วัฒนธรรมการคว่ำบาตร หรือ Cancel Culture เปรียบได้กับการโต้กลับจากผู้บริโภคในโลกโซเชียลมีเดีย ต่ออินฟลูเอนเซอร์ ผู้มีชื่อเสียง หรือแบรนด์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมวงกว้าง เมื่อคนเหล่านี้เพิกเฉย หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ควรทำตามครรลองที่ผู้บริโภคเชื่อ โดยพวกเขาอาจไม่ดูซื้อสินค้าจากแบรนด์เหล่านั้น ไม่ดูหนังที่อินฟลูเอนเซอร์เล่น หรือแค่กดอันฟอลโลในเพจ
ความสำเร็จของวัฒนธรรมคว่ำบาตรขึ้อยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จำนวนผู้เข้าร่วมในการรณรงค์ และแม้หลายครั้ง มันอาจไม่สำเร็จ หรือเพียงพอสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แต่อทุกครั้งมันมักสามารถสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมได้เสมอ
ปี 2020 เป็นอีกหนึ่งปีประเด็นการเมืองและสังคมของไทยมีสีสันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และหนึ่งในอาวุธที่ถูกนำมาใช้หลายต่อหลายครั้งคือ วัฒนธรรมการคว่ำบาตร นั่นเอง และ The MATTER ได้รวมกระแส Cancel Culture ที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นกับสังคมไทยตลอดปี 2020 ไว้ที่นี้แล้ว
#แบนเนชั่น & #แบนสปอนเซอร์เนชั่น
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 สำนักข่าวเนชั่น ได้เปิดคลิปเสียงหนึ่ง พร้อมฉายภาพเงาของชายสองคนที่คล้าย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ทักษิณ ชินวัตร นำไปสู่ #เนชั่นโป๊ะแตก หลังจากที่ธนาธรออกมาอธิบายถึงคลิปเสียงดังกล่าว และปฏิเสธว่าไม่ใช่เสียงของตน ทางช่องเนชั่น
เวลาคล้อยมาถึงปี 2563 ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา นักข่าวจากเนชั่นคนหนึ่งได้อ้างว่ามาจากสำนักข่าวอื่นเพื่อเข้าไปสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ชุมนุม ทำให้เมื่อมีการนำเสนอข่าวออกมาทางช่องเนชั่นทีวี ได้เกิดการแชร์พฤติกรรมดังกล่าวของนักข่าวจากเนชั่นไปทั่วโลกออนไลน์ จนเกิดเป็น #แบนเนชั่น ในเวลาต่อมา
คนกลุ่มหนึ่งมองว่า สำนักข่าวเนชั่นบิดเบือนข่าวสารและทำลายจริยธรรมของสื่อมวลชน หลังจาก #แบนเนชั่น จึงเกิดการรณรงค์ให้ภาคธุรกิจออกมา call out จุดยืนทางการเมือง ซึ่งนั่นเป็นจุดหนึ่งที่นำไปสู่ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น สร้างปรากฎการณ์กดดันภาคธุรกิจ จนทำให้บางบริษัทออกมาประกาศถอนตัวจากเนชั่น อาทิ ฟู๊ดแพนด้า และยันฮี วิตามิน วอเตอร์
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักข่าวเนชั่นได้ประกาศเปลี่ยนตัวผู้บริหาร และแต่งตั้ง อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเนชั่นทีวีกลับมานั่งในตำแหน่งอีกครั้ง พร้อมกับการลาออกยกชุดของทีมผู้ประกาศข่าวของเนชั่น อาทิ กนก รัตน์วงศ์สกุล, อัญชะลี ไพรีรัก หรือสันติสุข มะโรงศรี โดยจะย้ายไปสังกัดค่าย NewsTV 18 แทน พร้อมทั้งได้มีการฟอร์มทีมผู้ประกาศข่าวใหม่ อาทิ อรการ จิวะเกียรติ, อรรินทร์ ยมกกุล, ชวัลน์ จันทร์ทรัพย์ และยิ่งน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อดึง ต๊ะ – พิภู พุ่มแก้วกล้า จากเดอะ แสตนดาร์ดมาร่วมงาน
#ยกเลิก112
ปี 2563 เป็นหนึ่งปีที่น่าจดจำของการเมืองไทย เพราะนับตั้งแต่การชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์’ และ ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ขอบฟ้าทางการเมืองไทยก็กว้างขวางมากขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็นคือ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อมูล และตรรกะของคนรุ่นใหม่ ส่วนสิ่งที่เคยเห็นก็ไม่ได้เห็นคือ การใช้มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เอ่ยถึงสถาบันและบุคคลรายล้อมรอบตัว ซึ่งเคยถูกนำมาใช้อย่างหนักจนทำให้เกิดนักโทษและผู้ลี้ภัยทางการเมืองมากมาย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเป็นอีกครั้งที่ ป.อาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้แจ้งความกับกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องดูกันต่อไปว่าจะมีการดำเนินคดีเป็นจริงเป็นจังหรือไม่ เพราะการแจ้งความยังไม่ได้หมายถึงการขึ้นโรงขึ้นศาล ยังต้องมีกระบวนการให้อัยการส่งสำนวนคดีให้ศาลรับฟ้องอีก นอกจากนี้ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยพูดเองว่า ร.10 ท่านไม่ต้องการให้ใช้กฎหมายนี้
