ส.ส. คนนั้นเขาเป็นใคร ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตามาก่อน? เลือก ส.ส.เขตนี้มาทั้งชีวิต อ้าวทำไมรอบนี้ไม่มีชื่อ?
ใกล้จะได้เข้าคูหาแล้ว หลัง กกต.ประกาศวันเลือกตั้งออกมาเป็นทางการ ท่ามกลางความสับสนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ชวนงง เพราะการตัดแบ่งเขตเดิม แล้วปะติดรวมกลุ่มใหม่ จนยากที่จะถามหาเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้ง กทม.
หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของ กกต. อย่างเป็นทางการว่า ในการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามานี้ เราจะมี ส.ส.เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงยืนยันถึงท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้หลากข้อสงสัยถูกกระหน่ำตั้งคำถาม
สนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ฉายภาพชวนประหลาด โดยเฉพาะประเด็นว่า การแบ่งเขตหนนี้ได้สร้างความได้และเสียให้แต่ละพรรค และอาจมองข้ามหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่ ส.ส.เป็นเพียงตัวแทนผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนที่มอบเสียงให้
ทำให้กระทบต่อ ‘ความยึดโยง’ ที่ ส.ส.พึงมีต่อประชาชนในพื้นที่ อธิบายให้ง่ายๆ อย่างการที่ใครสักคนจะได้เป็นตัวแทนประชาชนในสภาฯ พวกเขาอาจสร้างฐานเสียงผ่านกลไกของหัวคะแนนมาเป็นปีๆ หรือเป็นตระกูลการเมืองในพื้นที่นั้น ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เรื่องผิดตามข้อกำหนดการเลือกตั้ง
The MATTER จึงอยากชวนสำรวจการแบ่งเขตการเลือกตั้งสนามกรุงเทพฯ ของปี 2566 ว่ามีข้อแตกต่างกับการเลือกตั้งครั้งปี 2562 อย่างไรบ้าง
ฉีกเขตการเลือกตั้งเดิม
ตามที่ทราบกับว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น กกต.ได้ตีเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพฯ ออกเป็น 13 เขตการเลือกตั้งด้วยกัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 27(1) กำหนดให้ต้องมีอำเภออยู่ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ
ที่ผ่านมาเราถึงได้เห็นภาพการเกลี่ยประชากรในเขตเลือกตั้งแต่ละหน่วยให้เหมาะสมกับจำนวน ส.ส. ตามการคำนวณขอ โดยพิจารณาว่า หน่วยการเลือกตั้งใดที่ประกอบด้วยอำเภอใหญ่ ซึ่งมีประชากรอยู่จำนวนมาก ก็อาจจะจำเป็นต้องแบ่งบางตำบลที่ห่างไกลออกไปยังหน่วยการเลือกตั้งใกล้เคียง
ขณะเดียวกัน หากหน่วยการเลือกตั้งใดเป็นอำเภอขนาดเล็ก ก็จะมีการปัดส่วนของตำบลในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามารวม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ใช้วิธีบริหารพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ไม่ต่างกันมาตลอด โดยยึดเขตเป็นตัวตั้งก่อนที่อาจโยกย้ายแขวงต่างๆ ตามความเหมาะสม
นั่นจึงนำมาสู่ข้อสังเกตว่า เหตุใดในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ปี 2566 ถึงได้มีถึง 13 เขตการเลือกตั้งด้วยกัน ที่เกิดจากการรวมตัวของแขวง โดยที่ไม่มีเขตหลักประกอบอยู่ เช่น
- เขตเลือกตั้งที่ 12 ประกอบด้วย เขตสายไหม (เฉพาะแขวงออเงิน) เขตบางเขน (เฉพาะแขวงท่าแร้ง) เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจรเข้บัว)
- เขตเลือกตั้งที่ 18 ประกอบด้วย เขตหนองจอก (เฉพาะแขวงโคกแฝด แขวงลำผักชี และแขวงลำต้องติ่ง) เขตลาดกระบัง (เฉพาะแขวงลำปลาทิว) เขตมีนบุรี (เฉพาะแขวงแสนแสบ)
- เขตเลือกตั้งที่ 29 ประกอบด้วย เขตบางแค (เฉพาะแขวงบางแคเหนือ และแขวงบางไผ่) เขตหนองแขม (ยกเว้นแขวงหนองแขม)
- เขตเลือกตั้งที่ 30 ประกอบด้วย เขตบางแค (ยกเว้นแขวงบางแคเหนือ และแขวงบางไผ่) เขตภาษีเจริญ (เฉพาะแขวงบางหว้า แขวงบางด้วน และแขวงคลองขวาง)
