กทม. คือเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการแพทย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย รักษามะเร็งก็ได้ ผ่าตัดยากๆ ก็ไหว ใครเป็นอะไรทั่วไทยก็เข้ามารักษาได้แทบทุกอาการ …ยกเว้นการทำแท้ง
ขณะนี้กฎหมายไทยอนุญาตให้ทำแท้งได้โดยไม่มีข้อจำกัดหากมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยที่ผู้รับและผู้ให้บริการจะไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะปรับใหม่แล้ว ในเชิงปฏิบัติการยังมีปัญหาอยู่
ข้อมูลจาก ‘กลุ่มทำทาง’ NGO ที่ขับเคลื่อนสิทธิในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ชี้ว่า กทม. คือจังหวัดที่ไม่มีสถานบริการสุขภาพของรัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยภายใน 12 สัปดาห์ พูดให้ชัดเจนก็คือ จาก 144 โรงพยาบาลใน กทม. มีเพียงคลินิกเอกชน 4 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งเท่านั้นที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ตรงตามเงื่อนไขของกฎหมายทำแท้ง
ทั้งนี้ มี 5 โรงพยาบาลรัฐ และ 1 สถาบัน ใน กทม. ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แต่เป็นการให้บริการแบบมีเงื่อนไขเท่านั้น (เช่น ท้องจากการถูกล่วงละเมิด ท้องผิดปกติ เป็นต้น) ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐอีก 138 แห่งใน กทม. ไม่ให้บริการทำแท้ง สวนทางกับข้อมูลที่บ่งชี้ว่า กทม. คือจังหวัดที่มีผู้ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุด
ด้วยสถานการณ์นี้ กลุ่มทำทางและเครือข่ายทำแท้งปลอดภัย จึงจัดงานเสวนาเรื่อง “Bangkok Abortion – กรุงเทพทำแท้งได้ ปลอดภัย ไม่ตายนะเธอ” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 65 โดยมี อัมพร สุธรรม ตัวแทนของผู้หญิงที่เคยทำแท้ง, นิศารัตน์ จงวิศาล ผู้ให้คำปรึกษาจากกลุ่มทำทาง, นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ในฐานะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), และ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้ร่วมบรรยาย
The MATTER จึงขอสรุปคำบรรยายในงาน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพกระบวนการยุติการตั้งครรภ์ที่เข้าถึงยาก เรียนรู้สิทธิประโยชน์ที่คน กทม. ยังไม่ได้รับ และเข้าใจในช่องว่างทางกฎหมายและทัศนคติที่ทำให้ในนโยบายยุติการตั้งครรภ์ในเชิงปฏิบัติยังติดขัดไปด้วยกัน
เสียงจากผู้หญิงที่เคยทำแท้ง
ด้วย กทม. ไม่มีสถานพยาบาลที่มีบริการทำแท้ง อัมพร สุธรรม จึงเล่าว่าเธอต้องเลือกรับยาแบบออนไลน์จากคลินิกที่ถูกต้องทางกฎหมายแทน เพราะไม่สามารถเดินทางไกลไปรับบริการที่ฟรีและปลอดภัยได้
โดยปกติแล้ว สปสช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาท สำหรับคนไทยทุกสิทธิที่เข้ารับบริการในสถานบริการในเครือข่าย สปสช. ซึ่งโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ใกล้ กทม. ที่สุด คือ โรงพยาบาลสิงห์บุรี
อัมพรเล่าว่า โรงพยาบาลสิงห์บุรีที่ฟรี ไปแล้วจบ และอยู่ใกล้ที่สุด มันก็ยังไกลจากเธอ ขณะที่โรงพยาบาลรอบ กทม. แม้จะใกล้กว่า แต่ก็มีราคาสูง เธอที่เป็นพนักงานรายเดือนไม่อาจเจียดเงินไหว ท้ายที่สุดจึงปรึกษากลุ่มทำทางและเลือกรับยาแบบออนไลน์
“มันเข้าถึงไม่ง่าย โรงพยาบาลที่ฟรีแล้วจบเลย ใกล้สุดอยู่ที่ จ.สิงห์บุรี บางคนเขาเข้าไม่ถึง การเดินทางมันไกลจากที่เขาอยู่ ถ้ามี (สถานบริการยุติตั้งครรภ์) ใน กทม. มันก็จะสะดวกสบายขึ้น เรามีรถบัส รถเมล์ มีทุกอย่าง เราว่ามันก็ควรจะมีนะ อยากให้มี เพราะมันสะดวกกับทุกคนจริงๆ”