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดงาน ‘ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง’ บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยภาคในงานมีทั้งวงเสวนา การแสดงดนตรี รวมถึงปฐกถาพิเศษจาก ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ต่อรากฐานความเป็นมาของกฎหมายหมิ่นสถาบันในประเทศไทย ปัญหาของตัวบทกฎหมาย และผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี
แต่ขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนให้มีการใช้กฎหมายมาตรานี้ หนึ่งในนั้นคือ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ซึ่งออกมาโพสต์ในทวิตเตอร์ตัวเองว่า “ข้าพเจ้านายอนุชิต สพันธุ์พงษ์ ขอนับสนุนให้ใช้ มาตรา 112 ต่อผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด ข้าพเจ้าไม่มีปัญหาอะไรกับมาตรานี้ครับ ปล. ขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดแบบสุดๆๆๆไปเลยนะครับ” ทำให้เกิดกระแส #แบนโออนุชิต บูมไปทั่วโลกทวิตเตอร์
#เว้นเซเว่นทุกWednesday
กระแส #เว้นเซเว่นทุกWednesday มาพร้อมกับทัศนะว่ากลุ่มอำนาจเดิมในการเมืองไทย มีความเชื่อมโยงกับบริษัทซีพี ออลล์ และความเชื่อมโยงนี้เองเป็นที่มาของการผูกขาดทางตลาด และการดำรงอย่างมั่นคงของอำนาจเผด็จการในไทย
ภายหลังที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้นำข้อมูลป่ารอยต่อมาเปิดเผยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วทุกย่างก้าวของการเมืองไทยอยู่ภายใต้การเจรจาตกลงหลังม่านในพื้นที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งจากข้อมูลการบริจาคให้กับมูลนิธิดังกล่าวก็มีนายทุนรายใหญ่หลายราย รวมถึงซีพี นำไปสู่ข้อครหาถึงผลประโยชน์หลังม่านระหว่างผู้กุมอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน กับกลุ่มทุนรายใหญ่
จึงนำไปสู่การรณรงค์ #เว้นเซเว่นทุกWednesday เชิญชวนให้ชาวเน็ตหันมาเลิกเข้าร้านค้าเซเว่นอีเลเว่นในทุกวันพุธ หรือไม่ใช้บริการเลยสำหรับบางคน พร้อมกับการรณรงค์ให้ช่วยกันปักหมุดร้านขายของชำในกูเกิล แมพเพื่อให้คนหันมาเข้าร้านสะดวกซื้อของผู้ประการรายย่อย มากกว่าเซเล่น อีเลฟเวน
#แบนดาราสลิ่ม & #แบนแทกุกไลน์
ในช่วงที่การเมืองกำลังเข้มข้นคล้ายน้ำเชี่ยว อรนภา กฤษฎี หรือ ม้า อรนภา ได้คอมเมนต์ข้อความลงในโลกโซเชียลมีเดียว่า “นอนแหกXXอยู่บ้านไป ไม่ต้องมาเรียน เด็กเปรต” ถึงกรณีที่เด็กมัธยมในหลายโรงเรียนร่วมผูกโบว์ขาวและยืนชู 3 นิ้วขณะที่ทำการเคารพธงชาติ นำไปสู่การขุดคุ้ยประวัติของ ม้า อรนภา และดาราคนอื่นๆ ว่าใครบ้างที่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. จนนำไปสู่ #แบนดาราสลิ่ม
กระแสที่มาเคียงคู่กับการแบนดาราไทยคือ การเรียกร้องให้ดารา นักแสดง และอินฟลูเลนเซอร์สัญชาติไทย ในเกาหลีใต้ออกมา call out ว่าตนเองยืนข้างฝั่งไหนระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งท่าทีอันนิ่งเฉยของเหล่าดาราเกาหลีใต้ สัญชาติไทย ได้นำไปสู่ #แบนแทกุกไลน์
ชาวเน็ตมองว่าดารานักร้องควรใช้ชื่อเสียงของตัวเองให้เป็นประโยชน์ในการเผยตัวและออกมาพูดในเรื่องปัญหาสังคม และการเมืองบ้าง ซึ่งคนไทยที่กลายเป็นดาราในประเทศเกาหลีใต้ก็เช่น นิชคุณ อดีตนักร้องวง 2PM ที่เป็นทูตของ UNICEF, แบมแบม จากวง ที่เป็นทูตของ UNICEF เช่นกัน หรือลิซ่าจากวง Blackpink
อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งที่ออกมพูดว่า เหตุผลที่คนเหล่านี้ไม่สามารถออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองได้เป็นเพราะสัญญาที่ทำไว้กับค่าย ตลอดจนออกมาตั้งคำถามว่า การกดดันให้ดาราออกมาแสดงออกทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ จนนำไปสู่ #saveแทกุกไลน์ ต่อมา
