ถ้าเทียบเรื่องนี้เป็นหนัง ก็เหมือนหนังภาคต่อที่ยังไม่รู้ว่าจะไปสุดที่ตรงไหน เมื่อสายพันธุ์โอไมครอนที่เราเพิ่งคุ้นชื่อกันดี มีสายพันธุ์ย่อยที่เริ่มระบาดหนักขึ้นในหลายประเทศ ที่เรียกว่า BA.2
ประเด็นก็คือ สายพันธุ์ BA.2 นี้ เป็นโอไมครอนที่แพร่ระบาดเร็วกว่าโอไมครอนที่เราเคยเผชิญกันมา และงานวิจัยล่าสุดจากญี่ปุ่นยังระบุว่า สายพันธุ์ย่อยนี้อาจทำให้อาการของผู้ป่วยทรุดหนักลงกว่าเดิม ในระดับที่เทียบเท่ากับเชื้อเดลตาด้วย
ยิ่งกว่านั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า เชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก และอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักได้ ดังนั้น โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จึงกลายเป็นสายพันธุ์ย่อยที่หลายประเทศต้องจับตามองกัน
แล้ว BA.2 มาจากไหน มีลักษณะของเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ยังไงบ้าง The MATTER ขอสรุปข้อมูลเท่าที่มีในตอนนี้มาให้ดูกัน
สายพันธุ์ Omicron มีเชื้อสายแยกย่อยลงไป เช่นเดียวกับสายพันธุ์อื่นๆ โดยแบ่งได้ดังนี้
- BA.1 หรือ B.1.1.529 เป็นเชื้อตัวหลักที่แพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในไทยเองก็ยังพบผู้ป่วยด้วยโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยนี้เป็นสัดส่วนมากอยู่
- BA.2 แพร่ระบาดเร็วและเริ่มเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ ถูกพบครั้งแรกที่อินเดียและแอฟริกาใต้ เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2021
- BA.3 พบครั้งแรกที่เบลเยี่ยม แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยนี้มากนัก
ลักษณะการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ BA.2 นี้ คล้ายคลึงกับ BA.1 โดยสายพันธุ์ BA.2 มีการกลายพันธุ์กว่า 20 ตำแหน่ง โดยมากเป็นจุดที่ทำให้หลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนี้ยังมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้การตรวจแบบ RT-PCR ตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์นี้ จึงได้ชื่อว่า ‘stealth omicron’
นอกจากนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์โอไมครอนหลักถึง 30%
งานวิจัยล่าสุดจากญี่ปุ่นระบุว่า BA.2 มีคุณสมบัติที่ทำให้อาการป่วยของผู้ติดเชื้อรุนแรงขึ้นเทียบเท่ากับ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องรอการยืนยันอื่นๆ เพิ่มเติม
ตอนนี้มีอย่างน้อย 74 ประเทศที่เจอเชื้อสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวแล้ว รวมถึงประเทศไทยด้วย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อส่วนมากที่พบในไทย ยังเป็นสายพันธุ์ BA.1 แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นแล้วเหมือนกัน
เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) คาดการณ์ว่า ชาวสหรัฐฯ 4% ที่ติด COVID-19 ป่วยด้วยโอไมครอนเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ขณะที่ในหลายประเทศทั่วโลก ก็เริ่มพบสายพันธุ์ BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักในประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ บรูไน จีน เดนมาร์ก อินเดีย เนปาล และฟิลิปปินส์
แต่เรื่องความรุนแรงของการป่วยจากเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ ต้องรอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย เพราะในหลายประเทศที่ BA.2 ระบาดหนัก เช่น แอฟริกาใต้และอังกฤษ กลับมียอดผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง ขณะที่เดนมาร์ก ซึ่ง BA.2 ระบาดเป็นหลักแล้วนั้น กลับมียอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
อีกหนึ่งคุณสมบัติที่น่ากังวลของ BA.2 คือ การดื้อต่อยารักษาบางตัว รวมถึง ยาโซโทรวิแมบ (Sotrovimab) ซึ่งเป็นยาที่วงการแพทย์ระบุว่า สามารถต้านเชื้อโอไมครอนได้ และเป็นยารักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
เมื่อสายพันธุ์โอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ สายพันธุ์ย่อย BA.2 ก็ทำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในร่างกาย หรือภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนก็ตาม แต่ผลการศึกษาระบุว่า การฉีดบูสเตอร์จะช่วยลดอัตราการป่วยหนักถึง 74%
อย่างไรก็ดี เรื่องของสายพันธุ์ COVID-19 เป็นสิ่งที่เราต้องคอยอัพเดทข้อมูลตามกันไปเรื่อยๆ เพราะเชื้อไวรัสจะคอยพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน การกลายพันธุ์และสถานการณ์ของ COVID-19 ในทั่วโลกนี้ จึงยังเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องจับตามองกันต่อไป
อ้างอิงจาก