ซึ่ง นิศารัตน์ จงวิศาล ผู้ให้คำปรึกษากลุ่มทำทาง ชี้ว่า ถ้าสามารถรับบริการได้โดยไม่ต้องลางานและเสียเงินเยอะจะดีต่อผู้รับบริการมากกว่า เพราะนอกจากเรื่องเงินและระยะทาง ผู้คนมักละเลยที่จะพูดถึง ‘การเสียโอกาส’ ของวันนั้นๆ หากคน กทม. ต้องไปทำแท้งถึงสิงห์บุรี เนื่องจากต้องลางาน ที่ก็อาจนำมาสู่การเสียรายได้ ไม่สามารถบอกเหตุที่ต้องลา และไม่สามารถยื่นใบรับรองแพทย์เหมือนอาการป่วยทั่วไปได้
“สิ่งนี้ใน กทม. มันไม่มี แล้วเราต้องตอบคำถามบ่อยๆ ว่ามันไม่มี ไม่มีค่ะ เสียใจด้วยจริงๆ ที่มันไม่มี” เจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษากลุ่มทำทาง ระบุ
สิทธิประโยชน์ที่คน กทม. ไม่ได้รับ
ด้าน นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ร่วมแลกเปลี่ยนว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนำมาสู่สิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับหากต้องการยุติการตั้งครรภ์จะมีอะไรบ้าง? ในฐานะตัวแทน สปสช. เขาเล่าว่า มีการจัดซื้อ ‘medabon’ ยายุติการครั้งครรภ์ที่ได้ขึ้นบัญชียาแห่งชาติปีนึงไม่ต่ำกว่า 10,000 ชุด เพื่อรองรับผู้หญิงไทยที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ สปสช. ยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาทร่วมด้วย สำหรับคนไทยทุกสิทธิบริการสุขภาพ
ทั้งนี้ นพ.นิธิวัชร์ อธิบายว่า ในการเบิกจ่ายกับ สปสช. ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว ทุกที่เบิกได้ “ใครไปรับยาที่ไหนก็เบิก สปสช. ได้ ไม่ว่าจะโรงพยาบาลใน กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่นเครือข่าย สปสช. ทุกแห่ง สามารถเบิกบริการนี้ได้ เพียงแต่ต้องได้รับการยืนยันจากกรมอนามัยว่ามีหมอที่สามารถสั่งจ่ายยาได้ ส่วนเครื่องดูดสุญญากาศ ก็สามารถเบิกจ่ายได้เช่นกัน” เขาระบุ
ขณะนี้ กทม. เป็นจังหวัดที่ไม่มีสถานบริการของรัฐที่ให้บริการทำแท้งเลยแม้แต่แห่งเดียว ดังนั้น สิทธิประโยชน์ข้างต้นนี้ จึงอาจยังเข้าไม่ถึงคน กทม. มากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี นพ.นิธิวัชร์ เน้นย้ำว่า แม้จะมีกฎหมายและการสนับสนุนจาก สปสช. แล้ว ปัญหาใหญ่คือทัศนคติและความเชื่อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคนปฏิเสธการรักษา ไม่กล้าเขียนใบส่งตัว ไม่แม้แต่จะอัลตราซาวนด์ เพราะกลัวเป็นบาป ซึ่งก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการรับบริการ หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ แม้กฎหมายจะเปลี่ยนแล้ว แต่บริบทสังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องการนำไปใช้จริงอยู่
ช่องว่างทางกฎหมาย
ณัฐวุฒิ บัวประทุม ในฐานะ ส.ส. ผู้มีส่วนในการผลักดันการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง อธิบายว่า มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายจริง แต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่ ได้แก่
– อาจมีโรงพยาบาลที่ต้องการใบแจ้งความ ใบส่งตัวจากตำรวจ คำสั่งศาล เพื่อพิจารณาการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกินเวลายาวนานและอายุครรภ์จะรอไม่ได้
