เรามางานเสวนากรุงเทพฯ ทำแท้งเป็นปีที่ 2 แล้ว รับรู้ข้อมูลว่า กทม. ไม่มีที่ทำแท้งฟรี (แม้ สปสช. ให้สิทธิ) เป็นปีที่ 2 แล้ว …ทั้งๆ ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งปลอดภัยตั้ง 2 ปีกว่าแล้ว
ตลกร้ายกว่า คือ งานปีนี้มีตำรวจในเครื่องแบบโผล่มาหาถึงที่! เพราะดันเข้าใจว่าเป็นคลินิกทำแท้งเถื่อน หลังสถานที่จัดงานตกแต่งด้วยป้ายที่เขียนชัดเจนว่า “คลินิกทำแท้งปลอดภัย”
สำหรับใครที่ไม่รู้ กฎหมายไทยให้สิทธิทำแท้งปลอดภัยได้โดยไม่มีความผิด หากมีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายแก้ไขให้ทำแท้งได้ แต่อุปสรรคเรื่องการทำแท้งยังไม่ถูกแก้ตาม ไม่ว่าจะปัญหาการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ไม่ทั่วถึง ปัญหาทัศนคติของวงการแพทย์ และปัญหาสถานพยาบาลไม่ยอมให้บริการ โดยเฉพาะใน กทม. ที่มีโรงพยาบาลรัฐหลักร้อยแห่ง แต่กลับไม่มีสักแห่งที่ให้บริการทำแท้งฟรีครบถ้วนตามกฎหมาย และให้บริการตามสิทธิ สปสช.
หรือก็คือ ในเมืองหลวงเรามีสถานพยาบาลเอกชนเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่เปิดให้บริการทำแท้งครบถ้วนตามที่กฎหมายระบุ ขณะที่สถานพยาบาลรัฐหลายแห่งไม่เปิดให้บริการทำแท้งเลย หรือไม่ก็เปิดแบบมีเงื่อนไข เช่น ทำให้แค่คนที่ท้องผิดปกติ หรือคนที่ถูกข่มขืนเท่านั้น
30 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มทำทาง NGO เพื่อสิทธิทำแท้งปลอดภัย จึงจัดงาน Bangkok Abortion (อีกปี) ภายในธีม ‘ทำแท้งในแสงสว่าง’ เพื่อยืนยันในสิทธิทำแท้งปลอดภัย และเรียกร้องสิทธิทำแท้งที่ครอบคลุมขึ้นใน กทม. และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ
งานนี้เชิญสปีกเกอร์มากมายมาแลกเปลี่ยนกันว่าด้วยเรื่องทำแท้ง มีทั้งจากผู้มีประสบการณ์ นักการเมือง และแพทย์รุ่นใหม่ เช่น แขก—ลักขณา ปันวิชัย, ช่อ—พรรณิการ์ วานิช, ทนายแจม—ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์, นุชนาถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาพ, ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนแพทย์รุ่นใหม่, สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนพยาบาลรุ่นใหม่ ในงานคุยอะไรกัน The MATTER สรุปเสวนาทำแท้งให้อ่านกัน
[ หมายเหตุ: ไม่มีใครอยากท้องเพื่อไปทำแท้ง ]
ทนายแจม—ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.ก้าวไกล เจ้าของประโยคแนะนำตัวในสภาว่าเป็น “ทนายความ แม่ลูก 2 และภรรยาของตำรวจที่ถูกธำรงวินัย” คือหนึ่งในผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์ยุติตั้งครรภ์มาก่อน
งานเสวนา Bangkok Abortion 2023 คือ ครั้งแรกที่ศศินันท์เปิดใจถึงปมทำแท้งในที่สาธารณะ
เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยเธอยังเรียนหนังสือ ศศินันท์เล่าว่า ในขณะนั้น เธอตั้งใจใช้ชีวิตเอามากๆ โดยเฉพาะกับการเรียน เธอตั้งใจเรียนจนถึงขนาดว่าได้เกรด 4.00 เลยทีเดียว ดังนั้น การค้นพบว่าตัวเองท้องขณะยังเป็นนักศึกษาจึงทำให้ผู้หญิงคนนี้รู้สึกเหมือนโลกทั้งใบดับลง