อาจพอรู้กันอยู่บ้างว่าเหตุหนึ่งสืบเนื่องมาจากในช่วงต้นปี ที่ กกต.กลาง ถูกท้วงว่ารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เปิดออกมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนั้น ไม่เป็นไปตามประกาศของ กกต.เอง ที่เคยระบุไว้ชัดเจนโดยมีใจความว่า ‘ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตการเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวน เฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น’
เราถึงได้เห็นภาพหลายเขต หลายแขวงถูกหั่นแยกจากกัน ก่อนประกอบรวมเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ที่เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว
คงไว้เพียง 4 เขตการเลือกตั้งเดิม
ย้อนไปครั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ในวันที่ 24 มิถุนายนปีนั้น ได้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 30 เขตเลือกตั้ง ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อลองเปรียบเทียบพื้นที่แล้ว ก็มีอยู่เพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้นที่ยังประกอบด้วยท้องที่เช่นเดิม และใช้หมายเลขหน่วยเลือกกตั้งเดิม ดังนี้
- เขตการเลือกตั้งที่ประกอบด้วยเขตคอแหลม และเขตยานนาวา ซึ่งถูกจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 3 ในปี 2566
- เขตการเลือกตั้งที่ประกอบด้วยเขตคลองเตย และเขตวัฒนา ซึ่งถูกจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ในปี 2566
- เขตการเลือกตั้งที่ประกอบด้วยเขตบางซื่อ และเขตดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) ซึ่งถูกจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 7 ในปี 2566
- เขตการเลือกตั้งเขตดอนเมือง ที่ยังคงไว้ในเขตเลือกตั้งที่ 10
ใครได้-ใครเสีย
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่บรรดาพรรคการเมือง ที่หวังเก้าอี้ ส.ส.ในสนามกรุงเทพฯ ต่างออกมาเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ อย่างการยื่นคำร้องถึงศาลปกครองของอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ที่ต้องการให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครอง และพิจารณาเพิกถอนประการการแบ่งเขตการเลือกตั้งฉบับดังกล่าวของ กกต.
ข้อสังเกตประการหนึ่ง ที่อาจเป็นเหตุของการทักท้วงประเด็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ‘ความง่าย’ ของการแบ่งเขตการเลือกตั้งครั้งปี 2562 ที่ใช้วิธีเหมายกเขต ก็ช่วยลดความสับสนของประชาชน เช่น เขตการเลือกตั้งที่ 11 สายไหม เขตเลือกตั้งที่ 12 บางเขน เป็นต้น
ทั้งนี้การรูปแบบเขตเลือกตั้งเช่นที่ผ่านมา ก็มีข้อห่วงกังวลหนึ่งมาตลอด ว่าเป็นการผูกขาดอำนาจในพื้นที่นั้นๆ และยากที่พรรคเล็กจะเติบโต เพื่อมาแบ่งสันปันส่วนในพื้นที่เหล่านั้น
สอดคล้องกับความเห็น ของสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่แสดงเป็นกังวลในประเด็นรูปแบบเขตมาตั้งแต่ต้น
“ผู้สมัคร หรือ ส.ส.ที่เคยมีพื้นที่เดิม เดินมาตลอด ปักป้าย แจกเงิน แจกของ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เดิม ตอนนี้ถูกฉีกออกเป็นเสี่ยงๆ พรรคเก่า พรรคใหญ่ เจ้าของพื้นที่ ตอนนี้ถูกลดความสำคัญลง พรรคใหม่ พรรคเล็กเสียเปรียบน้อยลง กระแสพรรคกลายเป็นปัจจัยสำคัญกว่ากระแสคน” สมชัยโพสต์ข้อความนี้ไว้ หลัง กกต. มีประกาศอย่างเป็นทางการ พร้อมย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ “สนุกครับ”
มาถึงตอนนี้ หากการวินิจฉัยคำร้องของศาลปกครองเป็นที่สิ้นสุด แล้วยืนยันให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามประกาศเดิม สิ่งสำคัญที่สุดคงต้องมาช่วยกันคิด ว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตัวแทนได้ถูกที่และถูกคน