ทำไมการปล่อยผู้ต้องขังการเมือง จึงกลายเป็นจุดยืนให้คนคู่หนึ่งประกาศไม่กลัวตายได้? หลายคนคงมีอารมณ์ร่วมไปกับการตัดสินใจ ของ ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม—อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมอิสระ ที่ถอนประกันตัวเอง และยกระดับ ‘อดอาหารและน้ำ มาตั้งแต่ 18 มกราคม จนต้องติดตามอาการรายวัน
“ผมไม่ชอบคำว่า ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ เพราะมันแปลว่าคุณปล่อยไปชั่วคราว ทั้งที่ยังไม่ตัดสินเลยว่าผิดจริง คุณต้องให้เขามีอิสรภาพเพื่อต่อสู้คดี เขายังไม่ผิดเลย จะใช้คำว่าปล่อยตัวชั่วคราวได้ยังไง” เป็นความเห็นของ ยุกติ มุกดาวิจิตร อ.คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ที่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ผู้คนจดจำในฐานะนายประกันนักกิจกรรม อาจจะพออธิบายความรู้สึกของแบมและตะวันได้บ้าง
เพราะนั่นเป็นสิทธิตามบทบัญญัติที่ได้รับรองในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 29 วรรค 2 และ วรรค 3 ในคดีอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิดไว้ก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด และระหว่างนั้นจะปฏิบัติต่อคนนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้
แต่ดูเหมือน สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่รวบรวมรายชื่อผู้ถูกคุมขังในปี 2566 จากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จะไม่ได้บอกอย่างนั้น
เมื่อตัวเลขตามการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่เมษายน 2565 ระบุว่า ยังคงมีอย่างน้อย 14 คน ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ก่อนที่ในเวลาต่อมาศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวบางส่วน คือ เอก (นามสมมติ) ซึ่งอัยการสั่งฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยง ร.10 และคุกทวีวัฒนา เช่นเดียวกับ อุกฤษฎ์ ที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน ในคดีตามมาตรา 112
และที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัววานนี้ (8 กุมภาพันธ์) เนื่องจากครบกำหนดฝากขัง แต่อัยการไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล หลังถูกจับตามหมายจับ และถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ ถ.ราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564
ส่วนกรณีของ สมบัติ ทองย้อย นั้นเป็นอีกคนที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันตัวตามคดี 112 แล้ว จากการโพสต์ข้อความ ‘กล้ามาก เก่งมาก’ ซึ่งในตอนแรกยังต้องรอลุ้นผลการปล่อยตัว เนื่องจากยังคงมีคดีหมิ่นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในวันนี้ (9 กุมภาพันธ์) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวแล้ว เป็นอันสิ้นสุดการถูกคุมขัง 288 วัน
ถูกคุมขังด้วยเหตุแห่งคดี หรือสาเหตุใดบ้าง?
คทาธร เป็นสมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และถือเป็นผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีที่ยาวนานที่สุด เกินกว่า 300 วันแล้ว จากกรณีมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ระหว่างเดินทางไปร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งทั้งคู่ถูกยกคำร้องขอประกันตัว และยืนยันตามคำสั่งเดิมมาตลอด เพราะศาลอาญามองว่าความผิดนั้นมีโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี
ในเหตุแห่งคดีเดียวกัน ยังมีพรพจน์ แจ้งกระจ่าง ที่เข้ามอบตัวแล้วถูกคุมขังถัดจากคทาธร ใน 2 วันถัดมา ขณะที่คงเพชร เพิ่งได้รับการประกันตัววันนี้ (9 กุมภาพันธ์) ซึ่งเขาเป็นคนหนึ่งที่ถูกคุมขังมาเกินกว่า 300 วัน
สำหรับ #ม็อบราษฎรไล่ตู่ ถือเป็นคดีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมจากกลุ่มทะลุแก๊สเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ช่วงเดือนกันยายน 2565 จะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับการประกันตัว เหลือเพียงวัชรพล จตุพล ณัฐพล และพลพล ที่ถูกคุมขังมานานกว่า 240 วัน
ขณะที่ เก็ท–โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และใบปอ นั้นเพิ่งถูกศาลสั่งถอนประกัน และถูกคุมขังต่ออีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 จากการเข้ารวมประท้วงจนมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งศาลมองว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขระหว่างที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว จากคดีมาตรา 112 ที่ทั้งคู่ ทั้งจากการปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ของเก็ท และการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับงบสถาบันกษัตริย์ และเชิญชวนให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพลเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ ของใบปอ
โดยช่วงที่ผ่านมาเก็ทเป็นคนหนึ่งที่ประกาศระหว่างคุมขัง เพื่อสนับสนุนและร่วมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม ทั้งนี้จตุพล และณัฐพล ยังเป็นอีก 2 ผู้ต้องขังที่ร่วมประท้วงอดนอนด้วย
ด้านสิทธิโชค เป็นอีกคนที่ศาลยังคงยืนตามคำสั่งเดิมที่ไม่ให้ประกันตัว จากการถูกกล่าวหาว่านำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้ บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564 ซึ่งเขาได้ประท้วงอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม และยกระดับงดน้ำในเวลาต่อมา อีกทั้งวานนี้ก็เพิ่งอดนอนร่วมด้วย จนต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจาก