หลังจากที่การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดถูกแช่แข็งเป็นเวลาเกือบทศวรรษ จนทำให้ใครหลาย ๆ คนลืมเลือนความสำคัญของมันไปแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า “การเมืองท้องถิ่น” ใกล้ตัวเรากว่าที่ทุกคนคิด ใกล้กว่าการเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่ผ่าน ๆ มาเสียอีก
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าการเมืองท้องถิ่นคือ การเมืองที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น และเพื่อคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักการกระจายอำนาจที่สำคัญอันบ่งบอกว่า “คนในท้องถิ่นรับรู้เรื่องปัญหาที่พวกเขาเผชิญได้ดีที่สุด” ยิ่งไปกว่านั้น “พวกเขามีศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง” ดังนั้นการเลือกตั้ง อบจ.ที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญของท้องถิ่นหลังการคลายล็อกของรัฐบาล
บรรยากาศของการเมืองท้องถิ่นที่ถูกทิ้งร้างให้นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนต้องรอคอยมาเป็นเวลานาน ถูกอ้างด้วยหลายต่อหลายเหตุผล บ้างก็ว่าไม่พร้อม บ้างก็ว่าขอเวลาอีกไม่นาน หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่เกมส์การเมืองที่ระเบียบการเมืองแบบใหม่ต้องการแน่ใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผลลัพธ์ตามที่ต้องการกันแน่? การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้จึงนับว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่ประชาชนจะได้กลับมามีสิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้ง

cr.thairath
การเลือกตั้งครั้งนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง?
การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้มีประเด็นที่น่าจับตามองหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่เป็นผลมาจากการเมืองระดับชาติจึงน่าจับตามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีประชาชนกลับบ้านไปเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน โดยทางด้านกกต. ประเมินว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์สูงถึง 70 – 75% ประเด็นที่สองคือ กลุ่มผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ (first time voter) ที่เราไม่อาจคาดเดาทิศทางการลงคะแนนของกลุ่มผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้ได้ และประเด็นที่สาม ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งหน้าใหม่ที่เข้ามาท้าทายพื้นที่ที่ถูกผูกขาดโดย “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นกลุ่มที่อิทธิพลในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน
กลุ่มที่เห็นได้ชัดเจนนอกจากผู้ลงรับสมัครอิสระคือ ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่น่าสนใจว่าการลงมาเล่นในสนามการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าที่เคยเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองท้องถิ่นได้มากแค่ไหน หลังจากที่เคยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการเลือกระดับชาติมาแล้ว
ด้านอาจารย์ชาลินี สนพลาย อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็น “การชุบชีวิตชีวาของท้องถิ่นขึ้นมา” หลังจากถูกแช่แข็งเป็นระยะเวลานานหลังการรัฐประหารปี 2557
อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่สำคัญทั้งหมด 4 ประเด็น
(1) การปกครองท้องถิ่นสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ปกติ
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชุบชีวิตของท้องถิ่นเพื่อให้กลับมาสู่บทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น หลังจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดถูกทำให้ใส่เกียร์ว่างมาเป็นเวลานาน จึงส่งผลให้ภาพของการเมืองท้องถิ่นในสายตาของคนรุ่นใหม่เป็นภาพที่ว่างเปล่า เพราะพวกเขานึกไม่ออกจริงๆ ว่าท้องถิ่นเคยทำอะไรบ้าง ทว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ท้องถิ่นกลับมาทำหน้าที่ของตนเองตามปกติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลับมาเห็นความสำคัญขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้ง
(2) โซเชียลมีเดียและคนรุ่นใหม่
การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้นับว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรกที่มีจำนวนมากได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามข่าวสาร โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเห็นได้ว่าทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ต่างใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างแคมเปญหาเสียง ซึ่งอาจารย์ชาลินีได้ชี้ให้เห็นถึงการระบุตัวตนของคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจมากว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมากับโซเชียลมีเดียที่พวกเขาระบุตัวตนตัดข้ามพื้นที่
โดยสิ่งที่ยึดโยงพวกเขาเข้าไว้ด้วยกันคือ คนวัยเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกัน และความคิดเหมือนกัน ดังนั้นพื้นที่อันเป็นรูปธรรมจึงไปกันไม่ได้กับคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี การเลือกตั้ง อบจ.ที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นการเมืองเชิงพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ความน่าสนใจจึงอยู่ที่แนวโน้มการตัดสินใจในการเลือกหรือไม่เลือกของคนรุ่นใหม่จะตัดสินใจอย่างไร จะจัดลำดับความสำคัญบนฐานของพื้นที่หรืออุดมการณ์เป็นหลัก