ศศินันท์จินตนาการมาตลอดว่าจะต้องเรียนจบ มีชีวิตที่ดี และมีอนาคตอย่างที่วาดฝันไว้ การท้องทั้งที่ป้องกันเต็มที่แล้วจึงทำให้เธอกลัวว่าชีวิตจะไม่เป็นดั่งฝันและกลัวว่าการเรียนจะต้องจบลง ท้ายที่สุด เธอจึงตัดสินใจในฐานะเจ้าของร่างกายว่าจะทำแท้ง ซึ่งในขณะนั้นการทำแท้งยังไม่ถูกกฎหมายและการให้ข้อมูลเรื่องการทำแท้งยังไม่เกิดกว้างพอ ความพยายามครั้งแรกของเธอจึงเป็นการกินยาสตรีบำรุงเลือด
แน่นอน มันไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดศศินันท์ก็ต้องสั่งยายุติตั้งครรภ์จากต่างประเทศ กว่ายาจะเดินทางมาถึง นั่นหมายความว่าผู้หญิงคนหนึ่งต้องมีอายุครรภ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี เมื่อได้ยามา เธอก็กินเข้าไปจนมีอาการคล้ายปวดท้องประจำเดือนและแท้ง
“มีช่วงที่เรารู้สึกผิด ช่วงนั้นริวจิตสัมผัสดังมากๆ ทุกคนจะมองว่าทำแท้งคือการทำบาป จะมีผีเด็ก เราถึงกับเคยอ่านบทอาขยานเพื่อแก้กรรมที่เคยทำแท้ง”
“แต่สุดท้าย ตัดสินใจมาพูดเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่นี่ เพื่อเปิดใจว่า การทำแท้งไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วชีวิตจะไม่ประสบความสำเร็จ มันก็เป็นแค่จุดนึง นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องพูดเรื่องการทำแท้งในแสงสว่าง”
ทันทีที่เธอพูดจบ มีผู้เข้าร่วมงานปรบมือและส่งเสียงโห่ร้องให้กำลังใจ ราวกับจะส่งสัญญาณให้รับรู้ว่า เธอไม่ได้ถูกทิ้งให้เดินบนเส้นทางนี้โดยลำพัง
ศศินันท์ขยายความกับ The MATTER เพิ่มเติมว่า ผู้ยุติการตั้งครรภ์มักโดนบอกว่าเป็นบาปหนัก ว่าชีวิตจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเธอมองว่ามันไม่เกี่ยวเลย เพราะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนคนหนึ่ง และคนคนนั้นควรจะได้ตัดสินใจว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหน
“เราไม่ได้สนับสนุนให้คนทำแท้ง แค่บอกว่ามันเป็นการตัดสินใจของผู้หญิง ผู้หญิงควรมีสิทธิในการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตของเรา” ศศินันท์ กล่าว
เมื่อถามว่าก้าวไกลจะผลักดันประเด็นนี้ต่อไปอย่างไร ศศินันท์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ สส.ในพรรคเคยตั้งกระทู้ถามในสภาฯ ถึงประเด็นทำแท้ปลอดภัยเนื่องในวันยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยสากที่ผ่านมา ว่ากฎหมายก็ให้ทำแท้งปลอดภัยแล้ว แต่ทำไมคนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งทั้งที่ สปสช. ก็ให้สิทธิรักษาพยาบาล
พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.อนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า คืออีกหนึ่งสปีกเกอร์ในงานนี้ ซึ่งเธอชี้ว่า แม้การทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังเกิดภาวะ ‘เกียร์ว่าง’ ในการบังคับใช้กฎหมาย
