ย้อนกลับไปก่อนที่ไวรัส COVID-19 จะระบาด การที่ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าของ ‘โตเกียว 2020 โอลิมปิก’ (Tokyo 2020 Olympics) เป็นดั่งความหวังในการฟื้นกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซาจากสังคมผู้สูงวัย กระทั่งเป็นอีเวนต์ที่ทั่วโลกจับตามมองในหลายๆ ด้าน
แต่ในปี ค.ศ.2020 การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็สกัดไม่ให้ความฝันของ โตเกียว 2020 โอลิมปิก ถือกำเนิด ก่อนจะถูกเลื่อนมาจัดในวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม ค.ศ.2021 นี้ ตามด้วยพาราลิมปิกเกมใน 24 สิงหาคม ท่ามกลางเงื่อนไขเพื่อความปลอดภัยการควบคุมโรคต่างๆ เช่น ห้ามมีผู้เชียร์ในสนาม
ครั้งนี้อาจจะเป็นโอลิมปิกที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราย้อนไปดูที่มา ‘โตเกียว 2020 โอลิมปิก’ กับการปรับตัวในยุคโรคระบาด และความสำคัญของอีเวนต์นี้ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นจนถึงกับต้องผลักดันให้เกิดขึ้นมาให้ได้ในปีนี้ กันดีกว่า
กว่าจะคว้า ‘โตเกียว 2020 โอลิมปิก’
ปี ค.ศ.2016 อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ‘ชินโซ อาเบะ’ แต่งตัวเลียนแบบมาริโอ คาแร็คเตอร์การ์ตูนที่โด่งดัง ขึ้นรับคบเพลิงต่อจาก ‘ริโอเกมส์’ ทั่วโลกตื่นเต้นที่จะได้เห็นประเทศสุดครีเอทีฟกลายเป็นเจ้าภาพคนถัดไป ว่ากันว่ามันต้องออกมาดีแน่นอน … แต่นั่นก็ผ่านมาแล้ว 5 ปี
น่าเศร้าอยู่เหมือนกัน เพราะความฝันของโตเกียวไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทว่าตั้งแต่อาเบะรับตำแหน่งนายกฯ ในปี ค.ศ.2012 เขาตั้งเป้าที่จะประมูลเจ้าภาพโอลิมปิก ปี ค.ศ.2020 มาให้ได้ ท่ามกลางคู่แข่งที่มีศักยภาพไม่แพ้กันอย่างมาดริดและอิสตันบูล และสุดท้าย ญี่ปุ่นก็ได้มันมา
โอลิมปิกเกมถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาก ข้ามเวลาย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1964 ที่ญี่ปุ่นได้จัดซัมเมอร์โอลิมปิกเป็นครั้งแรก ในตอนนั้นแดนอาทิตย์อุทัยกำลังก่อร่างสร้างตัวหลังแพ้สงคราม เป็น youth nation ที่ถูกเติมความหวังด้วยการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพงานระดับโลกครั้งแรกของเอเชีย โครงสร้างพื้นฐานมหาศาลถูกทุ่มเม็ดเงิน มีการผลักดันโรงงานไปนอกเมือง และรถไฟชิงคันเซ็นก็กำเนิดขึ้น แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้โลกได้เห็น
มันคือเกมเดียวที่เปลี่ยนญี่ปุ่นไปตลอดกาล และมีความสำคัญกับญี่ปุ่นมาก ดังนั้น โตเกียว 2020 โอลิมปิก นี้ ก็ถูกคาดหวังไว้ในเส้นทางคล้ายกัน
ว่าด้วยตัวเลขน่ารู้ใน โตเกียว 2020 โอลิมปิก และมูลค่าของมัน
รัฐบาลอาเบะทุ่มเงินสร้างโอลิมปิกสเตเดียมใหม่ด้วยมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับปรุงเมืองส่วนต่างๆ และคาดการณ์เบื้องต้นว่าเมกะอีเวนต์นี้จะสร้างรายได้ให้ประเทศจากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คน แค่โตเกียวอย่างเดียวก็มากถึง 20 ล้านล้านเยน ถ้ารวมผลพลอยได้จากทั่วประเทศก็จะได้อีก ราว 32 ล้านล้านเยน
ทว่าพอโรคระบาดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านั้นคงไม่เกิด แต่อย่างไรก็ตาม โตเกียว 2020 โอลิมปิก ก็ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ดี ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ อำนาจการตัดสินใจยกเลิกเป็นของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพียงผู้เดียว ถ้าเลือกตัดสินใจยกเลิกจัดงานโดยรัฐบาล ทางโตเกียวต้องเสียค่าปรับมหาศาล ให้ IOC จะว่าเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มารับสานต่อแทนอาเบะก็คงไม่ผิดเพี้ยน
งบประมาณจัดงาน 12,6000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 400,000 ล้านบาท คือจำนวนค่าปรับที่โตเกียวจะต้องจ่ายหากยกเลิกจัดงานให้ IOC
ทว่าสำนักวิจัยโนมูระคาดการณ์ว่า ความเสียหายโดยรวม อาจจะเด้งเป็นสองเท่า หรือราว 600,000 ล้านบาท เพราะมีการลงทุนอื่นไปด้วย แต่ก็ออกโรงเตือนด้วยว่า หากปล่อยให้จัดต่อแล้วเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเสียหายได้มากกว่านั้น
ซึ่งน่าสนใจตรงที่คนโตเกียวเองเกือบครึ่งก็ไม่แฮปปี้กับการจัดงานโอลิมปิกในปี ค.ศ.2021 ที่ตัวเลขติดเชื้อยังแตะหลักพัน The Asahi Shimbun หนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก สำรวจว่ากว่า 43% ของผู้คนคิดว่าควรยกเลิก