– ในกรณีต้องมีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งในโรงพยาบาลระดับศูนย์ บางครั้งประชุมมากกว่า 1 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันเป็นเดือน ซึ่งอาจกินเวลายาวนานและอายุครรภ์จะรอไม่ได้
– กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขแม้กฎหมายใหม่จะบังคับใช้แล้ว 1 ปี 7 เดือน มีเพียงแพทยสภาที่ออกข้อบังคับ อย่างไรก็ดี ส.ส.ณัฐวุฒิ เผยว่า แม้จะออกมาก็อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะกระทรวงฯ จะเอาระบบการให้คำปรึกษาตามกฎหมายตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมาเป็นแนวทาง ซึ่งเป็นระบบที่อาจยังต้องปรับปรุงต่อไป
ทั้งนี้ ส.ส.ณัฐวุฒิ ตั้งข้อสังเกตว่า การมีกฎหมายทำแท้งใหม่นี้คล้ายกับการโดนหลอก เพราะฝ่ายบริหารยังไม่ออกประกาศเพื่อรับรองเพื่อให้ปฏิบัติการเป็นไปตามกฎหมายใหม่ และกลายเป็นว่าภาคประชาชนต้องมาแบกรับการให้บริการแทนในปัจจุบัน
“อยากตั้งประเด็นว่า การมีกฎหมายนี้ เป็นการมีกฎหมายบนพื้นฐานที่ถูกบังคับโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แน่นอน ผมบอกมุมบวกเยอะ ในการอภิปรายผมดีใจที่ประโยคร้ายๆ ไม่หลุดจากปากของ ส.ส. และบรรยากาศในคณะกรรมาธิการก็เป็นบวก แต่การมีกฎหมายที่เราโดนหลอกวันนั้นเนี่ย 1 ปี 7 เดือนกับประกาศไม่กี่หน้าคุณยังไม่ออกเลย และแม้มีประกาศก็ต้องมาดูด้วยว่าบริการที่แท้จริงมีหรือไม่” ส.ส.ณัฐวุฒิ ระบุ
ช่องว่างทางทัศนคติ
ไม่เพียงช่องว่างทางกฎหมายเท่านั้น นิศารัตน์ จงวิศาล ย้ำว่าที่ไม่มีโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครสักแห่งที่จ่ายยาทำแท้งให้ผู้ต้องการ มี ‘ทัศนคติ’ เป็นหนึ่งในเหตุสำคัญ
“กทม. มีโรงพยาบาลที่ดี มีหมอที่เก่ง มีโรงเรียนแพทย์หลายที่ สมมติว่าเราเปนคนอยุธยา มีเนื้องอก และหมอโรงพยาบาลต้นสังกัดวินิจฉัยว่า เฮ้ย เคสนี้ หมอโรงพยาบาลริมทางรถไฟรักษาได้ ตัดสินใจส่งต่อและออกใบส่งตัว ทุกคนสนับสนุน เอาเลย ฝั่งโรงพยาบาลริมทางรถไฟก็รับ รักษาได้ เก็บเคสได้ด้วย จบ นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ถ้าเป็นโรคอื่น แต่ถ้าคุณต้องการทำแท้งเมื่อไหร่ หมอไม่ทำ ไม่ส่งต่อ เพราะกลัวบาป” นิศารัตน์ เผย
เจ้าหน้าที่จากกลุ่มทำทางชี้ว่า แนวคิด ‘ไม่มีใครอยากเป็นสะพานบาป’ คือทัศนคติที่เป็นปัญหา เธอเล่าว่าไม่ใช่แค่แพทย์หรือผู้ให้บริการเท่านั้นที่เชื่อแบบนี้ เพราะในบางกรณี แม้แต่คนรอบตัวผู้รับบริการก็ไม่อยากจะร่วม ‘เป็นสะพาน’ หรือเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทำแท้งเช่นกัน
มีอีกหลายทัศนคติที่เป็นปัญหา อาทิ ทัศนคติที่ไม่อยากให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์เพราะเหตุทางความเชื่อ ทัศนคติเกลียดชังบุคคลท้องไม่พร้อม เป็นต้น ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาจากกลุ่มทำทางชี้ว่า การสื่อสารถึงสิทธิในร่างกายเราอยู่เหนือกว่าทัศนคติของผู้อื่น คือสิ่งที่ยังสื่อสารไม่มากพอ
“ผู้มีประสบการณ์ทำแท้งยืนยันเองว่าการทำแท้งทำให้เขาได้ชีวิตใหม่ ในงานนี้ กลางตลาด กลางชุมชน หรือที่ไหนก็ตาม ทุกที่มีคนที่เคยทำแท้งและได้รับชีวิตใหม่ ได้เรียนต่อ ได้ทำงานต่อ ได้เลี้ยงดูพ่อแม่ ได้เลี้ยงลูกที่มีอยู่แล้ว หรือได้ใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งนี้แหละ คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ยังไม่เคยได้รับ เพราะอะไร” ผู้ให้คำปรึกษากลุ่มทำทางตั้งประเด็นทิ้งท้าย
กฎหมายทำแท้งต้องออกจากกฎหมายอาญา
