรเจตน์ยังพยายามมองในแง่ดีว่า แม้ตัวบทของมาตรา 112 จะยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันใกล้ แต่การบังคับใช้กลับเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง อย่างมีศาลชั้นต้นแห่งหนึ่งตัดสินว่ามาตรา 112 คือพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ซึ่งถูกต้อง หลายปีก่อนเคยมีคดีหมิ่นรัชกาลที่ 4 ที่ผมไม่เห็นด้วยกับการตีความให้มาตรา 112 รวมไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคติไปแล้ว การตีความของศาลชั้นต้นล่าสุดจึงกลับมาสู่หลัก แต่ไม่รู้ว่าพอขึ้นไปสู่ระดับบน ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา จะถูกกลับการตีความอีกหรือไม่ แต่มันก็พอเห็นร่องรอยของความเปลี่ยนแปลงบ้าง
ส่วนการเรียกร้องให้แก้ไขตัวบทของมาตรา 112 นั้น อ.วรเจตน์ชี้ว่า ‘ยากถึงยากที่สุด’ ดูจากท่าทีของพรรคต่างๆ แม้จะมีบางพรรคพยายามผลักดัน แต่ก็ต้องดูด้วยว่ามีกำลังพอจะนำเข้าไปพูดคุยในที่ประชุมสภาฯ ได้หรือไม่
“ส่วนในเชิงอุดมการณ์ ยิ่งไปกันใหญ่ อันนี้จะแก้ยากที่สุด คือถ้าคุณแก้ตรงนี้ได้จะทอนการบังคับของการใช้มาตรา 112 ได้ในระดับหนึ่ง แม้โทษจะยังมีอยู่ แต่อาจจะเบาลง หรือการตีความบางอย่างจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเปลี่ยนเร็ว อาจต้องใช้เวลาเป็นเจเนอเรชั่น”
ท้ายสุด สำหรับประเด็นมาตรา 112 เขาบอกว่า เราจะเห็นด้วยกับการดำรงอยู่ของมาตรา 112 หรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ต้องยอมรับว่ากฎเกณฑ์ของมันยังดำรงอยู่ ถ้าทำอะไรก็ตามที่เข้ากฎเกณฑ์ก็จะยากในทางคดี ต่อให้ได้ทนายวิเศษขนาดไหน แต่ถ้ามันก้ำกึ่ง ถ้าได้ทนายที่สู้คดีดีๆ ก็อาจจะพอหลุดได้
“ในเมื่อระบบกฎหมายยังเดินอยู่ คุณก็ต้องพยายามเดินในทางกฎหมายให้ได้ ขณะเดียวกันการรณรงค์เพื่อความเปลี่ยนแปลง ในทางกายภาพ เช่น การลงถนน มันก็ยังจำเป็นอยู่ในบางช่วงเวลา แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้อาจจะต้อง connect ปัญหาทางการเมืองกับปัญหาทางเศรษฐกิจ มันก็จะมีกำลังมากขึ้นในแง่ของการเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลง” คำแนะนำจากผู้เคยเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 มาก่อน
9.
ความสำเร็จในฐานะคนสอนหนังสือ
ในฐานะคนที่สอนหนังสือในคณะนิติศาสตร์มาหลายสิบปี และออกมาให้ความเห็นเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ กับสังคมอยู่เรื่อยๆ อ.วรเจตน์ประเมินว่า มีความสำเร็จอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าที่คิดไว้
เขาบอกว่า เคยถูกกล่าวหาว่า ‘ล้างสมองนักศึกษา’ แต่ตนก็แย้งไปว่า นักศึกษาเขาคิดเองเป็น โตมาจนมีอายุขนาดนี้จะไปล้างสมองอะไรเขา คุณสม่ำเสมอในความคิดเห็นของคุณเอง ทำให้มั่นใจได้ไหมเวลาให้ความเห็นอะไรว่าไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ถ้าคุณทำได้ พวกนักศึกษาก็อาจจะเชื่อตาม ที่สำคัญ ความเห็นทางกฎหมายของตน มันไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะไม่ได้อยู่ในองค์กรที่มีอำนาจพิพากษา แต่ในแง่หนึ่งการที่ออกให้ความเห็น ก็ช่วยทำให้คนได้เห็นมุมมองใหม่ๆ
“มีคนบอกว่าสมัยผมทำนิติราษฎร์ มันเหมือนได้เปิดม่านอะไรบางอย่าง เพราะในอดีตไม่ค่อยมีนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาเท่าไหร่ แต่ผมวิพากษ์วิจารณ์ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม ซึ่งผมถือหลักว่าจะต้องแฟร์กับศาล เพราะศาลพูดก่อนผมพูดทีหลัง เวลาเราจะวิพากษ์วิจารณ์เราจะต้องอ่านคำพิพากษาให้ละเอียด แล้ววิจารณ์โดยใช้เหตุผล ซึ่งแน่นอนทำแบบนี้เขาคงจะไม่ชอบหรอก เพราะตัดสินคดีไปแล้วถูกวิจารณ์ ใครจะชอบ แต่ผมก็ทำโดยไม่มีเหตุโกรธเคืองอะไรกับคนที่ตัดสินคดี หลายคนผมไม่รู้จักด้วย แล้วผมก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ
“คือการสู้มันทำได้หลายมิติ บางคนก็บอกว่าคุณไม่ต้องใช้กฎหมายหรอก ไปดูว่าศาลเป็นพวกใครพวกอะไรไป อันนั้น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ในการเผยว่าผู้พิพากษานี้มาจากไหน เป็นใคร เชื่อมโยงกันยังไง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องทำจากความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งคนที่เรียนด้านอื่นมาอาจจะทำไม่ได้ หากเทียบกับนักนิติศาสตร์ ซึ่งมันก็เป็นภารกิจของพวกผม ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่จะครุ่นคิด ตรึกตรอง เพื่อผลักให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้มันดีขึ้น ซึ่งผมก็ทำในกรอบเหล่านี้
อ.วรเจตน์บอกว่า การสอนหนังสือและให้ความเห็นทางกฎหมายที่ผ่านมาก็ได้ผลอยู่บ้าง เคยมีลูกศิษย์ของตนไปสอบชิงทุนแล้วถูกกรรมการผู้สัมภาษณ์ถามว่าคิดยังไงกับตัวเขา ซึ่งมองว่าเป็นคำถามที่ไม่แฟร์ เพราะไม่รู้ว่าแล้วตัวกรรมการผู้สัมภาษณ์คิดยังไง ทำไมต้องถามถึงชื่อวรเจตน์ ตนก็จะบอกลูกศิษย์ไปว่า ไม่ต้องพูดถึงตนในแง่ดีก็ได้ หลายครั้งที่เชิญไปบรรยายตามหน่วยงานต่างๆ พอเรื่องไปถึงหัวหน้าก็จะพบปัญหาติดขัด
“ซึ่งผมไม่สนใจหรอกเรื่องบรรยายไม่บรรยาย หรือจะตั้งผมไปเป็นกรรมการหรือไม่ อันนี้มันคือ cost ที่ผมต้องจ่ายอยู่แล้ว มันคือสิ่งที่ผมรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ว่าถ้าอยากเดินทางนี้ มันก็มี cost ที่ต้องจ่าย แล้วผมจะไปอาลัยอาวรณ์พวกนี้ทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว” เขากล่าวสรุปด้วยยิ้มเล็กๆ
10.
ถูกต้องอาจไม่ถูกใจ? ทำอย่างไร เมื่อถูกทัวร์ลง
ระยะหลัง หลายครั้งที่ออกมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ปรากฎว่า อ.วรเจตน์ถูกคนในโซเชียลมีเดียจำนวนมากรุมถล่ม โดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะมองว่าความเห็นดังกล่าวอาจไปเข้าทางผู้มีอำนาจ
เช่น คดีไม่ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นสถานะ ส.ส.และรัฐมนตรี จากที่เคยติดคุกในคดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย (เขาเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถูกต้องแล้ว เรื่องอำนาจอธิปไตยของศาลไทย-ศาลต่างประเทศ) หรือคดีให้สิระ เจนจาคะ พ้นจากการเป็น ส.ส.เพราะคดีฉ้อโกงในอดีต (เขาเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ที่เอาคดีที่ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน มาตีความตัดสิทธิคนตลอดชีวิต)
The MATTER จึงถามเขาว่า มีหลักคิดหรือวิธีพิจารณาอย่างไร ในการออกมาให้ความเห็นทางข้อกฎหมายหรือเกี่ยวกับคดีความต่างๆ
อ.วรเจตน์ตอบว่า ความจริงตนก็ไม่ได้พูดทุกเรื่อง บางเรื่องก็ไม่ได้พูดอะไร ทั้งอาจเพราะช่วงนั้นป่วย หรือเคยพูดไปแล้ว ถ้าพูดอีกมันก็ซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ให้คนอื่นออกมาพูดจะดีกว่า ซึ่งก็เห็นว่านักวิชาการด้านกฎหมายในช่วงหลังหลายๆ คนก็ทำได้ดี