สปอนเซอร์หลายรายก็ส่งเสียงในทิศทางใกล้กัน อย่างมหาเศรษฐี Softbank ‘มาซาโยชิ ซัน’ ก็ออกมาเรียกร้องให้เลื่อนหรือยกเลิก เขาบอกว่าวัคซีนในญี่ปุ่นล่าช้า และเรากำลังเปิดประตูรับคนเกือบแสน จากกว่า 200 ประเทศ เข้ามาแพร่เชื้อกลายพันธุ์ “ผมคิดว่าเราจะสูญเสียมากกว่า” ซัน บอกผ่านทวิตเตอร์
หลายผู้สนับสนุนบอกกระทั่งให้เลื่อน อีกสักหลายๆ เดือนค่อยจัด ถึงตอนนั้นคนก็ฉีดวัคซีนเยอะและปลอดภัยขึ้น จัดตอนนั้นเถอะจะเพิ่มเงินสนับสนุนให้
แต่ท้ายที่สุด คณะกรรมการจัดการแข่งขัน โตเกียว 2020 โอลิมปิก ก็ประกาศเมื่อ 4 มิถุนายน ค.ศ.2021 ว่าจะเดินหน้าด้วยความตั้งใจต่อไป โดยมีผู้สนับสนุนบางส่วนโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ เห็นด้วยกับการไปต่อ
สิ่งที่เป็นปัจจัยการเดินหน้าก็อาจประเมินได้จากเรื่องเงินๆ ทองๆ และการแสดงศักยภาพว่าทำได้จริงนี่แหละ เพราะอีกขาหนึ่งจากค่าปรับ โตเกียว 2020 โอลิมปิก ได้ชื่อว่าเป็นโอลิมปิกที่มีเงินสนับสนุนมากที่สุดในประวัติกาล แค่ในประเทศก็มีกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯอีก 1.1 ล้านล้านบาท คือเงินที่สะพัดและมีการลงทุนในด้านของการก่อสร้างในฐานะเจ้าภาพ
และแม้จะขายบัตรเข้างานไม่ได้ แต่ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดก็เป็นกอบเป็นกำ มากถึง 73% ของรายได้ทั้งหมดที่ IOC จะได้รับ ซึ่งมีมูลค่าหลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
นอกเหนือจากนี้ ธุรกิจบางภาคส่วนในญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นว่า แม้คนจะเข้าร่วมชมไม่ได้ แต่ถ่ายทอดสดได้ ซึ่งถือเป็นการโชว์ให้เห็นญี่ปุ่นโฉม 2021 ที่น่าจะดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มในญี่ปุ่นได้ ช่วยให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุคหลัง COVID-19 เป็นไปง่ายขึ้น
หนักแน่นจัดงาน สะอาด ปลอดภัย และไม่ลืมรักษ์โลก
โตเกียว 2020 โอลิมปิก นับถอยหลังอีกแค่ราวสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งทาง Weforum ได้รวบรวมข้อมูลน่าสนใจต่างๆ ใน โตเกียว 2020 โอลิมปิก ไว้ ทำให้เราเห็นภาพความยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิด ไปพร้อมๆ กับที่รัฐบาลต้องรับมือการระบาด COVID-19 จะมีอะไรบ้างในโอลิมปิดสุดอลเวงรอบนี้?
- นักกีฬา 11,500 คน
- นักกีฬาเป็นผู้ชาย 51% และ ผู้หญิง 49%
- เจ้าหน้าที่รัฐ นักข่าว และซัพพอร์ตสตาฟฟ์ 79,000 คน
- คนในหมู่บ้านนักกีฬา ฉีดวัคซีนแล้ว 80%
- คนญี่ปุ่นฉีดวัคซีนไปแล้ว 9% (ณ วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.2021)
มีการเคลมด้วยว่านี่จะเป็นโอลิมปิกที่รักโลกที่สุดเท่าที่เคยมีมา ประมาณการณ์ว่าจะปล่อยคาร์บอนแค่เพียง 2.93 ล้านตัน ซึ่งน้อยที่สุดที่เคยจัดโอลิมปิกเกมส์มา อย่างโอลิมปิกลอนดอน 2012 ก็ปล่อยคาร์บอนรวมไว้ที่ 3.3 ล้านตัน
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้คำมั่นสัญญาเมื่อเดือนก่อนว่า จะดูแลความปลอดภัยเรื่องการควบคุมโรคให้ดีที่สุด “เราจะตระหนักการจัดงานที่สะอาดและปลอดภัย และจัดงานที่จะกลายเป็นมรดกแก่ผู้คน” คือหนึ่งในข้อความบนเขียนไว้ในแผนการดำเนินงาน
นอกจากนั้นยังระบุว่า จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจด้วยหลากหลายเครื่องมือนโยบาย รวมถึงมองหาโอกาสจากความต้องการนอกประเทศ พยายามเร่งเงินลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI) ให้ได้เป็นสองเท่าจากปัจจุบัน เป้าหมายคือ 80 ล้านล้านเยน ภายในปี ค.ศ.2030
โดยทาง IOC ก็สำทับว่าจะมีการมอนิเตอร์นักกีฬาอย่างใกล้ชิด ตรวจโรคเข้มข้น โดยทางคณะกรรมการไม่ได้คาดหวังว่าโตเกียวจะปลอดโรค แต่สิ่งสำคัญคือการไม่ให้คนคนเดียวกลายเป็นคลัสเตอร์
ท่ามกลางการตั้งคำถามว่าจะสำเร็จและคุ้มค่าหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร โตเกียว 2020 โอลิมปิก คงจะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ ความหวัง ความฝัน ละความเสี่ยง ของผู้คนแตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายแล้วเราคงต้องติดตามต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในวันศุกร์หน้าที่จะถึงนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan