นับเป็นเวลา 8 ปีพอดิบพอดีถ้าหากนับตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 หรือภายหลังคณะ คสช. ยึดอำนาจการปกครองและแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และสังคมกำลังจับตาดูอย่างเขม็งว่าอนาคตของทหารการเมืองผู้นี้จะเป็นอย่างไรต่อ
ขณะที่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านเพิ่งรวมกันยื่นกรณีดังกล่าวแก่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ วันนี้และเมื่อวาน (23-24 ส.ค.) ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ พอเสียทีจากตำแหน่งนายกฯ
อย่างไรก็ตาม นี่คือเกมการเมือง เพราะนอกจากรอคอยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเหลือหมากให้เล่นอีก 2 ตาคือ ประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือประกาศลาออกเพื่อให้สภาเลือกนายกฯ คนใหม่
สังคมกำลังจับตาดูว่าหมากเกมนี้จะลงเอยเช่นไร และวันนี้ The MATTER มาอธิบายให้เข้าใจว่า 3 เส้นทางที่ พล.อ.ประยุทธ์หลงเหลืออยู่มีอะไรบ้าง
รอคอยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนว่า เขากำลังเลือกรอคอยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “นายกฯ ไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลได้” และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในหลักนิติธรรมของบ้านเมือง และไม่ว่าอย่างไรนายกฯ ก็จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล
โดยประเด็นแรกที่ถกเถียงเถียงกันคือ วันเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีการพูดคุยกันใน 3 ระยะเวลา
- ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 หรือภายหลังคณะ คสช. ยึดอำนาจการปกครองและแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
- ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 หรือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
- ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2562 หรือภายหลังรัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562
โดยปกติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีนัดประชุมกันในทุกวันพุธ ซึ่งในวันนี้ (24 ส.ค.) เป็นไปได้ว่าจะมีคำแถลงจากศาลออกมาอย่างน้อยในเบื้องต้นว่า ศาลมีคำสั่งรับคำร้องหรือไม่รับคำร้อง ถ้าหากไม่รับเรื่องราวทั้งหมดก็เป็นอันจบไป และ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่าจะหมดวาระในปี 2566
แต่ถ้าศาลมีคำสั่งรับคำร้อง ก็ต้องมาดูว่าจะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้าหากศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะขึ้นมาเป็นนายกฯ รักษาการในทันที ตามความเห็นของวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน
แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากศาลไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีคำตัดสิน
ส่วนในมุมคำตัดสินเป็นไปได้ว่าศาลอาจจะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาอื่น และก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2566
แต่ถ้าศาลมีคำตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ ใหม่โดยรัฐสภาทันที ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 7 วัน และในช่วงนี้เป็นไปได้ว่า พล.อ.ประวิตร อาจขึ้นมาเป็นนายกฯ รักษาการก่อน
อย่างไรก็ตาม ในมุมของมือกฎหมายของรัฐบาลอย่างวิษณุ เขาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจรักษาการในช่วงรัฐสภาเลือกนายกฯ คนใหม่ได้เช่นกัน แต่อยู่ที่ “แต่ควรหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง”
นายกฯ ลาออก – รัฐสภาเลือกนายกฯ
ถ้าหากพรุ่งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เกิดเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาขึ้นมาในตอนเช้า รัฐสภาจะเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่ทันที ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกฯ รักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ ของสภา
โดยการเลือกนายกฯ จากรัฐสภาแบ่งออกเป็น 2 วิธี
วิธีแรก เลือกนายกฯ จากแคนดิเดตของพรรคในการเลือกตั้งปี 2562 โดยใช้เสียง ½ ของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งมาถึงตรงนี้หลายคนก็แยกทางจากพรรคเดิมไปแล้ว และบางคนก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว แบ่งเป็น
- แคนดิตเดตฝ่ายรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ/ ครบวาระ 8 ปี), อนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์/ ลาออกจากพรรค)
- แคนดิเดตฝ่ายค้าน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย/ ลาออกจากพรรค), ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย/ ผู้ว่าฯ กทม.), ชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย), ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคก้าวไกล/ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง)
วิธีที่สอง นายกฯ คนนอก ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เสียง ⅔ ของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งมีหลายซุ้มเสียงพูดถึงชื่อ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ
ยุบสภา – เลือกตั้งใหม่
ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออกก่อนมีคำตัดสินของศาล ในกรณนี้ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าคณะกรรมการเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน
ซึ่งก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันว่าจะเอาสูตรอะไร หารยังไงกันแน่จนสภาล่มหลายครั้ง แต่ล่าสุดตามมาตรา 132 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบตามกรอบ 180 วันให้ส่งร่างดังกล่าวไปให้แก่ ก.ก.ต. ได้เลย ซึ่งทาง ก.ก.ต. เองก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร ร่างดังกล่าวจึงเตรียมถูกส่งต่อให้นายกฯ เพื่อขึ้นทูลเกล้าประกาศได้เลย
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาระหว่างที่ ก.ก.ต. ถือร่างเอาไว้ หรือวันที่ 24 – 26 ส.ค. สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อรวมกัน 1/10 เพื่อยื่นคำร้อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างดังกล่าวได้ ซึ่งจะเป็นการชะลอร่างดังกล่าวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
รวมถึงเมื่อ ก.ก.ต. ส่งคืนรัฐสภาเพื่อมอบให้นายกฯ ช่วงก่อนขึ้นทูลเกล้าจะมีระยะเวลา 5 วัน สมาชิกสภาสามารถยื่นคำร้องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยได้เช่นกัน
ต้องติดตามกันต่อไปว่าเกมการเมืองนี้จะจบลงอย่างไร แต่ถ้าวัดตามแรงลมแล้วดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังรอวัดใจกับคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคำตัดสินเป็นคุณแก่ตัวเขาทุกครั้ง..
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/thai/articles/c97y03n6ymyo
https://www.bbc.com/thai/articles/crg7y0ljgzno
https://www.bbc.com/thai/articles/crg7y0ljgzno
https://www.nationtv.tv/news/politics/378884062
Illustration By Kodchakorn Thammachart