อีกประเด็นที่น่าสนใจจากการเสวนานี้ คือการพยายามเรียกร้องให้ถอดการทำแท้งออกจากกฎหมายอาญา
แม้กฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้บุคคลทำแท้งได้แล้วหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่การทำแท้งนอกเงื่อนไขที่อนุญาตอาจนำมาสู่การต้องโทษตามกฎหมายได้ เช่น มาตรา 301 กำหนดให้หญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โดยที่ไม่เข้าเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรา 305 จะมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่าการทำแท้งจะยังมีโทษความผิดอยู่ ซึ่ง นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ชี้ว่า การทำแท้งควรออกจากกฎหมายอาญา และเสนอว่าอาจเขียน พ.ร.บ. หรือกฎหมายทำแท้งโดยตรงเลยก็ได้ “ตอนแรกที่เริ่มต่อสู้กันมา อยากให้เอาออกทั้งหมด เราเคยขอด้วยซ้ำว่า ม.305 มันจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพของหมอ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เป็นแบบนั้น ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้เขาเห็นด้วย และเอาหมวดความผิดฐานทำแท้งออกจากกฎหมายอาญาทั้งหมด” เขาระบุ
สอดคล้องกับที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ชี้ว่า ไทยต้องทบทวนว่าที่ยืนของการยุติการตั้งครรภ์ควรอยู่ในระบบกฎหมายใด เหมาะจะอยู่ในระบบกฎหมายอาญาหรือไม่ ซึ่งก็เสนอเช่นกันว่าประชาชนต้องช่วยกันผลักดันกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์เป็นหมุดหมายที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ได้ถ้วนหน้า ซึ่งการทำแท้งก็เป็นส่วนหนึ่งของบริการนี้
‘ความคิดเห็นส่วนตัว’ จากข้าราชการ กทม.
แรกเริ่มเดิมที งานเสวนานี้ตั้งใจจะให้มีตัวแทนจาก กทม. มาร่วมบรรยายถึงความเป็นไปได้และความท้าทายของนโยบายจัดบริการทำแท้งปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัด กทม. แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ได้ตัวแทนข้าราชการมาร่วมเสวนาด้วย
อย่างไรก็ดี นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. ได้ปรากฎตัวในงานนี้ และมีโอกาสบรรยายสั้นๆ ในช่วงท้ายของเสวนา ทั้งนี้ เขาระบุว่าตนมาในนามส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้รับมอบหมายให้มา แต่เพราะเห็นหนังสือจากผู้จัดงานจึงมาร่วมฟังด้วย
นพ.ธีรวีร์ระบุว่า จากข้อมูลที่มีพบว่าเป็นปัญหาของการจัดการระบบที่แม้จะมีกฎหมายแล้ว แต่ยังขาดการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ เขาชี้แจงว่า ข้อมูลจากงานเสวนาวันนี้จะถูกนำไปสื่อสารต่อหน่วยงานของ กทม. ให้ได้ทราบว่าประชาชนกำลังเจอปัญหาอะไร
“วันนี้ได้มาฟัง ได้เห็นเปเปอร์แล้ว และจะเอาเข้าไปในที่ประชุม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กทม. ได้รับทราบว่ามันมีปัญหาในเชิงปฏิบัติอยู่ ว่ายังมีหมอบางคนที่กังวลและมีมายเซ็ทเดิมอยู่แม้จะมีกฎหมายใหม่แล้ว ก็ขอรับไว้ไปพูดคุย และในเร็วๆ นี้จะมีการรพูดคุยทำแผน ถ้ามีโอกาสอยากขอเชิญตัวแทนเข้าไปพูดคุยเป็นข้อมูล” ผอ.กองสร้างเสริมสุขภาพ กล่าว
ท้ายที่สุดแล้ว งานเสวนานี้ไม่อาจตอบได้ว่า กทม. จะมีสถานบริการสุขภาพของรัฐที่ให้บริการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ แต่ผู้บรรยายทุกคนล้วนมีความหวังที่จะเห็นสถานการณ์การยุติการตั้งครรภ์ทั้งใน กทม. และในระดับประเทศ ถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น