สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกา และสายพันธุ์อินเดีย .. คำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงหลังมานี้ หลังจากที่ COVID-19 แพร่ระบาดมาตลอดในช่วงปีกว่า พร้อมกับการเอาตัวรอดของไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตัวเองยังคงระบาดต่อไปได้
โคโรนาไวรัสมี RNA (ribonucleic acid) ซึ่งประกอบจากรหัสพันธุกรรมที่เรียงเป็นลำดับเกือบ 30,000 ลำดับ โดยข้อมูลทางพันธุกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้ไวรัสเข้าไปทำให้เซลล์ร่างกายของมนุษย์ติดเชื้อได้ ทั้งยังสามารถเพาะพันธุ์ตัวไวรัสให้เจริญเติบโตต่อในร่างกายของเราได้ด้วย
เวลาที่เชื้อโคโรนาไวรัสแพร่ระบาด มันจะคัดลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อกระจายไปเติบโตในร่างกายเรา แต่ไวรัสเองก็ยังคัดลอกตัวเองพลาดไปบ้าง แม้จะเป็นการก็อปปี้สารพันธุกรรมที่ผิดพลาดเพียงเล็กน้อย แต่การคัดลอกที่ผิดพลาดนี้ ก็นำไปสู่ การกลายพันธุ์ ได้
และเมื่อเกิดการกลายพันธุ์สะสมในเชื้อสายมากพอ ไวรัสอาจพัฒนาให้ตัวมันทำงานแตกต่างไปจากเชื้อสายดั้งเดิมของมันได้ โดยเชื้อสายเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า สายพันธุ์
แล้วการกลายพันธุ์สำคัญๆ ตรงจุดไหน จะทำให้เกิดกลายเปลี่ยนแปลงอย่างไรในไวรัสบ้างล่ะ?
ตำแหน่ง K417N
เมื่อมีกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ จะทำให้เชื้อไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น โดยในบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวลนั้น มีสายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้) ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้
ตำแหน่ง K417T
เป็นการกลายพันธุ์นี้จะทำให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น การกลายพันธุ์นี้พบในสายพันธุ์ P.1 (บราซิล) โดยเป็นตำแหน่งเดียวกับ K417N ในสายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้)
ตำแหน่ง L425R
การกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ทำให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ เพื่อสร้างทางเข้าไปในสารพันธุกรรมของมนุษย์ได้ โดยสายพันธุ์ที่พบการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ ได้แก่ สายพันธุ์ B.1.617 (อินเดีย) และสายพันธุ์ B.1.427 และ B.1.429 (แคลิฟอร์เนีย)
ตำแหน่ง E484K
การกลายพันธุ์ที่ทำให้ไวรัสอาจหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนบางตัว และร่างกายของคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็ไม่สามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้อย่างสายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์ P.1 (บราซิล) ได้
ตำแหน่ง E484Q
เป็นตำแหน่งกลายพันธุ์ที่อาจทำให้หลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ หรือก็คือวัคซีนบางตัวอาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ ซึ่งกลายกลายพันธุ์ตำแหน่งนี้เป็นการกลายพันธุ์ในจุดเดียวกับ E484K โดยสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ใน E484Q นี้คือ สายพันธุ์ B.1.617 (อินเดีย)
ตำแหน่ง P681H
อีกหนึ่งตำแหน่งกลายพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อสร้างโปรตีนหนามใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพบในสายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ)
ตำแหน่ง N501Y
การกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ ทำให้เชื้อไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์แน่นขึ้น และเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายขึ้น โดยการกลายพันธุ์ตำแหน่งนี้พบได้ในหลายสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ), B.1.351 (แอฟริกาใต้) และ P.1 (บราซิล)
การทำความเข้าใจตำแหน่งกลายพันธุ์ของไวรัส จะช่วยให้เราเข้าใจว่า แต่ละจุดที่มีการกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของ COVID-19 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างไรบ้าง เช่น ในสายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งกลายพันธุ์ในตำแหน่ง N501Y จะทำให้ไวรัสแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
หรืออย่างกรณีของสายพันธุ์ B.1.617 (อินเดีย) ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484Q ทำให้ไวรัสอาจสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ หรือก็คือวัคซีนบางตัวก็อาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้
นอกจากการกลายพันธุ์ที่เรายกมานี้ ยังมีอีกหลายจุดมากๆ ที่เชื้อโคโรนาไวรัสพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อหาทางรอดให้ตัวเอง สามารถแพร่ระบาดต่อไปได้ ดังนั้น การหาวิเคราะห์ลักษณะการกลายพันธุ์และหาวัคซีนที่จะมาช่วยยับยั้งไวรัสนี้ได้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต่อสู้กับวิกฤตนี้ได้
อ้างอิงจาก