กรุงเทพมหานคร ศูนย์รวมอำนาจการปกครองไทย นครหลวงอันกว้างใหญ่ แต่พื้นที่สำหรับการ ‘ทำแท้ง’ กลับคับแคบจนแทบมองไม่เห็น
คับแคบแค่ไหน? คับแคบขนาดที่จากจำนวนโรงพยาบาลใน กทม. ทั้งหมด 146 แห่ง มีโรงพยาบาลรัฐเพียง 7 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการทำแท้งโดยมีเงื่อนไขจำกัด (เช่น โดนข่มขืน) ขณะที่มีโรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่ง และคลินิกเอกชนอีก 3 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการทำแท้งครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายไทยอนุญาตให้หญิงทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด หากอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ แต่ถึงอย่างนั้น สถานพยาบาลใน กทม. จำนวนมากกลับไม่เปิดให้บริการทำแท้ง หรือถ้าเปิดให้บริการก็ตามด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น รับแต่คนที่ถูกข่มขืน รับแต่คนที่ตั้งครรภ์ผิดปกติ เป็นต้น
สวนทางกับสถิติจาก ‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO เพื่อสิทธิด้านการทำแท้งปลอดภัย ที่บ่งชี้ว่า ผู้ทำแท้งส่วนใหญ่ที่ติดต่อเข้ามา คือ คนจากจังหวัดกรุงเทพฯ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เข้ามาบริหารเมืองหลวง The MATTER ขอชวนทุกคนไปสำรวจสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ใน กทม. และสำรวจปัญหาของการไม่มีโรงพยาบาลรัฐสักแห่งในกรุงเทพฯ ที่ให้บริการทำแท้งครอบคลุมตามกฎหมาย
หมายเหตุ: ไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดได้ผล 100% และไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อไปทำแท้ง
กฎหมายว่าด้วยการทำแท้ง
กฎหมายไทยอนุญาตให้ทำแท้งได้แล้วนะ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ระบุว่า
- ม.301 : ทำแท้งในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ไม่มีความผิด
- ม.305 : ทำแท้งในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ทำได้โดยแพทย์ ใต้เงื่อนไข ดังนี้
-
- การตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย–ใจของผู้ตั้งครรภ์
- ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่ต้องใช้ใบแจ้งความ
- ตัวอ่อนในครรภ์พิการ
- อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ หากไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น ยังทำแท้งได้หลังรับคำปรึกษาทางเลือก
นั่นหมายความว่า ผู้ตั้งครรภ์ทุกคนมีสิทธิรับบริการทำแท้งปลอดภัยถูกกฎหมายได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์
แม้ทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้ว แต่หมอและสถานพยาบาลในไทยส่วนใหญ่กลับไม่ให้บริการทำแท้งซะงั้น สถิติจากทำทางบ่งชี้ว่า จากสถานพยาบาลทั่วประเทศ 1,300 แห่ง มีเพียง 108 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการทำแท้ง ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่หลายที่ไม่รับทำแท้ง เป็นเพราะอคติและความเชื่อ เช่น กลัวบาปกรรม กลัวฆ่าคน กลัวผีเด็ก ยันมองว่าผู้รับบริการทำแท้งคือคนไม่ดี ทั้งที่ไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดได้ผล 100% และไม่มีใครอยากตั้งท้องเพื่อไปทำแท้ง
เหตุผลที่ว่า เป็นปัจจัยให้เมืองใหญ่หลายเมือง เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ ไม่มีโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายระบุ
เมื่อ กทม. ไม่มีโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการทำแท้งครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด
เราติดต่อ สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ทำทาง’ NGO เพื่อสิทธิด้านการทำแท้งปลอดภัย เพื่อสอบถามข้อมูลด้านสถานบริการทำแท้งในกรุงเทพฯ ได้ความว่า จากโรงพยาบาลทั้งหมด 146 แห่งในกรุงเทพฯ มีสถานพยาบาลเพียงทั้งหมด 11 แห่งที่ให้บริการทำแท้ง ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ในจำนวนเหล่านั้นมีเงื่อนไขบางอย่างซ่อนอยู่
หากอธิบายให้ละเอียดขึ้น คือ มีโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่งที่ให้ทำแท้งปลอดภัยแต่มี ‘เงื่อนไข’ (เช่น ทำแท้งได้ถ้าโดนข่มขืนมา) ขณะที่มีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง และคลินิกเอกชนอีก 3 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการทำแท้งครอบคลุมตามที่กฎหมายกำหนด
เท่ากับว่า โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ กว่า 138 แห่ง ไม่เปิดให้บริการทำแท้งแม้กฎหมายให้สิทธิ
รายชื่อสถานพยาบาลใน กทม. ที่เปิดเผยได้ว่าให้บริการทำแท้ง มีดังนี้
- โรงพยาบาล A
- โรงพยาบาล B
- โรงพยาบาล C
- โรงพยาบาล D
- โรงพยาบาลตำรวจ
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลเอกชนคลองตัน
- คลินิกเวชกรรม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สาขา กทม.