(3) การย้ายถิ่นฐานของประชากร
ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากในปัจจุบันการอพยพถิ่นฐานกลายเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้คนไม่ได้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่เคลื่อนเข้าและเคลื่อนออกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งตลอดเวลา แน่นอนว่าปัจจัยนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งดังที่เห็นมาแล้วในการเลือกตั้งระดับชาติที่พรรคอนาคตใหม่สามารถชนะในเขตพื้นที่ชลบุรีได้ซึ่งเป็นเขตที่ลูกชายกำนันเป๊าะลง โดยกรณีนี้ได้มีนักวิชาการอธิบายว่าเหตุผลที่อนาคตใหม่ชนะ เนื่องจากเขตพื้นที่นั้นเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีคนอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่จึงส่งผลต่อผลการเลือกตั้งในชลบุรี
(4) บทบาทของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป
ในส่วนนี้อาจารย์ชาลินีได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนักการเมือง และประชาชน โดยในระดับนักการเมืองจะเห็นว่าการเลือกตั้งรอบนี้เราได้เห็นเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองลงไปช่วยหาเสียงเยอะมาก ซึ่งผลพวงหนึ่งของกรณีนี้คือ การที่ธรรมเนียมหาเสียงของการเลือกตั้งระดับชาติได้ลงไปที่การเลือกตั้ง อบจ. เห็นได้จากการแข่งขันเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมและคึกคักอย่างมาก ซึ่งอาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การนำเสนอนโยบายครั้งนี้คึกคักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา” โดยอาจเป็นเพราะนักการเมืองรู้ว่าพฤติกรรมในการเลือกตั้งของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งแปลว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นระหว่างนักการเมืองและประชาชนต่างเรียนรู้วิถีการต่อรองผลประโยชน์ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง อบจ.สำคัญต่อชีวิตของประชาชนอย่างไร?
การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเลือกตั้งอบจ.นั้นก็มีเป้าหมายที่จะคัดเลือกคนที่มาจากฉันทามติของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อที่จะเข้ามาบริหารจัดการงบประมาณและพัฒนาพื้นที่ คำถามที่ตามมาคือ “แล้วการเลือกตั้งอบจ.มีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร?”
ทว่าหากเราเข้าไปพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ อบจ.มากขึ้น เราจะเห็นว่า อบจ.นั้นมีบทบาทอย่างมากในการจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น การบริหารจัดการน้ำเพื่อการบริโภค และการเกษตร สร้างการศึกษา และสุขอนามัยของประชาชน เป็นต้น ในด้านของอาจารย์ชาลินี ได้ชี้ให้เห็นเรื่องความสำคัญของ อบจ.ต่อชีวิตของประชาชนว่า “สำคัญตรงที่ อบจ.เป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณเยอะ สำคัญกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดแน่ๆ ฉะนั้น อบจ.จึงสามารถบริหารงบประมาณเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของคุณได้”

อ.ชาลินี สนพลาย cr.matichon
อาจารย์ยังเสริมอีกว่า “หากถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างไรแล้วทำไมเราต้องกลับไปเลือก คำตอบคือ การเลือกตั้งครั้งนี้คือการกลับไปเพื่อทวงคืนลมหายใจขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่ง อบจ.เป็นก้าวแรกที่จะนำการปกครองส่วนท้องถิ่นคืนมาจากส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นกลับมาทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง”
เลือกอย่างไรดีในการเลือกตั้งครั้งนี้?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หลายคนเป็นมือใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งในสนามท้องถิ่นมาก่อน แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือ “เลือกใครดี? ใครเก่งบ้าง? หรือใครน่าเลือกบ้าง?” ซึ่งอาจารย์ชาลินีได้แนะนำผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ทุกคนว่า
“เราคิดว่าคุณต้องถามตัวเองว่าคุณอยากได้อะไรจากการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ เช่น คุณอยากให้เสียงของคุณมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อบอกอะไรบางอย่างกับสังคมการเมืองไทย? คุณอยากเลือกคนเข้าไปทำงานให้กับจังหวัด? หรือคุณต้องการเลือกนักการเมืองหน้าเก่า? คำถามทั้งหมดนี้คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอยากให้หนึ่งเสียงของคุณมีความหมายว่าอะไร มันไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จว่าคุณควรเลือกอะไร แต่คุณถามตัวเองว่าคุณอย่างได้อะไร”
ในวัน 20 ธันวาคม 2563 นี้บางคนอาจจะมีผู้สมัครในใจหรือยังไม่มีก็ตาม แต่ถ้าเราถอดรหัสจากสิ่งที่อาจารย์ชาลินี สนพลายพูด เราสามารถแปลออกมาได้ว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการกระจายอำนาจในไทยไม่มากก็น้อย”
เพราะฉะนั้นหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของทุกคนมีค่า ก่อนเลือกตั้งทุกคนลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากให้หนึ่งเสียงของเรามีความหมายว่าอะไร ?
อ้างอิง