#Boycottmulan
กระแส #Boycottmulan กลายเป็นเทรนด์ในโลกโซเชียลมีเดียขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังที่ เนติวิทย์ โชคติภัทรไพศาล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ภาพหน้าโรงหนัง คู่กับกระดาษที่มีข้อความเขียนว่า #Boycottmulan เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระแส #Boycottmulan เคยเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา
ในช่วงที่ฮ่องกงยังมีการชุมนุมเพื่อต่อต้านอำนาจจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง ได้มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมชาวฮ่องกงด้วยความรุนแรงลงในหน้าหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี และ หลิว อีเฟ้ย นักแสดงชาวจีน และนางเอกในเรื่อง Mulan ได้ออกมาแชร์ภาพในหนังสือพิมพ์พร้อมแคปชั่น “ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกง เชิญพวกคุณทั้งหลายมารุมฉันได้เลย ช่างน่าละอายจริงๆ ฮ่องกง” สะท้อนว่าเธอเห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมในฮ่องกง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่กระแส #Boycottmulan ขึ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะในฮ่องกง ซึ่ง โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหววัย 18 ปี ได้ออกมาโพสต์ข้อความชวนให้แบนหนังเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ดิสนีย์ ยอมปรับเปลี่ยนบทในหนังเพื่อให้สามารถฉายในประเทศจีนได้ บวกกับกระแสพันธมิตรชานม ระหว่างผู้ชุมนุมในไทยและฮ่องกง ทำให้การแบนภาพยนต์ดังกล่าวเข้มข้นมากขึ้น
กระแส #Boycottmulan อาจจะเป็นส่วหนึ่งที่ทำให้ภาพยนต์ที่ใช้ทุนสร้างกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ทำรายได้ได้เพียง 69 ล้านดอลลาร์จากยอดขายทั่วโลก ซึ่งทำให้ดิสนีย์ต้องตัดสินใจนำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวลงในระบบสตรีมมิ่งของดิสนีย์เอง
#NoCPTPP
อีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของวัฒนธรรมการคว่ำบาตรของไทยคือ การชะลอข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ CPTPP ออกไป โดยประเด็นดังกลาวเริ่มร้อนขึ้นในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม ที่คณะรัฐมนตรีมีการนัดประชุมภายใต้หัวข้อการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนได้พยายามรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลที่ชี้ว่า ข้อตกลงฉบับดังกล่าวจะทำให้ชาวไทยต้องพบกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ ด้านเกษตรกรรม ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวอย่างพันธุ์พืชมาปลูกต่อได้ หรือทำให้เมล็ดพันธุ์ถูกผูกขาดยาวนานขึ้น ด้านสาธารณสุข ที่ทำให้คนไทยเข้าถึงยารักษาโรคยากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ
อย่างไรก็ดีในท้ายสุด รัฐบาลก็ได้เลื่อนการตัดสินใจลงนามในข้อตกลง CPTPP ออกไป และเมื่อเดือนมิถุนยายนก็ได้มีการจัดตั้ง กมธ.ศึกษาในข้อตกลง CPTPP ขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลนี้เพิ่มเติม
และทั้งหมดนี่คือส่วนหนึ่งของ แฮชแท็ก Cancel Culture ที่ถูกพูดถึงกันมากตลอดปี 2020 ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถูกพูดถึงกัน โดยหากให้ทายดู ในปีหน้าการรณรงค์วิธีนี้น่าจะถูกนำมาใช้ต่อเนื่องมากขึ้นแน่นอน เพราะโลกอินเตอร์เน็ตได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อตั้งคำถามและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและโลกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ยังต้องตามดูกันต่อไป
เพราะอีกหนึ่งความท้าทายของโลกอินเตอร์เน็ตคือ ภาวะข้อมูลเฟ้อ หรือมีข้อมูลไหลหลั่งมากเกินไป จนโฟกัสกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ยากเช่นเดียวกัน