แกนนำคณะก้าวหน้าเริ่มจากการอธิบายว่า ในหลายกรณีรัฐมักไม่เคารพกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กรณีกฎหมายอุ้มหายที่จู่ๆ ฝ่ายบริหารออก พรก. เลื่อนบังคับใช้ พรบ. อุ้มหายฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความไม่พร้อมทางงบประมาณ หรือ พรบ.การแข่งขันทางการค้า ที่พรรณิการ์อ้างว่าไม่ถูกบังคับใช้แม้เกิดกรณีควบรวมทรู–ดีแทค ดังนั้น รัฐควรสั่งสอนตัวเองให้เคารพการบังคับใช้กฎหมายให้ได้ก่อนจะสั่งสอนให้ประชาชน
“กฎหมายทำแท้งเกียร์ว่างอย่างจงใจโดยกลุ่มเคร่งศีลธรรม .. มันเหลือเชื่อว่าเราอยู่ในประเทศที่ยึดหลักนิติรัฐจริงหรือ คนในประเทศยังไม่รู้แม้แต่ว่าการทำแท้งมันถูกกฎหมายแล้วด้วยซ้ำ” พรรณิการ์ กล่าว
อาการสะท้อนภาวะเกียร์ว่างในทัศนคติของพรรณิการ์ คือ คนจำนวนมากยังไม่รู้ว่าการทำแท้งถูกกฎหมาย เธอเล่าว่าเมื่อลองถามเพื่อนหลายคนรอบตัว (ที่ก็เป็นคนตื่นตัวทางการเมืองประมาณหนึ่ง) ปรากฎว่าจำนวนมากไม่รู้ว่าทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว และที่เป็นแบบนี้ พรรณิการ์ให้เหตุผลว่า รัฐยังขาดการการประชาสัมพันธ์ทั่วถึงว่า ทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว และสามารถทำแท้งได้โดยใช้สิทธิ สปสช. รับบริการฟรีได้ คนจำนวนมากจึงเสียโอกาสไป
อีกหนึ่งอาการเกียร์ว่างในทัศนะของพรรณิการ์ คือ กทม. ไม่มีสถานพยาบาลทำแท้งฟรีตามสิทธิที่ประชาชนพึงได้ ซึ่งก็ชวนให้เธอตั้งคำถามว่าทำไมโรงพยาบาลสังกัด กทม. ถึงไม่ยอมทำแท้งให้โดยครบถ้วนตามกฎหมาย ทั้งที่งบประมาณ สปสช. ก็รับรองให้แล้ว
“ถ้าไม่มีข้อจำกัดเรื่องงบหรือกฎหมาย มันคือข้อจำกัดเรื่องจริยธรรมหรือไม่ ถ้ามีคำสั่งผู้ว่าฯ ให้ทำ ก็ทำได้เลยในวันนี้ คำถามคือ ทำไมไม่ทำ” พรรณิการ์ กล่าว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายด้วยว่า การไม่มีสถานพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งฟรีในเมืองหลวง อาจเข้าข่ายให้ฟ้องร้องผู้มีอำนาจด้วย ม.157 ปมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่ อย่างไร
หมอรุ่นใหม่ คืออีกหนึ่งกลุ่มที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในงานเสวนาวันนี้ด้วย ซึ่งสปีกเกอร์ที่มาพูด คือ ชุตินาถ ชินอุดมพร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน
ชุตินาถระบุว่า ต้องพูดคุยกันเรื่องทำแท้งอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายแล้ว แต่โรงพยาบาลสังกัด กทม. นับสิบแห่งกลับไม่เปิดให้บริการทำแท้ง โดยมีปมเรื่องทัศนคติของแพทย์และพยาบาลเป็นปัจจัยสำคัญ
“เราโดนสอนมาในโรงเรียนแพทย์ว่าคนไข้คืออวัยวะที่มีปัญหาและต้องการทำอะไรสักอย่าง เราไม่ได้ถูกสอนให้แยกทัศนคติ ความเชื่อส่วนตัวออกจากการทำงาน ทำให้เกิดการปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์แม้จะถูกกฎหมายแล้ว”
“หมอบางคนบอกว่าเป็นพุทธ ไม่อยากทำ ไม่ทำแล้วยังไม่ส่งต่อเพราะกลัวว่าเป็นการส่ง (ตัวอ่อน) ไปฆ่าที่อื่น บางคนก็ไม่ส่งต่อเพราะมองว่าเดี๋ยวติดต่อสังคมสงเคราะห์มาช่วยเหลือเมื่อคลอด แต่ก็เป็นการคิดแทน ผู้หญิงไม่ได้ประกอบด้วยมดลูกอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยความคิดความฝันเต็มไปหมด”