“บางเรื่องผมก็ตัดสินใจออกมาพูด เช่น กรณีคดีคุณธรรมนัส เพราะมันเป็นประเด็นเรื่องหลักการ เมื่อกระแสมันเป็นแบบนั้น แล้วผมไม่เห็นด้วย ผมก็ต้องเคารพตัวเองด้วยว่าผมคิดยังไง แล้วผมพูดในหลักการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวคุณธรรมนัส เพราะหากไปให้ยึดตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ มันจะไปกระเทือนกับกรณีอื่นๆ ด้วย แล้วผมรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม บางคนก็บอกว่าผมคิดมากไป เพราะมันอาจจะใช้แค่เคสเดียว เหมือนคดีของคุณสมัคร (สุนทรเวช อดีตนายกฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อปี 2551 ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไปจัดรายการโทรทัศน์) และผมก็รู้สึกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินอะไรผิด เพียงแต่บางคนรู้สึกว่าจังหวะที่ผมออกมาพูด มันทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยเสียขบวน กลายเป็นไปทำให้เข้าทางอีกข้าง แต่ถ้าสังเกตดูผมจะออกมาพูดในตอนที่ทุกคนพูดกันไปหมดแล้ว จนกระแสมันซาไปแล้ว เขาพูดกันไปหมดแล้ว ผมก็เลยคิดว่า ออกมาพูดแล้วกันเพื่อให้บันทึกความเห็นผมให้หน่อย
“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีทัวร์มาลง หลายคนก็ไม่รู้จักผม เพราะผมไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงอะไร ไม่เหมือนกับในอดีตตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวอะไรมากๆ ยิ่งหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่ผมมีคดีอะไรอยู่ด้วย ก็เข้าใจได้ถ้าเขาจะไม่รู้ว่าผมเป็นใคร ผมเคยทำอะไรมา
“เพียงแต่ใครไม่ถูกใจความเห็นผม อันนี้ผมช่วยไม่ได้ ส่วนถ้าผมเห็นไม่ถูกต้อง หรือความเห็นของอีกข้างเขาดีกว่า ผมก็พร้อมจะเปลี่ยนได้ ไม่ได้ดื้อรั้นว่าต้องเอาแค่ของตัวเอง”
อ.วรเจตน์ยังสรุปว่า แม้จะเจอทัวร์ลงในหลายๆ ครั้ง แต่ก็คิดเสมอว่า มันผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป คนที่ด่าตนเมื่อวาน วันนี้อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ แล้วจะไปยึดติดอะไรมากมาย ถ้าในอนาคตจะมีทัวร์มาลงอีกถ้าออกมาแสดงความเห็นในเรื่องใด ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะมาทัวร์ลง แต่ก็เป็นสิทธิของตนเช่นกันที่จะแสดงออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนั้นๆ
FUN FACT:
อ.วรเจตน์เป็นแฟนซีรีส์เกาหลี มักจะดูแนวโรแมนติก-คอเมดี้ เรื่องที่ชอบมีอาทิ Crash Landing on You ที่ฮยอน บินกับซอน เย-จิน แสดงนำ แต่เขาบอกว่า ก่อนจะเริ่มดูเรื่องไหนจะต้องทำใจก่อน เพราะบางครั้งดูแล้วติด อาจทำให้เสียงานเสียการ ขณะเดียวกัน เขาก็ชอบฟังยูทูปรายการต่างๆ โดยเฉพาะแชนแนลของอาจารย์ยอด “เห็นแบบนี้ ผมก็มีมุมบันเทิงของผมนะ” และถึงจะไม่มีโซเชียลมีเดียแอคเคาต์ของตัวเอง แต่ก็จะคอยหาวิธีเข้าไปดูตามเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์อยู่เสมอว่าขณะนั้นผู้คนกำลังสนใจเรื่องอะไร รวมถึงชอบดูสื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่ากำลังเล่นประเด็นอะไรอยู่
และแม้จะชอบเลี้ยงแมวตามสมัยนิยม แต่ตัว อ.วรเจตน์เองก็ปฏิเสธคำแซวว่า พฤติกรรมของตัวเองห่างไกลจากคนรุ่นใหม่มาก เพราะชอบฟังเพลงเก่า เพลงไทยจะฟังสุนทราภรณ์ ส่วนเพลงต่างชาติ จะฟังวงจากยุค 60s ถึง 70s