- คลินิก สวท. เวชกรรม ปิ่นเกล้า
- คลินิก สวท. เวชกรรม บางเขต
“สถานพยาบาลบางแห่งก็ไม่ยินดีที่จะให้ออกชื่อเขาเลย เวลาจะประสานหรือส่งต่อคนไข้ต้องประสานหนักเป็นรายๆ ไป ไม่ใช่ว่าคนรับบริการจะเข้าไปติดต่อโดยตรงถึงเคาท์เตอร์ได้ง่ายๆ” สุพีชา บอกกับเรา
แม้จะโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่งในกรุงเทพฯ จะให้บริการทำแท้ง แต่ก็ไม่ได้ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่กลับมีเงื่อนไขในการให้บริการ ได้แก่
- ถูกข่มขืน
- ตั้งครรภ์ผิดปกติ
- ตัวอ่อนพิการ
- ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาเป็นรายกรณี
ดังนั้น หากคุณอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งท้อง มีอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ และอยากใช้สิทธิทำแท้งปลอดภัย แต่ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขด้านบน ก็อาจไม่ได้รับบริการจากโรงพยาบาลรัฐใน กทม. ตามมาด้วยโอกาสการทำแท้งที่เข้าถึงยากขึ้น ทำได้ช้าลง สวนทางกับอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น
แล้วที่ใกล้สุดคือที่ไหนน่ะเหรอ? จังหวัดสิงห์บุรียังไงล่ะ! คุณอาจต้องเสียวันลาไปหนึ่งวันเพื่อเดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี จึงจะได้ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการกับผู้มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ และสามารถใช้สิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเบิกจ่ายได้
สุพีชาเล่าว่า ผู้ต้องการทำแท้งใน กทม. มีสัดส่วนสูงถึง 25% จากคนท่ัวประเทศ ซึ่งนับเป็นคนส่วนใหญ่ และเป็นก้อนผู้รับบริการที่ใหญ่มาก ดังนั้น การที่ไม่มีโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการทำแท้งครอบคลุมตามกฎหมายในพื้นที่ที่คนต้องการเยอะ จึงไม่ใช่เรื่องดี
หากใช้บริการโรงพยาบาล-คลินิกเอกชน ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท ซึ่งตัวแทนกลุ่มทำทางบอกกับเราว่า การมีโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการทำแท้งครอบคลุมตามกฎหมายในกรุงเทพฯ จะทำให้คนรายได้น้อยใน กทม. เข้าถึงได้ และเพิ่มโอกาสในการเข้ารับบริการฟรี เพราะ สปสช. เองก็สนับสนุนงบประมาณให้ผู้ทำแท้งได้รับบริการฟรีที่โรงพยาบาลหรือคลินิกในเครือข่าย สปสช. ในงบคนละ 3,000 บาท
สุพีชา บอกกับเราว่า “คน กทม. ส่วนใหญ่เป็นคนจน คือถ้าต้องจ่าย 5,000 บาท มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหยิบยืม ต้องรอเงิน ระหว่างนั้นอายุครรภ์ก็เพิ่ม มันไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ในการรักษาพยาบาลใดๆ ด้วยซ้ำ ที่รับบริการไม่ได้เพราะเรื่องเงิน”