“โอกาสตายจากการทำคลอดสูงกว่าการทำแท้งถึง 7 เท่า คำถามคือ ทำไมไม่ทักท้วงบ้าง” ชุติมาถ กล่าว
ขณะเดียวกัน ชุตินาถชี้ว่า ภาระงานให้บริการทำแท้งดันตกไปอยู่ที่หมอสูตินารีเวช ทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นหมอแผนกสูตินารีเวชเท่านั้น ที่ก็ทำให้เธอตั้งข้อสังเกตต่ออีกว่า ในเมื่อย้ายอำนาจจากรัฐไปสู่โรงพยาบาลแล้ว ทำไมถึงไม่กระจายอำนาจการให้บริการเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิรับบริการยุติตั้งครรภ์ หรือก็คือ ทำไมต้องจำกัดว่าผู้ให้บริการต้องเป็นหมอสูตินรีเวชเท่านั้น ทั้งที่หมออื่นๆ ก็มีศักยภาพทำได้เช่นกัน
ท้ายที่สุด ชุตินาถเสนอทางออกว่า กทม. ควรจ้างแพทย์ที่ยินดีให้บริการทำแท้งโดยเฉพาะมารับมือแทนแพทย์ที่ไม่อยากทำไปเลย และไม่ควรจำกัดการให้บริการให้อยู่แค่ในมือแพทย์สูตินารีเวช
แขก คำผกา หรือ ลักขณา ปันวิชัย พิธีกร, นักเขียนด้านสตรีนิยม, และหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ยุติตั้งครรภ์ เปิดเผยว่า เธอเองก็ผ่านประสบการณ์ทำแท้งในวัย 37 ปี ซึ่งขนาดอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะแล้ว เธอก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว้าวุ่นและกระวนกระวาย
อย่างไรก็ดี เธอยืนยันว่า จะบอกให้รัฐไม่ “เสือก” กับชีวิตหรือร่างกายเราก็ไม่ได้ หากยังต้องใช้การสนับสนุนทางงบประมาณจากรัฐในการทำแท้งอยู่ เพียงแต่ต้องปรับวิธีการเรียกร้องว่าอยากให้รัฐเข้ามา “เสือก” อย่างไร
“ขบวนการเฟมินิสต์รุ่นใหม่อาจบอกว่า นี่เป็นร่างกายของฉัน รัฐอย่ามายุ่ง มันถูกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าอยากได้การสนับสนุนจากรัฐเรื่อง (งบประมาณ) ทำแท้ง จะบอกว่าการท้องหรือการแท้งของเราเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ จะบอกว่ารัฐอย่ามาเสือกไม่ได้ แต่เราอยากเรียกร้องให้รัฐเข้ามาเสือกแบบไหน” ลักขณา กล่าว
ลักขณา กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่มักบงการและแทรกแซงชีวิตของพลเมืองเสมอ โดยกระทำผ่านนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการศึกษา นโยบายสาธารณสุขเป็นต้น เนื่องจากรัฐมองคนเป็นทรัพยากรที่ต้องพัฒนาและจัดการ ดังนั้น มดลูกจึงไม่อาจหนีจากเงื้อมมือรัฐได้
จึงนำมาสู่ข้อเสนอของลักขณาที่ว่า รัฐต้องทำนโยบายสุขอนามัยเจริญพันธุ์ไปพร้อมๆ กัน โดยทำคลินิกชุมชนที่ช่วยให้คนอยากมีลูกได้มีลูก และในคลินิกเดียวกันนั้นก็ต้องช่วยให้คนไม่อยากมีลูกได้ทำแท้ง
จะเห็นได้ว่า สปีกเกอร์แทบทุกคนสื่อสารถึงปัญหาสิทธิการทำแท้งปลอดภัยในบ้านเรา ทั้งในเชิงทัศนคติและในเชิงกฎหมายที่ยังมีปัญหาในด้านการบังคับใช้ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อความสำคัญที่เสวนา Bangkok Abortion 2023 ย้ำตลอดงานว่า การทำแท้งในไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ
จึงนำมาสู่การพยายามเรียกร้องให้รัฐให้บริการคลินิกทำแท้งปลอดภัยจังหวัดละอย่างน้อย 1 แห่ง ยกเลิกกฎหมายอาญา ม.301 ที่เอาผิดและตีตราผู้ทำแท้ง และผลักดันประเด็นทำแท้งให้อยู่ในแสงสว่างจริงๆ ซะที