“โควิด-19” ได้กลับกลายมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกครั้งโดยเฉพาะหลังจากที่มีรายงานข่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เจ้าของวลีเด็ด “โควิดกระจอก” ติดเชื้อโควิด-19 แม้ได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วถึง 6 เข็ม หลังกลับจากเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ โดยรักษาตัวด้วยการกักตัวอยู่ที่บ้านพักตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
ข่าวคราวการติดเชื้อโควิด-19 ของ นายอนุทินในครั้งนี้ก็แลดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติในยุคที่ประเทศไทยของเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่นในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ดีก็มีกระแสดราม่าเกิดขึ้น หลังจากที่แพทย์ได้จ่าย “ยาโมลนูพิราเวียร์” แก่นายอนุทินเพื่อรักษาโควิด-19 ทั้งที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย โดยระบุว่า นายอนุทิน มีภาวะโรคอ้วน
ถึงแม้การจ่าย “ยาโมลนูพิราเวียร์” ให้แก่นายอนุทินจะเป็นไปตามแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ในปัจจุบันของทางกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่วายก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาด้วย “ยาโมลนูพิราเวียร์” หรือไม่จากประสิทธิภาพที่ดีกว่า “ฟ้าทะลายโจร” และ “ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)”
วันนี้ The Matter เลยอยากจะพาไปดูรายละเอียดแนวทางการเกณฑ์การใช้ยารักษาผู้ป่วย มาดูกันว่าต้องป่วยโควิด-19 ระดับไหนจึงจะได้รับยา ?
จากการเปิดเผย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันเกณฑ์การให้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ซึ่งถือเป็นฉบับล่าสุดที่เหล่าแพทย์และพยาบาลใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วย
ทั้งนี้แนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุขไทยจะมีการแบ่งผู้ป่วยตามกลุ่มอาการออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสก็จะอิงตามกลุ่มอาการของผู้ป่วยนั่นเอง ซึ่งกลุ่มอาการทั้งหมดดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี (Asymptomatic COVID-19)
- ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) หรือ home isolation หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม
- ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น “ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)” เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
- อาจพิจารณาให้ “ยาฟ้าทะลายโจร” ตามดุลยพินิจของแพทย์
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงโรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors for severe disease)
- อาจพิจารณาให้ “ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)” และควรเริ่มยาโดยเร็ว
- หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจ”ไม่ จำเป็น” ต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ oxygen
แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด (ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir), ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir), ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือ มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Nirmatrelvir/ritonavir)) โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่
- ประวัติการได้รับวัคซีน โรคประจำตัว
- ข้อห้ามการใช้ยา
- ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย (drug-drug interaction)
- การบริหารเตียง ความสะดวกของการให้ยา
- ปริมาณยาสำรองที่มี
กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O, saturation <94 % ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับ oxygen
- แนะนำให้ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก และควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- แนะนำให้ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง มีดังนี้
- อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) (GOLD grade 2 ขึ้นไป) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
- โรคไตเรื้อรัง (CKD) (stage 3 ขึ้นไป)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (NYHA functional class 2 ขึ้นไป) รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI 230 กก./ตร.ม.)
- ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป)
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิหรือ corticosteroid equivalent to prednisolone 15 มก/วัน 15 วัน ขึ้นไป
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มี CD. cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
ดังนั้นโดยสรุปแล้วเราจะเห็นได้ว่า แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 แนะนำให้แพทย์จ่ายมาต้านไวรัสชนิดอื่นนอกเหนือจาก ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยนั้นอยู่ในกลุ่มอาการที่ 3 คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากอาการป่วยเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แพทย์สามารถบริหารจัดการยาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ากรณีการจ่าย“ยาโมลนูพิราเวียร์” ให้กับนายอนุทินนั้น คณะแพทย์ได้เลือกจ่ายยาตามแนวทางเวชปฏิบัติอย่างชัดเจนไม่ใช่เรื่องของสิทธิพิเศษของผู้ป่วยแต่อย่างใด และในกรณีของผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่มีอาการเล็กน้อยแต่มีปัจจัยเสี่ยง แพทย์ผู้ดูแลก็อาจจะประเมินว่าเข้าข่ายให้ “ยาโมลนูพิราเวียร์” เช่นเดียวกันกับกรณีของ นายอนุทิน
อ้างอิงจาก
https://www.hfocus.org/content/2022/06/25419
https://www.bangkokbiznews.com/social/1012849?aoj=\
Illustrator By Kodchakorn Thammachart