“น่าหงุดหงิดมากที่ไทยแก้ไขปัญหานี้แล้ว แก้แล้วว่าสุขภาพจะต้องไม่ทำให้คนล้มละลาย แก้ด้วยนโยบาย 30 บาท ทาง สปสช. ก็ยินดีจ่ายเงินสนับสนุน แต่คนให้บริการกลับไม่ยินดีทำให้ และทำให้ประชาชนเดือดร้อน”
จึงเป็นเหตุที่กลุ่มทำทางพยายามผลักดันประเด็นนี้กับ กทม. และพยายามเรียกร้องให้มีสถานบริการสุขภาพของรัฐที่ให้บริการทำแท้งปลอดภัยมาโดยตลอด
สุพีชาอธิบายด้วยว่า “ที่ต้องผลักดันกับ กทม. เพราะโรงพยาบาลสังกัด กทม. ก็ควรเป็นตัวอย่าง เราเคยเข้าไปปรึกษากับรองผู้ว่าฯ ทวิดา กมลเวชช แล้วด้วย ก็เห็นว่าเขาพยายาม แต่ กทม. เองก็แข็งตัว ผู้บริหารระดับสูงที่มานั่งคุยก็เห็นชัดว่า 4-5 คนตรงนั้นไม่เห็นด้วย เข้าใจผิด และมองเป็นแค่การไม่รับผิดชอบของคนทำ เป็นแค่เรื่องวัยรุ่น บ่อยๆ จะเริ่มเล่าว่าเป็นบาป เราเป็นเมืองพุทธ ฆ่าคนไม่ได้”
ท้ายที่สุด สุพีชาฝากข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น–กลาง–ยาวไว้ ดังนี้
- ระยะสั้น : จัดทำแบบแผนส่งต่อคนไข้ให้ดี หากใครไม่อยากให้บริการ กทม. ควรทำแผนลิสต์โดยที่ระบุชัดเจนว่า ต้องติดต่อใคร ที่ไหน เวลาใด ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และต้องไม่โน้มน้ามให้เขาตั้งครรภ์ต่อ
- ระยะกลาง : สร้างบริการเพิ่ม เช่น เปิดคลินิก และใช้ประกาศ กทม. เรื่องแพทย์ล่วงเวลาเพื่อชวนหมอที่ยินดีให้บริการมาทำงานแทน เพราะเมื่อไม่มีคนอยากทำ ก็สร้างขึ้นได้โดยการใช้หลักบริหาร
- ระยะยาว : ให้การศึกษาและทำงานเชิงระบบ ทำให้คนกล้าลุกขึ้นมาพูด–แสดงออกเรื่องนี้ กล้าลุกมาให้บริการ เช่น เปิดให้พูดคุยประเด็นนี้บ่อยขึ้น สร้างช่องทาง ปรับทัศนคติ
เพื่อให้งานชิ้นนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น The MATTER จึงพยายามติดต่อ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อส่งต่อข้อเสนอของตัวแทนกลุ่มทำทาง เพื่อสอบถามถึงข้อติดขัดของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ว่าทำไมถึงไม่มีสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่ครบถ้วนตามกฎหมาย และเพื่อทวงถามถึงแผนการสนับสนุนคน กทม. ที่อยากทำแท้งปลอดภัยในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมเราจะมารายงานต่อไปนะ
คงต้องลุ้นกันว่า สถานพยาบาลของรัฐใน กทม. จะปลดล็อกมาให้บริการทำแท้งแบบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ไหม หรือเราจะต้องเสียเวลาร่วมวันถ่อไปทำแท้งถึงสิงห์บุรี แล้วก้มหน้าก้มตาเดินทางกลับมาซุกหัวนอนในเมืองหลวงสุดศิวิไลซ์ต่อไป